WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, October 16, 2011

นักปรัชญาชายขอบ: กระแสน้ำ กระแสประชาธิปไตย และกลุ่มชนชั้นนำเก่า

ที่มา ประชาไท

นักปรัชญาชายขอบ

การเกิดพายุ ฝนตกหนักเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่ภาวะน้ำท่วมเกือบครึ่งประเทศ และท่วมอย่างยาวนาน ย่อมไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติล้วนๆ หากแต่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับปัญหาระบบการจัดการน้ำที่จำเป็นต้องถูก หยิบยกขึ้นมาทบทวนอย่างหนัก และต้องเป็นการทบทวนอย่างหนักไม่น้อยไปกว่าปัญหาการจัดระบบสังคมการการเมือง

เพราะเมื่อว่าโดยพื้นฐานทางความคิด ปัญหาการจัดการน้ำกับปัญหาการจัดระบบสังคมการเมืองของบ้านเราอยู่บนฐานคิด เดียวกัน คือฐานคิดที่ว่าประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมและจากนโยบายทางการ เมืองโดยตรงไม่จำเป็นต้องมีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเอง วันนี้กระแสน้ำทะลัก กระแสประชาธิปไตยบ่าล้น กลุ่มชนชั้นนำเก่าที่ถนัดแก้ปัญหาด้วยการแจกสิ่งของ และการอบรมสั่งสอนไม่รู้จะทำอย่างไรดี

ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ น้ำก็ไหลบ่าท่วมทะลัก โดยไม่เกี่ยวข้องกับกับนโยบายการสร้างเขื่อน การเก็บกักน้ำ การปล่อยน้ำ การเปิด-ปิดทางน้ำ การสร้างเขื่อนกั้น ขุดคลอง การสร้างถนน การวางระบบผังเมือง และ/หรือนโยบายการจัดการน้ำโดยรวมที่ขึ้นอยู่กับความคิดของเบื้องบนที่ ประชาชนผู้อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะน้ำท่วม หรือภาวะขาดแคลนน้ำไม่มีส่วนในการรับรู้ แลกเปลี่ยนถกเถียง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ นักศึกษา ประชาชน นักวิชาการ จะออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเสมอภาค หรือเรียกร้องอำนาจในฐานะเจ้าของประเทศ หากความเป็นประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเสมอภาค และอำนาจในฐานะเจ้าของประเทศของพวกเขาไม่ได้ถูกฉ้อฉลโดยกลุ่มชนชั้นนำเก่า ที่รวบอำนาจในการจัดการระบบสังคมการเมืองของประเทศมาอย่างยาวนาน ด้วย “อุดมการณ์สามรัก” คือรักชาติ รักศาสนา รักพระมหากษัตริย์

ดูๆ ไป เสมือนว่าประเทศนี้จะเป็น “ประเทศล้นรัก” เพราะแทบทุกอย่างถูกอธิบายได้ด้วยความรัก นโยบายการจัดการน้ำ การสร้างเขื่อน การป้องกันน้ำท่วม ฯลฯ ก็ถูกอธิบายว่ามาจากความรักของเบื้องบนที่มีต่อประชาชน และเมื่อเป็นนโยบายที่มาจากความรักของเบื้องบน ประชาชนจึงต้องน้อมรับ ไม่อาจตั้งคำถาม ไม่มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนถกเถียง และตัดสินใจร่วมกัน

เป็นเรื่องยากมากที่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ ในแต่จังหวัดจะเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องควรจะสร้างหรือไม่สร้างเขื่อน ควรจะเปิดหรือปิดน้ำจากเขื่อนแค่ไหนอย่างไร ในแต่ละฤดูกาล ทั้งที่พวกเขาคือผู้ที่แบกรับความเสี่ยง ต้องรับผลกระทบโดยตรงในการทำมาหากิน และปัญหาน้ำท่วม

ในทำนองเดียวกัน ภายใต้ “อุดมการณ์สามรัก” การกระทำที่ถูกหรือผิดในการต่อสู้ทางการเมืองก็ขึ้นอยู่กับเรื่อง “รัก-ไม่รัก” หากใครต่อสู้ทางการเมืองภายใต้วาระการเรียกร้องให้คนรักชาติ รักศาสนา รักพระมหากษัตริย์ เขาก็เป็นฝ่ายทำถูก เป็นคนดี แม้โดยการเรียกร้องนั้นจะนำไปสู่รัฐประหาร หรือแม้กระทั่งการเข่นฆ่านักศึกษาและประชาชนก็ตาม

แต่ถ้าการต่อสู้ทางการเมืองเป็นการเรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม หรือเรียกร้องการจัดระบบสังคมการเมืองที่อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชน จริงๆ ก็อาจเป็นการต่อสู้ที่ผิด เป็นภัยต่อความมั่นคง (แห่งระบบอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำเก่า) ที่อาจถูกล้อมปราบได้ง่ายๆ

ฉะนั้น ในประเทศที่อยู่ภายใต้ “อุดมการณ์สามรัก” จึงเรียกร้องการอยู่ร่วมกันด้วยความรัก มากกว่าที่จะเรียกร้องให้อยู่ร่วมกันด้วยความยุติธรรมบนหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างเท่าเทียม

แม้แต่ข่าวน้ำท่วม สื่อก็สร้างกระแส “ดราม่า” จนแทบไม่ตั้งคำถามต่อสาเหตุที่แท้จริง เช่น คนไทยรักกัน คนไทยไม่ทิ้งกัน นายกฯ พบผู้นำฝ่ายค้านเป็นสัญญาณความปรองดอง ฯลฯ ส่วนเรื่องที่ชาวบ้านพังคูกั้นน้ำกลับถูกนำเสนอเสมือนว่าเป็นความไม่เข้าใจ สถานการณ์ ความไม่เสียสละของชาวบ้านกลุ่มนั้นๆ โดยที่สื่อไม่ตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมไม่เป็นธรรม

ที่สำคัญสื่อแทบไม่ตั้งคำถามต่อปัญหาการจัดการน้ำตั้งแต่ระดับแนวคิด นโยบาย การปฏิบัติที่เป็นการผลักภาระให้คนบางกลุ่มต้องจำทนต่อสภาพน้ำท่วมแทนคน กลุ่มอื่นๆ หรือภาคธุรกิจสำคัญๆ โดยที่พวกเขาไม่มีหลักประกันความเสี่ยงและการชดเชยใดๆ

เมื่อน้ำบ่าทะลักท่วมเกือบครึ่งประเทศ เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลแล้วหากเราจะยังไว้วางใจใน “ความรัก” จากเบื้องบนในเรื่องการจัดการปัญหาน้ำ ต่อไปเรื่องการจัดการปัญหาน้ำจะต้องเป็นนโยบายของรัฐที่ครอบคลุมการจัดการ น้ำในภาพรวมระดับประเทศ ขณะเดียวกันก็กระจายอำนาจให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาน้ำท่วม ปัญหาภัยแล้งมีส่วนร่วมในการถกเถียงแลกเปลี่ยน และตัดสินใจร่วมกัน

พูดในเชิงหลักการปัญหาการจัดการน้ำ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของ “ความรัก” ความเมตตา ความชาญฉลาดจากเบื้องบน แต่เป็นเรื่องที่ต้องจัดการบนพื้นฐานของ “ความเป็นธรรม” แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม เป็นเรื่องของความมีประสิทธิภาพที่ตรวจสอบได้ และการมีส่วนร่วมร่วมของประชาชน

เช่นเดียวกัน ปัญหาการจัดระบบสังคมการเมือง ก็ไม่จำเป็นต้องถกเถียงในกรอบของ “อุดมการณ์สามรัก” หรือเถียงกันแค่รักคือถูกไม่รักคือผิดอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ต้องจัดการเพื่อตอบโจทย์ความเป็นธรรมในเชิงอำนาจต่อรองทาง การเมือง การวางระบบให้ทุกอำนาจสาธารณะถูกตรวจสอบได้ หรือระบบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว การล้างผลพวงของรัฐประหาร การแก้กฎหมายหมิ่นฯ การสร้างกติกาเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้เป็นไปตามหลักเสรีภาพและความเสมอภาค และการปฏิรูปกองทัพให้เป็นกองทัพภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่ประชาชนเลือก จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จะว่าไปแล้ว กระแสน้ำท่วมทะลัก กระแสประชาธิปไตยบ่าล้น คือกระแสท้าทายสังคมไทยว่า เราจะสามารถจัดการกับภัยธรรมชาติ และจัดการระบบสังคมการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพที่ตรวจสอบได้ บนจุดยืนที่พ้นไปจากเรื่องรัก-ไม่รัก สู่จุดยืนเรื่องความเป็นธรรม เสรีภาพ ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้อย่างไร