ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
ชัยภูมิ ที่ตั้งของ "มหานครกรุงเทพ" เป็นที่ราบลุ่มตอนปลายของแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเขตอิทธิพลการขึ้น-ลงของน้ำ ทะเล บวกกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่ขยายตัวไปมาก มีอาคารบ้านเรือน เข้ามาแทนที่ห้วย หนอง คลอง บึง และที่ว่าง ผนวกกับการทรุดตัวของดินเป็นประจำทุกปีด้วยแล้ว
กลายเป็นต้นตอที่ทำให้ "กรุงเทพฯ" ในวันนี้หนีไม่พ้นจะประสบปัญหาน้ำท่วมได้
2 ต้นเหตุปัญหา "น้ำท่วมกรุง"
รายงาน ของสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า มี 2 สาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ สาเหตุที่ 1 มาจากธรรมชาติที่ยากจะควบคุมได้จาก 4 น้ำคือ "น้ำฝน-น้ำทุ่ง-น้ำเหนือ-น้ำทะเลหนุน"
โดย "น้ำฝน" ฤดูกาลจะเริ่มช่วงพฤษภาคม-ตุลาคม มีปริมาณและความถี่สูงสุดกลางสิงหาคม-ตุลาคม เฉลี่ยต่อปี 1,500 มิลลิเมตร ประกอบกับเป็นช่วงที่เกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามาในประเทศไทยและใกล้ กรุงเทพฯ
"น้ำทุ่ง" คือน้ำฝนหรือน้ำเพื่อการกสิกรรมอยู่ด้านเหนือและตะวันออก ของกรุงเทพฯ โดยความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณและระดับน้ำและความลาดเอียงของระดับพื้นดิน ที่ทรุดตัว
"น้ำเหนือ" เป็นน้ำฝนที่ตกในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีบางส่วนไหลผ่านกรุงเทพฯ มีผลให้ระดับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาสูงสุดในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน ขณะที่ขนาดของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกรุงเทพฯสามารถรองรับปริมาณน้ำเหนือได้ 2,500-3,000 ลบ.ม./วินาที
และ "น้ำทะเลหนุน" จะสูงสุดในช่วงตุลาคม-ธันวาคม
จาก "มวลน้ำ" ทั้งหมดส่งผล กระทบให้พื้นที่กรุงเทพฯช่วงตุลาคม-พฤศจิกายนมีระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา สูงกว่าปกติมาก จากสถิติปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นปี 2526, 2538, 2539, 2545, 2549 และ 2553 สูงสุดวัดที่ปากคลองตลาดใกล้สะพานพุทธ อยู่ที่ 2.13, 2.27, 2.14, 2.12, 2.22, 2.17 และ 2.10 เมตรตามลำดับ
จากสถิติในอดีตทำให้ วันนี้ กทม.ค่อนข้างมั่นใจว่าคันกั้นน้ำที่สร้างขึ้นถาวรสูงระดับ 2.50 เมตรจะต้านทานปริมาณน้ำเหนือ-น้ำทะเลหนุนได้ ยกเว้นว่าบรรดาน้ำทั้ง 3 เกลอ "น้ำเหนือ-น้ำฝน-น้ำทะเลหนุน" พร้อมใจมาในเวลาเดียวกันโดยไม่ได้นัดหมาย
สาเหตุ ที่ 2 เกิดจาก "สภาพทางกายภาพ" มี 3 สาเหตุคือ 1) "ปัญหาผังเมือง" ที่ขาดการกำหนดผังเมืองและการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเพียงพอ ทำให้ที่ว่างรับน้ำต่าง ๆ ถูกแทนที่ด้วยการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนและถนนหนทางกระจายทุกหย่อมหญ้า
บวก กับทางระบายน้ำถูกถม ทำให้การระบายน้ำฝนออกสู่คลองไม่ทัน และระดับพื้นถนนและซอยไม่เท่ากัน หรือบางพื้นที่เป็นแอ่งกระทะเพราะแผ่นดินทรุดตัว ทำให้เกิดน้ำท่วมถนนและซอยที่ต่ำจนเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้
2) "ปัญหาการระบายน้ำ" ที่ขาดแผนหลักระบายน้ำที่ถูกต้อง หลังคูคลองถูกถมเป็นถนน และถูกรุกล้ำจนทำให้มีขนาดที่แคบลงยากที่จะขุดลอกได้ และการวางท่อระบายน้ำในปัจจุบันมีขนาดเล็กลงตามสภาพพื้นที่เมืองที่ ถูกบีบให้เหลือน้อยลงทุกที
และ 3) "ปัญหาแผ่นดินทรุด" ที่มีการทรุดตัวทุกปี ทำให้การลงทุนระบบต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ผล
เปิดพื้นที่จุดอ่อน-จุดเสี่ยง
สำหรับ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมมี 2 ฝั่งคือ ฝั่งตะวันตก เป็นพื้นที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำใน 13 เขต มี 27 ชุมชนรวม 1,273 ครัวเรือน ปัจจุบันมีการรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง จะประสบกับปัญหา น้ำท่วมทุกปีเพราะชาวบ้านไม่ยอมให้ กทม.เข้าไปสร้างแนวคันกั้นน้ำ ได้แก่ เขตบางซื่อ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย บางพลัด บางกอกน้อย ธนบุรี คลองสาน ราษฎร์บูรณะ และทวีวัฒนา
สำหรับฝั่งตะวันออก พื้นที่ไฮไลต์อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำเช่นกัน มี 4 เขต 191 ชุมชนคือ เขตลาดกระบัง มีนบุรี หนองจอก และคลองสามวา
ขณะ ที่พื้นที่ "จุดอ่อน" เป็นย่านชั้นในมี 15 จุด ได้แก่ 1) เขตสาทร ย่านถนนจันทน์ เซนต์หลุยส์ สาธุประดิษฐ์ 2) เขตพญาไท ถนนพหลโยธิน ช่วงคลองสามเสน-คลองบางซื่อ 3) เขตพระโขนง ถนนสุขุมวิท จากคลองพระโขนง-ซอยลาซาล 4) เขตวัฒนา ซอยสุขุมวิท 39 และ 49 5) เขตวังทองหลาง ถนนลาดพร้าว จากคลองลาดพร้าว-ห้างเดอะมอลล์
6) เขตบึงกุ่ม ถนนนวมินทร์ จากคลองดอนอีกา-แยกถนนประเสริฐมนูกิจทั้งสองฝั่ง 7) เขตดินแดง ถนนรัชดาภิเษก หน้าห้างโรบินสัน 8) เขตจตุจักร ถนนรัชดาภิเษก แยกลาดพร้าว 9) เขตราชเทวี ถนนเพชรบุรี จากถนนบรรทัดทอง-แยกราชเทวี 10) เขตราชเทวี ถนนนิคมมักกะสัน 11) เขตราชเทวี ถนนพระรามที่ 6 หน้าตลาดประแจจีน
12) เขตบางแค ถนนเพชรเกษม ซอย 63 (ซอยวัดม่วง) 13) เขตยานนาวา ถนนเย็นอากาศ จากถนนนางลิ้นจี่- ซอยศรีบำเพ็ญ 14) เขตประเวศ ถนนศรีนครินทร์ ช่วงคลองตาสาด-คลองตาช้าง และ 15) เขตพระนคร ถนนสนามไชยและถนนมหาราช
เปิดแผนป้องกัน "น้ำฝน-น้ำหนุน"
เมื่อ รู้ต้นสายปลายเหตุทำให้ "กรุงเทพฯ" เผชิญกับภาวะน้ำท่วมแทบจะทุกปีอยู่แล้ว วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหา ซึ่งสำนักการระบายน้ำ กทม.ได้เขียนแผนประจำปีไว้ชัดเจนรวมถึง ปี 2554 นี้ด้วยมี 2 ลักษณะคือ ป้องกัน 2 น้ำทั้ง "น้ำฝน-น้ำหนุน"
เริ่มที่วิธี "ป้องกันน้ำฝน" กทม. จะระดมเครื่องสูบน้ำระบายน้ำออกจากพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมโดยเร็ว จากเดิมใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง เหลือ 2-3 ชั่วโมง มี 15 จุดที่หากฝนตกเกินปริมาณ 60 มิลลิเมตร/ชั่วโมง เสี่ยงเกิดน้ำท่วมขังแน่นอน
ส่วน การ "ป้องกันน้ำหนุน" มีหลายวิธี ทั้งประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่แนวคันกั้นน้ำตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ริมคลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ เพื่อไม่ให้น้ำเอ่อล้นตลิ่ง
ปัจจุบัน กทม.สร้างแนวคันกั้นน้ำถาวรไว้แล้ว รับน้ำได้สูง 2.50 เมตร รวมระยะทาง 75.80 กิโลเมตร ยังมีพื้นที่เป็น "ฟันหลอ" เหลืออยู่ 1.20 กิโลเมตร จะสร้างเสร็จในปี 2555 ปัจจุบัน กทม.นำกระสอบทรายมาวางเป็นแนวป้องกันชั่วคราวสูงระดับ 2.70 เมตร
"อุโมงค์ยักษ์" แก้น้ำท่วมยั่งยืน
อย่าง ไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว ทางสำนักการระบายน้ำ กทม.เขียนแผนบูรณาการจากการใช้สิ่งก่อสร้างถาวร ทั้งสถานีสูบน้ำ ระบบป้องกันน้ำท่วม ประตูระบายน้ำ ระบบระบายน้ำ ระบบผันน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ สร้างแนวป้องกันริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองบางกอกน้อย สร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กริมคลอง รวมถึงขุดลอกคูคลองปรับปรุงระบบระบายน้ำและอุปกรณ์ต่าง ๆ
ซึ่งอาจจะ ต้องใช้เงินอีกเป็น 10,000 ล้านบาทในการแก้ปัญหา ขณะที่ในแต่ละปีได้รับงบประมาณอยู่ที่ปีละกว่า 3,000 ล้านบาท ไม่พอกับการดำเนินการ ส่วนหนึ่ง กทม.จะต้องพึ่งพางบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลกลาง เช่น การก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์อีก 3 แห่งที่เหลือ วงเงินก่อสร้างรวม 13,400 ล้านบาท
โดยแต่ละอุโมงค์มีประสิทธิภาพระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้า พระยาได้ 60 ลบ.ม./วินาที ประกอบด้วย 1) อุโมงค์รัชดาภิเษก-สุทธิสาร สร้างใต้คลองบางซื่อจากลาดพร้าวออก เจ้าพระยาบริเวณเกียกกายความยาว 6.40 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 2,500 ล้านบาท ใช้เวลาสร้าง 3 ปี อยู่ระหว่างประกวดราคา
2) อุโมงค์สวนหลวง ร.9 ลอดใต้คลองหนองบอน คลองตาช้าง ถนนอุดมสุข สุขุมวิท 101/1 คลองบางอ้อ ออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริษัทไม้อัดไทยความยาว 9.40 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 4,900 ล้านบาท ออกแบบเสร็จแล้วอยู่ระหว่างของบประมาณจากรัฐบาลใช้เวลาสร้าง 4 ปี
3) อุโมงค์ดอนเมือง ระบายน้ำจากคลองบางบัวลอดใต้คลองวัดหลักสี่ คลองเปรมประชากร ถนนรัชดาภิเษก ถนนวงศ์สว่าง ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใต้สะพานพระราม 7 ระยะทาง 13.50 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 6,000 ล้านบาท กำลังสำรวจออกแบบใช้เวลาสร้าง 4 ปี
จาก ปัญหา "อุทกภัย" ที่หนักหน่วงในปีนี้ เชื่อว่า "กทม." น่าจะได้บทเรียนเพิ่มขึ้น และอาจจะต้องรีวิวหรือวางแผนระบบป้องกันน้ำท่วมปี 2555 ใหม่ โดยเฉพาะแนวคันกั้นน้ำถาวรริมเจ้าพระยา ที่อาจจะต้องเพิ่มระดับความสูงขึ้นไปอีก เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองกรุงอย่าง ยั่งยืนและแท้จริง
ไม่ใช่เป็นแค่การ "แก้ผ้าเอาหน้ารอด" แบบปีต่อปีเช่นนี้