ที่มา มติชน
โดย จำลอง ดอกปิก
น้ำ ท่วมใหญ่ประเทศไทยครานี้ ส่งผลกระทบกว้างขวางทุกมิติ ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่ความมั่นคง การขาดการเตรียมความพร้อมรับมือที่ดี และอย่างเป็นระบบเพียงพอ ทำให้เมื่อเผชิญวิกฤต เราไม่สามารถลดทอน บรรเทาความเสียหายได้
ทำได้เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ และปรับเปลี่ยนแผนรองรับไปตามสถานการณ์แรงน้ำ เป็นการตั้งรับและตามแก้ปัญหา มากกว่าการทำงานเชิงรุกที่ทำไม่ได้ในขณะนี้ ในการวางแผนป้องกัน แก้ไขเมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์ในระดับต่างๆ
โลกพัฒนาเทคโนโลยีก้าว หน้าตามแทบไม่ทัน เพื่อตอบสนองการใช้งานทุกสาขา แต่ใครจะเชื่อว่า เราต้องกรอกทรายลงกระสอบ นำหินใส่ชะลอมเหล็ก ใช้กำลังคนขนเข้าปิดทางน้ำด้วยวิธีการโบราณ
สังคมไทยค่อนข้างมองโลก ในแง่ดี ขณะหลายพื้นที่เดือดร้อนแสนสาหัส ผู้คนตามท้องถนนในเมืองกรุงยืนพูดคุยโทรศัพท์ หากให้คาดเดาก็คงพูดคุยกับญาติพี่น้องผู้ประสบภัยอยู่ ได้ยินเสียงพูดชัดเจนเหมือนกับบอกให้ยอมจำนน "ฝนตก มันถึงหน้ามันแล้ว มันก็ต้องท่วมอย่างนี่แหละ ที่ไหนก็เหมือนกัน"
ด้าน หนึ่งอาจต้องการการปลุกปลอบ มิให้วิตกกังวล หรือเครียดจนเกินไป แต่อีกด้านกลับสะท้อนอะไรอีกหลายอย่าง ทั้งเรื่องการขาดไร้ที่พึ่ง ไม่สามารถคาดหวังหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยในที่อยู่อาศัย ชีวิต และทรัพย์สินจากรัฐได้ เรื่องนี้รัฐบาลจึงไม่ควรปล่อยให้ประชาชนรู้สึกคล้ายโดดเดี่ยวเดียวดาย ก้มหน้ารับชะตากรรม เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องเกิด
จริงอยู่ มันเป็นเรื่องภัยธรรมชาติ อยู่นอกเหนือการควบคุม แต่เหมือนกับที่บอกไว้ตอนต้น หากเรามีมาตรการรับมือที่ดีพร้อมและเป็นระบบเพียงพอ อาจช่วยลดทอน บรรเทาความเสียหายได้ แม้ระหว่างนี้ไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อลดความเดือดร้อนประชาชน และการเข้าไปช่วยเหลือให้หลุดพ้นสถานการณ์เลวร้ายที่เผชิญอยู่ก็ตาม
ทว่า ระยะถัดไปภายหลังการฟื้นฟู แผนระยะกลาง และระยะยาว แผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเป็นวาระชาติที่รัฐบาลได้ประกาศยกระดับไปแล้ว นั้น รัฐบาลต้องผลักดัน และขับเคลื่อนงานตามแผนการให้ออกมาเป็นรูปธรรมให้จงได้
น้ำท่วมใหญ่ ครั้งนี้ นอกจากเป็นบทพิสูจน์สำคัญ ท้าทายฝีมือการบริหารจัดการแก้ไขปัญหา และการคิดใหม่ ทำใหม่ หาวิธีการ-เทคโนโลยีทันสมัยมารับมือพิบัติภัยในอนาคตอย่างยิ่งแล้ว เรายังได้เห็นอะไรต่อมิอะไร อันอาจนำมาสู่การปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้คนในสังคม ฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะรัฐบาลนั้นไม่ต้องพูดถึง ย่อมได้รับการประเมินผลคะแนนนิยมโดยตรง จากการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ว่า ฝีมือพอฝากผีฝากไข้ได้หรือไม่อยู่แล้ว
การปรับเปลี่ยนมุมมองที่พูด ถึงนั้น คือท่าทีที่มีต่อแนวคิดการก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ หรือมุมที่มีต่อองค์กรพัฒนาเอกชนที่แสดงตัวต่อต้านการก่อสร้างเขื่อนมาตลอด อาจเปลี่ยนไปในทิศทางตรงกันข้าม
กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเอง ก็อาจต้องทบทวนบทบาทครั้งใหญ่ว่า การดำรงจุดยืนต่อต้านการก่อสร้างเขื่อนอย่างแข็งขัน แท้จริงแล้วเป็นผลดีต่อสังคมหรือไม่ และจะหาจุดสมดุลในการรักษาทั้งป่าไม้ คน และประเทศชาติได้อย่างไร
น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ สังคมไทยอาจปรับเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อสถาบันกองทัพ
ระยะ ห่างระหว่างประชาชนกับทหารที่เคยถ่างกว้างจากสถานการณ์ความขัดแย้ง อาจหดแคบลง เมื่อปรากฏภาพผู้นำกองทัพ และกำลังพลเข้าไปช่วยเหลือประชาชน 24 ชั่วโมงอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ย่อท้อ
วิกฤตครั้งนี้ คงไม่มีอะไรเลวร้ายไปเสียหมด!