ที่มา ประชาไท
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 52 ที่ผ่านมา เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ได้เผยแพร่ “ใบแจ้งข่าวเครือข่ายพลเมืองเน็ต เรื่อง ความคืบหน้าการดำเนินคดี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ต่อพลเมืองเน็ต” แจ้งข่าวสารล่าสุดของ 3 คดีที่เกี่ยวข้องและเป็นผลสืบเนื่องมาจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยมีเนื้อหาดังนี้
ความคืบหน้าการดำเนินคดี พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ต่อพลเมืองเน็ตตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2550 และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นสามสิบวันหลังจากนั้น ได้มีผู้ถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก หลายคดีส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างคลุมเครือขาด ความชัดเจน สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวให้กับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะการตีความบทบัญญัติความผิด มาตรา 14 และ 15
มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 14 (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
มาตรา 14 (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจ สนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14
เครือข่ายพลเมืองเน็ต ขอแจ้งข่าวสารล่าสุดของ 3 คดีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความไม่ชัดเจนของกระบวนการบังคับใช้กฏหมาย โดยเฉพาะการใช้ดุลยพินิจในการจับกุมดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่รัฐ
คดีที่อยู่ในชั้นอัยการ
คดีของ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการและผู้ดูแลเว็บบอร์ดของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท http://www.prachatai.com/webboard ซึ่งถูกกองปราบปรามจับกุมดำเนินคดีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2552 ด้วยข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 เนื่องเพราะไม่ได้ลบข้อความในเว็บบอร์ด ที่เข้าข่ายขัดต่อกฎหมายดังกล่าว ภายในเกณฑ์เวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งไว้ ในขณะที่จีรนุชได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและยืนยันเจตนาบริสุทธิ์ เนื่องจากได้ลบข้อความดังกล่าวออกทันทีที่ได้รับแจ้ง และได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายตลอดมา
ความคืบหน้าล่าสุด กองปราบปรามได้สรุปสำนวนทั้งหมดเพื่อส่งคดีดัง กล่าวไปที่พนักงานอัยการ โดยได้นัดจีรนุชที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรายงานตัวและประกันตัวในชั้นอัยการในวันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน 2552 เวลา 14.00 น. จากนั้นพนักงานอัยการได้นัดฟังคำสั่งว่าจะส่งฟ้องศาลหรือไม่ในวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน 2552 เวลา 9.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก
คดีที่อยู่ในชั้นศาล
คดีของ ศิริพร สุวรรณพิทักษ์ ผู้ให้บริการเว็บไซต์ 212cafe.com ซึ่งถูกจับกุมภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (4) และมาตรา 15 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 ในข้อหาปล่อยให้มีภาพที่มีลักษณะลามกปรากฏอยู่บนเว็บบอร์ด ทั้งนี้ ผู้ต้องหาคือศิริพร ชี้แจงว่าเนื่องจาก 212cafe เป็นเว็บบอร์ดฟรีที่เปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปเผยแพร่ข้อความได้ด้วยตัวเอง เจ้าหน้าที่ตำรวจโทรมาแจ้งให้ลบภาพดังกล่าวโดยมิได้ส่งโทรสารหรือจดหมายแจ้ง ที่อยู่ URL ตามที่ภรรยานายศิริพรร้องขอ ทำให้ต้องใช้เวลาค้นหาเพื่อทราบ URL ดังกล่าว ซึ่งเมื่อทราบแล้วก็ได้ลบออกโดยทันที ทั้งนี้อาจล่าช้าจากที่ได้รับแจ้งประมาณ 7 วัน ปรากฏว่าศิริพรถูกจับกุมดำเนินคดีและไม่สามารถประกันตัวได้ทันที ต้องถูกคุมตัวอยู่ในห้องขังของสถานีตำรวจเป็นเวลาหนึ่งคืนและได้รับการ ประกันตัวในวันรุ่งขึ้น
ความคืบหน้าล่าสุด พนักงานอัยการได้ส่งฟ้องคดีต่อศาลอาญา และศาลอาญาได้มีคำสั่งนัดพร้อมเปิดคดีเป็นครั้งแรกในวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2552 เวลา 13.30 น. ที่ ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก
คดีที่ได้รับคำพิพากษาถึงที่สุด
คดีของ สุวิชา ท่าค้อ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งถูกจับและดำเนินคดีภายใต้ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 เนื่องจากการเผยแพร่เนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าวผ่านสื่อออนไลน์ จากนั้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2552 ศาลอาญาชั้นต้นได้ตัดสินโทษจำคุก 20 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งคือ 10 ปี จากนั้นสุวิชาและครอบครัวเตรียมขอพระราชทานอภัยโทษหลังจากครบกำหนดอุทธรณ์ 30 วัน (3 พ.ค. 2552) ซึ่งสุวิชาตัดสินใจไม่อุทธรณ์
ความคืบหน้าล่าสุด อัยการไม่อุทธรณ์ต่อ ศาลมีคำสั่งให้คดีถึงที่สุด วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2552 ทนายของสุวิชาจะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษต่อสำนักราชเลขาธิการในวันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน 2552
เครือข่ายพลเมืองเน็ต เห็นความสำคัญของการดำเนินคดีของทั้งสามกรณีดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องเพราะเป็นคดีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของการบังคับใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อีกทั้งมาตรฐานการดำเนินคดีรวมทั้งคำพิพากษาจะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อการ ดำเนินคดีต่อพลเมืองเน็ตต่อไป เครือข่ายพลเมืองเน็ตขอให้ทุกฝ่ายติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าวอย่าง ใกล้ชิด รวมทั้งเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้แนวทางที่ชัดเจนในการกำกับดูแล อินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้พลเมืองผู้ใช้อินเทอร์เน็ต รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้มีโอกาสสะท้อนความคิดเห็นถึงปัญหาและผลกระทบจากการใช้พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน