ที่มา ประชาไท
ชื่อบทความเดิม: อธิบายหลักและอุดมการณ์ในร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์
ประเด็นปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112 สองประการสำคัญที่สุดคือ
1. การตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อประโยชน์ทางการเมือง
2. ความไม่ได้สัดส่วนกันระหว่างบทลงโทษและฐานการกระทำผิด
ประการแรก การตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น
ไม่เพียงปรากฏว่ามีการใช้ข้อกล่าวหานี้ในการเล่นงานคู่แข่งทางการเมืองใน หมู่นักการเมืองเท่านั้น ในหมู่ประชาชนทั่วไปที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันทางการเมือง ก็มีการใช้กฎหมายดังกล่าวมาร้องทุกข์กล่าวโทษกันด้วยเช่นกัน ดังกรณี I pad ผู้นิยมกลุ่มพันธมิตร แจ้งความ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักเขียน-อาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งอภิปรายแสดงความคิดเห็นท้ายบทความ จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองไทยอย่างไร? ในเว็บไซต์ประชาไท เป็นต้น
แม้ว่าจะมีการพยายามปฏิเสธจากฝ่ายต่าง ๆ เช่น นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยืนกรานว่าไม่มีการใช้กฎหมายดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ก็ดูเป็นเพียงการพยายามแก้ตัวมากกว่า เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคหนึ่งที่หยิบยกเรื่องสถาบันกษัตริย์มาโจม ตีคู่แข่งทางการเมืองบ่อยครั้งที่สุด กรณี “ผังล้มเจ้า” ของ ศอฉ. ซึ่งมีนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ 2 คน คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด ก็ปรากฏคำให้การในชั้นศาลของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ในเวลาต่อมาว่า ขบวนการล้มเจ้าเป็นเพียงการขยายความไปเองของสื่อมวลชน ทั้งที่ในระหว่างที่นำเสนอนั้น ฝ่ายรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ และ ศอฉ. ประโคมข่าวเรื่องดังกล่าวไปทั่ว และพยายามโน้มน้าวสาธารณชนให้เชื่อว่ามีขบวนการดังกล่าวอยู่จริง
การที่พรรคการเมืองทุกพรรคต่างเห็นพ้องต้องกันในเรื่องงดเว้นการนำเรื่อง สถาบันกษัตริย์มาใช้ในการหาเสียง และ กกต.มีมติออกมาเป็นข้อควรปฏิบัติ ย่อมสะท้อนให้เห็นอย่างบ่ายเบี่ยงไม่พ้นว่า ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาหลายปีมานี้ มีการนำสถาบันกษัตริย์เข้ามาพัวพันกับการเมืองจนแยกไม่ออกจากความขัดแย้ง ซึ่งหากจะยกกรณีตัวอย่างก็คงทำได้ยาวยืด อีกทั้งยังมีการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือทางการ เมือง ในการโจมตี และแจ้งความดำเนินคดีกัน จนสถิติคดีความความผิดเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ไต่ขึ้นสูงตามลำดับ และขึ้นไปในจุดสูงสุด คือ เกือบ 500 คดี ในปี 2553 ที่มีการล้อมปราบคนเสื้อแดงที่สี่แยกราชประสงค์ กระทั่งมีผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
ประการที่สอง เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ที่ผ่านมา การตัดสินลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามความผิดในกฎหมายนี้ มีคำตัดสินจำคุกตั้งแต่ 2 ปี 6 เดือน ไปจนถึง 20 ปี
เมื่อพิจารณาจากฐานของการกระทำผิด ซึ่งเป็นการกระทำผิดโดยวาจา โดยการแสดงออกผ่านการพูด การเขียน การแปลหนังสือ หรือแม้กระทั่งการพิมพ์ข้อความทีเล่นทีจริงของเด็กวัยรุ่นในอินเตอร์เน็ต
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ขัดกับทั้งหลักการและอุดมการณ์ของระบอบ ประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังขัดกับหลักกฎหมายที่การกระทำผิดและการลงโทษ ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม สัมพันธ์ และได้สัดส่วนกัน
การลงโทษประชาชนอย่างรุนแรงในโทษฐานความผิดจากการแสดงออกทางวาจา หรือทางตัวหนังสือ อย่างไม่ได้สัดส่วนนี้ ก่อให้เกิดวิกฤตอันรุนแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และสะท้อนให้เห็นปัญหาที่อยู่ลึกลงไปกว่าบทกฎหมาย นั่นคืออุดมการณ์ความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังกฎหมาย และคอยขับเคลื่อนความรู้สึกนึกคิดของผู้คนและเจ้าหน้าที่รัฐ ให้ต้องดำเนินคดีจนมีผลปรากฏออกมาดังที่เห็น ทั้งที่กรณีจำนวนมากหรือเกือบทั้งหมด ไม่สมเหตุสมผล ไม่ว่าจะมองจากหลักกฎหมาย หรือจากสามัญสำนึกความรู้สึกธรรมดาทั่วไปก็ตาม
ในท่ามกลางปัญหาที่ทวีความรุนแรงและไร้ความเป็นธรรมขึ้นทุกวัน มีข้อเสนอต่าง ๆ จากหลายฝ่าย เช่น ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปเลย ข้อเสนอแก้ไขในสองประเด็นของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อ การปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และข้อเสนอ ร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งประกอบด้วย 7 ประเด็นสำคัญ โดย ร่างแก้ไขของนิติราษฎร์นี้ จะมีการอภิปรายและเชิญชวนประชาชนให้ลงรายชื่อยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร์ ให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะดำเนินการโดย คณะรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 (ครก. 112)
ในบทความนี้ ผมจะกล่าวเฉพาะร่างแก้ไขของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ผมเห็นด้วยที่สุด
ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ประกอบด้วย 7 ประเด็น ผมจะไม่นำข้อเสนอมากล่าวซ้ำทั้งหมด สามารถดูตัวร่างแก้ไขพร้อมทั้งหลักการและเหตุผลได้ที่เว็บไซต์ของคณะนิติราษฎร์ ทั้ง 7 ประเด็นในร่างแก้ไขของคณะนิติราษฎร์นี้ สามารถสรุปรวบเป็น 4 ประเด็นสำคัญ ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักการและอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่เพียงแต่ตัวบทกฎหมาย แต่ยังเป็นการกำหนดแนวทางในการทำความเข้าใจ แนวทางในการตีความ และแนวทางในการดำเนินคดี เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค
ประเด็นแรก แยกแยะฐานการกระทำผิดให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่ให้บิดเบือน ขยายความเกินกว่าเหตุ เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ประเด็นนี้ก็คือการย้ายหมวดของบทบัญญัติการกระทำผิดให้ออกจากหมวด “ความมั่นคง” และนำไปบัญญัติใหม่ในหมวดที่ว่าด้วย เกียรติยศ ชื่อเสียงของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งก็ประกอบไปด้วย กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในทางปฏิบัติก็ต้องยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในหมวดความมั่นคงเดิม และบัญญัติขึ้นในหมวดใหม่ ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับ ชื่อเสียง เกียรติยศของ กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
การย้ายหมวดดังกล่าวจะช่วยไม่ให้ทั้งผู้กล่าวโทษ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาล และประชาชน เข้าใจผิด และขยายการตีความความผิดไปจนเกินกว่าเหตุ ลากโยงการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ไปสู่การสั่นคลอนการดำรงอยู่ของรัฐ ลำพังการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย นั้น ไม่สามารถสั่นคลอนการดำรงอยู่ของรัฐได้ ไม่มีผลต่อความมั่นคง การตีความให้ไปเกี่ยวกับความมั่นคงเป็นแนวคิดที่มองเห็นรัฐเปราะบางและ อ่อนแออย่างไร้เหตุผล เพียงแค่มีการหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์เกิดขึ้นก็กลายเป็นรัฐที่ไม่มั่นคง ได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง และไม่มีเหตุผล แนวการตีความดังกล่าวนอกจากจะไร้เหตุผลแล้ว ยังผิดเพี้ยน บิดเบี้ยว และเป็นที่หัวเราะเยาะของนานาประเทศ คงไม่มีประเทศใด รัฐใดในโลกที่จะขาดความมั่นคงเพียงเพราะคำพูดหรือตัวหนังสือที่ดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย เพียงแค่นั้น ตรงกันข้าม รัฐที่เอาผิด ลงโทษ การดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท อย่างรุนแรงจนเกินกว่าเหตุต่างหาก ที่ดูเป็นรัฐที่อ่อนไหว เปราะบาง อ่อนแอ และสั่นคลอนง่าย
การดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท นั้น ไม่สามารถสั่นคลอนการดำรงอยู่ของรัฐได้ หากแต่การเอาผิดลงโทษอย่างรุนแรง และถือเป็นจริงเป็นจังกับการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นเพียงการกระทำผิดโดยคำพูด โดยวาจา ซึ่งไร้พิษสงใด ๆ ต่างหากที่ทำให้รัฐขาดความมั่นคง ขาดความสุขุมและมั่นใจในตัวเอง กลายเป็นรัฐที่ขี้ตกใจ และเปราะบาง
นอกจากนี้แล้ว การเชื่อมโยงการดูหมิ่น หมิ่นประมาทเข้ากับความมั่นคงยังเอื้อให้มีการนำกฎหมายไปขยายความเล่นงานกัน ทางการเมือง จนส่งผลให้สถาบันกษัตริย์ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ดังเช่นในกรณี ผังล้มเจ้า เป็นต้น
ประเด็นที่สอง อัตราโทษและตำแหน่งที่ได้รับความคุ้มครอง
อันที่จริงตำแหน่งที่ต้องได้รับความคุ้มครองมีเพียงกษัตริย์เท่านั้น ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์นั้น แท้จริงแล้วก็คือระบอบประชาธิปไตยที่ยอมให้มีกษัตริย์อยู่ต่อไปในทาง สัญลักษณ์และพิธีการในโลกสมัยใหม่ โลกก่อนสมัยใหม่นั้น รัฐส่วนใหญ่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ อำนาจสูงสุดในการปกครองนั้นอยู่ที่กษัตริย์ กล่าวคือ กษัตริย์ถือเป็นองค์อธิปัตย์โดยตัวเอง สมัยดังกล่าวยังไม่มีคำว่า “ประเทศ” ในความหมายปัจจุบัน เพราะตัวกษัตริย์นั่นแหละคือตัว “รัฐ” ร่างกายของกษัตริย์ก็คือ “ประเทศ” ไม่ใช่ผืนดิน ปราสาทราชวัง สิ่งปลูกสร้าง หรือประชากร (สังเกตว่าในพงศาวดารโบราณของไทย หรือจีน เมื่อบ้านเมืองแตกแยกแปรปรวน แบ่งเป็นก๊กต่าง ๆ คนที่อยากครองอำนาจสูงสุดก็ต้องแย่งชิงเอาตัวกษัตริย์มาอยู่กับตนให้ได้ จึงจะมีความชอบธรรมเหนือผู้อื่น) ต่อมาเมื่อเกิดความสำนึกในเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคแล้ว อำนาจอธิปไตยจึงเป็นของปวงชน ไม่ใช่ของกษัตริย์อีกต่อไป แน่นอนว่าอำนาจสูงสุดนั้น สามารถจะอยู่ได้ในนิยามเดียวเท่านั้น ในเมื่ออยู่ในนิยาม “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” แล้ว ก็ไม่อาจจะอยู่กับกษัตริย์ หรือเป็นตัวกษัตริย์ได้อีกต่อไป กษัตริย์จึงไม่ใช่องค์อธิปัตย์ดังที่เคยเป็นมา หากแต่รัฐที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย (อำนาจเป็นของปวงชน) ที่มีกษัตริย์นั้น ยังคงมีความรู้สึกผูกพันกับกษัตริย์ ยังคงให้เกียรติกษัตริย์ จึงยินยอมให้กษัตริย์ดำรงอยู่ต่อไปในฐานะของสัญลักษณ์ของอำนาจอธิปไตย ยินยอมให้เป็นภาพแทนหรือตัวแทนในทางสัญลักษณ์ และพิธีการ แทนปวงชน
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเองก็บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา 3 ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
ในทางกฎหมาย กษัตริย์ไทยจึงไม่ได้มีความแตกต่างจากกษัตริย์อื่น ๆ โดยทั่วไปของประเทศประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ คือทรงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจอธิปไตยแทนปวงชน แต่ไม่ใช่เป็นองค์อธิปัตย์ด้วยตนเองอีกต่อไปเหมือนเช่นในสมัยโบราณ
อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ กษัตริย์ซึ่งเป็นประมุข และถือเป็นตัวแทนอำนาจอธิปไตยของปวงชน ซึ่งอาจจะต้องเป็นประธานในพิธีการ ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในเชิงประเพณีก็ดี ในเชิงวัฒนธรรมก็ดี ก็อาจจะมีเหตุขัดข้องให้ไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ เช่น อาจจะล้มป่วย หรือมีกิจกรรมสำคัญที่ต้องทำในเวลาใกล้เคียงหรือซ้ำซ้อนกัน ดังนั้น ราชินี รัชทายาท (ไม่ได้หมายถึงลูกหลานแต่เป็นตำแหน่งของผู้ที่จะขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป) หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ชื่อก็บอกอยู่ในตัวว่าคือผู้ที่มาทำราชการแทนกษัตริย์) ก็สามารถเป็นผู้ทำหน้าที่แทนกษัตริย์ได้ในวาระต่าง ๆ และในระหว่างที่กำลังทำหน้าที่หรือราชการนั้น ๆ ก็ต้องถือว่าเป็นผู้ที่กำลังทำหน้าที่แทนปวงชน หรือกำลังเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจอธิปไตยของปวงชนเช่นเดียวกัน จึงสามารถมีบทบัญญัติให้คุ้มครองได้เช่นเดียวกับกษัตริย์ ให้สังเกตว่า บุคคลทั้งสี่นี้คือ “ตำแหน่ง” ที่อาจจะเป็นบุคคลเดียวกันก็ได้ เช่น อาจมีการแต่งตั้งให้ ราชินี หรือรัชทายาท เป็น “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ด้วยก็ได้ หรือจะแต่งตั้งคนอื่นมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในร่างแก้ไขของนิติราษฎร์นั้น ได้แยกแยะโทษของบุคคลตามตำแหน่งทั้ง 4 โดยให้โทษของกษัตริย์สูงกว่าบุคคลตามตำแหน่งอีก 3 ตำแหน่ง ซึ่งก็เป็นไปตามหลักสากล และเป็นไปตามหลักการและความเป็นมา ดังที่กล่าวมาแล้ว คือ ตำแหน่งของผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนในเชิงสัญลักษณ์ หรือองค์อธิปัตย์แทนนี้ แท้จริงแล้วก็คือกษัตริย์เพียงพระองค์เดียว
ในส่วนของอัตราโทษได้มีการแก้ไขลดโทษลงให้ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด เพิ่มโทษปรับ และไม่ระบุโทษขั้นต่ำ แยกแยะการดูหมิ่น และหมิ่นประมาทให้เกิดความชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชน หรือศาลค่อย ๆ เรียนรู้ปรับตัวเพื่อตีความกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักการและ อุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งโดยทั่วไปในทางสากลแล้ว การกล่าวโทษดำเนินคดีหมิ่นประมาทมักไม่ปรากฏ โดยเฉพาะกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว แทบไม่มีการฟ้องร้องกันเลย ไม่ใช่เพราะไม่มีการหมิ่นประมาทกษัตริย์ในต่างประเทศ ไม่ใช่เพราะไม่มีกฎหมายคุ้มครองกษัตริย์ในต่างประเทศ แต่เป็นเพราะผู้คนในประเทศเสรีส่วนใหญ่ มีความอดทนอดกลั้นสูง เห็นเรื่องการดูหมิ่นล่วงเกินทางวาจาเป็นเรื่องไม่ใหญ่โตหรือสลักสำคัญ แต่คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังกับเรื่องการละเมิดสิทธิ เสรีภาพมากกว่า ที่ต่างประเทศไม่มีปัญหาเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น ไม่ใช่เพราะไม่มีการหมิ่น หรือไม่มีกฎหมายหมิ่น กฎหมายนั้นมี แต่เขาไม่ฟ้องกันเองต่างหาก เพราะเขาเห็นว่าเป็นเรื่องเด็ก ๆ ขี้ผง ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงอะไร ไม่ควรจะต้องตีโพยตีพายละลายน้ำพริกจิกตีกันไปเปล่าปลี้ไม่มีสาระ
ประเด็นที่สาม เหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษ
ในร่างแก้ไขของคณะนิติราษฎร์ ได้เพิ่มบทบัญญัติของเหตุยกเว้นความผิด และเหตุยกเว้นโทษเข้ามา โดยบทบัญญัติดังกล่าวก็สอดคล้องต้องกันกับบทบัญญัติการกระทำผิดฐานหมิ่น ประมาท ดูหมิ่น บุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นการสมควรและสมเหตุสมผลอย่างยิ่งที่จะบัญญัติขึ้นมา เพราะวิจารณญาณของคนจำนวนมากในปัจจุบัน ยังไม่สามารถแยกแยะการดูหมิ่น หมิ่นประมาท กับการวิจารณ์ออกจากกันได้ ทั้งนี้ เห็นได้จากทั้งฝ่ายวิจารณ์ และฝ่ายที่ไม่ต้องการให้แก้กฎหมาย ก็มักปรากฏความเห็นที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สามารถแยกแยะสองเรื่องออกจาก กันได้
แม้ว่าในโลกเสรี การล้อเลียน หรือแสดงความเห็นที่อาจจะคาบลูกคาบดอกระหว่างการดูหมิ่น หมิ่นประมาท กับการวิจารณ์ หรือแม้แต่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นอย่างชัดแจ้ง มักจะไม่ถือสาหาความ หรือไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษกัน แต่ในกรณีของไทย ยังมีวัฒนธรรมการตีความในเรื่องนี้ในลักษณะของอำนาจนิยมอยู่สูง ขณะเดียวกัน กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอยู่ก็เป็นเสมือสิ่งปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุดมการประชาธิปไตย ผู้คนที่ถูกปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นยิ่งนานวันเข้า ก็ยิ่งสั่งสมความไม่พอใจ ในขณะเดียวกัน ความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังคงดำรงอยู่ และสถาบันกษัตริย์ก็กลายเป็นประเด็นที่พัวพันกันอยู่ในความขัดแย้ง
ในภาวะการณ์เช่นนี้ ที่ต่างฝ่ายต่างหวาดระแวง จึงควรแยกแยะการวิจารณ์และการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย ให้ชัดเจน ผู้ที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย ก็ควรถูกลงโทษอย่างสมเหตุสมผล และยุติธรรม ในขณะเดียวกัน ผู้ที่วิจารณ์โดยใช้เหตุผล เพื่อประโยชน์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็ควรได้รับการสนับสนุน เพื่อบังคับความขัดแย้งให้คลี่คลายไปในทิศทางของการสร้างความเข้าใจ แลกเปลี่ยนเหตุผล และมีความอดทนอดกลั้นต่อกัน
ในอนาคตภายภาคหน้า หากอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้รับการพัฒนา ความขัดแย้งในสังคมคลี่คลาย บัญญัติกฎหมายในร่างแก้ไขของนิติราษฎร์นี้ก็จะเป็นเช่นเดียวกับกฎหมายหมิ่น พระบรมเดชานุภาพในนานาประเทศที่มีกษัตริย์ คือ มีกฎหมายที่สมเหตุสมผลอยู่ แต่ไม่ค่อยมีการฟ้องร้องกล่าวโทษกัน เนื่องจากสังคมมีวุฒิภาวะมากขึ้น
ประเด็นที่สี่ ผู้มีอำนาจกล่าวโทษ
ร่างแก้ไขของคณะนิติราษฎร์ บัญญัติให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับ พระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
บทบัญญัติดังกล่าว จะช่วยแก้ไขปัญหาการนำกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างตรงประเด็น ที่สุด เนื่องจากปัจจุบันที่เป็นอยู่ ใครจะร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้ จะไปแจ้งความที่ไหนก็ได้ ก่อให้เกิดการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ไม่แต่เพียงในทางการเมือง แต่ยังใช้กลั่นแกล้งกันเนื่องจากความขัดแย้งในทางส่วนตัวด้วย เช่น การกลั่นแกล้งคู่กรณีด้วยการไปแจ้งความที่สถานีตำรวจซึ่งอยู่ห่างจากที่อยู่ อาศัยหลายร้อยกิโลเมตร
สำนักราชเลขาธิการ มีกองนิติการ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นหน่วยงานราชการ กินเงินเดือนจากรัฐบาล และเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมาย และดูแลเรื่องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง จึงเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นตัวแทน เพราะอยู่ใกล้ชิดสถาบันกษัตริย์ ดูแลกิจการเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อยู่แล้ว โดยหน้าที่ของหน่วยงานเหมาะแก่การใช้ดุลยพินิจในเรื่องนี้ที่สุด อีกทั้งในกรณีที่ต้องการสอบถามความเห็นจากพระมหากษัตริย์โดยตรง ก็สามารถทำได้โดยสะดวก
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยและคิดว่าจะเป็นการทำให้พระมหากษัตริย์ต้องมาฟ้องร้อง ดำเนินคดีด้วยตนเองนั้น แสดงให้เห็นความไม่เข้าใจในสองส่วน ส่วนแรกคือ ไม่สามารถแยกแยะสถาบันกษัตริย์ ออกจากตัวบุคคลได้ การดำเนินการโดยสำนักราชเลขาธิการ มีความแตกต่างจากการที่กษัตริย์เป็นผู้ดำเนินการเอง สำนักราชเลขาเป็นหน่วยงานที่อาจจะถือว่าเป็นส่วนประกอบหนึ่งของสถาบัน กษัตริย์ แต่ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์โดยตัวเอง และยิ่งไม่ใช่องค์กษัตริย์โดยตัวเอง ไม่สามารถเป็นตัวแทนอำนาจอธิปไตยของปวงชนได้ แต่สามารถเป็นบุคคลที่สามในการดำเนินการต่าง ๆ แทนกษัตริย์ได้
ความไม่เข้าใจในส่วนที่สองคือ ในหลายประเทศที่มีกษัตริย์ก็ให้กษัตริย์เป็นผู้กล่าวโทษเอง ในกรณีของการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น เนื่องจากเป็นเรื่องส่วนพระองค์ การที่ให้กษัตริย์เป็นผู้กล่าวโทษเอง ก็คือให้กษัตริย์เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจเอง เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกับตัวของพระองค์เองโดยตรง จึงสมควรที่จะเป็นผู้ใช้อัตวิสัย ไม่สมควรที่จะมีผู้อื่นมาวินิจฉัยแทนจนพร่ำเพรื่อไปหมด แต่ในทางปฏิบัติแล้ว กษัตริย์ก็กล่าวโทษเองในนามเท่านั้น เพราะถึงที่สุดก็จะมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้ามาดำเนินการให้อยู่ดี
ประเด็นเรื่องใครก็ฟ้องได้นี้เป็นปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปัจจุบันที่แทบจะยอมรับร่วมกันทุกฝ่าย อาจจะเหลือแต่ฝ่ายที่เสียประโยชน์คือ ผู้ที่ยังต้องการใช้สถาบันกษัตริย์และกฎหมายนี้เป็นเครื่องมือเพื่อผล ประโยชน์ในทางการเมืองเท่านั้นที่ยังคงคัดค้านอยู่