ที่มา Thai E-News
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
4 พฤศจิกายน 2554
หลังจากที่ฝ่ายการเมืองโยนความผิดป้ายสีให้กัน โดยฝ่ายค้าน ลูกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาว่า ฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีเจตนาปล่อยน้ำจากเขื่อนมาท่วมกรุงเทพฯ แต่หมัดเด็ดที่ว่ากลับไปน็อกรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสียเอง เพราะช่วงเวลาที่กล่าวถึงนั้นยังเป็นห้วงเวลาที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์รักษาการ อยู่ (ดูรายละเอียดข่าว:หมัดเด็ดลูกพรรคปชป.ย้อนศรน็อกมาร์คซะเอง)
หรือทั้งสองฝ่ายอาจประคองเอาตัวรอดได้เพราะเป็นห้วงเวลาก้ำกึ่งระหว่าง รัฐบาลอภิสิทธิ์รักษาการอยู่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังไม่เข้ามาบริหารเต็มตัว เกิด"ช่องว่างทางอำนาจการบริหาร"ขึ่นมา แต่จากการสืบค้นจริงๆแล้วก็ไม่แน่นักว่าฝ่ายการเมืองจะมีอำนาจบริหารจัดการ ใดๆ เนื่องจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนเป็นอำนาจของ
1. คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ่
2. คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรมชลประทาน กฟผ.และ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ เป็นต้น
ทั้ง 2 ชุดนี้มีอธิบดีกรมชลประทานเป็นประธานทั้งคู่
ถึงแม้จะเจอตัวผู้รับผิดชอบลางๆว่าเป็นอธิบดีกรมชลประทาน แต่ข้อมูลจากกฟผ.ได้ชี้แจงว่า น้ำที่ลงมาท่วมกรุงเทพฯนี้มาจากเขื่อนแค่ 16% ที่้เหลือราว84%เป็นน้ำธรรมชาติ
ดังนั้นท้ายที่สุดหากจบลงที่มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำผิด มารับผิดชอบต่อเหตุการณฺภัยพิบัติครั้งนี้ "เชื่อได้ว่า"เราก็น่าจะได้ผู้ร้ายเจ้าประจำสังคมไทย คือหากไม่เป็น"ไอ้ปื๊ด" ก็คงไปหวยออกที่"ชายชุดดำ"
กฟผ.แจงน้ำจากเขื่อนไม่ได้เป็นต้นเหตุน้ำท่วมกรุง อ้างมีส่วนแค่16%
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จัดทำเอกสารชี้แจงเรื่อง 10 คำถาม – คำตอบ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ในสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วม โดยตอนหนึ่งระบุว่า
ปัจจุบันเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีการระบายน้ำออกรวมกันวันละ 53 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์เพียงร้อยละ 16.7 ของมวลน้ำที่ไหลผ่าน ดังนั้นการระบายน้ำจากทั้งสองเขื่อนจึงไม่ใช่สาเหตุหลักของปัญหาน้ำท่วม
ซึ่งน้ำที่ผ่านจังหวัดนครสวรรค์มาจากแม่น้ำหลัก 4 สาย คือ ปิง วัง ยม และน่าน ขณะที่มีเขื่อนขนาดใหญ่กั้นอยู่เพียง 2 สาย คือ แม่น้ำปิงและน่าน
ปริมาณน้ำส่วนที่เหลือจึงมาจากแม่น้ำยมและวัง รวมทั้งน้ำที่ค้างอยู่ตามทุ่งไหลลงมา ซึ่งมีปริมาณรวมถึงร้อยละ 83.3 ของน้ำที่ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ แล้วไหลสู่กรุงเทพฯและปริมณฑลไปรวมกับมวลน้ำที่ยังค้างอยู่ตามไร่นา จากสภาวะน้ำท่วมพื้นที่ภาคกลาง ตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย. ทำให้มวลน้ำที่หลากเข้าสู่กรุงเทพฯ ยังคงมีปริมาณมาก
อย่างไรก็ดี มวลน้ำที่ระบายออกจากเขื่อนทั้งสองจะใช้เวลาเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ประมาณ2 สัปดาห์ จึงไม่ส่งผลต่อมวลน้ำชุดใหญ่ที่โอบล้อมกรุงเทพฯอยู่ขณะนี้ ประกอบกับน้ำจากพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางตอนบนก็กำลังมีปริมาณที่ลดลงเป็น ลำดับ
ตอบคำถามคาใจยังไม่เคลียร์ ใครเป็นผู้ตัดสินใจสั่งให้หรือไม่ให้ปล่อยน้ำ
เอกสารชี้แจงของกฟผ.ระบุว่า ในการวางแผนการระบายน้ำในแต่ละปี คณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆกว่า 20 หน่วยงาน ที่รับผิดชอบดูแลการใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรม อุปโภค และบริโภค จะกำหนดเป้าหมายความต้องการใช้น้ำตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ตลอดช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นต้นไป โดยจะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ รวมทั้งต้นทุนน้ำในแต่ละเขื่อน จากนั้นกรมชลประทานและ กฟผ. จึงมาร่วมกันวางแผนการระบายน้ำในรายละเอียดเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ และรายวัน ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำ และประกาศให้เกษตรกรทราบ เพื่อวางแผนการใช้น้ำต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุการณ์ผิดปกติ ทั้งภัยแล้ง หรือน้ำท่วม เช่นในปี 2554 กรมชลประทานจะเรียกประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ น้ำ เพื่อติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดและพิจารณาปรับแผนการระบายน้ำตามสถานการณ์
ขณะที่เว็บไซต์ Energythaiรายงานว่า การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานดังนี้
1. คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามแนวพระราชดำริ
2. คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
-กรมชลประทาน
-กรมอุตุนิยมวิทยา
-สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร
-สำนักการระบายน้ำ กทม.
-กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ
-กรมทรัพยากรน้ำ
-กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
-กฟผ.
-และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.)
คณะผู้เชี่ยวชาญน้ำจากสวิสไปดูกับตาที่เขื่อนภูมิพล
เมื่อวานนี้(3พฬย.) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำจากสวิสเซอร์แลนด์ และเอกอัคราชทูตสวิสเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย พร้อมด้วยดร.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.เพื่อไทย และดร.สุดา รังกุพันธ์ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ผู้ดำเนินรายการทางสถานีโทรทัศน์ASIA UPDATE ได้เดินทางไปเขื่อนภูมิพลเมื่อวานนี้ เพื่อดูข้อเท็จจริงเรื่องการปล่อยน้ำ และรับฟังผู้บริหารกับวิศวกรของเขื่อนภูมิพลบรรยายสรุป
ดร.สุดาเปิดเผยว่า ประเด็นที่น่าสนใจ มีดังนี้
1. การปล่อยน้ำจากเขื่อนทำตามคำสั่งของกรรมการชุดหนึ่งที่มีอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธาน และยังมีอนุกรรมการอีกชุด ก็มีอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานอีกเช่นกัน
ดูโครงสร้างอำนาจแล้ว ฝ่ายการเมืองไม่มีอำนาจเลย ไม่มีระดับรัฐมนตรีกำกับดูแล มีแต่แค่ระดับอธิบดีเท่านั้น แต่ดูมีอำนาจมาก เลยมีข่อสังเกตว่า ไม่ต่างจากสภากลาโหม ของทหารเลยที่รัฐมนตรีกลาโหมก็ไม่ได้มีอำนาจกำกับดูแล ดังนั้นโอกาสไม่ทำงานสนองนโยบายรัฐบาลจึงมีสูงมาก
2. น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนลงไปนั้น ไม่ได้มาจากเขื่อนเดียว ก็น่าตั้งข้อสังเกตว่า หากจะเล่นเกมปล่อยน้ำจริงๆ สามารถทำได้แบบวางประตูกลเลยก็ได้ เพราะอำนาจอยู่กรรมการที่กล่าวในข้อแรกทั้งหมด แต่ละเขื่อนจะได้รับคำสั่งว่าให้ปฏิบัติตามแผนว่าจะปล่อยน้ำเท่าไหร่
3.การระบายน้ำมาก ทำให้ได้กระแสไฟมาก ข้อนี้ก็ทำให้ชวนสงสัยเกี่ยวกับข้ออ้างว่า มีเขื่อนปล่อยน้ำเพื่อการเกษตร
4. เรื่องปริมาณน้ำฝน และการกักเก็บน้ำในเขื่อนนั้น มีข้อสังเกตว่าชัดเจนสิ้นสงสัยแล้ว ปีนี้มีน้ำน้อยจริงในช่วงต้นปี และทางเขื่อนรู้ดีว่าช่วงน้ำมากคือเดือนอะไร มันคาดการณ์ได้เป็นปกติ ประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตคือ การสั่งไม่ปล่อย-หรือปล่อยน้ำนั้น มีความผิดพลาดหรือไม่ ถ้ามี ก็ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลเลย มีเพราะอำนาจเต็มมันอยู่ที่กรรมการ และอนุกรรมการชุดที่กล่าวถึงไปแล้ว