ที่มา ข่าวสด
นักข่าวอิสระยื่นฟ้องรูดทั้ง "มาร์ค-เทือก-ประ วิตร-ป๊อก" รวมทั้งทีมงานศอฉ.รวม 13 คน ข้อหาพยายามฆ่าและทำร้ายร่างกาย เผยเข้าไปถ่ายรูปทำข่าวเหตุการณ์สลายม็อบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 10 เม.ย. โดนทหารยิงเข้าท้องสาหัสขณะกำลังเข้าไปช่วยทหารที่บาดเจ็บ ตอนนี้หัวกระสุนยังฝังในลำไส้ ผ่าตัดออกไม่ได้ ระบุทหารใช้อาวุธสงคราม-รถถัง-ฮ.เข้าสลายม็อบ ไม่ใช่ตามหลักสากล ทำให้มีคนตายจำนวนมาก ทนายยันมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายเหตุการณ์ ระบุจะมีเหยื่อทยอยเข้าฟ้องศาลอีก 30 ราย รัฐบาลญี่ปุ่นจี้รัฐบาลไทยแจงผลสอบคดีนักข่าวยุ่นสังกัดรอยเตอร์ถูกยิงตายที่คอกวัว เพราะ 3 เดือนแล้วคดีไม่คืบ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนก็จี้เปิดรายงานสอบคดีนักข่าวอิตาลีถูกยิงตายเช่นกัน
คดี 10 เม.ย. - ทนายความโชว์ภาพนายบดินทร์ วัชโรบล ที่ถูกทหารยิงบาดเจ็บ และมอบอำนาจให้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ให้ดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพวก 13 คน ข้อหาพยายามฆ่าในเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย.
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 ก.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายอุดม โปร่งฟ้า ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายบดินทร์ วัชโรบล ผู้สื่อข่าวอิสระ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.), พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลา โหม, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ., พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผบ.ทบ., พ.อ.สรร เสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศอฉ., นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1, พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผบ.พล.ร.2 รอ., พ.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.2 รอ.), พ.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ ผู้บังคับการ ร.21 รอ., พ.ท.เกรียงศักดิ์ นันทโพธิ์เดช ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 12 (ร.12 พัน 2) และพ.ท.นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ ผบ.ม.พัน 3 รอ. เป็นจำเลยที่ 1-13 ในความผิดฐานพยายามฆ่า และทำร้ายร่างกายจนได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289
ตามฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 จำเลยที่ 1 และผู้ที่เกี่ยวข้องสั่งการให้ใช้กำลังทหาร พร้อมอาวุธยุทธภัณฑ์ เข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ชุมนุมกันบริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าฯ โดยมีอาวุธปืนและกระสุนจริงในการปฏิบัติการ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งโจทก์เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ขณะทำหน้าที่บันทึกภาพอยู่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุม ถูกทหารใช้อาวุธและกระสุนจริง ยิงเข้าใส่จนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งปัจจุบันกระสุนปืนยังฝังอยู่ในร่างกาย ไม่สามารถผ่าตัดนำกระสุนออกมาได้ โดยศาลรับเป็นคดีหมายเลขดำที่อ.2267/2553 นัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ในวันที่ 13 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น.
นายอุดมกล่าวว่า นายบดินทร์ต้องการใช้สิทธิ์ทางศาล เพื่อฟ้องดำเนินคดีเอง เพราะก่อนหน้านี้เคยเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง แล้วเป็นเวลากว่า 3 เดือน ไม่มีความคืบหน้า ทั้งนี้ นายบดินทร์ยืนยันว่าเห็นทหารใช้อาวุธปืนและกระสุนจริงยิงเข้าใส่ประชาชนจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งเหตุที่นายบดินทร์ถูกกระสุนยิงใส่เพราะเข้าไปช่วยเหลือทหารที่นอนได้รับบาดเจ็บ โดยนายบดินทร์ต้องการให้พิสูจน์ความจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยกระบวนการยุติธรรมว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบจากการใช้อาวุธสงครามเข้าสลายชุมนุม อย่างไรก็ดี ขณะนี้นายบดินทร์มาพักอยู่ที่บ้านแล้วกระสุนยังฝังอยู่ในลำไส้เล็กผ่าตัดออกไม่ได้
นายอุดมกล่าวอีกว่า สัปดาห์หน้าจะทยอยยื่นฟ้องอีก เนื่องจากขณะนี้รวบรวมหลักฐานเพิ่มโดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกประมาณ 30 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ให้ข้อมูลร้องเรียนพรรคเพื่อไทย แต่ทั้งนี้ยืนยันการทำหน้าที่ยื่นฟ้องไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย ส่วนการยื่นฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายนั้นก็จะพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องตนเตรียมซีดีที่บันทึกภาพเหตุการณ์ และใบรับรองแพทย์เสนอต่อศาลด้วย นายอุดมกล่าวว่า ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 13 ก.ย.นี้ ตนจะนำพยานบุคคลจำนวน 10 ปากขึ้นให้การต่อศาล เพื่อแสดงให้เห็นว่าการกระทำของนายอภิสิทธิ์ และพวก เป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่กระทำเกินกว่าเหตุ มีการใช้อาวุธหนัก เช่น ปืนกระสุนสายพาน รถถัง และเฮลิคอปเตอร์ ถึงนายกฯ จะใช้คำพูดสวยหรูว่าเป็นการขอคืนพื้นที่ แต่ประชาชนก็รู้ๆ กันอยู่ว่าคือการสลายการชุมนุมนั่นเอง
ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความมั่นใจในการดำเนินคดี นายอุดมกล่าวว่า อยากให้ดูเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่กลุ่มพันธมิตรฯ เข้าไปปิดล้อมอาคารรัฐสภาแล้วถูกตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ถึงแม้ภายหลังจะมีการพิสูจน์ได้ว่าเสียชีวิตจากระเบิดปิงปอง แต่ทาง ป.ป.ช.ก็ยังชี้มูลความผิดต่อผบ.ตร.และผบช.น. ในสมัยนั้น แต่ครั้งนี้ลูกความตนมีทั้งภาพถ่ายและภาพวิดีโอที่สามารถแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักสากลของการสลายการชุมนุมจากเบาไปหาหนักและคู่มือราชการสนามของกองทัพบก เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธต่อผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมก็ต้องป้องกันตัว ซึ่งผู้ชุมนุมมีแค่เสาธง แต่เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืน
นายอุดมกล่าวต่อว่า สำหรับนายบดินทร์ไม่ได้ไปร่วมชุมนุมด้วย แต่ไปสังเกตการณ์ เป็น ผู้สื่อข่าวอิสระ โดยถ่ายภาพเหตุการณ์การชุมนุมอยู่บริเวณข้างโรงเรียนสตรีวิทยา ถูกยิงขณะ กำลังจะเข้าไปให้การช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ได้รับบาดเจ็บนอนอยู่กลางถนน แต่กลับถูกทหารที่ตั้งแถวอยู่ห่างออกไปยิงใส่ กระสุนถูกบริเวณท้องและไปฝังอยู่ข้างลำไส้เล็ก แพทย์ไม่สามารถผ่าตัดเอากระสุนออกให้ได้ ต้องปล่อยเอาไว้อย่างนั้น ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมาน ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ
วันเดียวกัน เอเอฟพีรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นทวงถามความคืบหน้ากับประเทศไทยกรณีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น สังกัดสำนักข่าวรอยเตอร์ วัย 43 ปี ที่ถูกมือปืนไม่ทราบฝ่ายยิงเข้าที่หน้าอกในระหว่างทำข่าวการชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงปะทะกับทหารในกรุงเทพฯ หลังจากเรื่องผ่านมาแล้ว 3 เดือน
นายฮิเดโนบุ โซบาชิมะ รองเลขาธิการฝ่ายสื่อมวลชนของญี่ปุ่น กล่าวในที่ประชุมด้านความมั่นคงอาเซียนที่เวียดนามว่า เราหวังว่าจะได้รับข้อมูลความคืบหน้าในเร็ววันนี้ ญี่ปุ่นเข้าใจรัฐบาลไทยว่าจะทำเท่าที่ทำได้ แต่คาดว่าในการพบกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของสองฝ่าย ไทยจะแสดงความเอาใจใส่ประเด็นนี้อีกครั้ง
ด้านองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนออกรายงานในเดือนนี้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ไทยเผยแพร่รายงานฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายมูราโมโตะ และนายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี สองช่างภาพชาวต่างชาติที่ถูกสังหารในระหว่างเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนเม.ย.และพ.ค. ให้เร็วที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ โดยในเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทหารและกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่10 เม.ย. มีผู้บาดเจ็บ 90 คน ในจำนวนนี้เป็นสื่อมวลชน 10 คน
เพื่อไทย
Friday, July 23, 2010
ยื่นฟ้องมาร์ค-13บิ๊ก 10เมย.เลือด
ใช้อาวุธสลายม็อบแดง รบ.ญี่ปุ่นจี้คดีฆ่านักข่าว