ที่มา thaifreenews
โดย bozo
จนถึงวันนี้กองทัพน้ำจำนวนมหาศาล ที่ไหลบ่ามาล้อมกรุงเทพฯ
ได้เริ่มทะลุทะลวงล่วงล้ำเข้ามาตามคลองในกรุงเทพฯ
และล้นเอ่อทะลักขึ้นตามท่อระบายน้ำแล้วในหลายเขตพื้นที่
ไม่นับกับปริมาณมวลน้ำมหึมาที่ยังคงไหลบ่าลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา
จนพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งได้รับผลกระทบอ่วมหนักไปตามๆกัน
ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่แต่ละเขต ว่าเป็นที่ลุ่ม ที่ต่ำ หรือที่สูง
และสำคัญที่สุดพนังกั้นน้ำยังดีอยู่หรือไม่ มีใครไปรื้อแนวป้องกันออกหรือไม่
รวมไปถึงการทำหน้าที่ในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ของ 16 สถานีสูบน้ำใหญ่ของ กทม. ว่า
ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด?
กรุงเทพฯจะวิกฤติหรือไม่ ณ วินาทีนี้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
แต่ปัจจัยที่ถือเป็นปัญหารุนแรงที่สุดของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็คือ
ในภาวะที่ใกล้วิกฤติเช่นขณะนี้
กลไกทุกกลไกของภาครัฐจะต้องประสานรวมกันเป็นหนึ่งถึงจะฝ่าวิกฤตไปได้
หากยังมีลักษณะต่างคนต่างพาย
ยังมีลักษณะที่บางหน่วยงานยังอยากที่จะเป็นพระเอก
ยังมีคนที่คิดจะฉวยโอกาสทางการเมืองอยู่
รวมทั้งยังมีพวกเสนอหน้าเข้ามาสร้างความวุ่นวายซ้ำซ้อนไม่รู้จักจบจักสิ้น
แม้แต่กองทัพยังออกมาปากว่า มีหน่วยงานราชการบางแห่งที่ยังคงเล่นเกมเกียร์ว่าง
ทั้งๆที่นับวันจะวิกฤตมากขึ้นทุกทีเช่นนี้
บอกได้เพียงว่า
ในฐานะนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
อาจจะต้องมีรายการลงดาบเล่นงานกันอย่างจริงๆจังๆ
โดยไม่เลือกหน้าไม่เลือกพวกไม่เลือกสีได้แล้ว
ถ้าไม่เชือดไก่ให้ลิงที่วิ่งกันยั้วเยี้ยในเวลานี้ดูเสียบ้าง
ก็ต้องระวังว่ารัฐบาลเองนั่นแหละที่จะสั่นคลอน
เพราะในเวลานี้ ยังคงมีกลุ่มโซเชี่ยล เน็ตเวิร์ก
ที่จ้องด่าจ้องโจมตีรัฐบาลในทุกๆเรื่องอยู่อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
ส่งภาพส่งโพสต์สารพัดข้อกล่าวหาเข้าไปเล่นงานรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์อย่างต่อเนื่อง
โดยไม่สนว่ามีประเด็นหรือไม่มีประเด็นก็ตาม
ด่าเอาไว้ก่อน ตำหนิเอาไว้ก่อน กล่าวหาเอาไว้ก่อน...
ซึ่งจนวันนี้รัฐบาลยังไม่สามารถที่จะแก้เกมหรือรับมือตรงนี้ได้เลย
ณ วินาทีนี้เป็นการต่อสู้เพื่อโค่นล้มทางการเมืองที่แหลมคม
ท่ามกลางกระแสน้ำที่จ่อล้นจะท่วมกรุงเทพฯอยู่ในขณะนี้นั่นเอง
ซึ่งในขณะที่เกมการเมืองกำลังเต็มไปด้วยการโจมตีอย่างหนัก
แต่สำหรับประชาชนผู้ที่เดือดร้อน ล้วนแล้วแต่มีคำถาม
หรือข้อสงสัยที่ตรงกันหมดกว่าครึ่งค่อนประเทศ ทั้งที่ประสบความสูญเสียจากน้ำท่วม
และที่ลุ้นระทึกตลอดช่วงระยะเวลาครึ่งเดือนที่ผ่านมา นั่นคือข้อสงสัยที่ว่า
น้ำจำนวนมหึมากว่า 1.1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรนั้น มันมาจากไหนกันแน่???
ทำไมทั้งๆที่กระจายท่วมท้นไปกว่า 30 จังหวัดแล้ว
ยังคงมีมวลน้ำอยู่มากมาย ดูราวกับไม่หมดไม่สิ้นเสียที
มากมายชนิดที่คนกรุงเทพฯยังไม่มั่นใจเลยแม้แต่น้อยว่า
หากปล่อยให้เข้ามาท่วมกรุงเทพฯ
เพื่อช่วยพี่น้องประชาชนในต่างจังหวัดและในพื้นที่จังหวัดปริมณฑลโดยรอบกรุงเทพฯแล้ว
จะสามารถลดทอนน้ำในที่ต่างๆได้แค่ไหน???
สุดท้ายจะเป็นการเสียสละพื้นที่เศรษฐกิจที่สูญเปล่าหรือไม่
หากน้ำท่วมกรุงเทพฯแล้วปรากฏว่าน้ำในที่ต่างๆก็ไม่ได้ลดลง
ดังนั้นปริศนามวลน้ำจำนวนมหาศาลที่ก่อให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่คราวนี้
จึงเป็นสิ่งที่คาใจและข้องใจของคนไทยทุกคน
ซึ่งจากการติดตามความจริงในเรื่องนี้
บางกอก ทูเดย์ ไม่ได้ต้องการโทษความผิดให้ใคร
แต่ต้องการให้ได้เรียนรู้จากความจริง และใช้เป็นบทเรียนไม่ให้เกิดขึ้นอีก
เพราะน้ำจำนวนมหาศาลเป็นหมื่นๆล้านลูกบาศก์เมตรในครั้งนี้
เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการบริหารน้ำในเขื่อนสำคัญคือเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ นั่นเอง
ปกติเขื่อนภูมิพล จะต้องมีระดับความจุเก็บกักน้ำต่ำสุดคือ 3,800 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ความจุเก็บกักน้ำต่ำสุดคือ 2,850 ล้าน บล.ม.
ซึ่งก็จะมีปริมาณน้ำที่แม้จะน้อยแต่ก็พอประคองสถานการณ์ภัยแล้งได้บ้าง
แต่ในปีนี้การดูแลน้ำในเขื่อนทั้ง 2 เกิดความวิตกในเรื่องภัยแล้งมากจนเกินเหตุ
ทำให้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา
ทั้งๆที่ระดับน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีอยู่ที่ความจุ กว่า 6,000 ล้าน ลบ.ม. แล้ว
แต่กลับไม่มีการพร่องน้ำเอาไว้เลยแม้แต่น้อย (ดูกราฟที่ 1 และ 2 ประกอบ)
ทำให้ในช่วงเดือน พฤษภาคม มิถุนายน จนถึงกรกฎาคม น้ำในเขื่อนถูกเก็บกักเอาไว้สูงขึ้นเรื่อย
ประกอบกับในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม มีการเลือกตั้ง
ทำให้เกิดช่วงสุญญากาศทางการเมือง รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เป็นรัฐบาลรักษาการอยู่จนถึงต้นเดือนสิงหาคม
ทำให้การดูแลระดับน้ำในเขื่อนอยู่ในการดูแลรับผิดชอบของกรมชลประทาน
เนื่องจากกว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์จะสามารถทำหน้าที่ได้
ก็เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม เวลาประมาณ 21.30 น. ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ
ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งคณะรัฐนตรี รัฐบาลยิ่งลักษณ์
จากนั้นในวันที่ 10 ส.ค. นางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี
จึงได้นำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 14 รพ.ศิริราช
ซึ่งในวันที่ 13 สิงหาคม ตามกราฟจะเห็นว่า
เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีความจุน้ำพุ่งขึ้นไปถึง 8,400 ล้าน ลบ.ม.แล้ว
ทำให้เมื่อเจอกับพายุเข้า 3-4 ลูกติดๆกัน
น้ำในเขื่อนใหญ่ทั้ง 2 จึงขยับขึ้นมาเต็มเขื่อนอย่างรวดเร็ว
เมื่อน้ำในเขื่อนสิริกิติ์แตะระดับ 9,500 ล้าน ลบ.ม.
และเขื่อนภูมิพลแตะ 13,500 ล้าน ลบ.ม.
ในต้นเดือนกันยายน จึงทำให้เขื่อนต้องเร่งระบายน้ำ
และกลายเป็นมวลน้ำจำนวนมหึมาที่เกิดขึ้นในขณะนี้นั่นเอง
และกลายเป็นโศกนาฎกรรมใหญ่ในครั้งนี้
คิดแบบคนทั่วไป หน่วยงานที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำคอยบริหารจัดการเขื่อน
แต่เพราะความกลัวภัยแล้ง จึงทำให้ไม่มีการพร่องน้ำเอาไว้เลย
ทั้งๆที่หากเกิดภัยแล้งเชื่อว่า
ความเสียหายน่าจะมีเพียงในระดับพันล้านหรือหมื่นล้านบาทเท่านั้น
ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเข้าไปช่วยชดเชยให้ความช่วยเหลือ
แต่การเกิดอุทกภัยใหญ่ เพราะเขื่อนจำเป็นต้องปล่อยน้ำ
จนเกิดน้ำท่วมใหญ่และเสียหายนับเป็นกว่า 5-6 แสนล้านบาทเช่นนี้
เป็นเรื่องที่จะต้องมีการทบทวน จะต้องถือเป็นบทเรียนสำคัญ
เพราะไม่ว่าอย่างไรหน่วยงานเกี่ยวกับเรื่องน้ำ
ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องน้ำควรจะต้องรู้ดีกว่าประชาชนทั่วไป
ไม่ควรปล่อยให้เกิดการวางแผนผิดพลาดได้ขนาดนี้
เพราะน้ำหลากน้ำท่วมจากสูงลงสู่ต่ำไปสู่อ่าวไทย
สำหรับประเทศไทยนั้น ถือเป็นเรื่องปกติที่มีมานาน
สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ทำให้พม่าไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้
ก็เพราะฤดูน้ำหลากนี่แหละ ส่วนที่ต้องเสียกรุง 2 ครั้ง
ก็เพราะการขาดความสามัคคีของคนในชาติ
และปีนั้นน้ำแล้งจึงไม่มีน้ำหลากมาช่วยได้ทัน
ตรงนี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของพื้นที่
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำควรที่จะต้องรู้ประวัติศาสตร์ด้วย
ความผิดพลาดครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนราคาแพงอย่างยิ่ง
หากในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม มีการสั่งการ
ห้กรมชลประทานพร่องน้ำเอาไว้ที่ระดับประมาณ 3,500 – 4,000 ล้าน ลบ.ม.
ก็จะทำให้เขื่อนสามารถที่จะรับน้ำได้อีกถึงกว่า 5,000 – 6,000 ล้าน ลบ.ม.ได้อย่างสบายๆ
ซึ่งปริมาณน้ำท่วมทุ่ง ก็จะไม่มากมายมหาศาลเท่ากับขณะนี้แน่
เพราะรวม 2 เขื่อนจะรับน้ำได้เป็นหมื่นล้าน ลบ.ม.นั่นเอง
ขณะเดียวกันหากที่ผ่านมา กรมชลประทานมีการดูแลขุดลอกทรายในแม่น้ำ
หรือให้สัมปทานดูดทรายขาย ถ้าปีนึงๆดูดทรายขึ้นไปได้สักล้าน ลบ.ม.
นั่นก็คือการเพิ่มศักยภาพของแม่น้ำในการที่จะรองรับน้ำได้เพิ่มเป็นล้าน ลบ.ม.ด้วยเช่นกัน
กรมชลประทานและบรรดาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องน้ำของรัฐ
จากวันนี้ไปจึงควรจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาดเหมือนในครั้งนี้อีก
รวมทั้งในการแก้ไขปัญหาในขณะนี้
คงต้องบอกกันตรงๆว่า รัฐบาล กองทัพ กรมชลประทาน
พยายามรับมือกันสุดกำลัง ทาง กทม.และพรรคประชาธิปัตย์
จะต้องเลิกหวังชิงจังหวะทางการเมือง แต่ต้องหันมาเร่งระบายน้ำอย่างเต็มที่
เพราะคนที่เดือดร้อนคือประชาชน
และเศรษฐกิจที่เสียหาคือเศรษฐกิจของกรุงเทพฯและประเทศชาติ
เนื่องจากประชาชนไม่เข้าใจว่า
เกิดอะไรขึ้นกับระบบการจัดการระบายน้ำในคลองของ กทม.
เพราะจากข้อมูลของ กทม.เอง
โดยสำนักการระบายน้ำของ กทม. ณ วันที่ 31 ตุลาคม ที่เผยแพร่
ในเว็บไซด์ http://dds.bangkok.go.th/canal/
ยกตัวอย่างเฉพาะแค่คลองเปรมประชากร
ซึ่งทำให้เขตดอนเมืองวิกฤตนั้น พบข้อมูล (ตามภาพประกอบ) ว่า
น้ำในคลองช่วง สน.ดอนเมือง เขตดอนเมืองอยู่ที่ 1.55 เมตร
แต่ถัดมาแค่ช่วงวัดเทวสุนทร เขตจตุจักร ระดับน้ำอยู่ที่ 1.01 เมตร
ห่างกันกว่า 50 เซนติเมตร
ยิ่งลงมาที่ช่วงสถานีน้ำอุโมงค์คลองเปรมฯ เขตบางซื่อ ระดับน้ำอยู่ที่ 0.04 เมตร
ซึ่งมองตามประสาประชาชนทั่วไป
ที่เห็นกราฟนี้แล้วไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ยิ่งเมื่อคลิกดูหลายๆคลองใน กทม.
ก็ไม่ต่างกัน คือหลายคลองยังแห้งผากอยู่
จึงไม่รู้ว่ามีใครอยากจะเป็นพระเอกหรือไม่ หรือมีใครเล่นอะไรอยู่
เรื่องนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เมื่อเห็นกราฟแล้ว
จะต้องเร่งตรวจสอบและหาคำตอบมาให้กับประชาชนด้วย ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น???
เพราะเวลานี้รัฐบาลเองก็พยายามเปลี่ยนคนที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์วิกฤตออกไปแล้ว
อย่างโฆษก ศปภ. ก็เอานายธงทอง จันทรางศุ มาทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับประชาชน
ซึ่งก็สามารถที่จะทำความเข้าใจได้มากขึ้น
ในขณะที่โฆษกคนเก่า ซึ่งโดนโจมตีหนัก และลามไปถึงขั้นว่าเป็น “เด็กใคร???”
ทำให้ว่ากันว่าขาใหญ่ในพรรคที่ใกล้ชิดกับนายวิม ยังสะดุ้งโหยงไปด้วยตอนนี้
เพราะโดนเมนท์แหลกราญไปหมดแล้ว
ดังนั้นเวลานี้จึงไม่ใช่เวลาที่อยากเป็นพระเอก ไม่ใช่เวลาที่จะมาเสนอหน้า
หรือไม่ใช่เวลาที่อยากจะเป็นรัฐมนตรี เป็นเสนาบดี
เวลานี้คือเวลาวิกฤตที่ต้องช่วยประเทศชาติและประชาชน
หากใครยังขืนงี่ๆเง่าๆไม่เลิก ระวัง... เราเตือนคุณแล้วนะ!!
http://www.bangkok-today.com/node/10905