WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, January 8, 2012

สันต์ หัตถีรัตน์: “แพทย์-พยาบาลแนวใหม่”

ที่มา ประชาไท

หลักการและเหตุผล

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้จะมีการผลิตแพทย์และพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย แต่ประชาชนในชนบทและแม้แต่ประชาชนในกรุงเทพมหานครที่อยู่ห่างไกลศูนย์ความ เจริญ (ทางวัตถุ) ก็ยังขาดแคลนแพทย์และพยาบาลอย่างมาก

ประชาชนที่อยู่ในและใกล้ศูนย์ความเจริญ (ทางวัตถุ) ก็ขาดแคลนแพทย์ที่สามารถดูแลตนได้ทุกอวัยวะและทุกระบบแบบองค์รวม ซึ่งหมายถึงจิตใจและร่างกายทุกส่วนของตนที่มีความสัมพันธ์กับครอบครัวและ ชุมชนของตน นั่นคือ ขาดแคลนแพทย์ที่สามารถดูแลตนทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งครอบครัว และชุมชนในท้องถิ่นของตนด้วย

สาเหตุที่สำคัญของการขาดแคลนดังกล่าว คือ ระบบการเรียนการสอนแพทย์และพยาบาลในปัจจุบัน ที่ใช้วิธีการสอบคัดเลือกความรู้เป็นสำคัญ ทำให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นเด็กในกรุงและ เมืองใหญ่ ที่มีโอกาสได้รับความรู้สำหรับการสอบมากกว่าเด็กในชนบท รวมทั้งการมีโอกาสกวดวิชา (“กวดข้อสอบ”) ได้ใกล้เคียงข้อสอบจริงมากกว่า เป็นต้น เด็กเหล่านี้ย่อมไม่คุ้นเคยกับวิถีชีวิตในชนบท เมื่อจบแล้ว จึงไม่อยากออกไปทำงานในชนบท และถึงจะถูกบังคับให้ออกไปทำงานใช้ทุนในชนบท ก็อยู่อย่างไม่มีความสุขเป็นส่วนใหญ่ และไม่ช้าไม่นาน ก็จะกลับบ้านในกรุงในเมืองที่ตนคุ้นเคยมากกว่า เป็นต้น

นอกจากนั้น ระบบการเรียนการสอนแพทย์และพยาบาลในปัจจุบัน ยังมุ่งเน้นความรู้ด้านทฤษฎี โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ของโรคและการดูแลรักษา โดยลืมหรือไม่สนใจในด้านสังคมศาสตร์ (ความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ) ด้านศิลปะศาสตร์ (วัฒนธรรม การพูดและการแสดงออก การปรับตัว การบริหารจัดการ ฯลฯ) ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น (การแพทย์พื้นบ้าน การดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ฯลฯ) เป็นต้น ทำให้เด็กที่จบแล้วรู้จักแต่ด้านวิทยาศาสตร์ของโรคและการดูแลรักษาโรค โดยลืมมิติของ “คน” จึงรักษา “โรค” มากกว่ารักษา “คน” และเกิดความขัดแย้งกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาในท้องถิ่น

อนึ่ง อาจารย์แพทย์ในปัจจุบันส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะอวัยวะหรือระบบ ทำให้การเรียนการสอนและการเป็นแบบอย่างแก่ศิษย์ ก่อให้เกิดทัศนะคติในการเป็นแพทย์เฉพาะอวัยวะหรือระบบให้แก่ศิษย์ ทำให้ศิษย์คุ้นเคยกับการดูแลเฉพาะอวัยวะหรือระบบ นั่นคือ การดูแลรักษาผู้ป่วยแบบแยกเป็นส่วนๆ (ส่วนของใครของมัน!) ไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่ก้าวก่ายกัน ไม่ร่วมปรึกษาหารือกันเพื่อให้สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวมได้ ซึ่งนอกจากจะเกิดอันตรายทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยแต่ละคนต้องไปรักษากับแพทย์หลายคน เสียเวลาในการเดินทางและการรอพบแพทย์ แล้วยังเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

ถ้าแพทย์แต่ละคนสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนเดียว การผลิตแพทย์แบบนี้จะยิ่งทำให้ขาดแคลนแพทย์ เพิ่มขึ้นๆ อย่างรวดเร็ว และผู้ป่วยจะต้องเสียเงิน เสียเวลา และเจ็บตัว (เกิดภาวะแทรกซ้อน) เพิ่มขึ้น ตามคำพังเพยว่า “มากหมอมากความ” นั่นเอง

จึงจำเป็นที่จะต้องมีการผลิต “แพทย์-พยาบาลแนวใหม่” ที่สามารถรักษาพยาบาลผู้ป่วยแบบองค์รวม (ซึ่งรวมถึงครอบครัว และชุมชนด้วย) อย่างมีความสุขในท้องถิ่นที่ตนคุ้นเคย และได้รับการคุ้มครองดูแลโดยประชาชนในท้องถิ่นนั้น

วัตถุประสงค์ เพื่อให้

1. ประชาชนในท้องถิ่นที่ต้องการแพทย์และพยาบาล มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการผลิต “แพทย์และพยาบาลแนวใหม่” เพื่อให้ได้แพทย์และพยาบาลแบบที่ตนต้องการ

2. “แพทย์และพยาบาลแนวใหม่” สามารถปฏิบัติงานในท้องถิ่นที่ขาดแคลนได้อย่างมีความสุขและความผูกพันกับท้องถิ่นที่ตนปฏิบัติงานอยู่

3. การผลิต “แพทย์และพยาบาลแนวใหม่” เป็นต้นแบบสำหรับการปฏิรูประบบการศึกษาอื่นๆ ให้ผลผลิตของระบบการศึกษามีความสุขและความผูกพันกับท้องถิ่นและสังคม มีความใฝ่รู้ สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถประยุกต์วิทยาการต่างๆ มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลสำหรับท้องถิ่นและสังคมของตนแม้จะมี ทรัพยากรต่างๆอย่างจำกัดได้

ปัจจัยที่จะนำไปสู่การริเริ่มการผลิตแพทย์และพยาบาลแนวใหม่

1. การรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักว่า การขาดแคลนแพทย์และพยาบาลในท้องถิ่นของตน ไม่ได้เป็นความผิดของตน และไม่ได้เป็น “กรรมเก่า” ของตนที่ตนต้องเกิดมาในท้องถิ่นนั้นๆ แต่เป็นเพราะนโยบายของผู้บริหารประเทศและผู้บริหารระบบการเรียนการสอนแพทย์ และพยาบาล ที่ทำให้แพทย์และพยาบาลที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดไม่อาจปฏิบัติงานในท้องถิ่น ที่ไม่คุ้นเคยได้อย่างมีความสุข และการรวมศูนย์การผลิตแพทย์และพยาบาลไว้ในกรุงเทพมหานคร และในเมืองใหญ่ๆ ตลอดจนหลักสูตรการเรียนการสอนที่ไม่ถูกต้อง ที่มุ่งเน้นด้านธุรกิจ/การพาณิชย์และการเชี่ยวชาญเฉพาะอวัยวะหรือระบบ มากกว่าการดูแลผู้ป่วยและประชาชนแบบองค์รวม เป็นต้น

2. ประชาชนที่ต้องการแพทย์และพยาบาล จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันตัวแทนของตน เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สมาชิกสภาส่วนท้องถิ่นต่างๆ รัฐบาล ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ให้ตระหนักว่า ตนต้องการแพทย์และพยาบาล ที่สามารถดูแลตนแบบองค์รวมได้ในท้องถิ่นของตนอย่างมีความสุข และไม่ต้องการแพทย์และพยาบาลที่ถูกบีบบังคับให้ออกไป (ใช้ทุน) ดูแลตนอย่างไม่มีความสุข ซึ่งอยู่ได้ไม่นานก็จากไป และต้องมาเริ่มต้นกันใหม่

3. หากมีการต่อต้าน/คัดค้านการผลิต “แพทย์และพยาบาลแนวใหม่” โดยแพทยสภา สภาพยาบาล และ/หรือสถาบันการศึกษาปัจจุบัน รัฐบาลและรัฐสภาควรจะพิจารณาตราพระราชบัญญัติการศึกษาวิชาชีพแนวใหม่ เป็นทางเลือกต่างหากจากหลักสูตรการศึกษาในปัจจุบัน โดยใช้โครงการการผลิต “แพทย์และพยาบาลแนวใหม่” เป็นโครงการนำร่อง เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาในวิชาชีพอื่นๆต่อไป ในทำนองเดียวกันกับพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ทำให้ประชาชนกว่า 40 ล้านคนมีโอกาสได้รับการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

หลักสูตรแพทย์-พยาบาลแนวใหม่

1. หลักการ

1.1 ประชาชนมีส่วนร่วม

1.2 การคัดเลือกและการเรียนการฝึก ดำเนินการในท้องถิ่น

1.3 การเรียนส่วนใหญ่เป็น การเรียนโดยปฏิบัติ (สิกขา หรือ on-the-job training) ร่วมกับครูผู้สอน/ผู้ฝึก และเป็นการเรียนด้วยตนเอง โดยค้นคว้าจากตำรา หนังสือ และ/หรืออินเตอร์เน็ต ตามปัญหาที่ตนสนใจหรือพบเห็นจากผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม แล้วนำมาเสวนาร่วมกับครูและผู้เรียนอื่นๆ

1.4 ห้องเรียน คือ ท้องถิ่น ชุมชน และสังคมที่ตนเกี่ยวข้อง รวมทั้งสถานพยาบาลในระดับต่างๆ รวมทั้งสถานพยาบาลพื้นบ้าน

1.5 การได้รับค่าครองชีพ ค่าเล่าเรียน และผลตอบแทนการปฏิบัติงานในขณะเล่าเรียน ตามความรู้ความสามารถที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ “บันไดวิชาชีพ” เช่น จากผู้ต้อนรับผู้ป่วยและญาติ เป็นผู้ช่วยดูแลผู้ป่วยและญาติ เป็นผู้ช่วยพยาบาล เป็นพยาบาล เป็นพยาบาลเวชปฏิบัติ เป็นแพทย์ โดยการเลื่อนลำดับแต่ละขั้นขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถ (ไม่ขึ้นกับกำหนดเวลาตายตัว ผิดกับการเรียนทั่วไป ที่ใช้จำนวนเดือนจำนวนปี เป็นตัวกำหนดหลักสูตร)

2. ผู้มีสิทธิเรียน

ผู้มีสิทธิเข้าเรียนหลักสูตรแพทย์-พยาบาลแนวใหม่ คือ ประชาชนในท้องถิ่นที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี จบมัธยมศึกษา มีความรักในงานดูแลผู้ป่วย และได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการในท้องถิ่น

3. การคัดเลือกผู้มีสิทธิเรียน

ผู้ที่รักงานดูแลผู้ป่วยและสนใจที่จะเรียนหลักสูตรแพทย์และพยาบาลแนว ใหม่ ให้แจ้งพ่อแม่/ผู้ปกครอง ซึ่งจะแจ้งต่อไปยังคณะกรรมการท้องถิ่นสำหรับหลักสูตรแพทย์และพยาบาลแนวใหม่ (คณะกรรมการฯ)

คณะกรรมการฯ ควรประกอบด้วย ผู้นำชาวบ้าน (พระ ครู ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และอื่นๆ ที่ชาวบ้านศรัทธา) ร่วมกับแพทย์และพยาบาลในสถานพยาบาลในท้องถิ่นนั้น ที่คิดว่าตนจะสามารถดูแลสั่งสอน “แพทย์และพยาบาลแนวใหม่” ได้ เป็นต้น

คณะกรรมการฯ จะคัดเลือกและจัดให้ผู้สมัครเหล่านั้น ได้ลองไปฝึกปฏิบัติงานต้อนรับผู้ป่วยและญาติตามสถานพยาบาลในท้องถิ่นของตนใน ช่วงที่ผู้สมัครว่าง เช่น ในวันหยุดราชการ ในช่วงปิดภาคเรียนเป็นต้น เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน (ไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน) โดย พ่อแม่/ผู้ปกครอง/คณะกรรมการฯ สนับสนุนค่าเดินทางและค่าอาหารให้แก่ผู้สมัคร

หลังเสร็จสิ้นการลองปฏิบัติงานต้อนรับผู้ป่วย และผู้ป่วยจบมัธยมศึกษาแล้ว คณะกรรมการฯ จะร่วมประชุมกันคัดเลือกผู้สมัครให้เหลือเพียงจำนวนหนึ่ง (2-5 คน) ขึ้นอยู่กับความสามารถของแพทย์และพยาบาลในสถานพยาบาลในท้องถิ่นนั้นที่จะรับ ดูแลและสั่งสอนผู้เรียนเหล่านั้นได้ และขึ้นกับพ่อแม่/ผู้ปกครอง และคณะกรรมการฯ ที่จะสามารถหาทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียน และการดำรงอยู่ของผู้เรียนในขณะเล่าเรียน

4. สถานที่เรียนและปฏิบัติงาน

4.1 สถานพยาบาลระดับต่างๆ ในท้องถิ่น โดยเฉพาะสถานีอนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (ตำบล) โรงพยาบาลชุมชน (อำเภอ) และโรงพยาบาลทั่วไป (จังหวัด) ที่มีแพทย์และพยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ ที่เต็มใจและยินดีจะดูแลและฝึกอบรม “แพทย์และพยาบาลแนวใหม่”

4.2 หน่วยรักษาพยาบาลพื้นบ้าน เช่น ในวัด บ้าน/สำนักงานของหมอพื้นบ้าน เป็นต้น

4.3 บ้านของผู้ป่วย และสถานสงเคราะห์ต่างๆ สำหรับเด็ก คนชรา คนพิการ และผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นต้น

4.4 สถานพยาบาลในระดับอื่นๆ เพื่อให้นักเรียนได้ดูงานตามความเหมาะสม

5. การเรียนและการประเมิน

หลังได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้เรียน (นักสิกขา หรือ ผู้ปฏิบัติ) แล้ว

5.1 ในระยะแรก นักสิกขาจะได้รับมอบหมายให้ฝึกปฏิบัติหน้าที่ต้อนรับผู้ป่วยในสถานพยาบาลที่ ใกล้บ้านของตน เช่น การแนะนำตนเองต่อผู้ป่วยและญาติ การทำบัตรผู้ป่วยให้ การนำผู้ป่วย/ญาติไปนั่งพัก/รอในสถานที่ที่เหมาะสม การนำผู้ป่วย/ญาติไปห้องสุขาหรือที่อื่นในสถานพยาบาลที่ผู้ป่วย/ญาติสามารถ เข้าไปได้ การพูดคุยกับผู้ป่วย/ญาติ เพื่อให้คลายเครียดคลายกังวลขณะรอพบแพทย์และพยาบาล เป็นต้น

ในช่วงเวลาที่ว่างจากการต้อนรับผู้ป่วย นักสิกขาจะต้องจดบันทึกสิ่งที่ตนได้ปฏิบัติ และวิเคราะห์ว่าตนได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการได้ต้อนรับผู้ป่วย/ญาติแต่ละคน มีจุดแข็ง-จุดอ่อนอะไรบ้างที่ตนคิดได้ และควรจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร เมื่อครูผู้ดูแลว่างในช่วงบ่าย/เย็นพร้อมกันแล้ว จะได้นำสิ่งที่ตนบันทึกไว้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูและนักสิกขาคนอื่น (ถ้ามีนักสิกขาในสถานพยาบาลนั้นเกิน 1 คน) แล้วครูจะมอบหมายให้นักสิกขาไปแสวงหาความรู้เพิ่มเติมในปัญหา/หัวข้อที่ได้ จากการเสวนา โดยศึกษาจากตำรา หนังสือ และ/หรืออินเตอร์เน็ต เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันใหม่ในเย็นวันรุ่งขึ้น

หลังฝึกปฏิบัติงานเช่นนี้ประมาณ 1-2 เดือน ครูผู้ดูแลอาจจะประเมินได้ว่า นักสิกขาที่ตนดูแลอยู่มีความรู้ความสามารถและเจตคติที่จะไต่อันดับสู่ระยะ ที่สองได้หรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจหรือคิดว่านักสิกขาคนนั้นอาจจะปรับตน/ปฏิบัติตนได้ดีกว่าในสถาน พยาบาลอื่น ก็อาจพิจารณาส่งไปฝึกปฏิบัติในสถานพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง หากครูผู้ดูแลทั้ง 2 แห่ง หรือ 3 แห่ง เห็นพ้องต้องกันว่า นักสิกขาผู้นั้นไม่มีเจตคติที่ดีพอสำหรับการดูแลผู้ป่วย และ/หรือ ไม่สามารถเรียนรู้และปฏิบัติการต้อนรับผู้ป่วยได้ดีพอหลังจากฝึกปฏิบัติมา 4-6 เดือนแล้ว ก็อาจพิจารณาให้พ้นจากการเป็นนักสิกขาได้

สำหรับผู้ที่มีเจตคติดี มีความใฝ่รู้ และสามารถเรียนรู้ได้ดี และมีทักษะในการต้อนรับผู้ป่วยเป็นอย่างดี ก็จะได้รับการเลื่อนอันดับให้ขึ้นสิกขาในระยะที่สอง

5.2 ในระยะที่สอง นักสิกขาจะได้ปฏิบัติในการช่วยดูแลผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวอยู่ในสถานพยาบาล เช่น การทำ/ป้อนอาหาร การดูแลความสะอาดเตียงและร่างกายผู้ป่วย การพูดคุย การช่วยเคลื่อนไหวร่างกายและส่วนต่างๆ ให้แก่ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต การบีบนวดแบบเบาๆ การวัดไข้ การหายใจ ชีพจร และความดันเลือด การตวงวัดปริมาณน้ำดื่มและปัสสาวะของผู้ป่วยในแต่ละช่วงเวลา การระวังการติดเชื้อและการแพร่เชื้อ เป็นต้น

เช่นเดียวกับระยะแรก นักสิกขาจะต้องบันทึกสิ่งที่ตนปฏิบัติ และวิเคราะห์ประโยชน์ จุดแข็ง-จุดอ่อนในการปฏิบัติของตนสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูผู้ดูแลและนักสิกขาอื่นในช่วงเวลาที่ว่าง พร้อมกัน แล้วครูผู้ดูแลจะมอบหมายให้นักสิกขาไปแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากตำรา หนังสือ และ/หรืออินเตอร์เน็ต เช่น ไข้เกิดจากอะไร การหายใจเกิดจากอะไร ชีพจรเกิดจากอะไร ความดันเลือดเกิดจากอะไร แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในวันต่อไป เป็นต้น

ในระยะที่สองนี้ นักสิกขาจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตผู้ป่วยอย่างละเอียดจากการพูดคุยกับผู้ป่วย สาเหตุของการป่วยที่ผู้ป่วยเข้าใจ (ซึ่งอาจไม่ถูกต้อง แต่จะได้รับการชี้แจงจากครูผู้ดูแลในระหว่างการเสวนา) กายวิภาคและสรีรวิทยาเบื้องต้นของอวัยวะต่างๆ วิธีการดูแลผู้ป่วยทั่วไปให้เหมาะสมกับสภาพครอบครัว เศรษฐฐานะ และสิ่งแวดล้อม การปฐมพยาบาล เป็นต้น และเรียนรู้ที่จะทำงานวิจัย เช่น ประชาชนในชุมชนของตนมีปัญหาอะไรบ้าง สาเหตุของปัญหา สาเหตุของการเจ็บป่วย เป็นต้น

หลังฝึกปฏิบัติเช่นนี้ประมาณ 2-4 เดือน ครูผู้ดูแลจากสถานพยาบาล 2-3 แห่ง อาจจะประเมินได้ว่า นักสิกขามีเจตคติและความรู้ความสามารถที่จะไต่อันดับสู่ระยะที่สามได้หรือ ไม่

ถ้าไม่ได้ ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยดูแลผู้ป่วยต่อไป จนกว่าจะผ่านการประเมินให้ขึ้นสู่ระยะที่สามได้ การฝึกปฏิบัติในฐานะนักสิกขา จะได้รับเงินอุดหนุนจากคณะกรรมการฯ และสถานพยาบาลที่ได้ประโยชน์จากแรงงานของนักสิกขานั้น ยกเว้นในกรณีที่ครูผู้ดูแลเห็นว่า นักสิกขาผู้นั้นกระทำในสิ่งที่ผิดจริยธรรม และ/หรือ กฎระเบียบอย่างรุนแรง ก็อาจพิจารณาให้พ้นจากสภาพนักสิกขาได้

5.3 ในระยะที่สาม นักสิกขาจะได้ฝึกปฏิบัติเป็นผู้ช่วยพยาบาล เช่น การทำ/ให้อาหารทางท่อจมูก-กระเพาะ การใส่ท่อจมูก-กระเพาะ การสวนปัสสาวะ/อุจจาระ การทำแผล การให้ออกซิเจน การดูแลผู้ป่วยในรายละเอียดที่สูงขึ้นกว่าในระยะที่สอง เป็นต้น

เช่นเดียวกับระยะก่อนๆ นักสิกขาจะต้องบันทึกสิ่งที่ตนได้ปฏิบัติ และวิเคราะห์ประโยชน์ จุดแข็ง-จุดอ่อนในการปฏิบัติของตนสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูผู้ดูแลและนักสิกขาอื่นในช่วงที่ว่างพร้อมกัน ฯลฯ

ในระยะที่สามนี้ นักสิกขาจะได้เรียนรู้กายวิภาค และสรีรวิทยาของคนเพิ่มขึ้น ได้เรียนรู้พยาธิวิทยาและโรคง่ายๆ ที่พบบ่อย พร้อมกับการดูแลผู้ป่วยในโรคต่างๆ การปฐมพยาบาลในระดับที่สูงขึ้นรวมทั้งการคลอดฉุกเฉิน การกู้ชีพขั้นต้น การติดตามครูผู้ดูแลออกไปดูผู้ป่วยที่บ้าน และจุดเกิดเหตุ การป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพ เป็นต้น และการทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเจ็บป่วย หรืออื่นๆ

หลังฝึกปฏิบัติงานเช่นนี้ประมาณ 4-6 เดือน ครูผู้ดูแลจากสถานพยาบาล 2-3 แห่ง อาจจะประเมินได้ว่า นักสิกขามีเจตคติและความรู้ความสามารถที่จะไต่อันดับสู่ระยะที่สี่ได้หรือ ไม่

ถ้าไม่ได้ ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยพยาบาลต่อไป จนกว่าจะผ่านการประเมินให้ขึ้นสู่ระยะที่สี่ได้ โดยจะได้รับเงินอุดหนุนในการปฏิบัติงานสูงขึ้นกว่าระดับก่อน

5.4 ในระยะที่สี่ นักสิกขาจะได้ฝึกปฏิบัติเป็นพยาบาล ตามกำหนดหน้าที่ของพยาบาลวิชาชีพทั่วไป โดยเริ่มจากงานพยาบาลง่ายๆ ก่อน และค่อยๆ ให้ยากขึ้นๆ ตามลำดับ

เช่นเดียวกับระยะก่อนๆ นักสิกขาจะต้องบันทึกสิ่งที่ตนได้ปฏิบัติ และวิเคราะห์ประโยชน์ จุดแข็ง-จุดอ่อนในการปฏิบัติของตน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูผู้ดูแลและนักสิกขาอื่นในช่วงที่ว่างพร้อมกัน ฯลฯ

ในระยะที่สี่นี้ นักสิกขาจะได้เรียนรู้กายวิภาคและสรีรวิทยาของคนเพิ่มขึ้น ได้เรียนรู้พยาธิวิทยาและโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งการดูแลรักษาผู้ป่วยในระยะต่างๆ ที่พบบ่อยในท้องถิ่น การปฐมพยาบาลในระดับสูง การคลอดทารกท่าก้นหรือท่าผิดปกติอื่นที่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้โดยไม่ต้อง ผ่าคลอด การกู้ชีพขั้นสูง การให้ยา การฉีดยา การใช้อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ต่างๆ ทางการรักษาพยาบาล การบริหารจัดการงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล การแนะนำ การฝึกอบรมและการรณรงค์ให้ผู้ป่วยและประชาชนรู้จักวิธีป้องกันโรคและส่ง เสริมสุขภาพ การดูแลผู้ป่วยแบบพื้นบ้าน เป็นต้น และการทำงานวิจัยในระดับที่สูงขึ้น หรือการสร้างนวัตกรรมในการดูแลผู้ป่วย เป็นต้น

หลังฝึกปฏิบัติงานเช่นนี้ประมาณ 2-3 ปี ครูผู้ดูแลจากสถานพยาบาล 3-4 แห่ง อาจจะประเมินได้ว่า นักสิกขามีเจตคติและความรู้ความสามารถที่จะไต่อันดับสู่ระยะที่ห้าได้หรือ ไม่

ถ้าไม่ได้ ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพยาบาลต่อไป จนกว่าจะผ่านการประเมินให้ขึ้นสู่ระยะที่ห้าได้ โดยจะได้รับเงินอุดหนุนในการปฏิบัติงานสูงขึ้นกว่าระดับก่อน

5.5 ในระยะที่ห้า นักสิกขาจะได้ฝึกปฏิบัติเป็นพยาบาลเวชปฏิบัติ ตามกำหนดหน้าที่ของพยาบาลเวชปฏิบัติทั่วไป โดยเริ่มจากงานดูแลรักษาโรคง่ายๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ให้ยากขึ้นๆ ตามลำดับ

เช่นเดียวกับระยะก่อนๆ นักสิกขาจะต้องบันทึกสิ่งที่ตนได้ปฏิบัติ และวิเคราะห์ประโยชน์ จุดแข็ง-จุดอ่อนในการปฏิบัติของตน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูผู้ดูแลและนักสิกขาอื่นในช่วงที่ว่างพร้อมกัน ฯลฯ

ในระยะที่ห้านี้ นักสิกขาจะได้เรียนรู้โรคต่างๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งการดูแลรักษาโรคเหล่านั้น การเย็บแผล การผ่าฝี การถอดเล็บ การเข้าเฝือก และหัตถการอื่นๆ ที่ไม่ใช่การผ่าตัดใหญ่ และสามารถทำแทนแพทย์ได้ เมื่อแพทย์ไม่อยู่ และผู้ป่วยอยู่ในภาวะฉุกเฉินหรือจำเป็นต้องได้รับการทำหัตถการนั้น การเรียนรู้การแพทย์พื้นบ้าน (การนวด สมุนไพร) ฯลฯ และการทำงานวิจัยหรือการสร้างนวัตกรรมในการรักษาพยาบาล เป็นต้น

หลังฝึกปฏิบัติงานเช่นนี้ประมาณ 4-12 เดือน ครูผู้ดูแลจากสถานพยาบาลประมาณ 3-4 แห่ง อาจจะประเมินได้ว่า นักสิกขามีเจตคติและความรู้ความสามารถที่จะไต่อันดับสู่ระยะที่หกได้หรือไม่

ถ้าไม่ได้ ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพยาบาลเวชปฏิบัติต่อไป จนกว่าจะผ่านการประเมินให้ขึ้นสู่ระยะที่หกได้ โดยจะได้รับเงินอุดหนุนการปฏิบัติงานสูงขึ้นกว่าระดับก่อน

อนึ่ง นักสิกขาในระดับนี้ อาจจะต่อยอดเป็นพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน พยาบาลดมยา พยาบาลผ่าตัด และอื่นๆ ตามความชอบของตน และตามความต้องการของท้องถิ่นได้

5.6 ในระยะที่หก นักสิกขาจะได้ฝึกปฏิบัติเป็นแพทย์ ตามกำหนดหน้าที่ของแพทย์ทั่วไป โดยเริ่มจากงานดูแลรักษาและผ่าตัดโรคง่ายๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ให้ยากขึ้นๆ ตามลำดับ

เช่นเดียวกับระยะก่อนๆ นักสิกขาจะต้องบันทึกสิ่งที่ตนได้ปฏิบัติ และวิเคราะห์ประโยชน์ จุดแข็ง-จุดอ่อนในการปฏิบัติของตน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูผู้ดูแลและนักสิกขาอื่นในช่วงที่ว่างพร้อมกัน ฯลฯ

ในระยะที่หกนี้ นักสิกขาจะได้เรียนรู้รายละเอียดของโรคต่างๆ รวมทั้งวิธีการรักษาเพิ่มขึ้น การผ่าตัดทั่วไป การบริหารจัดการและการประสานงาน การแนะนำ การฝึกอบรม และการรณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพ การออกหน่วยเคลื่อนที่ไปช่วยเหลือผู้ป่วยและประชาชนในถิ่นทุรกันดาร การเรียนรู้การแพทย์พื้นบ้าน (การนวด สมุนไพร) ฯลฯ และการวิจัยหรือการสร้างนวัตกรรม เป็นต้น

หลังจากฝึกปฏิบัติงานเช่นนี้ประมาณ 2-3 ปี ครูผู้ดูแลจากสถานพยาบาล 3-4 แห่ง อาจจะประเมินได้ว่า นักสิกขามีเจตคติและความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะจบออกไปเป็นแพทย์ได้หรือ ไม่

ถ้าไม่ได้ ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพยาบาลเวชปฏิบัติต่อไป หรือถ้ามีความมุ่งมั่นที่จะเป็นแพทย์ให้ได้ ก็ให้ฝึกปฏิบัติงานแพทย์ต่อจนกว่าจะสามารถผ่านการประเมินได้

สำหรับผู้ที่จบเป็นแพทย์แล้ว อาจไปต่อยอดเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ต่อไปได้ ตามความชอบของตนและตามความต้องการของท้องถิ่น

หมายเหตุ : ถ้าแพทยสภา และสภาพยาบาล ยินยอมให้ “แพทย์และพยาบาลแนวใหม่” เข้าสอบเพื่อเอาใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภา และใบประกอบวิชาชีพพยาบาลจากสภาพยาบาลได้ “แพทย์และพยาบาลแนวใหม่” ย่อมยินดีที่จะเข้าสอบตามที่แพทยสภาและสภาพยาบาลใช้สอบแพทย์และพยาบาลตาม หลักสูตรเดิม เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์และเครือข่ายการส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นประโยชน์แก่ ผู้ป่วยมากขึ้น

แต่ถ้าแพทยสภาและสภาพยาบาล ไม่ยินยอม รัฐบาลและรัฐสภาก็จำเป็นจะต้องออกกฎหมายรับรองวิชาชีพ “แพทย์และพยาบาลแนวใหม่” เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นที่ขาดแคลนแพทย์และพยาบาล สามารถมีแพทย์และพยาบาลที่สมบูรณ์แบบ เพื่อดูแลรักษาประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นนั้น

ประโยชน์ที่จะได้รับ

1. ประชาชนในท้องถิ่นที่ขาดแคลนแพทย์และพยาบาล จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการผลิตแพทย์และพยาบาลตามความต้องการของตน

2. จำนวนแพทย์และพยาบาลในท้องถิ่นจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาล (ส่วนกลาง) จะเสียค่าใช้จ่ายในการผลิตน้อยมาก (น้อยกว่าการผลิตแบบปัจจุบันหลายสิบเท่า) เพราะใช้ทรัพยากรตามที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน

3. ชนิดของแพทย์และพยาบาลที่ผลิตได้ จะเป็น “แพทย์และพยาบาลแนวใหม่” ที่สามารถรักษาผู้ป่วยและประชาชนแบบองค์รวม และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างมีความสุข เพราะมีความผูกพันและได้รับการอุ้มชูดูแลจากประชาชนในท้องถิ่นนั้น

4. การเรียนด้วยการฝึกปฏิบัติและการเรียนเอง จะทำให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในการดูแลผู้ป่วย และมีความสามารถในการเรียนรู้และการใฝ่รู้ที่จะเรียนเองได้จากผู้ป่วย ครอบครัว ชุมชน ตำรา หนังสือ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ ต่อเนื่องไปตลอดชีวิต

5. ผู้เรียนได้รับการอุดหนุนค่าเล่าเรียน ค่าดำรงชีวิตจากการปฏิบัติงานไปพร้อมกับการเรียน และการอุ้มชูดูแลอื่นๆ จากประชาชนในท้องถิ่น ร่วมกับการมี “บันไดวิชาชีพ” เพื่อความก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ ตามศักยภาพของตนได้

6. การผลิต “แพทย์และพยาบาลแนวใหม่” จะเป็นต้นแบบสำหรับการปฏิรูปการศึกษาในสาขาวิชาชีพอื่นๆ ได้ และเป็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในการบริหารจัดการการศึกษาให้เหมาะสมกับ ความต้องการของท้องถิ่น

7. ความรักและความผูกพันระหว่าง “แพทย์และพยาบาลแนวใหม่” กับประชาชนในท้องถิ่นที่อุ้มชูดูแลตนมาโดยตลอด จะลดความขัดแย้งระหว่าง แพทย์-พยาบาล กับ ผู้ป่วยและครอบครัวลงได้อย่างมาก และทำให้เกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของแพทย์และพยาบาลดีขึ้น

8. “แพทย์และพยาบาลแนวใหม่” จะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยแต่ดั้งเดิม แห่งการพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดูแลกันเองได้ และมีน้ำใจไมตรีต่อกัน จะได้บรรเทาลัทธิ “ตัวใครตัวมัน” และ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ของวัฒนธรรมตะวันตกและ “คนกรุงคนเมือง” ลงได้ไม่มากก็น้อยในอนาคต

สรุป

ประชาชนในท้องถิ่นที่ขาดแคลนแพทย์และพยาบาล ผู้สามารถดูแลรักษาตนทั้งจิตใจและร่างกายทุกส่วนทุกระบบแบบองค์รวม ต้องร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันรัฐบาลและผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เร่งอนุมัติการผลิต “แพทย์และพยาบาลแนวใหม่” โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบันและความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนผู้มี ความต้องการเช่นนั้น ซึ่งอาจจะต้องการพระราชบัญญัติใหม่เพื่อลดแรงต่อต้านจากแพทยสภา สภาพยาบาล และสถาบันการศึกษาต่างๆ และเอื้ออำนวยให้ “แพทย์และพยาบาลแนวใหม่” เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพื่อให้การดูแลรักษา “คน” และ “สุขภาพ” ของประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกันได้ในอนาคตอันใกล้.