WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, January 13, 2012

จดหมายคณะ 'แสงสำนึก' ถึงเพื่อนนักเขียน เชิญร่วมงาน ครก.112

ที่มา ประชาไท

วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

เรียนเพื่อนนักเขียนผู้ได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2554

หลังจากที่ได้มีการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงเพื่อนนักเขียนไทยทั่วประเทศ เรื่อง ขอเชิญร่วมลงชื่อให้มีการแก้ไขมาตรา 112 และยุติการใช้ข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพปิดกั้นการแสดงออกและแสดงความ คิดเห็นทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ได้มีการลงนามจากเพื่อนนักเขียนตลอดจนถึงออกคำประกาศ 359 นักเขียน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 แม้ว่าตลอดสองเดือนของการเคลื่อนไหวของนักเขียนดังกล่าว จะได้ผลักดันประเด็นปัญหาในมิติต่าง ๆ เกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปไม่น้อย ให้ได้รับความสนใจจากทั้งในและต่างประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติเข้ามาจับตา ดูปัญหาการละเมิดสิทธิ เสรีภาพในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งได้มีการแถลงอย่างเป็นทางการถึงความกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมาย อาญามาตรา 112 ของประเทศไทย แต่ดูเหมือนว่าการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 จะมิได้ลดความรุนแรงลงแม้แต่น้อย อีกทั้งรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ยังคงแสดงความเฉยเมยต่อข้อเรียก ร้องดังกล่าว และไม่ตระหนักถึงปัญหาของการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ สิทธิมนุษยชนอันเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ปรากฏการดำเนินคดีโดยกฎหมายอาญามาตรา 112 เฉพาะตามที่ปรากฏเป็นข่าวถึง 5 กรณี

22 พฤศจิกายน ตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ดออกหมายเรียกนายสุรพศ ทวีศักดิ์ เนื่องจากถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ในการโพสต์ข้อความแสดงความเห็นท้ายบทความ จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคม-การเมืองไทยอย่างไร? ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท

23 พฤศจิกายน ผู้พิพากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์อ่านคำตัดสินพิพากษาจำคุกนายอำพล 20 ปี จากกรณีส่งข้อความสั้นหมิ่นประมาทสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสถาบันกษัตริย์ 4 ครั้ง ไปยังเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

25 พฤศจิกายน อัยการ สำนักงานพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 ยื่นฟ้องนายสุรภักดิ์ เนื่องจากโพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พร้อมกับคัดค้านการขอประกันตัว

8 ธันวาคม ศาลตัดสินจำคุกโจ กอร์ดอน 5 ปี แต่สารภาพจึงลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และกระทำให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบล็อกซึ่งใส่ลิงก์ให้ดาวน์โหลดหนังสือ The King Never Smiles และมีส่วนเกี่ยวข้องในการแปลหนังสือดังกล่าวเป็นภาษาไทย หนังสือดังกล่าวเขียนโดย Pual Handley เป็นหนังสือวิชาการจัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย Yale เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2549 โดยระหว่างถูกจับกุมศาลปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าเป็นข้อหาที่ กระทบต่อความมั่นคง และกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งมีโทษสูง

15 ธันวาคม ผู้พากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์อ่านคำตัดสินจำคุกนางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล กระทำผิดโดยกล่าวปราศรัย 3 ครั้งที่ท้องสนามหลวง จำคุก 15 ปี

คดีความทั้งหมดดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นผลจากกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยประเด็นสำคัญที่สุดคือ ความไม่ได้สัดส่วนกันระหว่างโทษและการกระทำผิด ซึ่งเป็นการกระทำฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แต่กลับมีการลงโทษอย่างรุนแรงจนสูงกว่าคดีที่ร้ายแรงกว่าเช่น การพยายามฆ่า และการฆ่าคนตายในบางกรณี ความผิดสัดส่วนนี้รุนแรงจนกระทั่งสามารถรู้สึกได้โดยสามัญสำนึกธรรมดา และมิต้องมีความรู้หรืออ้างอิงหลักกฎหมายแต่ประการใด

กรณีของนายอำพล ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสำคัญที่กระทบต่อหลักการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุอย่างชัดเจนว่า ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยไม่มีความผิด หากแต่คำพิพากษาในคดีนี้ กลับสวนทางกับหลักคดีอาญา และผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 39 อีกทั้งยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับหลักฐานที่ใช้ระบุความผิด และกระบวนการนำสืบของโจทก์ อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดบรรทัดฐานการดำเนินคดีที่นำข้อมูลอันเกี่ยวเนื่อง กับเทคโนโลยีมาใช้เป็นหลักฐานในการระบุตัวผู้กระทำผิดอย่างไม่รัดกุม

การตัดสินคดี 112 สะท้อนให้เห็นว่า ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพของบุคคลที่ถูกดำเนินคดีอาญา ไม่ว่าจะเป็นการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว การได้รับการตรวจสอบพยานเอกสารอย่างถูกต้องครบถ้วน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 26 มาตรา 39 มาตรา 40 (2) มาตรา 40 (7) เป็นต้น เป็นเพียงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่บนกระดาษเท่านั้น หาได้มีอยู่ในสำนึกของผู้บังคับใช้กฎหมายแต่อย่างใด

นอกจากนี้ คดีตัวอย่างทั้ง 5 กรณีซึ่งมีการดำเนินการในเวลาไล่เลี่ยกันทั้งหมดนี้ เกิดขึ้น หลังจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง แห่งชาติ (คอป.) ได้มีหนังสือลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 แนะนำให้ชะลอคดีอาญาที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองทั้งหมดไว้ก่อน ซึ่งประกอบด้วย คดีอาญาในคดีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ตามมาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและคดีที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหลายก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งคดีที่เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

ความเคลื่อนไหวของคดีความระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน ถึง 15 ธันวาคม ตามที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เห็นถึงพฤติการณ์ที่สวนทางกับข้อเสนอของ คอป. และทำให้เรารู้สึกสิ้นหวังต่อหนทางคลี่คลายวิกฤตการเมืองด้วยการปรองดอง และเชื่อว่ายากที่ผู้ต้องหาคดีอันเนื่องมาจากกฎหมายอาญามาตรา 112 จะได้รับความเป็นธรรม ไม่ว่าขั้วการเมืองสองฝ่ายจะสามารถปรองดองกันได้หรือไม่

ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมด อดีตเจ้าภาพผู้ริเริ่มเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนักเขียนได้หารือกับคณาจารย์ คณะนิติราษฎร์ นักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรม กลุ่มเคลื่อนไหวรณรงค์อาร์ติเคิล 112 ไอลอว์ และปัญญาชนกลุ่มอื่น ๆ อีกหลายกลุ่ม มีความเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยตัวเอง ผู้เข้าร่วมหารือ

ทั้งหมดจึงได้ตั้ง คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 (ครก.112) ขึ้น เพื่อผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภา ด้วยการร่วมกันรณรงค์และขอความเห็นชอบจากประชาชนมากกว่าหนึ่งหมื่นคนขึ้นไป การรณรงค์แก้กฎหมายครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 163 ซึ่งระบุว่า ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราช บัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3 และหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญนี้ โดยการลงชื่อดังกล่าวมีเพียงการกรอกแบบฟอร์มและแนบสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และการเซ็นรับรองความถูกต้อง

การผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 คือการเปลี่ยนเจตนารมณ์ในจดหมายเปิดผนึกที่พวกเรานักเขียนทั้งหมดได้ลงนาม ไว้ ให้เป็นรูปธรรมในการปฏิบัติโดยใช้สิทธิตามกฎหมาย และเป็นการกระตุ้นนักการเมืองให้ต้องหันมาใส่ใจปัญหานี้อย่างแท้จริง

ในวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม คณะนิติราษฎร์ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมเพื่อแนะนำ ครก.112 ในงานจะมีการอธิบายรายละเอียดในร่างแก้ไขอีกครั้ง พร้อมทั้งอภิปรายเหตุผลในการที่ต้องแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และกิจกรรมอื่น ๆ อันเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่จะแก้กฎหมาย

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโต๊ะลงชื่อเพื่อแก้กฎหมาย มีการเตรียมแบบฟอร์มราชการ และเครื่องถ่ายเอกสารไว้พร้อมสำหรับการลงชื่อ งานดังกล่าวเริ่มตั้งแต่เวลาบ่ายโมงตรงเป็นต้นไป ที่ห้องประชุมเล็ก (ศรีบูรพา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เราขอเรียนเชิญเพื่อนนักเขียนเข้าร่วมลงนามและร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าว หรือเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวตามแต่ความสะดวกของท่าน หากไม่สามารถไปร่วมกิจกรรมได้ก็สามารถลงชื่อได้ภายหลัง โดยทางคณะนักเขียนแสงสำนึกจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบในโอกาสต่อไป

เรียนมาด้วยความนับถือและสวัสดีปีใหม่

คณะนักเขียนแสงสำนึก

ปราบดา หยุ่น
วาด รวี
วรพจน์ พันธุ์พงศ์
ซะการีย์ยา อมตยา
กิตติพล สรัคคานนท์
ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง
ธิติ มีแต้ม
อติภพ ภัทรเดชไพศาล
บินหลา สันกาลาคีรี
ศุภชัย เกศการุณกุล
สุจิตต์ วงษ์เทศ
เรืองรอง รุ่งรัศมี
อุทิศ เหมะมูล