ที่มา มติชน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2554)
อาจ แตกต่างในรายละเอียด อาจทำได้ "ดี" กว่า หรือ "เลว" กว่าในรายละเอียด อาจวางแผนประชาสัมพันธ์ได้มีประสิทธิภาพกว่านี้ และอาจอื่นๆ อีกมาก แต่หลักใหญ่ใจความแล้ว ผมออกจะเชื่อว่าไม่ต่างกัน
ความ เหมือนนี้น่าประหลาดนะครับ เพราะทั้งมิตรและศัตรูของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่างคาดหวังว่า รัฐบาลนี้จะต่างจากรัฐบาลทุกรัฐบาลที่เคยมีในประเทศนี้มาก่อน เกือบสามเดือนที่ผ่านมา ทุกคนต่างรอคอยว่า เมื่อไรรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะทำอะไรที่ต่างเสียที เพื่อจะได้โจมตีหรือเพื่อจะได้ชื่นชมก็ตาม แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ยังทำอะไรเหมือนรัฐบาลไทยโดยทั่วไป ทั้งเวลาในตำแหน่งที่สั้นมากเสียจนทุกคนยอมรับว่า "ลายยังไม่ออก" หรือ "แสงสว่างยังไม่ปรากฏ"
แต่ อุทกภัยครั้งใหญ่เกิดขึ้นเสียก่อน ทำให้นายกฯต้องยกขบวนลงมาบริหารจัดการเต็มตัว จึงทำให้เห็นความไม่ต่างได้ชัดจากการบริหารจัดการยามวิกฤตนี้เอง
ความ รู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ในเมืองไทยนั้นมีมาก แต่จะบริหารจัดการอย่างไร ให้ความรู้ประสบการณ์นั้นได้ถูกนำมาใช้เพื่อวางนโยบายสาธารณะ และบริหารนโยบาย รัฐบาลไทยไม่เคยทำสิ่งนี้ได้สำเร็จ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้ต่างจากรัฐบาลอื่นๆ
ตั้งแต่ น้ำท่วมพิษณุโลก ความรู้และประสบการณ์ที่มีในเมืองไทยสามารถบอกได้แล้วว่า หน้าน้ำปีนี้จะมีความร้ายแรงแค่ไหน หากจะตั้ง ศปภ. ก็ควรตั้งได้แล้ว ก่อนที่น้ำจะมาถึงนครสวรรค์ด้วยซ้ำ
ความรู้และประสบการณ์ที่มีใน เมืองไทย จะสามารถบอกได้ตั้งแต่แรกแล้วว่า หลังจากนครสวรรค์ น้ำจะกระจายออกเต็มท้องทุ่ง ด้วยปริมาณที่หลากล้นอย่างไร ดังนั้น จึงได้ตัดสินใจอย่างชัดเจนไปแล้วด้วยว่า จะต้องปล่อยอะไร และจะต้องเก็บอะไร และเมื่อตัดสินใจได้ชัดเจนแล้ว ก็รู้ว่าจะทุ่มเทกำลังไปทำอะไรได้บ้าง ซึ่งโดยหลักใหญ่คือสองอย่าง
หนึ่งคือ ทุ่มเทกำลังไปเก็บส่วนที่อยากเก็บ เพราะจำเป็นและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำเติม ส่วนที่อยากเก็บนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรุงเทพฯเท่านั้น เช่นเส้นทางคมนาคมและการสื่อสาร เพื่อสะดวกในการอพยพโยกย้าย และส่งความช่วยเหลือ
อย่างที่สองก็คือ ส่วนที่ต้องปล่อยเพราะไม่มีทางจะสู้ได้ ก็ต้องบรรเทาความเสียหายเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่นการไม่ขวางน้ำในที่หนึ่ง จนทำให้น้ำท่วมหนักในอีกที่หนึ่ง เป็นต้น แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้คนจำนวนมากจะได้รับความเดือดร้อนสาหัสจากน้ำท่วม คนเหล่านี้ไม่อาจช่วยตัวเองได้
ความช่วยเหลือที่คนไทยทำอย่างแข็งขันเพื่อช่วยผู้ประสบภัย แสดงให้เห็นพลังอันมหาศาลของสังคมไทย ที่จะฝ่าฟันวิกฤตในครั้งนี้
แต่ พลังนั้นจะมีผลมากขึ้นกว่านี้อย่างเทียบกันไม่ได้ หากมีการจัดองค์กร และผู้ที่จะจัดองค์กรได้ดีที่สุดคือรัฐ เพราะรัฐสามารถจัดได้ตั้งแต่การขนส่งความช่วยเหลือ จัดลำดับความสำคัญได้ว่า บริจาคอะไรก่อนอะไรหลังในท้องที่ใด
แน่นอนว่า ข้อมูลและการดำเนินการคงต้องมาจากองค์กรในท้องถิ่น แต่รัฐก็อาจช่วยให้ท้องถิ่นจัดองค์กรเพื่อการบรรเทาทุกข์ได้ง่ายขึ้น เพื่อไม่ให้มีใครตกสำรวจ และยากลำบากมากขึ้น
ยิ่งกว่านี้รัฐเองยัง กุมทรัพยากรไว้ในมือจำนวนมาก ฉะนั้นรัฐสามารถทุ่มซื้อหรือจัดหาสิ่งที่สังคมไม่สามารถจัดหาได้อย่างรวด เร็ว เช่นเรือแพ, เครื่องกรองน้ำจำนวนมากเพื่อแจกจ่ายไปถึงชุมชนหรือครอบครัว, โรงพยาบาลสนามที่กระจายไปกว้างขวาง, ยาที่จำเป็นในสภาพน้ำท่วม, ฯลฯ
ภารกิจ อย่างที่สองนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถึงอย่างไรก็จะมีผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมเป็นล้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะบริหารจัดการน้ำหลากในครั้งนี้อย่างไร และคนที่เดือดร้อนที่สุดคือคนเล็กๆ ซึ่งไม่ค่อยมีปากเสียง ไม่สามารถย้ายไปไหนได้ นอกจากเข้าศูนย์อพยพ หรืออยู่เฝ้าทรัพย์สินกลางน้ำ
นี่คือเหยื่อระดับบรมมหาเหยื่อของภัยพิบัติทางธรรมชาติเสมอ
ไม่ แต่เพียงในยามวิกฤตนี้เท่านั้น เมื่อน้ำลด คนเหล่านี้ก็จะยังตกเป็นเหยื่อต่อไป เช่นสิ้นเนื้อประดาตัวจนต้องเป็นหนี้นอกระบบมหาศาล หมดเงินที่จะส่งลูกไปโรงเรียนต่อ
รัฐสามารถวางแผนที่แน่นอนชัดเจนได้ ตั้งแต่บัดนี้ โดยไม่ต้องรอน้ำลดว่า จะช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง ทำข้อตกลงกับ ธ.ก.ส., ธนาคารออมสิน, ธนาคารพาณิชย์ ฯลฯ กันในลักษณะใด จึงจะทำให้คนเหล่านี้พ้นความเดือดร้อนได้เร็วที่สุดทันทีที่น้ำลด เพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้
เศรษฐกิจนั้น ไม่ได้เดินได้เพียงเพราะนิคมอุตสาหกรรมได้รับการกอบกู้เท่านั้น แต่คนเล็กคนน้อยต้องเงยหน้าอ้าปากได้ไปพร้อมๆ กัน แค่เด็กๆ มีเงินซื้อกล้วยแขกกินสักถุง ก็ทำให้น้ำมันขายได้ดีขึ้น ลูกคนขายกล้วยแขกพอจะซื้อรองเท้าใหม่ได้ ไล่ไปเรื่อยๆ ก็ถึงนิคมอุตสาหกรรมเอง
แต่ก็ไม่ต่างจากรัฐบาลอื่นๆ ที่เคยปกครองประเทศนี้มาก่อน ชะตากรรมของคนเล็กๆ ในภัยพิบัติครั้งใหญ่มักได้รับความเอาใจใส่หลังสุดเสมอ แม้แต่ ศปภ.ก็มาตั้งขึ้นเมื่อน้ำจ่อจะเข้ากรุงเทพฯแล้ว และจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ใครๆ ก็รู้สึกได้ว่าภารกิจหลักของ ศปภ.คือบรรเทาผลกระทบที่จะมีต่อกรุงเทพฯ แน่นอนว่าย่อมปฏิเสธความสำคัญของกรุงเทพฯไม่ได้ แต่กรุงเทพฯเป็นพื้นที่หนึ่งในภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำของประเทศเท่า นั้น อย่างไรเสียก็ต้องยอมรับผลกระทบระดับหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดัง ที่กล่าวแล้วว่า ความล้มเหลวไม่สามารถบริหารจัดการความรู้และประสบการณ์ของคนในประเทศ เพื่อการเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ก็ตาม ความล้มเหลวที่จะดูแลสวัสดิภาพของคนเล็กคนน้อยก็ตาม ความล้มเหลวที่จะเตรียมการอย่างเป็นระบบเพื่อเผชิญปัญหาก็ตาม ฯลฯ ไม่ได้เป็นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เพียงรัฐบาลเดียว อุทกภัยใน พ.ศ.2528, 2538, 2549 ก็เกิดความล้มเหลวในลักษณะเดียวกันมาแล้ว
แต่ ทั้งผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์คาดหวังว่า รัฐบาลนี้จะต่างจากรัฐบาลอื่นๆ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญแก่คนเล็กคนน้อย ไม่ปล่อยให้เขาเผชิญภัยพิบัติครั้งใหญ่ไปตามยถากรรม แม้ไม่ได้ปฏิเสธการทุ่มเทความพยายามช่วยเหลือนิคมอุตสาหกรรม และบ้านจัดสรรของผู้ดีมีทรัพย์ แต่ก็อยากเห็นความพยายามทุ่มเทที่เท่าเทียมกันแก่คนเล็กๆ ด้วย
เหตุใดรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงไม่พยายามต่างจากรัฐบาลอื่น?
ผมตอบคำถามนี้ไม่ได้ แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร ก็หนีไม่พ้นอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 อย่างนี้
1.โดย เนื้อแท้แล้ว รัฐบาลนี้ก็เหมือนกับรัฐบาลอื่น ในแง่ปูมหลังของตัวบุคคล, มาตรฐาน, เป้าหมาย, อุดมคติ, เครื่องมือ, ฯลฯ เราเองต่างหากที่ไปคิดว่ารัฐบาลนี้ควรต่าง
2.รัฐบาลไม่กล้าต่าง ต้องรอเวลาที่เหมาะสมจึงจะแสดงความต่างได้ หรืออาจไม่อยากต่างตลอดไปเพื่อความอยู่รอด
3.จะ ทำอะไรให้ต่างได้ ต้องมีฐานมากกว่า "เสื้อแดง" เช่นมีข้าราชการที่พร้อมจะเป็นเครื่องมือให้ทำต่าง มีแรงสนับสนุนจากคนชั้นกลางให้ทำต่าง ฯลฯ แต่รัฐบาลไม่มีอะไรเลยสักอย่าง
4.นโยบายปรองดองของรัฐบาลหมายถึงทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้ฝ่าย "อำมาตย์" ยอมรับรัฐบาลชุดนี้
น้ำท่วมอาจทำให้มองไม่เห็นอะไรไปหลายอย่าง แต่ก็ทำให้เห็นว่าจะหวังอะไรจากรัฐบาลชุดนี้ได้มากน้อยเพียงไร