ที่มา ประชาไท
‘แฟรงค์ ลา รู’ ผู้ตรวจการพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออกแห่งยูเอ็น เข้าเยี่ยมสำนักข่าวประชาไทในวาระการมาเยือนไทยอย่างไม่เป็นทางการ ระบุจะยังคงสนับสนุนให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และพร้อมให้ความช่วยเหลือตามต้องการ
10 ม..ค. 55 แฟรงค์ ลา รู ผู้ตรวจการพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออกของสหประชาชาติ ได้เข้าเยี่ยมสำนักข่าวประชาไท ในวาระการมาเยือนประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการ ก่อนจะเดินทางไปเข้าร่วมเวทีสัมมนาด้านเสรีภาพการแสดงออกที่สิงคโปร์ในวัน พรุ่งนี้ โดยลา รู ย้ำว่า ทางยูเอ็นจะยังคงหนุนให้รัฐบาลไทยทำการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อไปในอนาคต
ลา รู กล่าวกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่สามแล้วที่เขาได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย และเขาหวังว่าจะได้กลับมาอีก เพื่อตรวจดูสถานการณ์ที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยในทุกแง่ มุม ไม่เพียงแต่ในแง่ของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงเรื่องการแสดงออกทางวัฒนธรรม, สิทธิในการชุมนุมโดยสันติ, การคุ้มครองผู้สื่อข่าว, สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล
แฟรงค์ ลา รู ผู้ตรวจการพิเศษด้านเสรีภาพการแสดงออก เข้าเยือนสำนักข่าวประชาไท
ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เขาได้แถลงผ่านทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติว่า ทางยูเอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ เนื่องจากการบังคับใช้และบทลงโทษที่สูงเกินไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล
“ผู้ตรวจการพิเศษ ไม่ได้จะมุ่งแต่วิจารณ์ติติงรัฐบาล แต่ผู้ตรวจการพิเศษมีหน้าที่เพื่อให้การสนับสนุนทางเทคนิคแก่รัฐบาลตามต้อง การ เพื่อที่จะปรับปรุงมาตรฐานทางสิทธิมนุษยชนและพัฒนาประชาธิปไตย” ลา รู กล่าว
ต่อข้อวิจารณ์ที่ว่า ข้อเสนอดังกล่าวของยูเอ็น เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยนั้น ลา รู กล่าวว่า ไม่ว่าในประเทศใดๆ หลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนต่างมีผลบังคับใช้เท่ากันทั้งสิ้น เนื่องจากหลักสิทธิมนุษยชนเป็นหลักสากล และศักดิ์ศรีของมนุษย์ก็มีเท่าๆ กัน เขาจึงอยากจะให้ประชาชนทุกคนได้รับการประกันในสิทธินี้
“ผมยังคงยืนยัน (ในสิ่งที่ได้แถลงไป) และนี่ก็ไม่ใช่เป็นการแทรกแซงด้วย เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องในทางระหว่างประเทศ และเป็นความรับผิดชอบของประเทศที่ทันสมัย มีอารยะ และเป็นประชาธิปไตย ซึ่งมีแต่ประเทศที่ต้องการจะกลับไปสู่ระบอบอำนาจนิยม ไร้อารยะ และไม่ตามครรลองประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะปฏิเสธหลักสิทธิมนุษยชน” ผู้แทนจากยูเอ็นกล่าว