ที่มา ประชาไท
วันที่ 7 ม.ค. ที่วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม พร้อมครอบครัวได้ร่วมกันทำบุญถวายสังฆทานเนื่องในวันครบรอบวันเกิดปีที่ 75 พร้อมกล่าวถึงกรณีที่ทุกพรรคการเมืองมีมติไม่ควรแก้ไขมาตรา 112 ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับเรื่องนี้ และที่ผ่านมาก็เคยแสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดของบรรดานักวิชาการที่เห็นว่า เป็นการไม่บังควรอย่างยิ่ง
"ขอให้คนที่คิดเรื่องนี้ศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ลึกและมากหน่อยว่า เรามีชาติไทยมาได้ถึงทุกวันนี้ เพราะเรามีพระมหากษัตริย์เป็นผู้กอบกู้ประเทศชาติมาตลอดเวลา ดังนั้นจึงสมควรให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับชาติตลอดไป" รมว.กลาโหม กล่าว
ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ชิ้นนี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกบางอย่างในหัวใจและอาจ จะระบายออกไปว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ท่านเอ่ยอ้างมานั้นเป็นประวัติ ศาสตร์ในตำราไหน การเอ่ยอ้างเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เต็มไปด้วยแนวคิดราชาชาติ นิยมที่ไม่ได้เป็นไปตามประวัติศาสตร์อันแท้จริงที่เกิดขึ้น ตำราวิชาประวัติศาสตร์ใหม่ที่ถูกเขียนขึ้นโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมเต็มไปด้วยแนว คิดเข้าข้างตัวเองของสยามประเทศ เช่น พม่าศัตรูตลอดกาล ลาว เขมรต้องเป็นประเทศที่ต้องพึ่งบุญสยามมาโดยตลอด สยามเป็นลูกแกะที่โดนรังแกโดยหมาป่าฝรั่งเศส และอังกฤษ
แนวคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์เช่นนี้ปิดกั้นความคิดของคนในชาติ ส่งผลให้คนในชาตินั้นหลงใหลได้ปลื้มในประวัติศาสตร์แบบวรรณกรรมชนช้าง การสอนประวัติศาสตร์แบบนิทานปรัมปราที่ส่งผลหลายอย่างแก่ผู้เรียนมาจนส่งผล ให้เห็นได้จากแนวคิดของคนในสังคมปัจจุบันนี้ อาจอธิบายการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยได้ดังนี้ “ประวัติศาสตร์ไทย” นั้นมักจะเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกตัดตอน คือเอามานำเสนอแค่ด้านเดียว เป็นประวัติศาสตร์แบบ “ราชาชาตินิยม” ศูนย์กลางเรื่องอยู่ที่พระมหากษัตริย์ อยู่ที่ชนชั้นปกครอง ไม่เห็นความสำคัญของราษฎร ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมนี้ให้ข้อมูลแต่ด้านเดียว ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมนั้น มักจะได้รับการเอาใจใส่จากชนชั้นปกครอง ให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เช่นเรื่อง เสียดินแดน 14 ครั้ง, เขาพระวิหารเป็นของไทย อะไรประมาณนี้ หรือแม้กระทั่งเนื้อเพลงชาติที่ร้องกันทุกวันนี้ ถ้าตั้งคำถามแล้วจะโดนหาว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า? ประวัติศาสตร์แบบนี้นั้นมักจะสอนให้ซาบซึ้งและ “กล่อมประสาท” ไปวันๆ กล่อมประสาทจนไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น
“ในขณะที่เราเรียกร้องให้ระบบการศึกษาผลิตคนที่คิดเป็น เรากลับเรียกร้องให้เยาวชนเสพประวัติศาสตร์เป็นยากล่อมประสาทหนักเข้าไปอีก” (ธงชัย วินิจจะกูล)
ผู้เขียนเชื่อโดยสุจริตใจเป็นส่วนตัวว่า ผู้ที่เคลื่อนไหวแก้มาตรา 112 นั้นมีความหวังดีต่อสถาบันกษัตริย์ มุ่งหวังในสถาบันดำรงคงอยู่อย่างยั่งยืน ยาวนาน และมั่นคง และนักวิชาการที่ต้องการแก้ไขมาตรานี้หลายๆ ท่านเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีความรู้ประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง เป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าที่เรียนกันในโรงเรียนที่ท่านรัฐมนตรีเรียนอย่างแน่ นอน การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อที่จะนำข้อผิดข้อพลาดในอดีตนั้นมาปรับปรุง แก้ไขให้ดียิ่งๆขึ้น มิใช่การศึกษาเพื่อการควบคุมความคิดประชาชน และสิ่งสำคัญที่การศึกษาประวัติศาสตร์ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้แบบวิทยา ศาสตร์ขึ้น คือความสงสัย สงสัยในประวัติศาสตร์ที่ถูกบอกเล่ามาว่ามันเป็นจริง(realistic) หรือไม่ นี่คือกระบวนการเริ่มต้นในการศึกษาประวัติศาสตร์ให้เป็นวิทยาศาสตร์ เมื่อได้ความจริงทางประวัติศาสตร์ออกมาแล้ว จึงต้องมาถอดบทเรียนจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเพื่อการพัฒนาในสิ่งต่างๆ ที่ประวัติศาสตร์ได้ให้บทเรียนนั้นไว้ วิชาประวัติศาสตร์ที่สอนในตำราเรียนก็สะท้อนได้ว่าประเทศนั้นๆ เป็นเช่นไร เราควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการสอนประวัติศาสตร์แบบด้านเดียว เพราะเสมือนกับการบอกคนว่า เหรียญนั้นมีเพียงด้านเดียว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่บ้านเรากำลังบังคับบอกทุกๆ คนในประเทศว่า เหรียญนั้นมีเพียงด้านเดียว ถ้าใครไม่เชื่อก็ไปอยู่ประเทศอื่น วันหนึ่งผู้คนก็จะรู้ว่าเหรียญที่มีด้านเดียวนั้นเป็นเหรียญที่ไม่ใช่ของ จริงเป็นเหรียญเก๊
ขอฝากข้อความจากปัญญาชน 3 ท่าน เพื่อสะท้อนสังคมในปัจจุบันได้ดี
“สิ่งใดบังคับให้เทิดทูนสักการะ สิ่งใดลวงให้ซาบซึ้งน้ำตาไหล สิ่งใดถูกตั้งคำถามและตรวจสอบมิได้ สิ่งนั้นคือมายา-อวิชชา-มิจฉาทิฐิ”
(มุกหอม วงษ์เทศ)
“การศึกษาประวัติ ศาสตร์ตามจารีตของไทยไม่ได้มีไว้เพื่อยกระดับการคิดการใช้สมองของประชากร ไม่ได้มุ่งหมายผลิตปัจเจกชนที่อิสระ หัวแข็ง ไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ”
(ธงชัย วินิจจะกูล)
“ก็มนุษย์นั้น ถ้าไม่มั่นในสัจจะ และไม่มุ่งในความยุติธรรมเสียแล้ว อาจเลวกว่าเดรัจฉานก็ได้ มิใช่หรือ”
(สุลักษณ์ ศิวรักษ์)
แต่คำที่โดนใจข้าพเจ้ามากๆคือ ข้อความที่ผู้ใช้นามว่า ศาสดา ในโลกสังคมออนไลน์ได้เขียนไว้ว่า
“ประเทศเรานี้ คิดเอง เออเอง ครื้นเครงอยู่ในกะลา”