ที่มา ข่าวสด
สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เข้าสู่ช่วงไฮไลต์
น้ำเหนือก้อนมหึมาจู่โจมฝ่าด่านนครสวรรค์ เคลื่อนขบวนทะลุทะลวงผ่านชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี เข้าพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี
สร้างความเสียหายตามรายทางให้กับบ้านเรือนประชาชน พื้นที่เศรษฐกิจ โรงงานอุตสาหกรรมเสียหายไปแล้วไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท
ก่อนทะลักเข้าโอบล้อมกรุงเทพฯ ด้วยปริมาณน้ำกว่า 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
ในจังหวะ"ดาบสอง"น้ำทะเลหนุนสูงไปจนถึงวันที่ 18 ต.ค. ทั้งยังต้องรอลุ้นต่อถึง"ดาบสาม"กับปริมาณน้ำฝนที่ถล่มลงมาไม่หยุดหย่อน
น้ำเหนือ น้ำหนุน น้ำฝน ทั้ง 3 อย่างนี้คือเงื่อนไขสำคัญที่มาบรรจบกันโดยมิได้นัดหมาย ทำให้กรุงเทพฯ ยังหนีไม่พ้นภาวะลูกผีลูกคน ต้องลุ้นระทึกกันชนิดนาทีต่อนาที
แต่กระนั้นก็ตาม ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า โอกาสที่กทม.จะรอดพ้นไปได้มีค่อนข้างมาก
ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
จังหวัดที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง รวม 61 จังหวัด มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 280 ราย เดือดร้อนเกิน 2.4 ล้านครัวเรือน หรือเกือบ 8.3 ล้านคน
ด้วยตัวเลขที่ปรากฏจึงไม่แปลกหากน้ำท่วมครั้งนี้จะได้รับการจดบันทึกให้เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งสาหัสสากรรจ์ที่สุดในรอบ 50 ปี
ซัดกระหน่ำ"รัฐบาลยิ่งลักษณ์"ที่มีอายุประสบการณ์บริหารประเทศแค่เดือนเศษจนโซซัดโซเซในช่วงแรก
แต่ก็เป็นอะไรที่"ตั้งหลักได้เร็ว"กับการตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ ประสบอุทกภัย หรือศปภ. มอบหมายให้พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรมเป็น"พ่องาน"ในฐานะผอ.ศูนย์ฯ
ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ก็สามารถรีดฟอร์ม"ผู้นำ"ออกมาได้ทันท่วงทียามบ้านเมืองเกิดวิกฤต ขนาดอดีตนายกฯบรรหาร ศิลปอาชา ยังกล่าวชื่นชม
แถมออกตัวให้ด้วยว่าปัญหาตอนนี้ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหน หรือต่อให้มี 10 รัฐบาลก็รับมือกับปริมาณน้ำขนาดนี้ไม่ไหว
นอกเหนือจากภาพการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยกระดับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยขึ้นเป็น"วาระแห่งชาติ"
ระดมกำลังทุกภาคส่วนทั้งภาคการเมือง ภาครัฐ ภาคเอกชน ทหาร ตำรวจ และภาคประชาชน เข้าร่วมวงหารือในที่ประชุมศปภ.
และจากที่เคยฮือฮากลายเป็นภาพเห็นกันจนชินตา คือนายกฯยิ่งลักษณ์ ควงคู่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ออกตรวจสถานการณ์พื้นที่ประสบภัยรายวัน
ไม่ว่าขึ้นรถ ลงเรือ ขี่เฮลิคอปเตอร์ เห็นนายกฯยิ่งลักษณ์ที่ไหน เป็นต้องเห็นพล.อ.ประยุทธ์ที่นั่น
ผลพลอยได้จากการที่ผู้นำรัฐบาลกับผู้นำกองทัพเคียงบ่าเคียงไหล่ต่อสู้กับ วิกฤตน้ำท่วม ทำให้บรรยากาศความตึงเครียดทางการเมืองที่เป็นมาตลอดตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้ เข้ามา เริ่มคลายตัวลง
ล่าสุดรัฐบาลด้วยความร่วมมือของหน่วยงานทุกกระทรวง ทบวง กรม ยังคิดค้นผลักดันมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อแบ่งเบาภาระให้ประชาชนผู้ประสบภัย
ทั้งการขอผู้ประกอบการช่วยตรึงราคาน้ำมันไว้ก่อน การผ่อนผันชำระค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 3 เดือน พักชำระหนี้โดยไม่คิดดอกเบี้ยในส่วนของผู้เช่าซื้อบ้านกับการเคหะ รวม 3 เดือน
กระทรวงการคลังสั่งให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ หาแนวทางหยุดพักชำระหนี้ให้ผู้ประสบภัยจนกว่าน้ำจะแห้ง ควบคู่กับการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือน และเป็นทุนหมุนเวียนในการทำอาชีพใหม่
ขณะที่กรมสรรพากรออกมาตรการภาษี ให้ผู้บริจาคเงินช่วยน้ำท่วมนำไปหักลดหย่อนภาษีเพิ่มเป็น 1.5 เท่า
ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมเงินชดเชยอีกครอบครัวละ 5,000 บาท และชดเชยพื้นที่การเกษตรอีกไร่ละ 2,222 บาทที่รัฐบาลทยอยจ่ายไปบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตามมีการมองว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมจะเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของ รัฐบาล แต่โจทย์ที่ยากจริงๆ สำหรับคณะผู้บริหารประเทศภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์
อยู่ที่สถานการณ์ภายหลังน้ำลดมากกว่า
ยังไม่มีการประเมินแน่ชัดว่ารัฐบาลต้องใช้เม็ดเงินจำนวนเท่าใดในการฟื้นฟูความเสียหายหลังภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่นี้
แต่เบื้องต้นรัฐบาลได้เตรียมตัวเลขเบื้องต้นไว้ที่จำนวน 80,000 ล้านบาท ซึ่งจะได้มาจากการหั่นงบลงทุนของทุกกระทรวงลง 10 เปอร์เซ็นต์
กระนั้นก็ตามฉากสำคัญยังเป็นพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ชิงเปิดประเด็นข้ามฟากมาจากดูไบ ถึงมาตรการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม
เป้าหมายให้ทุกอย่างกลับคืนสู่สภาพเดิมทั้งบ้านเรือน โบราณสถาน วัด โรงเรียน พื้นที่เกษตรกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม
เรียกความเชื่อมั่นกลับคืนสู่ประเทศโดยเร็ว
การดำเนินการตรงนี้รัฐบาลจำเป็นต้องหาเงินให้ได้อย่างน้อย 1 แสนล้านบาท ซึ่งได้เตรียมจัดหาแหล่งทุนไว้แล้ว
ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวต้องทำหลายอย่างเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งไป พร้อมกัน ทั้งโครงการแก้มลิง เขื่อนกักเก็บน้ำ และเขื่อนกั้นน้ำทะเลป้องกันไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ
ส่วนจะสร้างอะไรไว้ตรงไหน รวมถึงการตัดเส้นทางเดินของน้ำใหม่ รัฐบาลต้องนำภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงน้ำท่วมมาศึกษาให้ละเอียด
เบ็ดเสร็จคาดว่าต้องใช้เงินงบประมาณอีกไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท ถึงจะเป็นเงินจำนวนมากแต่ก็คุ้มค่าหากเปรียบเทียบจากตัวเลขความเสียหายทุกปี โดยเฉพาะปีนี้
สำหรับที่มาของแหล่งเงิน พ.ต.ท.ทักษิณชี้ช่องให้ไปกู้จากประเทศจีน แล้วจ่ายคืนเป็นสินค้าเกษตร นอกจากนี้ยังช่วยเจรจาดึงนักลงทุนต่างชาติเพื่อเข้ามาลงทุนในไทยอีกทาง
อธิบายส่งต่อให้รัฐบาลเพื่อไทยรับไปปฏิบัติ
พ.ต.ท.ทักษิณฉวยโอกาสตอนกระแสสังคมเรียกร้องหามาตรการป้องกันน้ำท่วมระยะยาว ที่กำลังเป็นประเด็นมาแรงแซงโครงการประชานิยมอื่นๆ ที่รัฐบาลเองก็ถูกหาว่า"ดีแต่โม้"
โชว์มันสมองระดับเวิลด์คลาส กลบข้อครหา"ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ"เสียสนิท