ที่มา ประชาไท
รัฐมนตรียุติธรรมนำประชุมกรรมการเยียวยา เหยื่อไฟใต้ร้องช่วยเท่าผู้ชุมนุมทางการเมือง พล.ต.อ.ประชา รับไปคุยกับนายกฯ ถกตั้งอนุกรรมการ 12 ชุดช่วยดับไฟใต้
เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. วันที่ 12 มกราคม 2555 ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในการประชุมกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่ สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีกรรมการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม ประมาณ 100 คน
พล.ต.อ.ประชา กล่าวตอบเรื่องนี้ รับที่จะนำเรื่องนี้ไปคุยกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน แต่มติในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 เห็นชอบให้ช่วยเหลือกรณีเสียชีวิตรายละ 4.5 ล้านบาท ไม่ทราบว่าทำไมข่าวออกมาว่าเกือบ 8 ล้านบาท
นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงการตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่มีการร่างรายชื่อไว้เป็นกรอบในการพิจารณา รวม 12 ชุด เช่น คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์การเยียวยา คณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การเยียวยา คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาข้าราชการ คณะอนุกรรมการการสื่อสร้างเพื่อสร้างความเข้าใจ คณะอนุกรรมการฮัจย์ คณะอนุกรรมการระบบการรักษาความเป็นธรรม คณะอนุกรรมการป้องกันผู้บริสุทธิ์ เป็นต้น
ที่ประชุมได้มีการแสดงความเห็นกันอย่างหลากหลายถึงการตั้งคณะอนุกรรมการ ชุดต่างๆ เช่น คณะอนุกรรมการระบบการรักษาความเป็นธรรม โดยนายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ถ้าระบบความยุติธรรมหมายถึงกระบวนการยุติธรรม น่าจะไม่เข้ากับเรื่องกฎหมายอิสลาม
พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า คณะอนุกรรมการชุดนี้ยังไม่ต้องการให้แตะไปถึงกระบวนการยุติธรรมปกติ เพราะอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาล ส่วนพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นเรื่องการรักษาความเป็นธรรม ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม
พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ในฐานะกรรมการ กล่าวว่า ถ้าไม่แตะไปถึงกระบวนการยุติธรรมก็น่าจะแก้ปัญหาความยุติธรรมไม่ได้ ดังนั้นคณะอนุกรรมการจึงน่าจะประมวลปัญหาทั้งหมดแล้วเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้ แก้ไข
ส่วนประเด็นการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การเยียวยา พล.ต.อ.ประชา ได้มอบให้ศอ.บต.นำมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการเยียวยาผู้เสียหายและผู้ที่ได้รับ ผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองมาใช้ในการพิจารณาในการช่วย เหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ด้วย
ส่วนประเด็นการตั้งคณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาข้าราชการ พล.ต.อ.ประชา ได้มอบหมายให้พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.)รับดำเนินการเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาข้าราชการที่ได้รับผลกระทบ ที่ได้ย้ายออกนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว
นายอับดุลรอซัก อาลี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การช่วยเหลือเยียวยาของรัฐไม่มีการติดตามประเมินผล ทำให้ไม่ทราบว่าผู้ได้รับการช่วยเหลือเยียวสามารถช่วยเหลือตัวเองแล้วหรือ ไม่ เช่น กรณีคนร้ายกราดยิงในมัสยิดไอร์ปาแย จังหวัดนราธิวาส จึงควรติดตามประเมินผลด้วย
นายแพทย์อนันต์ชัย ไทยประทาน ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานด้านยุทธศาสตร์การแก้ปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงชุดเดียว คือ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ หรือ กอส. ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็ไม่มีคณะกรรมการที่ทำงานลักษณะนี้ จึงเสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการลักษณะนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยให้ทำงานในระยะยาวไม่ใช่ 1 ปี
พล.ต.อ.ประชา ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อจะกำหนดแนวทางการทำงานของคณะกรรมการเยียวยาฯ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 2 โดยเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ช่วยเหลือผู้ที่ ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมือง โดยในส่วนของพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ใช้มาตรการช่วยเหลือเยียวยากับผู้ที่ได้รับผลกระทบ อันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ได้ผลเป็นรูปธรรมอย่างถูกต้องต่อไป
พ.ต.อ.ทวี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ มีหลักการส่วนหนึ่งคือ ต้องให้สอดรับกับหลักศาสนา ซึ่งหลังจาก ศอ.บต.ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้ง 5 จังหวัด เมื่อหลายวันก่อน คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาว่า ควรมีการพิจารณาคดีความที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดกอิสลาม และขอให้หน่วยงานภาครัฐส่งเสริมการใช้ภาษามลายูในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ศอ.บต.มีนโยบายเร่งด่วนในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ โดยเน้นครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน เด็กกำพร้า ทั้งในเรื่องทุนการศึกษา การส่งเสริมอาชีพ โดยการเยียวยาในด้านต่างๆ ต้องสอดคล้องกับหลักศาสนา เป็นการเยียวยาอย่างเร่งด่วน ทั้งด้านเงินและด้านจิตใจอย่างยั่งยืน
สำหรับคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชุดนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ให้ถ่ายโอนภารกิจการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปเป็นของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดน ภาคใต้ (ศอ.บต.)
สำหรับรายชื่อคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วย - พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายธงทอง จันทรางศุ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม พล.อ.ขวัญชาติ กล้าหาญ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดลนางจิราพร บุนนาค อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายเจริญ หมะเห ประธานชมรมสรรหาคนดีศรีทักษิณ นายถิรชัย วุฒิธรรม โฆษกกระทรวงยุติธรรม นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์
ผศ.ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ดร.เมตตา กูนิง อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี และศูนย์ประสานงานวิชาการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ จังหวัดชายแดนใต้ (ศว.ชต.)
รศ.รัตติยา สาและ อาจารย์คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีมลายูศึกษา นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย น.ส.ศุภวรรณ พึ่งรัศมี จาก ศว.ชต.
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายแพทย์ อนันต์ชัย ไทยประทาน ที่ปรึกษาสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ นายอิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีวิทยาลัยอิสลามยะลา ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ส่วน เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นกรรมการและเลขานุการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล จากกระทรวงยุติธรรม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการอื่นจำนวนไม่เกิน 3 คนที่เลขาธิการ ศอ.บต.แต่งตั้ง