ที่มา ประชาไท
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักกฎหมายอิสระ อดีตนักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
http://www.facebook.com/verapat.pariyawong
ข่าวที่กัมพูชาขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) “ตีความ” คำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 เริ่มกลับมาอุ่นตัวอีกครั้งในต้นปี พ.ศ.2555 แต่เมื่อรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสื่อมวลชนดูจะยังไม่สร่างจากการพักปีใหม่ ผู้เขียนจึงจำต้องฝากข้อมูลให้ประชาชนเตรียมอุ่นเครื่องเรื่องศาลโลกไว้ 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1: ศาลโลกจะมีคำพิพากษาในเดือนกุมภาพันธ์นี้จริงหรือ ?
เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา สื่อมวลชนไทยหลายสำนักได้รายงานคำสัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำนองว่า เนื่องจากจะมีการเปลี่ยนแปลงองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และเพื่อไม่ให้การพิพากษาคดีคาบเกี่ยวกับช่วงการเปลี่ยนแปลงองค์คณะ จึงคาดว่าศาลโลกจะมีคำพิพากษาภายในเดือนกุมภาพันธ์ (ดูข่าว เช่น http://bit.ly/yyofVV, http://bit.ly/umw72E, http://on.fb.me/tgYHAP, http://bit.ly/rtZARS)
ผู้เขียนเห็นว่ารายงานข่าวดังกล่าวเป็นการนำเสนอที่ผิดพลาดและหละหลวม เพราะข้อเท็จจริงปรากฎชัดเจนว่าศาลโลกจะยังไม่มีคำพิพากษาภายในเดือน กุมภาพันธ์ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
ประการแรก ศาลโลกได้แจ้งให้ทั้งไทยและกัมพูชาทราบแล้วว่า ศาลได้อนุญาตให้ไทยและกัมพูชายื่นบันทึกคำอธิบายเพิ่มเติม (further written explanations) โดยฝ่ายกัมพูชายื่นได้ภายในวันที่ 8 มีนาคม 2555 และฝ่ายไทยยื่นได้ภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2555 กล่าวให้เข้าใจโดยง่ายก็คือ กระบวนพิจารณาของศาลในคดีนี้จะยังคงใช้เวลาอย่างน้อยไปถึงปลายปี 2555 หลังที่ไทยได้ยื่นเอกสารดังกล่าว (ซึ่งหลังจากนั้นทนายความอาจขอให้ศาลอนุญาตให้คู่ความแถลงชี้แจงเป็นวาจาต่อ ศาลอีกรอบก็เป็นได้)
ทั้งนี้ การที่ศาลอนุญาตให้มีการส่งเอกสารเพิ่มเติมดังกล่าว ถือเป็นเรื่องปกติที่ถูกต้องตามระเบียบศาล (Rules of Court) ข้อที่ 98 วรรคสี่ โดยศาลอาจอนุญาตเห็นว่ายังมีประเด็นที่คู่ความต้องโต้เถียงหักล้างกันต่อ เนื่องจากบันทึกข้อสังเกต (written observations) ซึ่งไทยและกัมพูชาได้ยื่นต่อศาลไปแล้ว โดยฉบับของไทยมีรายละเอียดกว่าพันหน้า หรืออีกนัยหนึ่งก็อาจเป็นความพยายามของคู่ความในการเพิ่มเวลาการเจรจานอกศาล เช่น เจรจาถอนคดีเพื่อลดความเสี่ยงของผลคำพิพากษาก็เป็นได้ ทั้งนี้ ศาลโลกได้ออกเอกสารข่าวดังกล่าวไปตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2554 (http://www.icj-cij.org/docket/files/151/16843.pdf)
ประการที่สอง เหตุผลของนายอภิสิทธิ์ (ตามรายงานข่าว) ที่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก็เป็นเหตุผลที่คลาดเคลื่อนกับความเป็นจริงเช่นกัน เพราะระเบียบวิธีพิจารณาของศาลโลกไม่มีเรื่อง “การเปลี่ยนองค์คณะ” ในเดือนกุมภาพันธ์ตามที่ข่าวอ้าง กล่าวคือ ผู้พิพากษาศาลโลกที่เข้ารับตำแหน่งตามวาระก็ต้องร่วมเป็นองค์คณะพิจารณาทุก คดีจนครบวาระเว้นมีเหตุเฉพาะ เช่น ถอนตัวจากคดี หรือ มีกระบวนพิจารณาเร่งด่วน (Chamber of Summary Procedure) ศาลโลกจึงแตกต่างจากศาลในประเทศที่อาจมีการจ่ายสำนวนให้ผู้พิพากษาสามคนจาก หลายคนเป็น “องค์คณะ” ในคดีหนึ่งคดีใดเป็นการเฉพาะ
ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ในเดือนกุมภาพันธ์ตามระเบียบของศาลโลกก็ คือ “การสิ้นวาระดำรงตำแหน่ง” ของผู้พิพากษาศาลโลกบางรายซึ่งไม่ได้เข้าออกจากตำแหน่งในศาลโลกพร้อมกัน กระนั้นก็ดี องค์การสหประชาชาติได้ดำเนินการคัดเลือกผู้พิพากษาที่จะมีวาระดำรงตำแหน่ง เริ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ครบถ้วนเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ปลายปี 2554 แล้ว (http://bit.ly/tNSTEF) ทั้งนี้ ผู้พิพากษาที่ดำรงตำแหน่งครบวาระมีทั้งสิ้นห้าราย แต่มีสามรายในนั้นที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่ออีกวาระ และมีสองรายที่พ้นจากวาระ (ทั้งสองรายเป็นฝ่ายเสียงข้างมากที่ลงมติให้ไทยและกัมพูชาถอนกำลังทหารตามคำ สั่งมาตรการชั่วคราว) อย่างไรก็ตาม ธรรมนูญศาลโลก ข้อ 13 วรรคสาม ประกอบกับระเบียบศาลข้อที่ 33 โดยทั่วไปก็เปิดช่องให้ผู้พิพากษารายเดิมที่พิจารณาคดีค้างอยู่สามารถนั่ง พิจารณาจนช่วงคดีเสร็จสิ้นแม้ตนจะพ้นวาระไปแล้วก็ตาม
ประการที่สาม แม้หากจะไม่พิเคราะห์ให้ลึกซึ้งถึงเหตุผล สองประการที่กล่าวมา บุคคลธรรมดาที่แม้จะไม่ได้เป็นนักการเมืองหรือสื่อมวลชน หากสำรวจตรรกะเบื้องต้นให้ดีสักครู่ ก็จะพบว่าการที่ศาลจะเร่งพิจารณาคดีของศาลให้เสร็จภายในไม่กี่เดือนเพื่อให้ คดีจบทันการสิ้นวาระของผู้พิพากษานั้น ฟังจะขัดแย้งกับความเป็นจริงที่ว่า ปัจจุบันมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยศาลโลกอยู่ไม่น้อยกว่าสิบคดี และแต่ละคดีใช้เวลาไม่น้อยกว่าสองถึงสามปี ดังนั้น ตรรกะที่ว่าศาลจะพยายามทำให้ทุกคดีเสร็จสิ้นภายในเวลาอีกไม่กี่เดือนได้นั้น ย่อมน่าเคลือบแคลงยิ่งนัก
จากเหตุผลสามประการที่กล่าวมา หากนายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ตรงตามข่าวจริง คงต้องเห็นใจที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศของนายอภิสิทธิ์ที่หละหลวมจน ทำให้บุคคลระดับผู้นำฝ่ายค้านและอดีตผู้นำประเทศ “ปล่อยไก่” ต้อนรับปีใหม่มาทั้งเล้า อย่าลืมว่านายอภิสิทธิ์คนเดียวกันนี้เคยได้ให้สัมภาษณ์เรื่อง “การถอนตัวภาคีอนุสัญญามรดกโลกฯ” ไปก่อนการเลือกตั้ง แต่หลังเลือกตั้งพอน้ำท่วมมรดกโลกที่อยุธยากลับปรากฎว่าไทยไม่เคยถอนตัวดัง ที่หลายคนเข้าใจ (http://on.fb.me/mJX3b2 )
ส่วนที่ปรึกษาฝ่ายรัฐบาลเองก็น่าเห็นใจเช่นกัน เพราะดูท่าจะยังไล่ไก่เข้าเล้าไม่ทัน เห็นได้จากการที่ นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาตอบโต้คำสัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ โดยเน้นโจมตีแต่เรื่องรัฐบาลชุดเก่า แต่กลับไม่มีรายงานว่านางฐิติมาได้แก้ไขข้อมูลคลาดเคลื่อนชุดใหม่ให้ประชาชน เข้าใจให้ถูกต้องหรือไม่ (เช่น http://bit.ly/A3mgyP และ http://bit.ly/yLhnj7) ยิ่งหากจะมีข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่รู้และเข้าใจเรื่องนี้เป็น อย่างดี แต่กลับสงวนเนื้อสงวนคำหรือไม่มีการประสานงานระหว่างกันจนปล่อยให้โฆษก รัฐบาลทำงานอย่างไร้ข้อมูล ก็น่าเห็นใจอยู่ไม่น้อย
ยังมิพักที่ต้องเห็นใจสื่อมวลชนไทยที่ทำข่าวเหนื่อยมาตลอดช่วงปลายปี ยังไม่ทันสร่างจากพักปีใหม่ ก็พลาดท่าไม่ได้ตรวจสอบเนื้อหาข่าวย้อนหลังจนรายงานข่าวขัดแย้งให้ประชาชน สับสนแต่ต้นปี
ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนโปรดอุ่นเครื่องและรู้ให้ลึกยิ่งกว่านักการเมืองและสื่อมวล ชนไทยว่า ศาลโลกจะยังไม่พิพากษาคดีในเดือนกุมภาพันธ์นี้อย่างแน่นอน
ประเด็นที่ 2: ไทยยังมีข้อพิพาทอยู่กับกัมพูชาในศาลโลกจริงหรือ ?
คำถามนี้อาจฟังดูแล้วน่าฉงน แต่ขอฝากให้บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล ตลอดจนสื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ทั้งหลายนำไปอุ่นเครื่องเตรียมการกล่าวอ้าง ให้ระมัดระวังว่า ในทางกฎหมายนั้น หากจะกล่าวอ้างให้ถูกต้องตรงกับสิ่งที่ไทยได้แถลงต่อศาลไปก่อนหน้านี้ ย่อมต้องถือว่าไทยไม่มีข้อพิพาทกับกัมพูชาที่เกี่ยวกับความหมายหรือขอบเขต ของคำพิพากษา พ.ศ. 2505 แต่อย่างใด เพราะสำหรับไทยแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวมีความชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกับเส้นเขตแดน และไทยก็เห็นว่ากัมพูชาได้รับทราบและเข้าใจคำพิพากษาชัดเจนต้องตรงกัน และอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบโดยยึดแนวรั้วลวดหนามรอบปราสาทมากว่าสี่สิบปี แต่ฝ่ายกัมพูชากลับมาตีประเด็นให้ศาลหลงเข้าใจว่าไทยและกัมพูชาอ่านคำ พิพากษาคนละแบบมาตลอด ซึ่งไทยย่อมปฎิเสธว่าไม่เป็นความจริง
ผู้เขียนย้ำว่า แม้คำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2554 ย่อหน้าที่ 31 จะสรุปประเด็นการตีความคำพิพากษา “ที่มีมูล” (appears to exist) ไว้สามประเด็น คือ (1) เรื่องบริเวณใกล้เคียงรอบตัวปราสาท (vicinity) (2) เรื่องความต่อเนื่องของพันธกรณีในการถอนทหารและเคารพอธิปไตย และ (3) เรื่องสถานะของแผนที่และเส้นเขตแดน แต่กฎหมายก็เปิดช่องให้ศาลยังคงสามารถปฎิเสธที่จะรับตีความประเด็นใดประเด็น หนึ่งหรือทั้งหมดได้ หากศาลพบว่าแท้จริงแล้วคู่ความได้มีความเข้าใจคำพิพากษาตรงกัน หรือประเด็นที่กัมพูชาขอให้ตีความนั้นเกินเลยไปจากขอบเขตของคำพิพากษาเดิม
ดังนั้น หากผู้ใดต้องการจะร่วมสงวนท่าทีของไทยให้สอดคล้องกับข้อต่อสู้ที่ไทยแถลงไป ต่อศาลโลก แทนที่จะไปกล่าวหรือรายงานว่าไทยกับกัมพูชามีข้อพิพาทเกี่ยวกับคำพิพากษา หรือเห็นไม่ตรงกันจนทำให้ศาลโลกต้องกลับมาตีความ ก็ควรจะเปลี่ยนเสียใหม่เป็นว่า ไทยเห็นว่าไทยกับกัมพูชาเข้าใจขอบเขตและความหมายของคำพิพากษาตรงกันมาโดย ตลอด แต่กัมพูชามากลับลำตีประเด็นเรื่องเขตแดนภายหลัง ดังนั้น เมื่อไทยกับกัมพูชาเข้าใจขอบเขตและความหมายของคำพิพากษาตรงกัน อีกเรื่องเขตแดนยังเกินเลยขอบเขตของคำพิพากาษเดิม ศาลโลกย่อมไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปตีความคำพิพากษาได้
ประเด็นที่ 3: การถอนกำลังทหารให้เป็นไปตามคำสั่งศาลโลกละเมิดอธิปไตยไทยจริงหรือ ?
เมื่อมีข่าวว่าไทยและกัมพูชาพร้อมจะร่วมมือกัน ปฏิบัติตาม “คำสั่งมาตรการชั่วคราว” ของศาลโลก โดยการถอน (หรือ “ปรับ”) กำลังทหารออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ก็มีผู้ห่วงใยเริ่มทักท้วงว่าหากไทยปฏิบัติตาม ย่อมถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทยเพราะการถอนทหารกินบริเวณมาในเขตของ ไทยอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีผู้ห่วงใยท้วงติงว่า ก่อนที่รัฐบาลจะไปดำเนินการตกลงกับกัมพูชาเพื่อถอนหรือปรับกำลังทหารนั้น รัฐบาลจะต้องดำเนินการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาและรับฟังความคิดเห็นตามรัฐ ธรรมนูญ มาตรา 190 เสียก่อน
ผู้เขียนเกรงว่าความห่วงใยและหวังดีดังกล่าวอาจไม่ได้ตั้งอยู่บนความแตกฉานในข้อกฎหมาย ดังนี้
ประการแรก การปฏิบัติตามคำสั่งศาลเพื่อเคารพเขตปลอด ทหารชั่วคราวดังกล่าว เป็นเพียงเรื่องมาตรการชั่วคราวที่มุ่งป้องกันการปะทะกันด้วยอาวุธ ซึ่งไทยและกัมพูชามีสิทธิขอให้ศาลแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้หากมีเหตุผลจำเป็น ที่สำคัญ พิกัดที่ศาลใช้กำหนดเขตปลอดทหารชั่วคราวดังกล่าว มิได้มีผลทางกฎหมายต่อเขตแดนแต่อย่างใด ดังที่ศาลได้ย้ำอย่างชัดเจนในคำสั่งหลายครั้ง (เช่น ย่อหน้าที่ 21, 38 และ 61) ว่าการพิจารณาออกคำสั่งครั้งนี้ ศาลย่อมไม่ก้าวเข้าไปวินิจฉัยประเด็นที่กัมพูชาอ้างว่าดินแดนส่วนใดเป็นของ ใครหรือเขตแดนจะต้องเป็นไปตามเส้นหรือแผนที่ใด (ประเด็นที่คนไทยควรรู้เกี่ยวกับคำสั่งศาลโลก โปรดดู http://on.fb.me/ovWF6a) นอกจากนี้ เพียงการที่ทหารไทยยืนหรือไม่ยืนอยู่ ณ จุดใด มิได้เป็นเครื่องวัดว่าไทยมีอธิปไตยเหนือพื้นที่นั้นหรือไม่แต่อย่างใด
ประการที่สอง รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ไม่ได้บัญญัติถึงกรณีการปฎิบัติตามคำสั่งศาลโลก และแม้จะมีผู้ตีความว่าไทยและกัมพูชาจะถอนหรือปรับกำลังตามข้อตกลงระหว่าง สองประเทศก็ดี แต่หากการดำเนินการดังกล่าวเป็นการทำข้อตกลงเพื่อประสานงานในทางบริหารเป็น การชั่วคราว โดยการอาศัยอำนาจของฝ่ายบริหารโดยแท้ เช่น การควบคุมเคลื่อนย้ายกำลังพล การดังกล่าวก็มิต้องด้วยกรณีของมาตรา 190 ในทางกลับกัน การพยายามยัดเยียดให้อำนาจของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะการใช้อำนาจที่เป็นของฝ่ายบริหารโดยแท้ เช่น การควบคุมเคลื่อนย้ายกำลังพลทหาร ตกอยู่ภายใต้อำนาจนิติบัญญัติหรือตุลาการตามมาตรา 190 จะกลับกลายเป็นการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจและความรับผิดชอบในทาง ประชาธิปไตย และชักนำให้เกิดภาวะความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินในที่สุด
ประการที่สาม การยก “อำนาจอธิปไตย” ขึ้นอ้างอย่างพร่ำเพรื่อโดยที่ผู้อ้างไม่เข้าใจถึงความหมายของคำดังกล่าว ย่อมเป็นกับดักที่อันตรายยิ่งนัก ในโลกปัจจุบันแทบจะไม่มี “อำนาจอธิปไตยเด็ดขาด” หลงเหลืออีกแล้ว มีแต่เพียง “อำนาจอธิปไตย” ภายใต้กฎหมายและความร่วมมือระหว่างประเทศ การที่ไทยและกัมพูชายอมปฎิบัติตามคำสั่งศาลโลกก็ไม่ใช่เพราะถูกบังคับหรือ เพื่อสมยอมแก่ใคร แต่เพื่อยินยอมให้เจ้าของ “อำนาจอธิปไตย” ทุกหมู่เหล่าอยู่ร่วมบนโลกใบนี้ได้อย่างสงบสุข ตามที่ไทยและกัมพูชาได้ตกลงผูกพันทางกฎหมายไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ การที่ไทยเข้าทำสนธิสัญญาดังกล่าวเสียอีก กลับเป็นเครื่องยืนยันว่าไทยพร้อมที่จะใช้ “อำนาจอธิปไตย” ตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อรักษา “อำนาจอธิปไตย” ของไทยไว้ให้คงอยู่ร่วมกับ “อำนาจอธิปไตย” ของผู้อื่น อย่างเสมอภาค ยุติธรรมและไม่เบียดเบียนกัน (รายละเอียดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย และมาตรา 190 โปรดดู http://bit.ly/AbacnL)
หมายเหตุ: ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหาร ศึกษาได้ที่ https://sites.google.com/site/verapat/temple