ที่มา ประชาไท
หลายอาทิตย์กับการเผชิญวิกฤติน้ำท่วมอย่างเห็นแก่ตัวของผู้คนจำนวนไม่ น้อย ทำให้ผู้เขียนสงสัยว่า ยังมีใครยึดมั่นกับความเชื่อว่า สังคมไทยนั้นพิเศษ รักเอื้ออาทรและสามัคคีกันกว่าสังคมอื่น หลงเหลืออยู่บ้างไหม
หากคุณเป็นคนจนอย่างคนชุมชนคลองสามวาที่นักการเมืองเดินทางไปบอกว่า ขอให้ “เสียสละ” แล้วก็หายหัวไปเกือบสามเดือนโดยไม่เหลียวแลอะไรจนกระทั่งน้ำเพิ่มสูงเท่าเอว แถมเน่าอีกต่างหาก คุณจะทำอย่างไร จะยังคงยึดคติเรื่อง “ลักษณะพิเศษ” ของสังคมไทยอยู่ไหม
คำตอบนั้นชัดแจ้งอยู่บนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับวันอังคารหลายฉบับอยู่แล้ว ว่าชาวบ้านคลองสามวาสุดทน ได้ก่อม็อบจนกระทั่งนายกรัฐมนตรียอมออกคำสั่งให้เปิดประตูน้ำขึ้นหนึ่งเมตร แต่แค่นั้นก็ไม่พอสำหรับพวกเขาอีกต่อไป ชาวบ้านที่อยู่ในอาการสุดทน ได้แห่กันขุดดินข้างประตูน้ำอีกเป็นพื้นที่กว้างประมาณหนึ่งเมตรครึ่งในตอนบ่ายของวันจันทร์ เพื่อให้น้ำเน่าไหลเข้าสู่คลองแสนแสบและชั้นในของกรุงเทพอย่างรวดเร็ว
การกระทำเช่นนี้ยุติธรรมหรือไม่
มันก็คงขึ้นอยู่กับว่า คนที่ตอบเป็นใคร แต่ที่แน่ๆ กองทัพบกต้องส่งทหารกว่า 200 นายไปประจำตามแนวคันกั้นน้ำอื่นๆ ทางตอนเหนือของกรุงเทพในเขตบางเขน และเราก็ทราบข่าวว่า มีความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาวบ้านฝั่งที่น้ำท่วมน้อยกว่า กับฝั่งที่น้ำท่วมมากกว่าในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เช่น นครปฐม และฉะเชิงเทรา เป็นต้น
วิกฤติช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ถือว่าเป็นบทพิสูจน์ธาตุแท้ของสังคมไทย และพิสูจน์ความเชื่อหรือมายาคติที่ว่า สังคมไทยนั้นรักและสามัคคีกันมากกว่าชาติอื่น แรงกดดันจากวิกฤติน้ำท่วมทำให้ภาพความจริงของสังคมไทยลอยขึ้นเหนือน้ำจนเห็นเด่นชัด
ความเห็นแก่ตัวสารพัดชนิด ตั้งแต่การกักตุนน้ำดื่ม เสบียงอาหาร อย่างไม่คิดถึงผู้อื่นที่เดือดร้อนกว่า การจอดรถซ้อนสองซ้อนสามโดยไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการจราจร การดราม่าแย่งคิวแทงกั๊ก ขัดขากันระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ หรือแม้กระทั่งในพรรคการเมืองเดียวกัน สิ่งเหล่านี้มีให้เห็นอยู่ดาษดื่น นี่ยังไม่รวมถึงการฉวยโอกาสขายสินค้าบางประเภทเกินราคา หรือเสียงบ่นที่ว่า มีดาราและนักเล่าข่าวทีวีที่ดูเหมือนจะใช้น้ำท่วมโปรโมทตัวเองมากกว่าที่จะช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ห้างหรูบางห้างก็ดูจะวุ่นๆ อยู่กับการติดตั้งต้นคริสต์มาสเทียมขนาดยักษ์มากกว่าการจัดกิจกรรมเพื่อรวบรวมเงินบริจาคช่วยน้ำท่วม
อย่างไรก็ตาม ในทุกตัวอย่างอันเลวร้ายและเห็นแก่ตัวที่มีอยู่ดาษดื่น เราก็สามารถสังเกตเห็นตัวอย่างของผู้ที่เสียสละและพยายามช่วยเหลือคนอื่นอย่างจริงใจได้ด้วยเช่นกัน แต่ความดีระดับปัจเจกบุคคลเหล่านี้ก็คงไม่เพียงพอที่จะทำให้สังคมไทยอยู่ต่อไปโดยไม่ตั้งคำถามว่า คนรวยในกรุงเทพฯ เคยชินกับความเห็นแก่ตัวและการมีอภิสิทธิ์จนถึงจุดที่เขาคาดหวังให้กรุงเทพฯ ชั้นในต้องได้รับการคุ้มครองโดยไม่สนอะไรกับคนด้านนอกใช่หรือไม่ โครงสร้างแห่งความอยุติธรรมที่ทำให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของการกระจุกตัวของอำนาจ เงิน และทุกสิ่งทุกอย่างที่สำคัญ ได้กลายเป็นข้ออ้างที่จะปกป้องใจกลางของเมืองหลวงให้แห้ง โดยมิสนใจว่า ผู้อื่นนอกเขตกั้นน้ำหรือประตูน้ำจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง เปรียบได้กับเงินที่ต่อเงิน การกระจุกตัวแบบอภิสิทธิ์ชนของกรุงเทพฯ ทำให้กรุงเทพฯ อ้างว่าตนควรมีอภิสิทธิ์ในการได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นพิเศษมากกว่าส่วนอื่นของแผ่นดินไทย
คนกรุงผู้มีอันจะกิน สามารถขับรถหนีน้ำไปหัวหินหรือพัทยา พักรีสอร์ทหรูคืนละกว่าหมื่นบาท ในขณะที่เงินจำนวนนี้เทียบได้กับรายได้ของคนงานโรงงานจำนวนมาก ซึ่งหลายคนที่มีรายได้ระดับนี้ก็ได้ตกงานไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากน้ำท่วมโรงงาน บางคนรวยยิ่งกว่านั้น สามารถเลือกบินไปพักผ่อนต่างประเทศ เพื่อจะได้ไม่ต้องทนอยู่กับสภาพความเป็นจริงของประเทศไทย ณ วันนี้ ที่พื้นที่ประมาณหนึ่งในสามของประเทศกำลังจมอยู่ใต้บาดาล
คงไม่มีปัญหาอะไรหากคนยังอยากจะยึดมั่นกับความเชื่อ (หรือมายาคติ) ที่ว่า สังคมไทยนั้นพิเศษพิสดารกว่าสังคมอื่น รักและเอื้ออาทรต่อกันอย่างสุดๆ ผมเพียงแต่หวังว่า คนเหล่านี้จะปฏิบัติตนให้สมกับความเชื่อที่เขามี (หรืออ้างว่ามี) เราอาจต้องการคนที่พร้อมจะเสียสละมากกว่านี้ เพื่อที่มายาคติเช่นนี้จะดูสมจริงกว่านี้ และสำหรับผู้ที่ได้เกิดอาการตาสว่างหรือไม่เคยเชื่อในลักษณะพิเศษของสังคมไทยนั้นก็ไม่เป็นไร ถือเป็นสิทธิของเขา ผมเพียงแต่หวังว่า ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม ผู้คน ณ เวลานี้ไม่ควรที่จะทำตนให้เป็นภาระแก่ผู้อื่นและสังคมเพิ่มโดยไม่จำเป็น
ปล. ณ เวลาส่งบทความนี้ (คืนวันที่ 1 พ.ย. 54) มีรายงานข่าวว่า ห้างแฟชั่นไอร์แลนด์บนถนนรามอินทรา ในเขตมีนบุรี ซึ่งไม่ไกลจากคลองสามวาต้องปิดตัวลงแล้วเพราะน้ำท่วม ในขณะที่ผู้ว่าฯ กทม.ได้ส่งตำรวจเข้าไปคุมการซ่อมประตูคลองสามวา ส่วน ศปภ. ได้ประกาศตอนสามทุ่ม แนะนำให้ชาวบ้านคลองสามวาตะวันออกอพยพ