ที่มา Thai E-News
มติชนออนไลน์ รายงานวันนี้ในหัวข้อข่าวเรื่อง "8 ราชนิกูล" ดัง ร่วมส่งจดหมายถึงนายกฯ แนะรัฐบาลปรับปรุงแก้ไข ม.112 โดยอ้างอิงรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับประจำวันที่ 12 มกราคม 2555 รายงานว่า ราชนิกูลกลุ่มหนึ่งได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
โดยราชนิกูลผู้มีชื่อเสียงจำนวน 8 คน ได้แก่ หม่อมราชวงศ์สายสวัสดี สวัสดิวัตน์ (ธิดาในหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ หรือ ท่านชิ้น - มติชนออนไลน์), หม่อมราชวงศ์สายสิงห์ ศิริบุตร (ธิดาในหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ - มติชนออนไลน์), หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ (ธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ - มติชนออนไลน์), นายวรพจน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (อดีตเอกอัครราชทูต - มติชนออนไลน์), พลเอก หม่อมราชวงศ์กฤษต กฤดากร, หม่อมราชวงศ์ภวรี สุชีวะ (รัชนี), หม่อมราชวงศ์โอภาส กาญจนะวิชัย และนายสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ได้ลงนามในจดหมายที่ส่งไปถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันเสาร์ที่ 7 มกราคม ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมาตรา ดังกล่าว
จดหมายที่ส่งไปถึงนายกรัฐมนตรีมีเนื้อหาระบุว่า จำนวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้เพิ่มขึ้นอย่างสำคัญในช่วงเวลา 7 ปี จากจำนวน 0 คดี ในปี พ.ศ.2545 มาเป็น 165 คดี ในปี พ.ศ.2552 ซึ่งข่าวคราวเกี่ยวกับคดีความเหล่านั้นได้ถูกรายงานไปทั่วโลก และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
จดหมายของราชนิกูลกลุ่มนี้ยังได้อ้างถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2548 ซึ่งทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่าการลงโทษจับกุมคุมขังบุคคลผู้วิพากษ์วิจารณ์ สถาบันนั้น มีแต่จะก่อปัญหาให้แก่พระองค์เอง ("แต่อย่างไรก็ตาม เข้าคุกแล้ว ถ้าเป็นการละเมิดพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เองเดือดร้อน เดือดร้อนหลายทาง ทางหนึ่งต่างประเทศเขาบอกว่าเมืองไทยนี่พูดวิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ ว่าวิจารณ์ไม่ได้ก็เข้าคุก มีที่เข้าคุก เดือดร้อนพระมหากษัตริย์" - พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2548)
"นับแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสดังกล่าว มีรัฐบาลหลายชุดหมุนเวียนกันเข้ามาบริหารประเทศ แต่ไม่มีรัฐบาลชุดใดเลยที่จะริเริ่มดำเนินการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพ รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน" จดหมายที่ส่งถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ
"เมื่อครั้งที่รัฐบาลจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ 7 รอบ ในปี พ.ศ.2554 รัฐบาลควรใช้โอกาสนั้น ทำความเข้าใจในพระราชประสงค์ของในหลวงต่อประเด็นดังกล่าวด้วย" นายสุเมธ หนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อในจดหมายกล่าวและว่า ราชนิกูลกลุ่มนี้ได้พบปะกันในช่วงสิ้นปี 2554 เพื่อร่วมครุ่นคิดในประเด็นว่าด้วย "การบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ในทางที่ผิดซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายเช่นนั้นที่มีต่อประเทศไทย ทั้งภายในไทยเองและภายนอกประเทศ"
"ที่สำคัญสุดเหนือสิ่งอื่นใด พวกเราต้องการให้มีการคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายมาตราดังกล่าว" นายสุเมธ ให้สัมภาษณ์
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ราชนิกูลกลุ่มนี้ออกมาเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายหมิ่น พระบรมเดชานุภาพ แต่กลับไม่มีการระบุอย่างเด่นชัดว่าเนื้อหาของกฎหมายในส่วนใดที่ควรได้รับ การแก้ไข
"พวกเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย เราคิดว่านี่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลซึ่งต้องแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิด ขึ้น" นายสุเมธกล่าวและว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดนี้ที่จะทำการปกป้องสถาบัน และในกรณีนี้ ยังถือเป็นการเอาใจใส่ต่อความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สังคมไทยกำลังแตกแยก ประชาชนแบ่งออกเป็นฝักฝ่ายอย่างสุดขั้ว รัฐบาลจึงควรให้ความสนใจกับคำแนะนำของในหลวง ก่อนจะดำเนินมาตรการอื่นใด
ปชป.ยังตามล่าแม่มดตามเฟซบุ๊ค เหลิมผุดไอเดียออกกฎหมายดัดหลังพวกผูกขาดความจงรักภักดีคุก5ปี
ศิริโชค” แฉกลางกรรมาธิการฯ มีเฟซบุ๊กอ้างเป็นหน่วยงานลับ แดงใต้ดิน หมิ่นสถาบัน แถมกล้าท้าทาย “เฉลิม” ไม่กล้าจับ ด้านเจ้าตัวเต้น บอกพร้อมลุยปราบทันที ไม่กลัวเสียฐานคะแนนเสียง
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร มี ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานการประชุม โดยเชิญ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการป้องกันและปราบปรามการนำเสนอ ข้อมูลที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา (สบ 10) มาชี้แจงเรื่องการปราบเว็บหมิ่นสถาบัน
โดย ร.ต.อ.เฉลิม ชี้แจงว่า หลังได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นประธานปราบปรามเว็บหมิ่นสถาบัน ได้ปรับปรุงขั้นตอนการออกหมายศาล และการปิดเว็บหมิ่นสถาบันให้มีความรวดเร็วขึ้น โดยยึดหลักรัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์ ขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ และ 6 กลุ่มผู้ให้บริการการเว็บไซต์
ขณะที่ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชี้แจงว่า การทำงานของคณะกรรมการปราบเว็บหมิ่นสถาบัน มุ่งเน้นปิดกั้นการเผยแพร่เว็บหมิ่นสถาบันอย่างรวดเร็ว มีศูนย์เฝ้าระวังที่บูรณาการจากส่วนราชการทุกกระทรวง โดยปัจจุบันขั้นตอนตั้งแต่การแจ้งเรื่อง การออกคำสั่งศาล จนถึงการปิดเว็บไซต์ใช้เวลา 1-4 วัน จากเดิมใช้เวลาเกือบ 20 วัน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 54 มีคำสั่งบล็อกเว็บไซต์ไม่เหมาะสม 757 ยูอาร์แอล และมีคดีอยู่ระหว่างสอบสวน 1,453 คดี แต่เมื่อปิดไปแล้วก็มีการเลี่ยงไปเปิดใหม่ ซึ่งหากเป็นพวกมืออาชีพจะไม่ทิ้งร่องรอยให้ติดตามได้
นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการฯ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหามากคือเรื่องเฟซบุ๊ก จากการติดตามพบว่ามีบุคคลใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า “หน่วยงานลับ แดงใต้ดิน” เป็นการรวมพลคนหมิ่นสถาบัน มีกลุ่มเพื่อนถึง 4,944 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย บุคคลผู้นี้มีความสามารถพิเศษรู้ล่วงหน้าทุกครั้งเวลาจะถูกตำรวจออกหมายจับ มักจะมาเขียนข้อความลงในเฟซบุ๊กล่วงหน้า และยังมีการท้าทายว่า ร.ต.อ.เฉลิมไม่กล้าทำอะไร เพราะกลัวจะเสียฐานเสียงคนเสื้อแดง จึงอยากให้ตำรวจเร่งปราบเว็บนี้ เพราะเปิดมานาน 1 เดือนแล้ว นอกจากนี้อยากทราบความคืบหน้าการดำเนินคดีนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตแกนนำ นปช. ข้อหาหมิ่นสถาบันด้วย
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ยืนยันว่า หากใครหมิ่นสถาบัน รัฐบาลยอมไม่ได้ ต้องถูกดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ก็ตาม แต่ตั้งข้อสังเกตว่า คนทำผิด มักไม่เปิดเผยตัวตนจริงๆ เพราะหากคนที่ไม่ชอบพรรคเพื่อไทย ก็อาจดำเนินการเปิดเว็บนี้ เพื่อกลั่นแกล้งกัน ไม่ใช่ว่าพอเอ่ยชื่อเสื้อแดง แล้วจะมาอ้างว่า เป็นพวกตนทั้งหมด ยืนยันว่า เรื่องการปราบเว็บหมิ่นสถาบัน นายกฯ ได้สอบถามความคืบหน้าทุกสัปดาห์
ส่วนกรณีของนายสุนัย ได้มอบให้กองปราบดำเนินการหาพยานหลักฐานอยู่ นอกจากนี้ที่ผ่านมา ตอนหาเสียง ตนและพรรคพวกถูกกล่าวหาเรื่องไม่จงรักภักดี จึงมีแนวคิดอยากแก้ไขหรือเพิ่มกฎหมายใหม่เรื่องความจงรักภักดี โดยห้ามกล่าวหาบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่จงรักภักดี หรือบอกว่า ตัวเองจงรักภักดี แต่คนอื่นไม่จงรักภักดี หากใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 5 ปี แนวคิดนี้ในอนาคตตนต้องพูดในพรรค หากจะทำจริงต้องหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา.