ที่มา ไทยรัฐ
นี่คือปรากฎการณ์ปลาวาฬเกยตื้นฝูงโต
หรือจะเรียกว่าเป็นวิกฤติ กิ้งกือตกท่อก็ไม่ผิดกติกา
หรือจะเรียกว่าเป็นการฆ่าตัวตายหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็ไม่ผิดความจริง
เพราะผลจากมติ กกต.เสียงข้างมากที่ชี้ขาดให้ ส.ว. 16 คน ต้องหลุดจากตำแหน่งยกพวง
เนื่องจากถือหุ้นบริษัทที่มีสัมปทานกับรัฐ หรือเป็นคู่สัญญากับรัฐ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ว่าด้วยการกระทำอันเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง
เล่นเอาชักตาตั้งไปทั้งสภาฯ!!
แต่กรณี ส.ว.ตกเก้าอี้ยกพวง ยังไม่ยุ่งเป็นฝอยขัดหม้อเท่ากรณี ส.ส.อีก 68 คน ซึ่งจะโดน กกต.เข้าคิวเชือดในรายต่อไป
"แม่ลูกจันทร์" มั่นใจว่าที่ประชุมใหญ่ กกต.จะพิจารณาประเด็นการถือหุ้นของ ส.ส. โดยใช้หลักการเดียวกับกรณีหุ้น ส.ว.
ก็หมายฟามว่าจะมี ส.ส.อย่างน้อย 31 คนต้องขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ
ในจำนวนนี้มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 14 คน และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอีก 11 คน รวมเป็น 25 คน ต้องตกเก้าอี้พร้อมกัน
แต่ที่แสบไส้ติ่งที่สุดคือ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" รองนายกฯ ผู้จัดการรัฐบาล ก็อยู่ในรายชื่อที่ กกต.จะเช็กบิล
บ๊ะแล้วกัน ยุ่งตายชักน่ะซีท่านผู้ชม
งานนี้จะโทษ กกต.ว่าตีความรัฐธรรมนูญแรงเกินไปก็ไม่แฟร์ เพราะมาตรา 265 เขียนห้ามเอาไว้ชัดเจนชนิดไม่ต้องตีความ
"แม่ลูกจันทร์" พลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 265 มาอ่านให้ฟังชัดๆอีกที
มาตรา 265 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ กำหนดว่า ส.ส.และ ส.ว.ต้องไม่เป็นหุ้นส่วน หรือเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือเป็นคู่สัญญากับรัฐ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม
ย้ำชัดๆอีกเที่ยว "ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม"
ส.ส.หรือ ส.ว.ที่ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐหรือเป็นคู่สัญญากับรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสัมปทาน หรือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย ก็มีผลทางกฎหมายเท่ากัน
จะถือแค่หุ้นเดียว? หรือพันหุ้น? หรือหมื่นหุ้น? หรือแสนหุ้น? รัฐธรรมนูญเขียนห้ามไว้ครอบจักรวาล
ตอนเป็น ส.ส.ถือหุ้นจริง แต่ภายหลังได้ขายหุ้นแล้ว ก็ยังขาดคุณสมบัติอยู่ดี
สรุปว่า ถ้าคิดจะเล่นการเมืองภายใต้กติการัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ไม่ควรมีหุ้นอยู่ในมือ
ต้องเทหุ้นทิ้งให้หมดเสียก่อน เพื่อความปลอดภัย!!
สรุปชัดๆว่า มหกรรมหุ้นเป็นพิษครั้งนี้ นักการเมืองต้องโทษตัวเอง
อาจประมาท ชะล่าใจว่าการถือหุ้นแค่นี้ไม่น่าขัดรัฐธรรมนูญ??
หรือไม่อ่านมาตรา 265 ให้ละเอียดครบถ้วนกระบวนความ??
สุดท้ายก็เลยวุ่นวายขายปลาช่อนไปทั้ง 2 สภา
"แม่ลูกจันทร์" มองข้ามช็อตถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา ถ้า ส.ว. 16 คน และ ส.ส. 31 คน ต้องตกเก้าอี้พร้อมกัน
ส.ส.และ ส.ว.ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ขาดคุณสมบัติ จะมีสิทธิ์ลงเลือกตั้งซ่อมใหม่ได้หรือไม่??
ประเด็นนี้ยังไม่มีคำตอบชัดเจน
ถ้ามีสิทธิ์ลงเลือกตั้งซ่อมใหม่ ก็ยังมีโอกาสลุ้นได้กลับเข้าสภาฯ
แต่ที่โดนผลกระทบไปเต็มๆคือประชาชนที่จะต้องจ่ายภาษีให้ กกต.ใช้จัดเลือกตั้งซ่อมอีกบานตะเกียง
ส.ส.เขต 1 คน ต้องจ่ายค่าเลือกตั้งซ่อม 10 ล้านบาทโดยประมาณ
แต่ถ้าเป็น ส.ส.สัดส่วนกลุ่มจังหวัด จะเลือกตั้งซ่อมกันอย่างไร??
ยิ่งถ้าเป็น ส.ว.เลือกตั้ง ก็ต้องเลือกตั้งซ่อมทั้งจังหวัดต้องใช้งบจัดเลือกตั้งซ่อมมากกว่า ส.ส.เขตหลายเท่าตัว
เฮ้อ...แสบไส้ติ่งจริงขอบอกตรงๆ.
"แม่ลูกจันทร์"