ที่มา ประชาไท
ถ้าหากคุณต้องการโจมตีข้อเสนอหรือนโยบายใดๆ โดยไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นตัวร้ายละก็ ลองใช้วิธีแปะป้ายนโยบายนั้นๆ ว่า "สุดโต่ง" หรือ "หัวรุนแรง" น่าจะช่วยคุณได้ นี่คือสิ่งที่นักวิจัยด้านรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ กล่าวไว้
30 พ.ย. 2011 - เว็บไซต์ livescience เปิดเผยผลการวิจัยของ โทมัส เนลสัน ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต ที่ทำวิจัยเรื่องผลของการใช้คำว่า "สุดโต่ง" หรือ "หัวรุนแรง" นั้นมีผลต่อความเห็นของผู้รับสารอย่างไร
โทมัส กล่าวว่า การศึกษาของเขาอาจช่วยอธิบายได้ว่าเหตุใดถึงมีการใช้สองคำนี้ในการกล่าวโจมตีทางการเมืองมากเหลือเกิน เช่น การที่ผู้ไม่เห็นด้วยกับนโยบายปฏิรูปการประกันสุขภาพของรัฐบาลโอบาม่า ก็กล่าวโจมตีเขาว่าเป็น "สังคมนิยม" ในทางเดียวกันฝ่ายพรรคเดโมแครตก็เรียกกลุ่มผู้ประท้วง Tea party ว่าเป็นพวก "หัวรุนแรง" (Radical) และพยายามเชื่อมโยงกลุ่มนี้กับพรรคริพับริกันที่เป็นศัตรูทางการเมือง
"การใช้คำว่า 'พวกสุดโต่ง' มาแปะป้ายให้คนอื่นเป็นยุทธวิธีที่ทำให้ผู้กล่าวไม่จำเป็นต้องกล่าวโจมตีค่านิยมที่คนทั่วไปยอมรับ" เนลสันกล่าว "ในกรณีนี้คุณแค่บอกว่าคนกลุ่มที่สนับสนุนอะไรบางอย่างกำลังสุดโต่งเกินไป"
ในการทดลองหนึ่ง มีการให้ผู้เข้าร่วมอ่านบทความการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นในปี 2003 ที่สนามกอล์ฟออกัสตา เนชันนัล กอล์ฟคลับ ออกนโยบายอนุญาตให้สมาชิกเป็นผู้ชายเท่านั้น ซึ่งในบทความมีการโต้เถียงว่าหากทางสนามกอล์ฟยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ก็ควรมีการย้ายสถานที่จัดมาสเตอร์ทัวร์นาเมนต์ของรายการ PGA tour
อย่างไรก็ตาม บทความนี้มีอยู่สามแบบฉบับ แบบฉบับแรกระบุว่าข้อเสนอเรื่องการย้ายสถานที่จัดนั้นมาจาก "ประชาชน" และ "พลเมือง" ในแบบฉบับที่สองบอกว่าเป็นข้อเสนอของ "กลุ่มนักสตรีนิยม" ขณะที่แบบฉบับที่สามระบุว่าเป็นของเสนอจาก "นักสตรีนิยมสุดโต่ง", "นักสตรีนิยมสายใช้กำลัง" และ "พวกหัวรุนแรง" ที่มีแนวคิดต้องการให้ขจัดการแบ่งแยกห้องเปลี่ยนเสื้อและห้องน้ำของชาย-หญิง
หลังจากนั้นกลุ่มที่อ่านบทความแบบฉบับที่สามซึ่งใช้คำว่า "นักสตรีนิยมสุดโต่ง" ก็ที่ท่าทีเอนเอียงไปทางสนับสนุนฝ่ายสนามกอล์ฟและการออกกฏแบนผู้หญิง มากกว่าจะสนับสนุนการย้ายสถานที่แข่งทัวร์นาเมนต์และสนับสนุนให้มีสมาชิกภาพของผู้หญิง
ในอีกการทดลองหนึ่ง มีการให้ผู้เข้าร่วมอ่านบทความจากเว็บล็อกในประเด็นเดียวกัน จากนั้นจึงให้เรียงลำดับคุณค่าของแนวคิด 4 อย่างตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ แนวคิดเรื่องการรักษาเกียรติยศชื่อเสียงของการแข่งขันกอล์ฟ, แนวคิดเรื่องการปกป้องเสรีภาพของเอกชนในการตั้งกฏกติกาของตนเอง, แนวคิดเรื่องเรื่องโอกาสความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย . และแนวคิดเรื่องมาตรฐานการบริการสมาชิกคลับเฉพาะส่วนบุคคล
ซึ่งรูปแบบการใช้คำที่ต่างกันของบทความก็ส่งผลต่อการทดลองนี้เช่นกัน กลุ่มคนที่อ่านฉบับที่ใช้คำว่า "พลเมือง" ร้อยละ 42 ให้คุณค่าด้านความเท่าเทียมกันมาเป็นอันดับแรก และอีกร้อยละ 41 ให้คุณค่าเรื่องเสรีภาพของเอกชนมาก่อนคุณค่าอื่น ขณะเดียวกัน คนที่อ่านฉบับ "นักสตรีนิยมสุดโต่ง" มีร้อยละ 32 ที่ให้คุณค่าด้านความเท่าเทียมกันสุงสุด ขณะที่มีร้อยละ 52 ให้คุณค่าด้านเสรีภาพของเอกชนมาอันดับแรกสุด
"การผูกคำว่านักสตรีนิยมสุดโต่ง ส่งผลโดยตรงกับกลุ่มคนจำนวนหนึ่งในการให้คุณค่าว่าอะไรควรมาก่อนหลังระหว่างเรื่องความเท่าเทียมทางเพศหรือเรื่องเสรีของเอกชน ซึ่งก็มีผลกับความรู้สึกของพวกเขาต่อนโยบายดังกล่าวนี้ด้วย" เนลสันกล่าว "เป็นไปได้ว่าการนึกถึงกลุ่มที่สนับสนุนความเท่าเทียมกันทางเพศในฐานะกลุ่มหัวรุนแรงจะทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งสุญเสียความเชื่อเรื่องคุณค่าแนวคิดเรื่องนี้ไป"
งานวิจัยชุดนี้ทำร่วมกับโจเซฟ ลิออน และ เกรกอรี่ กเวียดา อดีตนักศึกษาที่จบจาก ม. โอไฮโอสเตต ซึ่งมีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารจิตวิทยาการเมืองฉบับเดือนตุลาคม
ที่มา 'Radical' Label Is Political Kryptonite, LiveScience, 30-11-201130 พ.ย. 2011