WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, July 23, 2010

“ความรู้” ในแบบสมเกียรติ ตั้งนโม แห่ง ม.เที่ยงคืน

ที่มา ประชาไท

สมเกียรติ ตั้งนโม อาจไม่ได้เป็นปัญญาชนชื่อเสียงโด่งดังคับบ้านคับเมือง แต่ในท่ามกลางบรรดาผู้สนใจใฝ่หาความรู้ รวมถึงผู้ที่สนใจความเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนไม่น้อยคงเคยได้ยินชื่อของเขาบ้างในฐานะบุคคลหนึ่งที่มีส่วนอย่างสำคัญ ทั้งในแง่ของการสร้างฐานความรู้ที่ทันสมัยและกว้างขวางบนสื่ออินเตอร์เน็ตจากการก่อตั้งเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (http://www.midnightuniv.org) และในฐานะสมาชิกคนสำคัญของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซึ่งมีส่วนร่วมต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเด็นที่มุ่งเน้นถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการสร้างสังคมประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง
สมเกียรติ ได้จากพวกเราทั้งหมดไปอย่างสงบแล้วเมื่อเช้าวันอังคารที่ 6 กรกฎาคม 2553 (6 เดือนตั้งแต่ได้บอกผมว่ามีก้อนอะไรกลมๆ อยู่ที่ตรงท้องของเขา) โดยได้ทิ้งอะไรหลายอย่างไว้ให้เป็นอนุสติแก่พวกเราทั้งในด้านที่ควรนำมาไตร่ตรอง ขบคิด

เฉพาะอย่างยิ่งในด้านของ “ความรู้” อันเป็นสิ่งที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายและความสำคัญเป็นอย่างมากในช่วงการมีชีวิตอยู่ของอาจารย์สมเกียรติ

เขาเป็นคนที่แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ใครที่เป็นคนใกล้ชิดคงจะได้ฟังเรื่องราวทางวิชาการใหม่ๆ จากปากของอาจารย์สมเกียรติอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่ได้อ่านงานหรือรับฟังการบรรยาย อภิปรายใดๆ เสร็จและมีความประทับใจ จนทำให้เราต้องไปติดตามอ่านงานที่ได้ถูกกล่าวถึง

อาจารย์สมเกียรติเป็นคนที่สนใจในการแปลงานวิชาการอย่างยิ่ง จะเห็นได้ว่างานจำนวนมากของเขาเป็นผลงานการนำความรู้จากตะวันตกมาสู่สังคมไทยอันเป็นสังคมที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความรู้มากเท่าไหร่ ความใฝ่ฝันของเขาซึ่งยังไม่ประสบความสำเร็จก็คือ การจัดตั้งโครงการแปลตาม “อำเภอใจ” เขาได้ขอให้ผมลองช่วยหาทุนมาสนับสนุนการแปลที่จะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเขาโดยไม่มีการกำหนดเนื้อหาเอาไว้ล่วงหน้า

ซึ่งแน่นอนว่าคงยากจะหาแหล่งทุนใดมาสนับสนุนได้เป็นอย่างแน่แท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่แหล่งทุนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศก็ล้วนต้องอยู่ภายใต้ระบบการควบคุมคุณภาพเฉกเช่นโรงงานผลิตปลากระป๋อง การให้ทุนจึงเต็มไปด้วยเงื่อนไข ข้อตกลง คำถามการวิจัย หรืออะไรประมาณนี้ที่ชัดเจน

(แม้จะไม่มีใครให้การสนับสนุนต่อโครงการแปลตามอำเภอใจ แต่อาจารย์สมเกียรติในเวลาก่อนหน้าเป็นคณบดีคณะวิจิตรศิลป์และก่อนที่จะรู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคมะเร็ง ก็ยังทำงานแปลอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 6 หน้า)

แต่ความรู้ชนิดไหนที่อาจารย์สมเกียรติสนใจ

เขาให้ความสำคัญกับความรู้ในแบบที่สังคมกระแสหลักไม่สู้จะให้ความสนใจ ความรู้ในแบบที่แตกต่างจากกระแสหลัก ความรู้ที่เป็นการโต้แย้ง หรือแม้กระทั่งเป็นอริกับความรู้กระแสหลักคือสิ่งที่เขาให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อผมได้พูดถึงแนวคิดเรื่องการดื้อแพ่งต่อกฎหมายเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วในยามที่เพิ่งรู้จักกัน อาจารย์สมเกียรติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งต่อมาในภายหลังจึงเข้าใจว่าเพราะอยู่ในทิศทางของความรู้ที่เขาสนใจ

หากมีเวลาลองไล่เรียงงานของอาจารย์สมเกียรติ บางคนที่ไม่คุ้นเคยอาจมึนงงอยู่บ้างกับงานเขียนหลายชิ้น เช่น แนวคิดหลังอาณานิคม (Post-colonialism), ความรู้ช้า (Slow knowledge), ลิขซ้าย (Copyleft), วัฒนธรรมทางสายตาหรือ Visual Culture (สำหรับเรื่องนี้เข้าใจว่าเป็นประเด็นที่อาจารย์สมเกียรติมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งในการนำเสนอ ตอนที่เริ่มอ่านเริ่มแปลเรื่องนี้ใหม่ๆ ทุกครั้งในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ ไม่ว่าการเมือง สังคม วัฒนธรรม การช้อปปิ้ง การแต่งกาย ล้วนจะต้องมีแนวการวิเคราะห์แบบ Visual Culture โผล่มาด้วยทุกครั้ง)

เขามีความสุขกับการเดินทางไปในโลกแห่งความรู้ การอ่านและการคิดของเขาไม่ใช่เพียงเพราะต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ เราทุกคนที่อยู่ใกล้ชิดคงตระหนักดีได้ว่าการทำงานของอาจารย์สมเกียรติคือชีวิตที่เต็มไปด้วยความเพลิดเพลิน (ทั้งนี้ความสำราญใจประการหนึ่งที่รับรู้กันดีก็คืออาหารมันๆ ประเภทข้าวขาหมู หรืออะไรที่มีรสหวานจัด ตบท้ายด้วยเป๊ปซี่เย็นๆ) แม้ว่าเวลาทำงานอย่างเพลิดเพลินของเขาอาจไม่เหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไปมากเท่าไหร่ เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนั้นเป็นการลงแรงของอาจารย์สมเกียรติในห้วงเวลาที่มนุษย์ต่างพากันนอนพักผ่อนเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนมาจนถึงเกือบรุ่งสาง

แต่ไม่ใช่เพียงเพื่อตอบสนองต่อความกระหายอยากในความรู้ อาจารย์สมเกียรติยังให้ความสำคัญกับการใช้ความรู้ในการสนับสนุนคนตัวเล็กๆ ในสังคมให้ยืนหยัดขึ้นต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เขาจึงมิได้เพียงนั่งป่าวประกาศสัจธรรมอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น มีโครงการหลายอย่างที่ถูกเสนอขึ้นในระหว่างพวกเรา (มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน) นำอาจารย์สมเกียรติออกไปในสถานที่ต่างๆ บ้านกรูด บ่อนอก ที่ประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนปากมูล อุบลราชธานี สหภาพแรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน บ้านปางแดง เชียงใหม่ และอีกหลายแห่ง อันทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวางมากขึ้น

การเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมนับเป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ สมเกียรติได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อการคิดและพูดอย่างเสรีมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงไม่ต้องแปลกใจที่ในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเขาได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าสามารถนำบทความไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ภายใต้ระบบ Copyleft (อันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ Copyright)

โดยที่แทบไม่ต้องกล่าวถึงการต่อสู้อำนาจทางการเมือง อันเป็นบทบาทที่เห็นได้บ่อยครั้งแม้ว่าความเห็นของอาจารย์สมเกียรติอาจไม่เหมือน แตกต่าง หรือแม้กระทั่งอยู่ตรงกันข้ามกับเสียงส่วนใหญ่หรือเสียงของผู้มีอำนาจก็ตาม จึงไม่ต้องแปลกใจที่เขาจะเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนให้มีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (อันนำมาสู่การกล่าวหาว่าเขาไม่จงรักภักดีภายหลังดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ แทบไม่น่าเชื่อว่าข้อกล่าวหานี้สามารถทำงานได้แม้ภายในสถาบันการศึกษาระดับสูงของสังคม) ไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่าต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์แต่เป็นเพราะกฎหมายนี้ได้ทำให้คนต้องปิดปากและถูกปิดปากอย่างไม่เป็นธรรมจากอำนาจรัฐ

เมื่อถูกอำนาจรัฐสั่งปิดเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อาจารย์สมเกียรติเลือกที่จะต่อสู้ด้วยกระบวนการทางกฎหมายมากกว่าจะไปแอบเปิดเว็บไซต์ในชื่ออื่นเพื่อหลบหลีกการตรวจจับของรัฐบาล แม้การกระทำในแบบหลังจะง่ายกว่ามากนัก แต่เพื่อยืนยันถึงความถูกต้องและเสรีภาพในการแสดงความเห็น แม้อาจลำบากมากกว่าก็เป็นทางที่อาจารย์สมเกียรติได้เลือก

ความกล้าหาญในการยืนยันถึงสิ่งที่เป็นความถูกต้องจากความรู้จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวความรู้นั้นด้วย
ชีวิตของอาจารย์สมเกียรติจึงควบคู่ไปกับความรู้ แต่ความรู้ของอาจารย์สมเกียรติจึงไม่ใช่เป็นการพร่ำบ่นในชั้นเรียนเพื่อนำไปสู่ใบปริญญาของผู้เรียน หากเป็นความรู้ที่เต็มไปด้วยพลังแห่งการต่อสู้และความรู้ที่มีความหมายต่อคนในสังคม อันเป็นสิ่งที่เรามักไม่ค่อยได้เห็นกันมากสักเท่าไหร่ในห้วงเวลาปัจจุบัน

หากจะพอบอกได้ว่าอะไรคือสิ่งที่อาจารย์สมเกียรติได้ทิ้งไว้เบื้องหลัง การยืนยันในความรู้ตามแบบที่ได้ดำเนินชีวิตมาโดยตลอดของเขาก็เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อความเข้าใจในเรื่อง “ความรู้” ของปัญญาชนและคนในมหาวิทยาลัยในสังคมไทยอย่างสำคัญ