วันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นวันลูกเสือแห่งชาติ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เปิดโครงการลูกเสืออินเตอร์เน็ต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการเทิดทูน จงรักภักดีปกป้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นทูตสันติภาพในการเชื่อมความปรองดองของคนไทยทั้งประเทศ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า ลูกเสือเป็นผู้ที่มีจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรม โครงการนี้เป็นโครงการที่ฝึกลูกเสือให้ชำนาญการใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อนำมาสนับสนุนความรักความสามัคคีในชาติ และเป็นตัวแทนในการเฝ้าระวัง หรือสอดส่องพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ โดยผ่านระบบเทคโนโลยี
มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการนี้ 10 โรงเรียน
หากย้อนไปดูประวัติ กิจการลูกเสือของไทยกำเนิดในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกระเบียบวินัย ฝึกนิสัยความเสียสละ และจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามคำปฏิญาณตนของลูกเสือ 3 ข้อ และกฎของลูกเสือ 10 ข้อ
โดยสาระสำคัญมีเนื้อหาเกี่ยวกับความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผู้มีพระคุณ ทำตนให้เป็นประโยชน์ มีความเมตตา มีความเป็นมิตรกับผู้อื่น มีเกียรติเชื่อถือได้ เชื่อฟังบิดามารดา ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ เป็นต้น สรุปแล้วกิจกรรมลูกเสือ หรือการเป็นลูกเสือคือ การฝึกให้เด็กเป็นทั้งคนดีและพลเมืองดี แต่ต้องอยู่ภายในขอบเขตที่เด็กและเยาวชนสามารถจะทำได้ เหมาะสมกับวัยและสถานภาพ
กิจการลูกเสือในโรงเรียนมุ่งเน้นให้เด็กมีระเบียบวินัย ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพในอนาคต
ซึ่งในคำปฏิญาณตน และกฎของลูกเสือไม่มีข้อใดที่มีจุดมุ่งหมายให้ลูกเสือต้องไปทำหน้าที่สอดส่องหรือเฝ้าระวังพฤติกรรมของคนในชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตแต่อย่างใด
การที่รัฐบาลพยายามดึงกิจการลูกเสือ แม้ว่าจะให้เด็กอาสาสมัครก็ตาม เพื่อให้เด็กเข้าร่วมโครงการลูกเสืออินเตอร์เน็ต แล้วมอบหมายให้ลูกเสือทำหน้าที่เฝ้าระวังหรือสอดส่องพฤติกรรมที่เป็นภัย และความมั่นคงของประเทศ
โดยเฉพาะในอินเตอร์เน็ตตามเว็บไซต์ต่างๆ นั้น เป็นเรื่องที่รัฐพึงกระทำหรือไม่ ในเมื่อมีกระทรวงไอซีที ทำหน้าที่คอยตรวจสอบเว็บไซต์ และเที่ยวปิดเว็บไซต์ต่างๆ มากมาย จนเว็บไซต์ที่เสนอความคิดแตกต่างจากรัฐบาลทั้งถูกปิด ถูกเฝ้าระวังจนแทบไม่อาจเคลื่อนไหวอะไรได้มากนัก
สภาพการเมืองไทยขณะนี้ความขัดแย้งแตกแยก เผชิญหน้ามีทุกหย่อมหญ้า รัฐบาลพยายามเสนอนโยบายปรองดองสมานฉันท์ ด้วยการตั้งคณะกรรมการชุดนั้นชุดนี้ การปรองดองคงไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากปราศจากการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง การเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายยังมุ่งตรงไปที่นายทุนเจ้าของกิจการขนาดใหญ่
ขณะที่ผู้ชุมนุมประท้วงมีทั้งผู้ที่ตาย ได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก กลับไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควรจะเป็น การอ้างเหตุผลว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ก่อการร้าย แล้วใช้มาตรการด้านกฎหมายมาดำเนินการ หากเป็นเช่นนี้อีกกี่ชาติการปรองดองก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้
การปิดเว็บไซต์ การควบคุมสื่อ การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมาตรการอื่นๆ ที่ ศอฉ.ดำเนินการสะท้อนถึงความขัดแย้ง การเผชิญหน้าของกลุ่มบุคคลตั้งแต่สองกลุ่มขึ้นไป ซึ่งล้วนเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ในการใช้ชีวิต มีความสามารถที่จะตัดสินใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ด้วยตนเอง และพร้อมที่จะยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นตามชะตากรรมของตนเอง
การดึงเด็กและเยาวชนมาร่วมสังฆกรรมกับความขัดแย้งของผู้ใหญ่ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ชอบธรรม และเป็นนโยบายที่เลอเลิศสมควรเป็นแบบอย่างแล้ว?
เพราะเด็กและเยาวชนยังอ่อนต่อโลก และยังเข้าไม่ถึงรากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ การให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ต้องมาเกี่ยวข้องอยู่ในวงวนของความขัดแย้ง การใส่ร้ายป้ายสี การปิดหูปิดตา รวมทั้งการไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากตน เป็นการปลูกฝังพฤติกรรมที่ดี หล่อหลอมกล่อมเกลาสิ่งที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนแล้ว?
การนำลูกเสือมาทำหน้าที่สอดส่อง เฝ้าระวังพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาลกันแน่!!
หากเป็นดังนั้น การนำลูกเสือมาเป็นเครื่องมือของรัฐบาล จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการฝึกให้เด็กและเยาวชนเลือกข้าง ซึ่งไม่สอดคล้องกับกฎของลูกเสือข้อที่ 4 ที่บอกว่า "ลูกเสือเป็นมิตรกับคนทุกคน..."
ดังนั้น การริเริ่มโครงการลูกเสืออินเตอร์เน็ต โดยมีจุดมุ่งหมายแอบแฝงตามที่รัฐต้องการ จึงเป็นการปฏิบัติผิดกฎของลูกเสือ เพราะทำให้ลูกเสือต้องเลือกเป็นมิตรกับคนบางกลุ่มบางพวก รวมทั้งการจ้องจับผิดคนที่คิดต่าง เป็นการสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน ซึ่งนิสัยอันนี้หากติดตัวไปจนโต จะนำความเสื่อมมาสู่ตนเอง และสังคมได้
นอกจากนี้ ในสังคมไทยเคยมีบทเรียนที่นำกิจการดีๆ เช่น ลูกเสือชาวบ้าน ที่น่าจะได้ฝึกให้ชาวบ้านมีความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและส่วนรวม
แต่กิจการลูกเสือชาวบ้านครั้งหนึ่งเคยถูกนำมาใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของคนบางกลุ่มบางพวก จนกระทั่งกลายเป็นตราบาปที่ลูกเสือชาวบ้านส่วนหนึ่ง ถูกปลุกระดม ล้างสมองให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการล้อมปราบในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพียงเพราะเชื่อว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้ถึงขั้นเชื่อว่า "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป"
เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี หลากหลายผู้คนได้หันกลับไปทบทวนเหตุการณ์ ที่หลายคนอาจเคยเป็นลูกเสือชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ล้อมปราบในครั้งนั้น สายตาที่มองการใช้ความรุนแรงกับนิสิตนักศึกษาในครั้งนั้น กับความรู้สึกในครั้งนี้เมื่อมองย้อนไปในอดีต เชื่อว่าความรู้สึกของหลายๆ คนเปลี่ยนแปลงไป และเชื่อว่าคงมีลูกเสือชาวบ้านหลายคน อยากกลับไปแก้ไขอดีต โดยไม่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมของการใช้ความรุนแรงในครั้งนั้น และอาจมองนิสิตนักศึกษาเยาวชนคนหนุ่มสาวด้วยจิตเมตตามากขึ้น ที่เป็นดังนี้เพราะเวลาผ่านไปเกิดการเรียนรู้มากขึ้น
และนี่คือตราบาปอย่างหนึ่งของคนกลุ่มหนึ่งและสังคมไทยที่ปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงกับคนที่คิดต่าง
นอกจากรัฐบาลชุดนี้จะมีโครงการลูกเสืออินเตอร์เน็ตแล้ว ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายจะจัดตั้งหน่วยลูกเสือประชาธิปไตยในโรงเรียนทั้งหมด 44 โรงเรียน ทั้งผู้บังคับบัญชาและลูกเสือโรงเรียนละ 36 คน รวมเป็น 1,584 คน ภายในระยะเวลา 2 เดือน โดยยึดหลักสูตรประชาธิปไตย 6 ข้อ คือ
1. การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในระบอบประชาธิปไตย
2. ลูกเสือกับสถาบันหลักของชาติ
3. ลูกเสือกับการปกครองประชาธิปไตย
4. ลูกเสือกับอำนาจอธิปไตย
5. ลูกเสือกับหลักการความเป็นประชาธิปไตย
และ 6. ลูกเสือกับการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง
หากพิจารณาหลักสูตรของลูกเสือประชาธิปไตยแล้วจะพบว่า เรื่องประชาธิปไตยเหล่านี้เป็นเรื่องที่เด็กๆ ทุกคนต้องเรียนอยู่แล้วในวิชาสังคมศึกษา ในสาระหน้าที่พลเมืองในทุกระดับชั้น ทั้งเรื่องการเป็นพลเมืองดี การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ความเป็นมาของการปกครองระบอบประชาธิปไตยทั้งในโลก และในประเทศไทย หลักการประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตย การมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย และอื่นๆ อีกมากมายที่ล้วนแล้วแต่เป็นทฤษฎีหลักการประชาธิปไตย
นอกจากนี้ ในโรงเรียนยังมีกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย ทั้งการอบรม การจัดกิจกรรมเลือกตั้งประธานนักเรียน โดยการจำลองการหาเสียง การเลือกตั้งแบบที่ผู้ใหญ่ทำ จะต่างกันที่เวลาเด็กๆ เขาหาเสียงจะบอกว่าเขาจะทำอะไรหากได้เป็นประธานนักเรียน แต่จะไม่พาดพิงใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น
เด็กและเยาวชน ในโรงเรียนซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นลูกเสือ และเนตรนารีมีความรู้เกี่ยวกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยดีพอสมควรแล้ว อีกทั้งกิจกรรมลูกเสือที่มีอยู่ในโรงเรียนต่างมุ่งปลูกฝังให้เด็กมีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และฝึกให้มีคุณธรรมจริยธรรมอยู่แล้ว
ดังนั้น การที่จะจัดตั้งหน่วยลูกเสือประชาธิปไตยในโรงเรียน ซึ่งต้องนำลูกเสือไปอบรมเป็นพันๆ คน ต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนมาก อีกทั้งเมื่อผ่านการอบรมแล้ว ลูกเสือหน่วยนี้จะทำหน้าที่อะไร?
หากเพียงต้องการบูรณาการเพื่อใช้การศึกษาสร้างพลเมือง วิชาสังคมศึกษามุ่งสอนให้เด็กมีความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย เป็นพลเมืองดี มีคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งกิจกรรมลูกเสือในโรงเรียนที่สอนกันทุกโรงเรียนต่างมุ่งส่งเสริมให้เกิดความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อยู่แล้ว
ไม่เห็นความจำเป็นต้องไปตั้งหน่วยลูกเสือประชาธิปไตยในโรงเรียนให้ซ้ำซ้อน และให้ทั้งครูและนักเรียนต้องมีภาระมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ถ้าต้องการให้ลูกเสือเหล่านี้มีจิตสำนึกแบบประชาธิปไตย แต่ผู้ใหญ่ทำบ้านเมืองให้มีบรรยากาศแห่งความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ด้วยการยอมรับในสิทธิเสรีภาพของประชาชน และความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยไม่ต้องใช้การฝึกอบรมให้เห็นความสำคัญของการปกครองประชาธิปไตยให้เมื่อย เด็กและเยาวชนเหล่านี้จะซึมซับประชาธิปไตยจากชีวิตจริงได้ดีกว่าการพยายามกล่อมเกลาเป็นไหนๆ
การให้ความสำคัญกับกิจกรรมลูกเสือในสองโครงการของรัฐบาล ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าเป็นความพยายามที่จะนำกิจกรรมลูกเสือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือเปล่า นอกเหนือจากการเรียนในโรงเรียน หากเป็นเช่นนั้นคงต้องคิดทบทวนให้ดี เพราะการเมืองมีทั้งขาว ทั้งดำ และเทาๆ สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่อย่างที่คิด แต่วันหนึ่งประวัติศาสตร์จะเผยโฉมของเหตุการณ์ต่างๆ ในที่สุด
เมื่อการเมืองมีอะไรแอบแฝงซ่อนเร้นมากมาย แล้วจะไปดึงเด็กและเยาวชนผู้บริสุทธิ์มาเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งครั้งนี้ให้เกิดประโยชน์อะไร?