ที่มา มติชน
(ที่มา สำนักข่าวประชาไท แปลและเรียบเรียงจาก As Thailand Floods Spread, Experts Blame Officials, Not Rains. โดย Seth Mydans)
เซธ เมย์เดนส์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติของไทย ชี้อุทกภัยที่เกิดขึ้นและลามไปหลายพื้นที่ในเวลานี้ ไม่ได้มาจากปริมาณน้ำฝนที่มากผิดปกติ หากแต่เป็นเพราะการวางแผนการจัดการน้ำและผังเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ
กรุงเทพ - ท่ามกลางอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย ที่ส่งผลให้จังหวัดต่างๆ และนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงโบราณสถานกลายเป็นเมืองบาดาลอยู่ใต้น้ำ ผู้เชี่ยวชาญในการจัดการน้ำชี้ว่า สาเหตุของหายนะครั้งนี้ เป็นผลมาจากฝีมือของมนุษย์
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปัจจัยหลักๆ ของอุทกภัยในครั้งนี้ คือการ ตัดไม้ทำลายป่า การปลูกสิ่งก่อสร้างที่มากเกินไปในเขตพื้นที่รับน้ำ การสร้างเขื่อนและการหันเหธารน้ำธรรมชาติ การเจริญเติบโตของเมืองที่กระจัดกระจาย รวมถึงคูคลองในเมืองที่เริ่มอุดตันและการขาดการวางแผน เขาชี้ว่า เขาเคยเตือนทางการไปแล้วหลายครั้งในเรื่องนี้ หากแต่ก็ไม่มีผล
"ผมได้พยายามจะบอกทางการไม่รู้กี่ครั้งกี่หน แต่เขาบอกผมว่าผมน่ะบ้าไปเอง" นายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ผู้ซึ่งโด่งดังจากการคาดการณ์ภัยพิบัติสึนามิหลายปีก่อนที่คลื่นยักษ์จะเข้า ถล่มชายฝั่งในพ.ศ. 2547 กล่าว
ฤดูพายุร้อนในปีนี้ นำหายนะมาสู่กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เวียดนามและไทย ซึ่งมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 283 คน
ในฟิลิปปินส์ มีหลายพันคนที่ต้องอพยพเนื่องจากพายุไต้ฝุ่นที่เข้าถล่มประเทศ ส่วนนาข้าวขั้นบันไดขนาดใหญ่ที่เมืองบานาวของฟิลลิปินส์ ก็ถูกโคลนถล่มทำลายเสียหายย่อยยับ
เช่นเดียวกับในกัมพูชา มีรายงานว่าที่เมืองเสียมราฐ ระดับน้ำก็สูงขึ้นมาระดับเข่า และกระแสน้ำเริ่มท่วมในบริเวณใกล้เคียงกับโบราณสถาน "นครวัด" แล้ว
ทางการไทยได้แจ้งเตือนว่า ในไม่อีกกี่วันนี้ กรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมด้วยน้ำหลากจากภาคเหนือ น้ำหนุนและน้ำฝนจากพายุฤดูร้อน ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ก็ได้เริ่มขนกระสอบทรายมากั้นไว้เพื่อเตรียมความพร้อม และกว้านซื้ออาหารแห้ง น้ำดื่ม แบตเตอรี่ และเทียนไขมากักตุน
ส่วนการเตรียมการในกรุงเทพฯ ก็เป็นที่วุ่นวายมากทีเดียว กระสอบทรายเรียงรายกันยาวกว่า 45 ไมล์ ถูกวางกั้นตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนแนวกั้นน้ำและคูคลองก็กำลังสร้างขึ้นมารองรับกระแสน้ำ และประชาชนก็ได้รับคำเตือนจากทางการให้เตรียมพร้อมอยู่เสมอ
ในขณะที่น้ำไหลบ่าลงจากทิศใต้จากจังหวัดนครสวรรค์และอยุธยา ทำให้โบราณสถานจมอยู่ใต้น้ำ สื่อท้องถิ่นรายงานว่าทหารก็ได้เตรียมขนย้ายกระสอบทรายกว่า 150,000 ถุง ไล่ลงตามกระแสน้ำจากที่ที่ประสบความเสียหายแห่งหนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งซึ่งมี ความเสี่ยงต่อไป
ในขณะที่รัฐบาลพยายามปกป้องพื้นที่ในตัวเมืองและพื้นที่อุตสาหกรรมโดยการหันเหน้ำไปทางอื่นเท่าที่จะทำได้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องเผชิญกับการตัดสินใจว่าจะเลือกช่วยเมืองไหน และเมืองไหนที่จะต้องเสียสละ
ในอยุธยา มีรายงานว่ามีชาวบ้านสองกลุ่มเกิดการทะเลาะวิวาทเนื่องมาจากทำนบที่กั้นน้ำจากฝั่งหนึ่ง ไม่ให้ไหลเข้าไปอีกฝั่งหนึ่ง ชาวบ้านฝั่งที่โชคร้ายรับน้ำท่วมเกิดความไม่พอใจ ได้ขุดรูตรงคันกั้นน้ำเพื่อปล่อยน้ำให้ไหลไปยังอีกฝั่งหนึ่ง จึงเกิดการยิงต่อสู้กัน ส่งผลให้มีชาวบ้านคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ ยังมีรายงานว่า ทหารได้ถูกส่งไปยังคันกั้นน้ำในบริเวณต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังคันกั้นน้ำด้วย
เอวา นาร์คีวิกซ์ ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารองค์กร Elephantstay ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรที่ดูแลช้างสูงอายุ ให้ข้อมูลว่า มีช้างราว 15 ตัวในอยุธยาที่ถูกปล่อยเกาะ โดยพวกมันหนีเอาตัวรอดโดยการปีนขึ้นหนีน้ำบนกำแพงยอดสูง ช้างโขลงนั้นประกอบด้วยแม่ช้างเจ็ดตัว และลูกๆ ของมัน ในจำนวนนั้น ยังรวมถึงช้างอายุ 9 ปีตัวหนึ่งที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้วยทักษะการวาดภาพด้วยงวง
"ถ้าหากความช่วยเหลือที่เหมาะสมยังไม่มาถึงเร็วๆ นี้ แม่และลูกช้างจะอยู่ในอยู่ในอันตรายมาก" นาร์คีวิกซ์กล่าว เธอเสริมว่า ช้างแต่ละตัวบริโภคอาหารมากถึง 440 ปอนด์ (ราว 200 กิโลกรัม) ต่อวัน แต่เรือที่อาจใช้ขนส่งกล้วย สับปะรดและอ้อย จำเป็นต้องกู้ภัยและช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ตามที่ต่างๆ
นายสมิทธ นักอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ถูกทำให้เลวร้ายกว่าเดิม เป็นเพราะแผนการจัดการน้ำที่ไม่ดี
"พวกเขาคำนวณระดับน้ำผิดไป และไม่ได้ปล่อยน้ำออกจากเขื่อนให้เร็วพอในฤดูฝน" เขากล่าวและว่า "และตอนนี้ระดับน้ำในเขื่อนก็เกือบจะเต็มหมดแล้ว พอเมื่อเขาปล่อยน้ำในเวลานี้ น้ำก็ไหลลงมายังพื้นที่ราบต่ำ"
เขากล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็น อุปสรรคต่อกระแสการไหลของน้ำ เนื่องจากนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายยังคงดำเนินการการปลูกสร้างต่อไป ไม่หยุดหย่อน
"พวกเขาสร้างอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ควรจะเป็นอ่างเก็บน้ำ" นายสมิทธ กล่าวและว่า "และ เมื่อพวกเขาสร้างเขื่อนหรือทำนบกั้นน้ำตรงนั้นขึ้นมา มันก็จะปิดกั้นการไหลของกระแสน้ำ ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นทางผ่านของน้ำในฤดูฝน"
เมื่อกระแสน้ำท่วมไหลบ่าเข้ามายังกรุงเทพฯ มันก็จะไหลเข้ามายังมหานครที่สูญเสียปราการกั้นน้ำตามธรรมชาติไปแล้ว กล่าวคือ คูคลองต่างๆ ที่ควรจะรองรับน้ำ ได้อุดตันไปด้วยเศษขยะต่างๆ ที่มาพร้อมกับประชากรที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่นในเมือง
"การวางผังเมืองของเรานั้นไร้ประสิทธิภาพ" นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
"ฤดูกาลมิได้เปลี่ยนไปมากเท่าไหร่หรอก" เขากล่าวและว่า "เรามักจะมีน้ำเยอะมากเป็นพิเศษในฤดูฝน แต่ถ้าหากเรายังไม่มีแผนการจัดการน้ำที่ดี เราก็จะเผชิญกับปัญหานี้อีกในปีหน้า"
ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกล่าวต่อว่า มนุษย์และธรรมชาติเริ่มขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ และการอยู่ร่วมกันก็กลายเป็นสมรภูมิขนาดย่อย "นี่ เป็นสัญญานที่เตือนให้เรารู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะอนุรักษ์ผืนป่า... เราทำลายธรรมชาติไปมากพอแล้ว และตอนนี้ ก็เสมือนว่าเป็นเวลาที่ธรรมชาติจะขอเอาคืน"