ที่มา ประชาไท
เห็นอะไรในสายน้ำ: เห็นการขาดบูรณาการในการบริหารจัดการน้ำ เห็นปัญหาผังเมือง เห็นการแก้ปัญหาแบบ “กลัวชั้นในเปียก” เห็นความไม่สามารถในการสื่อสารกับประชาชน เห็นการขีดเส้นแบ่งความรับผิดชอบระหว่างการบริหารส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เห็นความขัดแย้งทางความคิดที่ร้าวลึกแบบไร้สติ เห็นสื่อยังคงคุณภาพในการเต้าข่าว เห็นความหลง อคติ และชิงชัง เห็นวิกฤติหลังวิกฤติ
เห็น การขาดบูรณาการในการบริหารจัดการน้ำ
การปล่อยให้เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำสูงกว่าปรกติจน เข้าหน้าฝน ดูจะเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาน้ำท่วม อันน่าจะเป็นผลจากวิสัยการทำงานแบบต่างคนต่างทำ ต่างเป้าหมายของหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งได้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ต้องการเก็บน้ำไว้ทำไฟ กรมชลประทานที่เก็บน้ำเพื่อการเกษตร และกรมอุตุนิยมวิทยาที่พยากรณ์ดิน ฟ้า อากาศ
ส่วนที่ชี้นิ้วกันไปมาระหว่างฝ่ายที่มองว่ารัฐบาลที่แล้ววางยาไว้ และมีอำนาจที่มองไม่เห็นจัดให้เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรืออีกฝ่ายที่บอกว่า เป็นเพราะรัฐบาลเองที่เข้ามาบริหารประเทศเมื่อต้นฤดูฝน ปริมาณน้ำในเขื่อนยังไม่มาก แต่ไม่ยอมระบายน้ำออกจากเขื่อนเพื่อเล็งผลเลิศเรื่องนโยบายจำนำข้าว จะเป็นกรณีไหน คงต้องรอให้ตอผุด หลังน้ำลด หากประเมินจากข้อมูลที่มองเห็นได้ ระยะเวลาสำคัญของการตัดสินใจเก็บหรือปล่อยน้ำเป็นช่วงคาบเกี่ยวของสองรัฐบาล ที่วุ่นวายกับการหาเสียง และการเข้ารับตำแหน่งใหม่ ดังนั้นจึงอาจไม่ใช่ความรับผิดชอบของรัฐบาลใดรัฐบาลเดียว
เห็น ปัญหาผังเมือง การขาดองค์ความรู้เรื่องน้ำที่เป็นระบบ และความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา
ความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการนำพื้นที่รับน้ำเดิมไปทำเป็นบ้านจัดสรร และนิคมอุตสาหกรรม คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับการวางผังเมือง
เมื่อน้ำท่วมได้กลายเป็นวิกฤติลุกลามไปทั่ว เราไม่เห็นภาพการใช้ประโยชน์จากนักวิชาการน้ำและผู้มีประสบการณ์เรื่องน้ำ โดยภาครัฐ มีเพียงทีวีช่องต่าง ๆ เชิญนักวิชาการด้านน้ำมาให้ความรู้ ทำให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ได้ถูกนำไปสังเคราะห์ใช้
ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ตัดสินใจเลือกใช้คนที่มี ความสามารถ มีทีมงานจัดระเบียบและระบบข้อมูล และการตัดสินใจที่ชัดเจนทันท่วงที แต่สิ่งที่เห็นคือ แม้แต่ในสถานการณ์เดียวกันก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน เช่น รมต. คนหนึ่งบอกว่าจะเจาะถนน อีกคนบอกเจาะไปก็ไม่เกิดประโยชน์ วันหนึ่งประกาศว่า รัฐบาลเอาอยู่ วันรุ่งขึ้น กทม.แถลงว่าวิกฤติแล้ว อีกวันโอ่ว่า 19 เขตใน กรุงเทพฯ จะรอด พอวันถัดมาบอกว่า 50 เขตไม่รอดแล้วครับพี่น้อง
เห็น การแก้ปัญหาแบบ “กลัวชั้นในเปียก”
แนวทางการแก้ปัญหาที่ใช้ตลอดมา คือการยกภาระของคนกรุงเทพให้คนจังหวัดอื่น และการให้คนกลุ่มหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร คนเล็กคนน้อยที่ไม่มีปากเสียง ต้องเสียสละให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งส่วนมากเป็นผู้มีอันจะกิน อยู่อาศัยในหมู่บ้านจัดสรรราคาแพง และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม คนกลุ่มหลังจะได้รับความช่วยเหลืออย่างทุ่มเทใช้กำลังทรัพย์ป้องน้ำกันสุด ฤทธิ์ แต่ดูเหมือนว่าน้ำเป็นสสารที่ไม่เข้าใจคำว่าสองมาตรฐาน ไม่เลือกคนจนคนรวย วิธีการให้คนอื่นรับน้ำแทนคุณดูจะไม่ได้ผลตามเป้า เพราะน้ำไปเยี่ยมเยียนทุกที่อย่างเท่าเทียม เฉลี่ยทุกข์อย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นชั้นนอกหรือชั้นในของกรุงเทพฯ
เพียงเมื่อน้ำทะเลหยุดหนุนสูงซึ่งหมายความว่าความเสี่ยงในการเผชิญภัยน้ำ ท่วมของเขตเศรษฐกิจที่เป็นไข่แดงลดลง ทั้งรัฐบาล และ กทม. ต่างออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่าต่อไปนี้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ประชาชนกลับรู้สึกว่ามันสวนทางกับความจริง น้ำกำลังเอ่อท่วมกรุงเทพ “ชั้นใน” ที่เฝ้าปกป้องไม่ให้เปียกไม่ให้อับชื้นมานาน ทั้งมีปริมาณเพิ่มขึ้นและขยายวงกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จนคนฝั่งธนฯ จะขอแยกเป็นจังหวัดปกครองตนเอง แถมตอนน้ำยังไม่เข้ากรุงเทพฯ รัฐบาลดันประกาศวันหยุดยาว ทำเอาคนแห่อพยพกันก่อนกาล พอน้ำเข้ามาจริง ๆ กลับไม่หยุดให้เสียแล้ว (แต่เห็นด้วยกับรัฐบาลนะคะ ที่ไม่ต่ออายุวันหยุดราชการ เพราะถ้าหยุดกันหมดใครจะช่วยเหลือประชาชน ปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของหน่วยงานแบบนี้ ดีแล้วค่ะ)
เห็น ความไม่สามารถในการสื่อสารกับประชาชน
ไม่ว่าคุณจะเป็นคนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดง หรือคนเสื้อสลิ่ม น้ำได้ทำให้ทุกคนเป็น หรือมีโอกาสเป็นคนเสื้อเปียกได้เหมือนกัน และอาการที่แทบทุกคนมีคล้ายคลึงกันคือสูญเสียความเชื่อมั่นใน ศปภ. เริ่มตั้งแต่บุคลากรหน้าจอที่ไม่มีความรู้เรื่องน้ำ เนื้อหา วิธีการ และรูปแบบขาดความเป็นมืออาชีพ แม้แต่โต๊ะเสนอข่าวก็จัดแบบขอไปที การนำเสนอแต่ละครั้งขาดการเตรียมพร้อม ไม่มีรูปแบบและเวลาของรายการที่ชัดเจน ปล่อยให้หน้าจอทีวีของช่อง 11 ถูกใช้อย่างไร้ประโยชน์ ที่สำคัญ ไม่มีข้อมูลสำคัญที่จะช่วยเอื้อต่อการตัดสินใจของประชาชน
ส่วน กทม. และผู้ว่าฯ เองไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ ถนัดและชัดเจนที่สุดดูจะเป็นประโยคว่า “พี่น้องครับ ขอให้ประชาชนอพยพทั้งเขตครับ”
เห็น การขีดเส้นแบ่งความรับผิดชอบระหว่างการบริหารส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่ไม่ควรมีในภาวะวิกฤติ
ถึงแม้ว่ากรุงเทพมหานครจะมีผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ข้อเท็จจริงคือ น้ำไม่ได้ท่วมเฉพาะกรุงเทพฯ การไม่ยอมให้น้ำไหลผ่านกรุงเทพฯของผู้ว่าฯ ด้วยการบอกว่า ผู้ว่ากทม.มีหน้าที่รับผิดชอบต่อชาว กทม. ไม่ใช่รับผิดชอบต่อคนทั้งชาติ เป็นคำกล่าวที่หยาบคายมาก ความไม่มีเอกภาพระหว่างกทม. และรัฐบาลเป็นที่ประจักษ์ ปัญหาที่ประตูระบายน้ำคลองสามวาชี้ให้เห็นว่าต่างฝ่ายต่างแก้ปัญหาด้วยการ เอาการเมืองเป็นตัวตั้ง ฝ่ายผู้ว่า ฯ กทม ต้องการปกป้องนิคมอุตสาหกรรมบางชัน และพื้นที่ชั้นในอื่น ๆ ซึ่งเลือกพรรคปชป. ในขณะที่รัฐบาลต้องการเอาใจฐานเสียงของตนที่อาศัยอยู่ด้านเหนือของประตู ระบายน้ำ
เห็น นักการเมืองทั้งสองขั้วต่างฉกฉวยโอกาสเพื่อโฆษณาตัวเอง แบบไม่ยอมลงทุน
ภาพที่สังคมได้รู้ได้เห็นคือ การเอาของบริจาคไปเป็นของส่วนตัวโดยแปะชื่อนักการเมืองประหนึ่งตนเป็นนักบุญ มาโปรด พฤติกรรมไร้รสนิยมเยี่ยงนี้มีให้เห็นจากนักการเมืองทั้งสองพรรคใหญ่ แต่แปลกใจเวลาคนด่า จะเลือกด่าเฉพาะพรรคที่เจ้าตัวเกลียดขี้หน้าอยู่เดิม
เห็น ความขัดแย้งทางความคิดที่ร้าวลึกแบบไร้สติ
ถึงแม้ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจะแย่พอกัน ถึงแม้ทั้ง ศภป. นายกฯ ยิ่งลักษณ์ และผู้ว่าฯ สุขุมพันธ์จะพูดไม่รู้เรื่องไม่ต่างกัน แต่ถึงเวลาตำหนิ ติเตียน ส่อเสียด จะจัดเต็มเฉพาะฝ่ายที่ตนชิงชัง นอกจากนี้ยังมีทั้งกลุ่มคนที่อาศัยสถานการณ์น้ำท่วมซาบซึ้งเกินพิกัด และอคติเกินบรรยาย หรือกลุ่มคนที่ปากบอกว่าเราควรสามัคคี แต่กดแชร์ กดไลค์ทุกประเด็นที่จะก่อความเสียหายให้ฝ่ายตรงข้าม
การเรียกร้องให้รัฐบาลและ กทม. ต้องแสดงความรับผิดชอบในขอบเขตที่เหมาะสมเป็นเรื่องสมควร เช่น ลดเงินเดือนตัวเองอย่างนักการเมืองหลายประเทศเค้าทำกัน แต่หากกดดันให้รัฐบาลลาออก ต้องถามกลับว่าจะให้ใครเข้ามาแก้ปัญหาในยามนี้ หรือที่เห็นเชียร์น้องทหารกันจังจะมีนัยแอบแฝง
เห็น สื่อยังคงคุณภาพในการเต้าข่าว
น้ำท่วมครั้งนี้สื่อทีวีทุกช่องเน้นสรรพกำลังในการระดมและกระจาย ของบริจาคไปยังผู้ประสพภัย นับว่าเป็นการลงทุนต่ำแต่ได้ผลประชาสัมพันธ์สูง มีการทำข่าวโฆษณาสินค้าและโฆษณาตนเองอย่างแยบยล ในภาวะภัยพิบัติ สื่อยังคงเน้นพาดหัวแรงๆ เช่น กรุงเทพจมแน่ มุ่งรายงานและเสนอภาพข่าวกระตุ้นให้ตื่นตระหนก สื่อไทยจะบอกว่าวิกฤติแล้ว ก่อนวิกฤติจะเกิดประมาณ 1 อาทิตย์ จนถึงเดี๋ยวนี้ ยังไม่เห็นสื่อตั้งคำถามถึงสาเหตุของน้ำท่วม อธิบายวิธีการแก้ปัญหาของภาครัฐให้เข้าใจได้ง่ายและช่วยให้ข้อมูลที่เป็น ประโยชน์ต่อการตัดสินใจ แต่ยังคงทำข่าวแบบเน้นตัวบุคคล เช่น นายกฯ ร้องไห้ และส.ส. (ที่ตนเชียร์) แจกของ เป็นต้น
เห็น ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองของประชาชน
ข้อนี้ไม่ได้ประชดประชันเหมือนประโยคที่ถูกใจใครหลายคนว่า “ขอให้รัฐบาลอยู่เฉย ๆ ประชาชนจะดูแลรัฐบาลเอง” แต่เห็นจริง ๆว่า สังคมไทยในระดับชุมชนและท้องถิ่นมีความเข้มแข็งสูง และมีน้ำใจไม่เลือกสี เลือกข้าง เห็นได้ในหลายพื้นที่มีการรวมพลังทำอาหารให้ผู้อพยพ จัดอาสาสมัครช่วยเหลือกันเองอันน้ำใจไทยนั้นยิ่งใหญ่ไม่แพ้ประเทศอื่น แต่อย่ามั่วว่ามีแต่คนไทยเท่านั้นที่ช่วยกันยามทุกข์ยาก เพราะประเทศอื่นเค้าก็ช่วยเหลือกันไม่แพ้เรา
ส่วนพวกที่บอบบางเป็นพิเศษ ออกมาคร่ำครวญมากกว่าใครคือ คนชั้นกลางและผู้มีอันจะกิน บางคนน้ำยังไม่ท่วมหรือยังไม่เข้าบ้านด้วยซ้ำ ก็โวยวายประหนึ่งว่าชีวิตจะดับลงซะเดี๋ยวนั้น ส่วนประชาชนคนเล็กคนน้อยที่ถูกให้รับน้ำแทนไปก่อนเป็นเดือน ที่อาจต้องสิ้นเนื้อประดาตัว เป็นหนี้นอกระบบมหาศาล ดูเหมือนจะยอมรับธรรมชาติได้ดีกว่า
เห็น ความหลง อคติ และชิงชัง
น่าเสียดายที่การเลือกเชื่ออย่างที่ตนอยากเชื่อ โดยไม่คิดด้วยเหตุผล จะไม่ไหลลงทะแลไปพร้อมกับสายน้ำ แต่จะตกตะกอนขุ่นคั่กท่ามกลางจิตใจของคนจำนวนมาก และจะกลายเป็นชนวนใหม่แห่งความขัดแย้งของการเมืองไทยในปีหน้า
เห็น วิกฤติหลังวิกฤติ
หลังวิกฤติน้ำท่วมผ่านไป วิกฤติใหม่จะท้าทายรัฐบาล ทั้งการฟื้นฟูชีวิต จิตใจของผู้ประสบภัย ของเศรษฐกิจ และสังคม สังคมไทยจะเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหารที่แหล่งผลิตถูกน้ำท่วม ปัญหาน้ำท่วมในภาคใต้ ภัยหนาวในภาคเหนือและภาคอีสาน ปัญหาโรคระบาด ปัญหาซ่อมแซมสาธารณูปโภค ถนน หนทาง บ้านเรือนและอื่น ๆ
แต่ทั้งนี้ก็ไม่อยากเห็นรัฐบาลเร่งรีบประกาศใช้เงินมหาศาลชุบตัวประเทศ ตั้งแต่ยังไม่มีแผนการจัดการน้ำที่ท่วมอยู่ และยังไม่รู้ว่าน้ำจะลดเมื่อไหร่ เพราะจะทำให้เกิดคำครหาว่าอยากงาบงบประมาณจนน้ำลายไหลปนน้ำท่วม