ที่มา ประชาไท
“จาตุรนต์” ชี้เสื้อแดงปะทะตำรวจเพราะกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน ยอมรับบางทีม็อบแรงเกินไป ระบุให้หันหน้ามาพูดคุยกันก่อนแสดงจุดยืนในการต่อสู้ไม่ใช้ความรุนแรง ชี้ 6 ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า
18 ก.ค.52 - ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวกรณีการปะทะกันระหว่างกลุ่มเสื้อแดงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อคืนวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า เป็นการแสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งในสังคมไทยยังมีอยู่ ซึ่งพื้นฐานสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากการคับแค้นใจ ที่กระบวนการยุติธรรมไม่ยุติธรรม มีการกระทำที่เป็น 2 มาตรฐาน มีการย่ำยีกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมอยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก
อย่างไรก็ตามยอมรับว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงเป็นสิ่งที่เกินเลยไป ตนเคยเสนอหลายครั้งแล้วว่าให้กลุ่มแกนนำเสื้อแดง หันหน้าเข้ามาคุยกันเพื่อแสดงถึงจุดยืนในการต่อสู้ หากชัดเจนแล้วว่าเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยไม่ใช้ความรุนแรง ก็จะเป็นประโยชน์ และอย่าไปคิดว่าสิ่งที่พันธมิตรฯ ทำได้ กลุ่มเสื้อแดงก็ทำได้ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าทุกอย่างเกิดจากความคับแค้นใจ แต่แกนนำก็ต้องหารือและทำความเข้าใจเพื่อไม่ให้ความขัดแย้งกลายเป็นการเผชิญหน้า
อย่างที่เห็นถึงการกดดันพนักงานสอบสวนในคดีที่กลุ่มพันธมิตรฯยึดสนามบิน ทั้งที่การตั้งข้อกล่าวหาก็มีเหตุผลชัดเจนเพียงพอ แต่กลับมีการข่มขู่ด้วยการใช้กำลังจนกลายเป็นจะยกเลิกข้อกล่าวหา หรือเปลี่ยนแปลงข้อกล่าวหา อย่างที่รู้กันอยู่ว่ากลุ่มพันธมิตรฯทำอะไรไม่ผิด ท่าทีเหล่านี้จึงเกิดปัญหา ที่สำคัญรัฐบาลยังแสดงท่าทีถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพันธมิตรฯอย่างไม่ชัดเจน
เหมือนอย่างที่รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม พยายามบอกว่าคดีลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล อาจจะเป็นปัญหาความขัดแย้งส่วนตัว แม้ว่านายกฯจะออกมาบอกว่าจะไม่ให้คดีนี้เป็นมวยล้ม แต่เมื่อรัฐมนตรีในรัฐบาลออกมาปฏิเสธทั้งเรื่องความไม่เกี่ยวข้องของทหาร ทั้งที่แนวทางการสืบสวนสอบสวนไปในทิศทางนั้น ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทำงานได้ยากลำบาก เพราะมีคนระดับรัฐมนตรีไปปกป้อง อยู่เบื้องหลัง และมีความพยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม นี่คือการซ้ำเติมกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมทนไม่ได้ อย่างที่โพลล์ระบุว่าส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย
ส่วนตัวมองว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ให้รัฐมนตรีบางคนหยุดพูด แต่จะต้องทำให้ประชาชนทั้งประเทศเกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมด้วยการแก้หลักใหญ่คือรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะแก้ไขเรื่องนี้ และเมื่อมีความยุติธรรมเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมแล้วก็ให้มีการเลือกตั้งใหม่
ส่วนที่มีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ ตนมองว่าเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างแท้จริง แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ตนไม่เชื่อมั่นในท่าทีของนายกฯ เนื่องจากแม้ว่าตอนแรกจะกระตือรือร้นในการรับฟังคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่ก็ยังส่งอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ออกมาอีก 2 คนออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นด้วยและไม่เห็นประโยชน์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่อยู่ในกรรมการสมานฉันท์ ไม่เคยแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย ดังนั้นจึงน่าสงสัยในความจริงใจของพรรคประชาธิปัตย์
นายจาตุรนต์ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯลาออกจากการเป็น ส.ส. เนื่องจากถูก กกต.วินิจฉัยว่าเข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็นส.ส. ว่า อาจเป็นเพราะนายสุเทพไม่อยากที่จะวุ่นวายกับเรื่องดังกล่าว เพราะแม้ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่เท่าที่ดูแล้วศาลรัฐธรรมนูญน่าจะวินิจฉัยไปในทิศทางเดียวกับ กกต. นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา ส.ส.ต้องขาดคุณสมบัติ เพราะการถือหุ้นเพียงเล็กน้อย เหมือนกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯเพราะทำกับข้าว เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการที่จะจัดการกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียงคนเดียว จนทำให้เกิดเสถียรภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามหากเรื่องนี้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตนก็ไม่คิดว่าส.ส.อีก 12 คน จำเป็นต้องลาออกหรือไม่
ที่มาเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์คมชัดลึก, เว็บไซด์ไทยรัฐ