จุดเปลี่ยนชนบทไทย เป็นงานวิจัยชิ้นล่าสุดของ ผศ.ดร. อภิชาติ สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์และ อาจารย์ยุติ มุกดาวิจิตร และทีมงานวิจัยชุดใหญ่ที่มาจากจุฬาฯและธรรมศาสตร์ งานวิจัยเฟสแรกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้ "มติชนออนไลน์" ขอนำมาเสนอ ดังนี้
จากการประมวลผลการตอบแบบสอบถาม 99 ชุดที่ได้สุ่มจากหมู่บ้านคลองโยง (73 ชุด) และพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย (26 ชุด) พบว่า ในแง่ของเศรษฐกิจสังคมเราพบว่าคนเสื้อแดงที่ตอบแบบสอบถามนั้นมีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพทางการเกษตร และรับจ้างนอกระบบมากกว่าคนเสื้อเหลือง
จากการวิจัย จะเห็นได้ว่า 53% ของคนเสื้อแดงเป็นเกษตรกรในขณะที่เพียง 35% ของคนเสื้อเหลืองเป็นเกษตรกร และจะเห็นได้ว่า 9% ของคนเสื้อแดงประกอบอาชีพรับจ้างนอกระบบ ในขณะที่เพียง 4% และ 2% ของคนเสื้อเหลือง และคนที่เป็นกลางนั้นประกอบอาชีพรับจ้างนอกระบบ ในทางกลับกันเราพบว่า 35% ของคนเสื้อเหลืองนั้นมีอาชีพเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ ซึ่งสัดส่วนนี้สูงกว่าในกรณีของคนเสื้อแดง (22%) และคนที่ไม่สนับสนุนฝ่ายใด (15%)
นอกจากนี้แล้วเรายังพบว่าคนเสื้อเหลืองมีอาชีพค้าขายเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ โดย 27% ของคนเสื้อเหลืองประกอบอาชีพค้าขาย ในขณะที่เพียง 6% และ 7% ของคนเสื้อแดงและคนที่ไม่สนับสนุนฝ่ายใดนั้นประกอบอาชีพค้าขายตามลำดับ
ในแง่ระดับการศึกษา เป็นที่ชัดเจนว่าคนเสื้อเหลืองจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่า (38.46%) มากกว่าคนเสื้อแดง (18.73%) นอกจากจะมีการศึกษาสูงกว่าแล้ว คนเสื้อเหลืองยังมีระดับรายได้สูงกว่าทั้งคนเสื้อแดง และผู้ไม่สนับสนุนฝ่ายใดค่อนข้างมาก โดยเสื้อเหลืองมีรายได้ 31,427 บาทต่อเดือน
ในขณะที่เสื้อแดงและผู้เป็นกลางมีรายได้ 17,034 และ 11,955 บาทต่อเดือน ตามลำดับ ทั้งที่คนสองกลุ่มหลังนี้ก็มิใช่กลุ่มชนที่จนที่สุดของสังคมไทย
ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และนโยบายประชานิยมกับสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมือง
@ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
จากผลสำรวจพบว่าคนเสื้อแดงมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนน้อยกว่าคนเสื้อเหลือง แต่มากกว่าคนที่ไม่สนับสนุนฝ่ายใด คือประมาณคนละ 17,034 บาท ในขณะที่คนเสื้อเหลืองนั้นมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 31,427 บาท และคนที่ไม่สนับสนุนฝ่ายใดมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 11,955 บาท
ดังนั้นคนเสื้อแดงที่ตอบแบบสอบถามของเรา ถึงแม้ว่าจะจนกว่าเสื้อเหลืองแต่ก็ไม่ได้เป็นกลุ่มที่จนที่สุด เอาเข้าจริงแล้วด้วยระดับรายได้ 17,034 บาทต่อเดือนนั้น เราอาจจัดได้ว่าคนเสื้อแดงคือ "ชนชั้นกลางระดับล่าง" ไม่ใช่คนจน ดังนั้น ความยากจนในเชิงภาวะวิสัยของคนเสื้อแดงจึงไม่น่าจะใช่สาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
แต่ถึงแม้กระนั้น เมื่อเราถามผู้ตอบแบบสอบถามให้ประเมินฐานะของตัวเอง เราพบว่าทั้งคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงมีแนวโน้มที่จะคิดว่าตนเองมีฐานะแย่กว่าคนส่วนใหญ่ มากกว่าคนที่ไม่สนับสนุนฝ่ายใดเลย โดย 18.75% และ 23.08% ของคนเสื้อแดงและเสื้อเหลืองนั้นคิดว่าตนเองมีรายได้น้อยกว่าคนส่วนใหญ่ ในขณะที่เพียง 14.63% ของคนที่ไม่สนับสนุนฝ่ายใดนั้นคิดว่าตนเองมีรายได้น้อยกว่าคนส่วนใหญ่ ในทางกลับกันคนที่ไม่สนับสนุนฝ่ายใดได้ประเมินว่าตนเองมีฐานะปานกลางเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดคือ 78.05% ส่วนคนเสื้อแดงจำนวน 50% และคนเสื้อเหลืองจำนวน 61.54% คิดว่าตนเองมีฐานะปานกลาง
เมื่อประเมินที่ทัศนะคติเกี่ยวกันความเหลื่อมล้ำทางรายได้แล้ว เรากลับพบว่ากลุ่มคนเสื้อเหลืองนั้นรู้สึกว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนนั้นนั้นห่างกันจนรับไม่ได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ จากการวิจัย เราพบว่า 42.31% ของคนเสื้อเหลืองคิดว่าช่องว่าระหว่างคนรวยกับคนจนห่างมากจนรับไม่ได้ ในขณะที่เพียง 25% ของคนเสื้อแดง และ 12.2% ของคนที่ไม่สนับสนุนฝ่ายใดมีความคิดเช่นนี้ เราอาจจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งคือคนเสื้อแดงจำนวน 75% และคนที่ไม่สนับสนุนฝ่ายใดจำนวน 87.8% คิดว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้นไม่ห่างมากถึงยังพอรับได้ แต่คนเสื้อเหลืองจำนวน 57.7% เท่านั้นที่คิดเช่นนี้
ดังนั้นเราสามารถสรุปได้ว่าความคับข้องใจของคนเสื้อแดง (อย่างน้อยที่ได้ตอบแบบสอบถามนี้) ไม่ได้อยู่ที่ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เนื่องจาก 75% ของพวกเขายังคิดว่าช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนนั้นยังพอรับได้ ในทางกลับกันเราพบว่าความคับข้องใจเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้นี้เกิดกับคนเสื้อเหลืองมากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ เสียอีก
กล่าวอีกนัยหนึ่ง สรุปได้ว่า ในแง่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เชิงอัตวิสัย (perceived inequality) คนเสื้อเหลืองประเมินว่าตนเป็นคนจน และเห็นว่าช่องว่างทางรายได้ที่เป็นอยู่สูงจนรับไม่ได้มากกว่าคนเสื้อแดง
@ ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจของคนเสื้อแดง
การสนทนากลุ่มย่อยที่อุบลราชธานีแสดงความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ด้วยการอ้างถึงนักวิชาการบางท่านว่า เคยพูดว่า "คนอีสานเป็นได้แค่คนรับใช้กับเด็กปั๊ม" พร้อมกับระบายความอัดอั้นตันใจของตนออกมาว่า
- รู้สึกว่าตนถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม เพราะตนมีฐานะยากจน ความรู้น้อย
- รู้สึกว่าสังคมมีการแบ่งชนชั้น
- รู้สึกว่าไม่มีความยุติธรรมในสังคม เพราะ "เสื้อแดงทำอะไรก็ผิด" โดยยกตัวอย่างเรื่องการเดินทางเข้าไปร่วมประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์กับกลุ่ม นปช ที่กรุงเทพฯ ว่า "ไปม็อบ นั่งพื้นก็ผิด" คนเสื้อแดง "เฮ็ดหยังก็ผิด" จนทำให้ตนรู้สึกคับแค้นใจ ยิ่งรู้สึกว่าตนต้องต่อสู้ ต้องเข้ามาร่วมในการประท้วงของคนเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย เพื่อ "ขอสิทธิเราคืน" (ด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่)
- สังคมมีปัญหาความไม่เท่าเทียม มีเรื่องเงินใต้โต๊ะ เรื่องเส้นสาย ลูกสาวสอบครูติดสำรองอันดับ 6 แต่ถูกอันดับ 10 แย่งไป "เรามันคนไร้เส้น ม็อบก็ม็อบไม่มีเส้น" (เสื้อแดงอุบลราชธานี)
ตรงกันข้ามคนเสื้อแดงนครปฐมไม่ได้แสดงความน้อยเนื้อต่ำใจ ส่วนใหญ่คิดว่าฐานะทางเศรษฐกิจของตนดีขึ้น สภาพทั่วไปและการดำเนินชีวิตในปัจจุบันก็ดีกว่าสมัยก่อนที่ไม่มีความเจริญทางเทคโนโลยีเช่นสมัยนี้
กล่าวคือ เมื่อก่อนนี้ไม่มีถนนเข้าออกหมู่บ้าน การเดินทางส่วนใหญ่จึงต้องเดินด้วยเท้า ทำให้มีความยากลำบากและเสียเวลามาก ไฟฟ้าและน้ำประปาก็ไม่มี เป็นต้น ลูก ๆ ของตนมีการศึกษาสูงกว่าตน สถานภาพทางสังคมจึงดีกว่า ทำให้มีโอกาสในชีวิตมากขึ้น นอกจากนี้คนกลุ่มนี้เห็นว่าการประสบความสำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถ ความขยัน และความกระตือรือล้นของปัจเจกชนแต่ละคน
เช่นเดียวกับคนเสื้อแดงเชียงใหม่ ที่มิได้มีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง ถูกดูถูกดูแคลนหรือถูกเหยียดหยาม และยอมรับว่ามีความเป็นอยู่ก็ดีขึ้นกว่าอดีตทั้งในแง่รายได้ ความเจริญ และความสะดวกสบาย แต่ก็มิได้แสดงความมั่นใจกับภาวะอนาคตมากเท่าแดงนครปฐม
กล่าวคือ เมื่อเราถามว่าให้ประเมินไปข้างหน้า 10-20 ต่อสภาพความเป็นอยู่ของตนและลูกหลานว่าจะเป็นอย่างไร แดงนครปฐมทุกคนกล่าวอย่างมั่นใจว่า อนาคตจะต้องดีขึ้นแน่ ตรงข้ามกับแดงเชียงใหม่ ซึ่งตอบคำถามนี้ด้วยความไม่แน่ใจ และไม่มีความเชื่อมั่นในอนาคตของตนเอง ในแง่นี้เราอาจเข้าใจความแตกต่างระหว่างเสื้อแดงทั้งสามจังหวัดได้ว่าเป็นไปตามความแตกต่างของสภาพพื้นฐานเศรษฐกิจของแต่ละภาค จากการสังเกตของเรา เห็นได้ชัดเจนว่าฐานะทางเศรษฐกิจของแดงนครปฐมสูงกว่าแดงอุบลฯ โดยมีแดงเชียงใหม่อยู่ตรงกลาง
@นโยบายประชานิยม
เราพบว่าคนเสื้อแดงได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการต่าง ๆ ของทักษิณมากกว่าคนเสื้อเหลืองและกลุ่มที่ไม่สนับสนุนฝ่ายใด โดยเฉพาะโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ 81% าของคนเสื้อแดงกล่าวว่าได้รับประโยชน์ ในขณะที่เพียง 54% ของคนเสื้อเหลืองเท่านั้นได้รับประโยชน์โดยตรงจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งข้อมูลนี้มีนัยยะว่าคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานในระบบที่อำนวยสวัสดิการทางการประกันสุขภาพและอนามัย หรือไม่มีรายได้พอที่จะจ่ายค่าประกันสุขภาพได้ ซึ่งสอดคล้องกับอาชีพที่เราพบว่าพวกเขาส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรและภาคแรงงานนอกระบบ
นอกจากนี้ เรายังพบว่าคนเสื้อแดงยังได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการ OTOP (One Tambol One Product : หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์), กองทุนหมู่บ้าน, ธนาคารประชาชน, การพักชำระหนี้และลดภาระหนี้เกษตรกร และโครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ มากกว่าคนเสื้อเหลืองและกลุ่มที่ไม่สนับสนุนฝ่ายใด
ข้อมูลจากการสนทนากลุ่มสอดคล้องกับภาพที่ได้จากการสำรวจข้างต้น นโยบายประชานิยมหลายโครงการเป็นประโยชน์โดยตรงกับคนเสื้อแดง ตัวอย่างเช่น กองทุนหมู่บ้าน ทำให้เขามีแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำที่ทุกคนมีสิทธิกู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในด้านการเพาะปลูกหรือการผลิตด้านอื่น ๆ
เช่น คนเสื้อแดงอุบลราชธานีผู้หนึ่งกู้เงินกองทุนฯ มา 10,000 บาท เพื่อซื้อลูกเป็ด 100 ตัวมาเลี้ยงไว้ 3 เดือนแล้วขาย ได้กำไรประมาณ 3,000-3,500 บาท อีกคนหนึ่งกู้เงินมาขุดบ่อน้ำบาดาลเพื่อสูบน้ำมารดต้นไม้ที่ปลูกไว้ขาย โดยพูดจากความรู้สึกว่า "พอได้เงินมารู้สึกว่าได้ผุดได้เกิด เมื่อก่อนกู้มาเฟีย ดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน ถ้าเป็นกู้แบบรายวันคิด (ดอกเบี้ย) ร้อยละ 2 บาทต่อวัน (ตัวเองต้องกลาย) เป็นหนี้รายวัน คนที่ให้กู้ก็เป็นคนกันเองในตลาด มีหลายเจ้า... พอกู้จากกองทุนหมู่บ้าน ดอกเบี้ย (เพียงร้อยละ) 6 บาทต่อปี"
ในขณะที่ชาวนาคนเสื้อแดงนครปฐมได้ประโยชน์จากโครงการจำนำข้าว ซึ่งในช่วงที่ราคาข้าวสูง ชาวบ้านอาจจำนำได้สูงถึงเกวียนละ 12,000 บาท ในขณะที่การประกันราคาข้าวของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ราคาข้าวตกลงเหลือราว 7,000-8,000 บาทต่อเกวียน ส่วนโครงการสุขภาพถ้วนหน้า "สามสิบบาทรักษาทุกโรค" ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชาวบ้านผู้มีรายได้ต่ำ นั้นทำให้เขารู้สึกมีความมั่นคงในชีวิตสูงขึ้นมาก เสื้อแดงเชียงใหม่ผู้หนึ่ง ซึ่งมีอาชีพเป็นลูกจ้างร้านขายข้าวมันไก่ชื่อดังแห่งหนึ่งกล่าวว่า "พี่ชายเป็นโรคไต ต้องฟอกอาทิตย์ละครั้ง หากไม่มี 30 บาท เรามันเป็นคนจน คงไม่มีปัญญารักษา ตอนนี้ก็คงจะตายไปแล้ว"
นอกจากนี้แดงเชียงใหม่ยังยกตัวอย่างโครงการเงินทุนการศึกษาที่ให้แก่คนจน (หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน หรือโครงการโรงเรียนในฝัน) โดยนำมาจากรายได้ที่ได้จากหวยบนดิน รวมทั้งข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยก็กล่าวว่า ตนได้รับสวัสดิการเพิ่มขึ้นและเบิกค่าเล่าเรียนบุตรได้จนถึงระดับปริญญาตรี
ดังนั้น โครงการ "ประชานิยม" ในความหมายกว้างทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์โดยตรงกับคนเสื้อแดงที่ผู้วิจัยพูดคุยด้วย เสื้อแดงคนหนึ่ง (นครปฐม) จึงสรุปประเด็นนี้ว่า "นโยบายของทักษิณนั้นกินได้) ส่วนอีกคนพูดว่า นี่คือ "ประชาธิปไตยแบบเป็นรูปธรรม จับต้องได้"
นอกจากโครงการประชานิยมแล้ว คนเสื้อแดงยังนิยมชมชอบอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ด้วยเหตุผลที่ว่าในสมัยที่เป็นรัฐบาล เขาทำให้เศรษบกิจของประเทศดี เกิดสภาพคล่อง ประชาชนโดยทั่วไปทำมาหากินได้ มีตลาดเกิดขึ้นตามที่ต่างๆ ตนสามารถนำผลผลิตของตนมาขายได้ ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของตนดีขึ้น ซึ่งส่งผลไปถึงลูก ๆ ของตน ดังคำพูดของคนเสื้อแดงนครปฐมผู้หนึ่งว่า "ทักษิณช่วยให้มีเงินส่งลูกเรียน" หรือมีการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น จังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเดิม "เป็นเมืองปิด" ไม่ค่อยมีคนเดินทางเข้าไป แล้วทักษิณ "ดึงการท่องเที่ยว" เข้าสู่จังหวัดนี้ ทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาเที่ยวและจับจ่ายซื้อสินค้า ทำให้ชาวบ้านทั่วไปมีรายได้และ "บ้านเมืองเจริญขึ้น" ทำให้ท้องถิ่น "มีหน้ามีตา"
นอกเหนือจากด้านเศรษฐกิจแล้ว คนเสื้อแดงยังชื่นชมอดีตนายกฯ ทักษิณอีกด้วยว่า ปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า ซึ่งช่วยลดปัญหายาเสพติด ทำให้ตนรู้สึกปลอดภัยขึ้น โดยเฉพาะต่อลูกหลานของตนที่เสี่ยงต่อการติดยา แต่หลังจากรัฐประหารปี 2549 ปัญหายาเสพติดก็กลับมาอีก ทำให้เกิดความวิตกกังวล (เชียงใหม่) รวมทั้งการปราบปรามผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นหรือ "เจ้าพ่อ" ซึ่งส่งผลที่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านหลายประการ
เช่น ชาวบ้านเสื้อแดงนครปฐมผู้หนึ่งกล่าวว่า ก่อนหน้าสมัยทักษิณ เมื่อตนนำดอกบัวที่ปลูกไปขายที่ปากคลองตลาด จะมี "มาเฟีย" มาคอยเก็บค่าตะกร้า ๆ ละ 10 บาท ตนต้องจ่ายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับมาเฟีย แต่พอทักษิณขึ้นมาเป็นนายกฯ ก็สั่งปราบ จึงไม่มีมาเฟียมาเก็บค่าตะกร้าอีก ในปัจจุบันมีเทศกิจมาเรียกเก็บเงินเดือนละ 300 บาท ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่าเป็นค่าอะไร แต่ก็จ่ายให้แก่เทศกิจเพราะเห็นว่าจำนวนไม่สูงและไม่อยากมีปัญหากับเจ้าหน้าที่
ยิ่งไปกว่านั้น คนเสื้อแดงก็ชื่นชมอดีตนายกฯ ว่าเป็นผู้นี้มีความเห็นอกเห็นใจคนจน หลายคนกล่าวว่าทักษิณ "ยื่นความเป็นคนให้กับคนไทย" (เชียงใหม่) หรือ "มืองเห็นคนเป็นคน" (อุบลราชธานี) เพราะสามารถ "จัดการ" กับระบบราชการได้ ทำให้ข้าราชการ (เช่นที่อำเภอ) พูดจาไพเราะขึ้น "ให้เกียรติ" ชาวบ้าน และปฏิบัติงานรวดเร็วขึ้น (อุบลราชธานี) ให้บริการดีขึ้น เช่น โรงพยาบาลจัดให้มีระบบบัตรคิว ทำให้การแซงคิวและความสับสนลดน้อยลง (เชียงใหม่)
แล้วอะไรคือความคับข้องใจของคนเสื้อแดง ? จากผลการสำรวจเราพบว่าเหตุผลหลักในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของของคนเสื้อแดง 1) เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร การแทรกแซงทางการเมืองของทหาร (28.13%) 2) ปัญหาสองมาตรฐาน และความอยุติธรรม (28.13%) และ 3) การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (18.75%) ส่วนเหตุผลเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน จากนั้นไม่มีคนเสื้อแดงคนใดเลือกให้เป็นเหตุผลหลักของการต่อสู้ของพวกเขาเลย จากข้อมูลข้างต้นเราอาจสรุปได้ว่าสาเหตุของความคับข้องใจของคนเสื้อแดงคือ ความไม่เป็นธรรมทางการเมือง มากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
สรุป จากที่ได้อภิปรายมาทั้งหมดข้างต้น คณะวิจัยมีความเห็นดังนี้คือ หนึ่ง ความยากจนและความเหลื่อมล้ำเชิงภาวะวิสัย ไม่น่าจะเป็นสาเหตุความคับข้องใจของคนเสื้อแดง เนื่องจากคนเสื้อแดงไม่ใช่คนจนในแง่รายได้หรือสินทรัพย์ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับผู้เป็นกลาง แม้ว่าโดยเฉลี่ยแล้ว คนเสื้อแดงจะมีฐานะทางเศรษฐกิจและการศึกษาต่ำกว่าคนเสื้อเหลือง ตรงข้าม คนเสื้อเหลืองจำนวนมากกลับจัดตัวเองว่าเป็นคนจน เมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ และเห็นว่าช่องว่างระหว่างคนจน-คนรวยที่เป็นอยู่สูงมากจนรับไม่ได้ ซึ่งความรู้สึกนี้กลับมีน้อยกว่าในหมู่คนเสื้อแดง
สอง แม้ว่าความเหลื่อมล้ำและความยากจนเชิงภาวะวิสัยจะไม่ได้เป็นที่มาของความคับข้องใจของคนเสื้อแดง แต่ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจกลับมีอยู่มากในหมู่คนเสื้อแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่แดงอีสาน เขารู้สึกเจ็บปวดจากการดูถูกดูแคลน จนฝังใจกับคำกล่าวของนักวิชาการมหาวิทยาลัยบางท่านที่ว่า "คนอีสานเป็นได้แค่คนรับใช้กับเด็กปั๊ม" นอกจากนี้ คนเสื้อแดงยังรู้สึกว่าสังคมไม่มีความยุติธรรม มีการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม มีปัญหาการใช้เส้น-ใช้สายในหน้าที่การงาน และการรับบริการจากระบบราชการ รวมทั้งความไม่เท่าเทียมทางการเมือง (ปัญหาสองมาตรฐาน)
สาม เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจของเสื้อแดงต่ำกว่าเสื้อเหลือง คนเสื้อแดงจึงเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการประชานิยมมากกว่าคนเสื้อเหลือง ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร หรือแรงงานนอกภาคเกษตร จะเป็นผู้อยู่นอกระบบประกันสังคมอย่างเป็นทางการทุกประเภท ในขณะที่เขามีวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจสัมพันธ์กับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจมหภาคอย่างแนบแน่น
ดังนั้นโครงการประชานิยม ซึ่งถูกออกแบบมาอย่างตั้งใจเพื่อเป็นหลักประกันทางสังคมให้แก่แรงงานนอกระบบเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการรักษาพยาบาล 30 บาท และกองทุนหมู่บ้านจึงตอบสนองความต้องการของคนเหล่านี้ได้ดี ยิ่งเมื่อรัฐบาลทักษิณใช้มาตรการรุนแรง-เด็ดขาดใน "สงครามฆ่าตัดตอน ปราบปรามยาเสพติด 2,500 ศพ" รวมทั้งการจัดการกับ "มาเฟีย" ทั้งหลาย ซึ่งก็เป็นผลงานที่ "ชาวบ้าน" พอใจมาก ในแง่โครงการประชานิยมและการปราบปราม "นักเลง" และ "เจ้าพ่อ" ทั้งหลายจึงอาจตีความได้ว่า รัฐไทยในยุคทักษิณกระทำตัวเป็น "เจ้าพ่อใหญ่" โดยปราบปราม "เจ้าพ่อ" อื่นๆ พร้อมกับการสร้างพระคุณผ่านโครงการประชานิยมกับชาวบ้าน
กล่าวอีกแบบหนึ่งรัฐในยุคนี้ทำตัวเป็นผู้ "อุปถัมภ์" แทนผู้อุปถัมภ์รายเล็กรายใหญ่ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในเมืองและชนบท เอาเข้าจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่รูปแบบใหม่ถอดถ้ามทางการเมืองเสียทีเดียว รูปแบบนี้มีมานานแล้วที่ "บรรหารบุรี" ความใหม่ของรัฐบาลทักษิณคือ การขยายความเป็๋นบรรหารบุรีให้กลายเป็นขอบข่ายทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสานและภาคเหนือ และทั้งหมดนี้คือที่มาของความนิยมทางการเมืองของชาวเสื้อแดงต่อทักษิณ พรรคไทยรักไทยและพรรคอนุพันธุ์ของไทยรักไทย
สี่ คณะวิจัยจึงเสนอว่า ความคับข้องใจของคนเสื้อแดงจึงเป็นความคับข้องใจในหลากหลายประเด็นทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ