ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ เหล็กใน
สมิงสามผลัด
ความจริงตอนนี้ก็คือกรุงเทพฯ บางส่วนถูกน้ำท่วมขังแล้ว
โดยเฉพาะเขตสายไหม ดอนเมือง หลักสี่ บางพลัด ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน และบางเขน ถูกน้ำท่วมขังเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว
บางช่วงมีน้ำท่วมสูงเกิน 1 เมตร
มีอุปสรรคในการดำรงชีพ ขาดไฟฟ้า ขาดอาหาร การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก
จึงต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่
ขณะที่อีกกว่า 40 เขตของกรุงเทพฯ ก็เริ่มมีน้ำเอ่อล้นเข้าท่วม
ปัจจัยหลักก็คือปริมาณน้ำทุ่งเหนือกรุงเทพฯ ยังทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง กับการระบายน้ำออกสู่ทะเลยังทำได้น้อย
ไม่ "บาลานซ์" กัน
จึงเกิดภาวะสะสมของน้ำและเอ่อเข้าท่วมหลายจุดในกรุงเทพฯ ชั้นใน
ประกอบกับคันกั้นริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลายจุดเกิดความเสียหาย
ทะลักเข้าท่วมย่านฝั่งธนบุรีและพระนคร
การ แก้ปัญหาของศปภ.ที่ทำมาตลอดเวลา 2 เดือนก็คือเบนน้ำทุ่งที่มีประมาณ 5-6 พันล้านลบ.ม. ที่อยู่ด้านบนของกรุงเทพฯ ให้ออกฝั่งตะวันออกและตะวันตกให้มากที่สุด
แต่ก็ยังเกิดปัญหาน้ำล้นเข้าเขตด้านบนของกรุงเทพฯ ทำให้ถนนวิภาวดีฯ และพหลโยธินเกิดน้ำท่วมอย่าง ที่เห็น
ศปภ.จึงต้องแก้ไขด้วยการส่งถุงทรายยักษ์ 4-5 พันตันไปขวางทางน้ำที่รังสิต
กั้นเป็นแนวยาว 4-5 ก.ม.
จากนั้นก็จะเร่งสูบน้ำที่เอ่อท่วมในพื้นที่ "ดอนเมือง-หลักสี่-บางเขน" ออกโดยเร็ว
คาดกันว่าภายใน 7 วันนี้อาจจะได้เห็นถนนวิภาวดี-พหลโยธินกลับมาแห้งอีกครั้ง
ที่ต้องเร่งทำก็เพราะมีปัจจัยอีก 2 อย่างสนับสนุน
คือช่วง 1-11 พ.ย.นี้เป็นช่วงน้ำทะเลลดต่ำสุด
กับน้ำเหนือที่ทรงๆ มานานเริ่มลดจำนวนลงแล้ว
ถ้าเป็นไปตามแผนของศปภ.ระดมสรรพกำลังสูบน้ำออกจากถนนวิภาวดีฯ-พหลโยธิน
จัดระเบียบการระบายน้ำประตูต่างๆ ตามคลองสาขาให้เป็นไปทิศทางเดียวกันให้ได้
รวมทั้งระบายน้ำในเจ้าพระยาตรงออกทะเลให้ได้มากที่สุด
ดันน้ำฝั่งตะวันออกลงทะเลด้านบางปะกงให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ผลักน้ำฝั่งตะวันตกลงแม่น้ำท่าจีน
ฉะนั้นจากนี้ไปอีก 7 วันจึงเป็นช่วงแห่ง "ความหวัง-ความอยู่รอด" ของคนกรุงเทพฯ
เพราะถ้าแผนนี้สำเร็จผล
คนกรุงเทพฯ ก็ไม่ต้องลอยกระทงบนถนนวิภาวดีฯ