ที่มา ไทยรัฐ
ถือได้ว่า ผ่านจุดเปลี่ยนสำคัญไปแล้ว
สำหรับรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ มีมติอนุมัติพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
รวมทั้งมีมติแบบ 3 วาระรวด ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอีก 400,000 ล้านบาท
ตามมาด้วยการให้ความเห็นชอบ รับหลักการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 วงเงิน 1,700,000 ล้านบาท
พระราชกำหนดและร่างพระราชบัญญัติที่สำคัญจำเป็นทั้ง 3 ฉบับ ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทน ราษฎรไปแล้ว
โดยเฉพาะการที่กฎหมายกู้เงิน 800,000 ล้านบาท ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ผ่านสภาฯฉลุย
สะท้อนให้เห็นว่า เสถียรภาพของรัฐบาลยังมั่นคง
พรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค ที่ประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคกิจสังคม
ยังจับมือกันแน่น
เพื่อประคองรัฐนาวา ไม่ให้ล่มกลางคัน
อาการระหองระแหง ความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำรัฐบาล กับพรรคภูมิใจไทย ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล จากกรณีปัญหาการประมูลระบายข้าว ข้าวโพด และโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน
ยังไม่ถึงจุดแตกหัก
เพราะทั้งพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาลเอง ยังไม่พร้อมที่จะเลือกตั้งใหม่
จึงจำเป็นที่ต้องยึดโยงเกาะเกี่ยวกันไว้ เพื่อผลประโยชน์จากโครงการต่างๆ และผลประโยชน์ทางการเมืองในอนาคต
เหมือนอย่างที่ "ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" ได้ วิเคราะห์ฟันธงเอาไว้ล่วงหน้า เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว
ทั้งนี้เมื่อพระราชกำหนดและร่างพระราชบัญญัติกู้เงิน 800,000 ล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
ขั้นตอนต่อไปก็จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาขอความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญ ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้
แม้จะมีเสียงขู่จากกลุ่ม 40 ส.ว. ว่าจะไม่ผ่านกฎหมายกู้เงินของรัฐบาล
แต่เชื่อได้ว่าในที่สุดแล้วด้วยความจำเป็น เพื่อการฟื้นฟูแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกวุฒิสภาเสียงส่วนใหญ่ก็คงเห็นถึงความสำคัญของกฎหมายกู้เงินทั้ง 2 ฉบับ
มีมติให้ความเห็นชอบกฎหมายกู้เงินของรัฐบาล
สำหรับพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายจะนำเงินกู้ในส่วนนี้ ไปใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ในปี 2552-2553 รวมทั้งสิ้น 235,720 ล้านบาท โดยแบ่งการใช้งบประมาณในด้านต่างๆ ได้แก่
สร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน รวมทั้งการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ในเรื่องทรัพยากรน้ำและการเกษตร 64,422 ล้านบาท
ปรับปรุงบริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน ด้านเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อมที่ทันสมัย และจำเป็นต่อการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ในเรื่องการขนส่ง 47,875 ล้านบาท
เรื่องสวัสดิภาพของประชาชน 5,944 ล้านบาท เรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2,636 ล้านบาท และเรื่องสิ่งแวดล้อม 1,417 ล้านบาท
เร่งรัดและสร้างศักยภาพในการหารายได้จากการท่องเที่ยว ในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว 1,159 ล้านบาท เรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยว 3,900 ล้านบาท
สร้างฐานรายได้ใหม่ของประเทศจากเศรษฐกิจความคิดสร้างสรรค์ ในเรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ 1,379 ล้านบาท
ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ทั้งระบบ ให้ทันสมัย ในเรื่องการศึกษา 45,873 ล้านบาท
ปฏิรูปคุณภาพระบบสาธารณสุขที่มีมาตรฐานสูงสำหรับคนไทย ในเรื่องสาธารณสุข 31,776 ล้านบาท
สร้างอาชีพและรายได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับชุมชน ในเรื่องการลงทุนในระดับชุมชน 31,339 ล้านบาท
นอกจากนี้จะต้องนำเงินกู้ มาสมทบเงินคงคลังเพื่อรองรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 อีกประมาณ 186,060 ล้านบาท เนื่องจากขาดดุลงบประมาณ เพราะการจัดเก็บงบรายได้ต่ำกว่าประมาณการ
หากรัฐบาลไม่รีบดำเนินการกู้เงินเพื่อสำรองไว้ใช้จ่ายในเงินคลัง อาจทำให้มีเงินไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้จ่าย อันจะส่งผลให้รัฐบาลต้องเลื่อนการใช้จ่าย อาทิ เงินเดือนข้าราชการ การชำระหนี้ดอกเบี้ย หรือการเบิกจ่ายในโครงการลงทุนต่างๆออกไป
ขณะเดียวกัน ในส่วนร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
รัฐบาลก็มีเป้าหมายในการนำเงินกู้ก้อนนี้มาลงทุนและสร้างงาน ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข การพัฒนาภาคเกษตร อุตสาหกรรม คมนาคม และระบบขนส่งมวลชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ดิ้นหนีหลุมดำจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก
แน่นอน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกู้วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ ในทันทีที่พระราชกำหนดและร่างพระราชบัญญัติเงินกู้ ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา
ที่สำคัญ เมื่อกฎหมายกู้เงิน 800,000 ล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไปแล้ว และมีพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนนี้ เป็นต้นไป
นั่นก็หมายความว่า รัฐบาลผ่านห้วงอันตราย
ผ่านช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานไปได้
เหนืออื่นใด หลังพ้นจากห้วงปิดสมัยประชุมรัฐสภาไปแล้ว เมื่อเปิดสมัยประชุมครั้งหน้า ตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคมถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน จะเป็นสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ
ถือได้ว่าเป็นช่วงปลอดภัยของรัฐบาล เพราะสภาฯจะพิจารณาเฉพาะร่างกฎหมายและกระทู้ถาม
ไม่มีการพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
พูดง่ายๆว่า สถานการณ์ในสภาฯปลอดจากเกมการเมืองที่จะเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาล
ไม่มีอะไรเป็นพายุร้าย ที่จะทำให้รัฐบาลภายใต้ การนำของนายกฯอภิสิทธิ์ ต้องสะดุดหรือติดขัดในการทำงาน
จากสภาวการณ์ดังกล่าว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้จนถึงเดือนธันวาคม สิ้นปี 2552 จึงถือได้ว่า เป็นห้วงแห่งการพิสูจน์ฝีมือการทำงานของรัฐบาล
โดยเฉพาะผลงานในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
เพราะสถานการณ์ทุกอย่างเอื้อต่อการทำงานของรัฐบาลอย่างเต็มที่ มีพร้อมทั้งเงินกู้ เงินงบประมาณ กลไกอำนาจรัฐ และห้วงเวลาที่ปลอดจากเกมการเมืองที่จะโค่นล้มรัฐบาลในสภาฯ
ขึ้นอยู่กับว่า มีกึ๋น มีฝีมือกันแค่ไหน
ถ้าผ่านห้วงเวลานี้ไปแล้วปรากฏว่า ไม่ได้เนื้องาน ไม่มีผลงาน ก็เป็นเรื่องที่กระเทือนต่อกระแสความนิยมของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล
ที่สำคัญ หากในห้วงจังหวะเวลาที่รัฐบาลสมควรจะแสดงผลงานในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจออกมาให้ได้เนื้องานเข้าตาประชาชน
แต่ไม่มีผลงานออกมา
ในขณะเดียวกัน ถ้ามีปัญหาเก่าๆเกิดขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง
เกิดความแตกแยกระหว่างพรรคแกนนำกับพรรคร่วมรัฐบาล โวยวาย เสียดสี ด่าทอ ตั้งแง่แบ่งเค้ก ต่อรองผลประโยชน์งบประมาณโครงการต่างๆ
มีปัญหาทุจริตคอรัปชัน โกงกินมูมมาม
หากสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ก็จะกลายเป็น "จุดตาย" ของรัฐบาล
ฉุดให้รัฐบาลพังครืนได้ง่ายๆ
เพราะต้องไม่ลืมว่า การที่รัฐบาลชุดนี้พลิกขั้วเข้ามากุมอำนาจรัฐ ผู้คนในสังคมมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย
สำหรับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มีความพยายามที่จะเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลชุดนี้มาโดยตลอด
ถึงขนาดมีการเคลื่อนไหวชุมนุม ใช้ความรุนแรงเพื่อขับไล่รัฐบาล ก็เกิดขึ้นให้เห็นกันมาแล้วในช่วงสงกรานต์ ที่ผ่านมา
ล่าสุด ก็มีการเคลื่อนไหวนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม นปช. เตรียมสำแดงพลังกันอีกครั้งใน วันที่ 27 มิถุนายนนี้
พูดง่ายๆ ไม่ยอมปล่อยโอกาสให้รัฐบาลได้นั่งบริหารประเทศ แบบสบายๆ
ในสภาพการณ์เช่นนี้ หากรัฐบาลไม่มีผลงานในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ
แถมยังมีพฤติกรรม โกงกินมูมมาม โผล่ขึ้นมาประจาน
ประชาชนฝ่ายที่เคยให้การสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ ก็คงรับไม่ได้เหมือนกัน
และเมื่อถึงเวลานั้น รัฐบาลก็จะขาดภูมิคุ้มกันจากฝ่ายสนับสนุนนอกสภา
เหนืออื่นใด รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องไม่ลืมว่า การที่สามารถพลิกขั้วจากฝ่ายค้านกลับมาเป็นรัฐบาลได้สำเร็จ ก็เพราะสังคมรับไม่ได้กับพฤติกรรมโกงเกินพิกัดของรัฐบาลชุดก่อนๆ
ถ้ายังหลงระเริงไปย่ำซ้ำรอยเดิม ในสิ่งที่ประชาชนรังเกียจ
รัฐบาลชุดนี้ ก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน.
"ทีมการเมือง"