WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, July 23, 2010

อ่านที่นี่ คำแปลฉบับเต็ม "สมุดปกขาวของอัมเสตอร์ดัม" (ส่วนแรก)

ที่มา ประชาไท

เปิดรายงานครึ่งแรก ของโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม "การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : ข้อเรียกร้องหาการรับผิด ว่าด้วยพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยมีภาระผูกพันในการนำตัวฆาตกรสู่กระบวนการยุติธรรม"

หมายเหตุ: คำแปลนี้เป็นครึ่งแรกของรายงานจำนวน 80 หน้า ซึ่งจัดทำโดย สำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff ติดตามอ่านฉบับสมบูรณ์ได้ที่ประชาไท

การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : ข้อเรียกร้องต่อการแสดงความรับผิดชอบ
ภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีภาระหน้าที่ในการนำตัวฆาตกรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

สมุดปกขาวโดยสำนักกฎหมาย Amsterdam & Peroff

000

บทคัดย่อ/ คำนำ

000

สารบัญ

  1. บทนำ
  2. เส้นทางไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย
  3. การขึ้นสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทย
  4. ถนนสู่การปฏิวัติ 2549
  5. การฟื้นฟูระบอบอมาตยาธิปไตยอย่างผิดกฎหมาย
    1. การยึดอำนาจโดยทหาร
    2. ระเบียบรัฐธรรมนูญใหม่
    3. การยุบพรรคไทยรักไทย
    4. การรัฐประหารทางศาลและเหตุการณ์ความวุ่นวายที่ถูกจัดตั้งขึ้น
  6. ฤดูร้อนสีดำของประเทศไทย: การสังหารหมู่คนเสื้อแดง
    1. คนเสื้อแดงต้องการอะไร
    2. มาตรการอันผิดกฎหมายของการรณรงค์ประหัตประหารและความรุนแรง
    3. บดขยี้คนเสื้อแดง
    4. มาตรฐานสากลว่าด้วยการใช้กำลัง
  7. ฤดูกาลใหม่ของการปกครองโดยทหาร
    1. พระราชบัญญัติความมั่นคงภายใน
    2. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
    3. การควบคุมข้อมูลข่าวสาร
    4. เสื้อแดงนะหรือคือผู้ก่อการร้าย
  8. ข้อเรียกร้องหาความยุติธรรม
    1. หน้าที่ในการสืบสวนและหาผู้กระทำความผิดของประเทศไทย
    2. การสังหารโดยพลการและตามอำเภอใจ: การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงอื่นๆ
    3. การประหัตประหารทางการเมือง
    4. อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
    5. หลักฐานเรื่องการพยายามปกปิด
    6. ความเป็นธรรมสำหรับผู้ถูกกล่าวหา
  9. บทสรุป : หนทางเดียวสู่ความปรองดอง

000

บทที่ 1 บทนำ

เป็นเวลากว่า 4 ปีที่ประชาชนชาวไทยตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ สิทธิดังกล่าวคือสิทธิในการกำหนดทางเลือกของตนโดยผ่านการเลือกตั้งอย่างแท้จริงที่ดำรงอยู่บนฐานของเจตจำนงของประชาชน การโจมตีระบอบประชาธิปไตยเริ่มขึ้นด้วยการวางแผนและลงมือกระทำการรัฐประหารโดยทหารเมื่อปี 2549 ด้วยความร่วมมือกับสมาชิกองคมนตรี ผู้บัญชาการทหาร ของไทยล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ซึ่งชนะการเลือกตั้งมาถึง 3 สมัยติดต่อกัน ทั้งในปี 2544, 2548 และ 2549 ระบอบที่การรัฐประหารตั้งขึ้นได้เข้าควบคุมหน่วยงานต่างๆของรัฐบาล ยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองของแกนนำพรรคเป็นเวลา 5 ปี การที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ด้วยเหตุผลเดียวนั่นก็คือเพราะพรรคการเมืองต่างๆที่ชนะการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยตลอดการเลือกตั้งสี่ครั้งที่ผ่านมาถูกยุบไป

การรัฐประหารในปี 2549 ถือเป็นการเริ่มต้นในการพยายามที่จะฟื้นฟูอำนาจนำของกลุ่มทุนเก่า นายทหารระดับสูง ข้าราชการระดับสูง และกลุ่มองคมนตรี ซึ่งจะขอรวมเรียกว่าเป็น “กลุ่มอำนาจเก่า” ซึ่งการฟื้นฟูระบอบที่กลุ่มอำนาจเก่าต้องการนั้นจะสำเร็จได้ก็ต้องทำลายพรรคไทยรักไทยเป็นอันดับแรก เพราะพรรคไทยรักไทยเป็นพลังทางการเลือกตั้งที่ได้กลายเป็นสิ่งท้าทายอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าอย่างสำคัญและเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และหลังจากนั้นกลุ่มอำนาจเก่าก็ไม่อาจหยุดยั้งการกวาดล้างขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นตามมา

พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ได้รับความนิยมสูงสุดให้มาปกครองประเทศ อันเป็นการไปขัดขวางธรรมเนียมปฏิบัติอันยาวนานที่รัฐบาลผสมที่อ่อนแอจะได้เข้ามารับใช้ตามอำเภอใจของกลุ่มอำนาจเก่า ด้วยการเสริมอำนาจของฐานเสียงที่ถูกเบียดขับไปอยู่ชายขอบของชีวิตทางการเมืองของประเทศมายาวนาน พรรคไทยรักไทยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้พรรคฯ รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องสยบยอมมอบอำนาจใดๆ ที่รัฐธรรมนูญได้มีให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งแก่พวกกลุ่มอำนาจเก่า การบริหารจัดการของพรรคฯ จึงเป็นไปเพื่อยืนยันการควบคุมกระบวนการกำหนดนโยบาย การให้ทหารอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน และการทำลายเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ที่สมาชิกอันทรงอำนาจของคณะองคมนตรีได้ใช้อิทธิพลของตนเหนือข้าราชการ ระบบตุลาการ และกองกำลังทหาร ทั้งสองด้านของนโยบายเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (dual track) ที่รัฐบาลไทยรักไทยได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีเสียงข้างมากในสภานั้น ยิ่งทำให้บรรดานักธุรกิจชั้นนำในกรุงเทพฯ ถอนการสนับสนุนทักษิณ ในขณะที่นโยบายเปิดตลาดเสรีของพรรคไทยรักไทยได้ทำให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อิงกลุ่มอำนาจเก่าต้องมีการแข่งขันมากขึ้น ความนิยมที่มีต่อโครงการต่างๆ ที่ตอบสนองต่อความจำเป็นของเกษตรกรในต่างจังหวัดและคนจนเมืองก็ทำให้รัฐบาลยืนหยัดต่อแรงกดดันที่มาจากกลุ่มตัวละครหลักๆ ของกลุ่มอำนาจเก่าไว้ได้

เมื่อไม่สามารถจะขจัดหรือบั่นทอนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ด้วยวิธีใดๆ ทหารจึงใช้ยุทธวิธีในการยกขบวนรถถังและกองกำลังพิเศษเข้ามาทวงประเทศคืนจากตัวแทนของประชาชน

หลังจากการรัฐประหารเป็นต้นมา พวกกลุ่มอำนาจเก่าก็ได้พยายามที่จะรวบรวมอำนาจทางการเมืองของตน ในขณะเดียวกันก็ถอยไปซ่อนตัวอยู่หลังฉากที่สร้างภาพว่าเป็นประชาธิปไตยแบบมีรัฐธรรมนูญ กลุ่มอำนาจเก่าได้ใช้การรณรงค์อย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อกำจัดพรรคไทยรักไทยออกจากพื้นที่ทางการเมืองไทย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะกลับไปสู่การมีรัฐบาลอ่อนแอที่ยอมรับใช้ผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจเก่า เมื่อแผนนี้ไม่สำเร็จ กลุ่มอำนาจเก่าจึงต้องหันไปพึ่งฝ่ายตุลาการที่ถูกทำให้เข้ามามีส่วนพัวพันทางการเมืองอย่างมาก และได้รับอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 ให้สามารถล้มผลการเลือกตั้งที่ดำเนินอย่างเสรีได้ เพียงเพื่อทำให้การกำจัดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นดูเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ด้วยการครอบงำศาล และด้วยความสำเร็จบางส่วนในการทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติในรัฐบาลผสมของทักษิณอ่อนแอลง และด้วยความวุ่นวายที่ก่อโดยกลุ่มการเมืองนอกรัฐสภาอย่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กลุ่มอำนาจเก่าก็สามารถทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ทว่าหลังจากนั้นรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ถูกกดดันให้ต้องใช้มาตรการกดขี่เพื่อรักษาฐานอำนาจอันไม่ชอบธรรมและปราบปรามการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ก่อตัวขึ้นเพื่อตอบโต้การรัฐประหารโดยทหารเมื่อปี 2549 และการรัฐประหารโดยศาลในปี 2551 หนึ่งในวิธีการกดขี่ก็คือการที่รัฐบาลได้บล็อกเวปไซท์ประมาณ 50,000 เวป ปิดสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และกักขังคนจำนวนหนึ่งภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพอันเลื่องชื่อของไทย และภายใต้พ.ร.บ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ที่โหดร้ายพอๆ กัน เมื่อเผชิญกับการชุมนุมประท้วงโดยมวลชนที่ท้าทายอำนาจของรัฐบาล รัฐบาลก็ได้เชื้อเชิญให้กองทัพเข้ามาจัดการ และได้ระงับเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยการนำพ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พร้อมทั้งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งเข้มงวดยิ่งกว่ามาใช้ ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2553 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารชุดใหม่ของประเทศในนามของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้เข้ามาปกครองประเทศโดยไม่มีมาตรการตรวจสอบความรับผิดใดๆ ภายใต้การประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ที่ถูกประกาศอย่างไม่เหมาะสม ถูกนำมาบังคับใช้อย่างไม่สอดคล้องกับความรุนแรงของสถานการณ์ และใช้อย่างต่อเนื่องอย่างไม่มีกำหนดเพื่อที่จะปิดปากการคัดค้านใดๆ ที่มีต่อรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง นี่เป็นอีกครั้งที่กลุ่มอำนาจเก่าไม่อาจปฏิเสธข้อเรียกร้องเพื่อการปกครองตนเองของประชาชนชาวไทยได้โดยไม่ต้องหันไปหาระบอบเผด็จการทหาร

ในเดือนมีนาคม 2553 เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ โดยกลุ่มคนเสื้อแดง หรือที่เรียกว่า “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) การชุมนุมของคนเสื้อแดงดำเนินมาจนถึงวันที่ 66 ในวันที่ 19 พฤษภาคม เมื่อรถหุ้มเกราะบดขยี้แนวกั้นที่ทำขึ้นชั่วคราวรอบสี่แยกราชประสงค์ในกรุงเทพฯ และทะลวงค่ายประท้วงของคนเสื้อแดง หลายสัปดาห์ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 10 เมษายน กองกำลังทหารพยายามสลายการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่สะพานผ่านฟ้าแต่ล้มเหลว ยังผลให้มีผู้เสียชีวิต 27 ราย และในการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ระหว่างวันที่ 13 -19 พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 55 ราย เมื่อต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แกนนำนปช. ได้ประกาศยุติการชุมนุมและยอมมอบตัวกับตำรวจ

พยานนับร้อยๆ คน และวิดีโอคลิปพันๆ คลิป ได้บันทึกการใช้กระสุนจริงอย่างเป็นระบบโดยกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของไทยต่อพลเรือนที่ไร้อาวุธ รวมถึงนักข่าวและเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์ฉุกเฉินในเดือนเมษายนและพฤษภาคม นับถึงเวลาที่บริเวณที่ชุมนุมได้ถูกเคลียร์เรียบร้อย อาคารพาณิชย์สำคัญๆ สองสามแห่งยังคงมีควันกรุ่น มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 80 คน และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำการชุมนุมมากกว่า 50 คนอาจเผชิญกับโทษประหารชีวิตจากข้อหา “ก่อการร้าย” ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนยังคงถูกควบคุมตัวข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งรัฐบาลไทยนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้การชุมนุมทางการเมืองที่ชอบธรรมกลับกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีการออกหมายจับจำนวนสูงถึงแปดร้อยหมาย และทางการยังได้สั่งแช่แข็งบัญชีธนาคารของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมขบวนการและอาจเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินแก่นปช.อีกอย่างน้อย 83 ราย ที่น่าสลดใจก็คือ แกนนำคนเสื้อแดงในท้องถิ่นต่างๆ ได้ถูกลอบสังหารในชลบุรี นครราชสีมา และปทุมธานี

ท่ามกลางเหตุการณ์ที่น่าสลดอันเป็นจุดสูงสุดของโครงการสี่ปีในการโค่นเจตนารมย์ของประชาชนเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มอำนาจเก่า สมุดปกขาวเล่มนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้

วัตถุประสงค์ข้อแรกคือเพื่อเน้นถึงพันธกรณีของประไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ และพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ในการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงทั้งหลายที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดง รวมถึงต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนซึ่งอยู่ภายใต้สายการบังคับบัญชาสำหรับอาชญากรรมอย่างการสังหารพลเรือนกว่า 80 รายโดยพลการและตามอำเภอใจในกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมด้วย ข้อเท็จจริงต่างๆ ปรากฏอย่างชัดเจนว่ามีการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการใช้กองกำลังทหารอย่างเกินความจำเป็น การกักขังโดยพลการต่อเนื่องเป็นเวลานาน และการทำให้ประชาชนบางส่วนหายสาบสูญ และยังมีระบบการประหัตประหารทางการเมืองที่ปฏิเสธเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและในการแสดงออกของพลเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง มีหลักฐานว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเพียงพอที่จะดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงอย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง เพื่อที่ผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายอาญาระหว่างประเทศจะถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จากประวัติศาสตร์ความเป็นปรปักษ์ต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ทำให้เป็นการสมเหตุสมผลที่จะยืนยันให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างเหมาะสม ด้วยหน่วยงานที่เป็นกลางและเป็นอิสระ เพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบต้องการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชนดังกล่าวจะต้องรับผิดตามที่กำหนดโดยกฎหมายระหว่างประเทศ

เป้าหมายประการที่สองเกี่ยวข้องกับพันธกรณีของประเทศไทยในการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นในด้านสิทธิทางการเมือง หลังจากการรัฐประหารในปี 2549 และในระหว่างที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลที่มีทหารหนุนหลังพยายามที่จะรวบรวมอำนาจของตนโดยการกดขี่ปราบปรามการคัดค้านทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง มาตรการประการหนึ่งก็คือ การปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวนั้นโดยมีการประทุษร้ายประชาชนพลเรือนที่ไร้อาวุธอย่างเป็นระบบและอย่างเป็นวงกว้าง ซึ่งอาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศซึ่งกำหนดให้จัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮกอีกด้วย แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมฯ แต่การกระทำผิดต่อกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างร้ายแรงนี้ก็อาจจะเป็นเหตุเพียงพอให้ได้รับการพิจารณาให้เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้หากเป็นการดำเนินการโดยรู้ถึงการกระทำนั้นภายใต้นโยบายที่ยอมให้เกิดหรือสนับสนุนให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตโดยไม่จำเป็น หรือเป็นนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อโจมตีกลุ่มทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง มีหลักฐานมากมายที่ชี้ว่าแผนต่อต้านคนเสื้อแดงที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลา 4 ปีและที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันภายใต้นโยบายที่รับรองโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และการสังหารหมู่คนเสื้อแดงที่เพิ่งผ่านมาก็เป็นเพียงการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวครั้งล่าสุดเท่านั้น

สมุดปกขาวเล่มนี้ศึกษาการเกิดขึ้นของความรุนแรงในประเทศไทย รวมถึงการปฏิบัติการทางทหารในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2553 รวมทั้งการปราบปรามในเดือนเมษายนปี 2552 ที่มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน จากแง่มุมของหลักประกันตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หลักฐานต่างๆ นั้นเพียงพอต่อการสืบสวนโดยหน่วยงานที่เป็นอิสระและเป็นกลางถึงนัยยะทางอาญาของการประหัตประหารทางการเมืองเช่นนี้ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

วัตถุประสงค์ประการที่สามของสมุดปกขาวเล่มนี้คือเพื่อยืนยันถึงสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศของสมาชิกนปช.หลายร้อยคนที่กำลังเผชิญข้อกล่าวหาทางอาญาจากการเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองรับรองสิทธิในการต่อสู้ดคีอย่างยุติธรรม รวมถึงสิทธิที่จะเลือกทนายของตนเอง เพื่อเตรียมการต่อสู้คดีโดยมีเวลาและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอ และสิทธิในการสามารถเข้าถึงหลักฐานได้อย่างเท่าเทียม [1] ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิในการตรวจสอบหลักฐานอย่างอิสระผ่านทางผู้เชี่ยวชาญหรือทนายของตนเอง ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันกับรัฐบาล และมีสิทธิในการเรียกพยานหลักฐานฝ่ายตนเพื่อแก้ต่างให้ตนเองได้ [2] เพื่อเป็นการตอบสนองต่อข้อประท้วงของนานาชาติเกี่ยวกับความรุนแรงในเดือนเมษายนและพฤษภาคม นายอภิสิทธิ์ได้ประกาศโร้ดแมปเพื่อการปรองดองและได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาอย่างเป็นทางการ สิ่งที่หายไปจากโร้ดแมปของอภิสิทธิ์ก็คือ ความเป็นอิสระและความเป็นกลางอย่างแท้จริงในกระบวนการตรวจสอบตัวเอง นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด ที่ได้รบแต่งตั้งให้นำคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ได้บอกกับสื่อมวลชนในเกือบจะในทันทีทันใดว่าเขาสนใจในการ “ส่งเสริมการให้อภัย” มากกว่าการเรียนรู้ข้อเท็จจริง [3] การละเลยเช่นนี้อาจจะสอดคล้องกับแนวความคิดเรื่องการปรองดองแบบเดิมๆ ของไทย ที่ให้นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่สังหารผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2516, 2519 และ 2535 หลายร้อยคน แต่ไม่ทำอะไรกับการสืบหาข้อเท็จจริงหรือส่งเสริมการสมานฉันท์ที่แท้จริงเลย

ปัจจัยหลายอย่างได้ชี้ให้เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องมีการเข้ามาเกี่ยวข้องจากประชาคมโลก เพื่อรักษาการสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทุกกรณีอย่างเป็นอิสระและเป็นกลาง ประการแรก รัฐบาลไม่มีทีท่าจะยอมอ่อนข้อในการยึดอำนาจทางการเมือง โดยการให้ผู้นำทหารและพลเรือนถูกดำเนินคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ประการที่สอง การกักขังที่ยาวนานและการไม่สนใจที่จะดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมต่อคนเสื้อแดงหลายร้อยคนที่ถูกรัฐบาลตัดสินไปล่วงหน้าแล้วว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” นั้นทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมของการสอบข้อเท็จจริงในกรณีนี้ ประการที่สาม คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของอภิสิทธิ์ทำงานรับใช้ความต้องการของนายกรัฐมนตรี และไม่มีหน้าที่ที่ชัดเจนในการสืบสวนหรือดำเนินคดีกับรัฐบาล ส่วนความสามารถในการค้นหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการก็ถูกขัดขวางโดยกฎระเบียบต่างๆ ที่ออกภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ถูกเหมือนจะยังคงมีผลในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของการดำเนินการของคณะกรรมการ ประการสุดท้าย การวิเคราะห์หลักฐานของรัฐบาลไทยนั้นมีแนวโน้มจะโอนเอียงและเชื่อถือไม่ได้เช่นที่มักจะเป็นในทุกครั้งที่รัฐบาลต้องทำการตรวจสอบการกระทำผิดของตัวเอง การที่รัฐบาลยึดมั่นกับผู้สืบสวนที่เลือกมาจากฐานของการถือข้างมากกว่าจากฐานของความเชี่ยวชาญทำให้กระบวนการไต่สวนทั้งหมดมีมลทิน การสืบสวนข้อเท็จจริงที่มีอคติ ไม่เป็นกลาง และตอบสนองผลประโยชน์ของรัฐบาลทหารนั้นก็เท่ากับไม่มีการสืบสวนเลย

ทุกคนย่อมยอมรับความจริงที่ว่าประเทศไทยควรจะก้าวให้พ้นความรุนแรง และดำเนินการให้เกิดความปรองดอง ทว่าความปรองดองนั้นจำเป็นต้องเริ่มด้วยการฟื้นคืนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการปกครองตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นความปรองดองนี้ยังต้องการความรับผิดอย่างเต็มที่ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงที่กระทำไปเพื่อยับยั้งสิทธิในการปกครองตนเองนั้น กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ว่าไม่อาจยอมรับสิ่งที่น้อยไปกว่านี้ได้

000

บทที่ 2 เส้นทางไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย

ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบ “ประชาธิปไตย” มาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อปีพ.ศ. 2475 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในความจริง นอกจากช่วงเวลาที่เป็นเผด็จการทหารอย่างรุนแรงในระหว่างปี พ.ศ. 2501- 2512 แล้ว ประเทศไทยมีการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติเป็นประจำมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ทว่า อำนาจมักจะถูกเปลี่ยนมือด้วยการรัฐประหารโดยทหารมากกว่าด้วยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และจะมีการนำรัฐธรรมนูญฉบับที่สนับสนุนโดยทหารและรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยทหารเข้ามาบังคับใช้แทนที่รัฐธรรมนูญและรัฐบาลของช่วงเวลานั้น รัฐธรรมนูญในช่วงหลังมักจะถูกร่างขึ้นเพื่อรักษาการควบคุมของกลุ่มที่ก่อการรัฐประหาร ไม่ว่าผู้ก่อการจะตั้งใจใช้อำนาจโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านทางการให้ตัวแทนหรือการเข้าควบคุมจัดการรัฐบาลพลเรือนที่อ่อนแอ การจัดการเช่นนี้จะยังคงมีผลบังคับใช้ไปจนกว่าจะมีกลุ่มทหารกลุ่มอื่นทำรัฐประหารครั้งใหม่ และนำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อทำให้สมดุลย์อำนาจใหม่ได้รับการรับรองในกฎหมายขึ้นมาใช้ [4] วิธีปฏิบัติเช่นนี้ดำเนินเรื่อยมา ผ่านทางการรัฐประหารโดยทหารที่สำเร็จ 11 ครั้ง รัฐธรรมนูญ 14 ฉบับ และแผนการและปฏิบัติการล้มล้างรัฐบาลที่ไม่สำเร็จอีกหลายครั้ง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2475 มาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2535

ตลอดช่วงเวลาเหล่านี้ ประเทศไทยมีช่วง “ประชาธิปไตย” สั้นๆ เพียงสามครั้งที่หยั่งรากอยู่ในเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแข่งขันในการเลือกตั้งอย่างแท้จริง โดยครั้งแรกคือหลังจากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2507 และครั้งที่สองคือหลังจากการประท้วงใหญ่ในปี 2516 ครั้งที่สามคือหลังการเลือกตั้งที่ได้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2531 ในทั้งสามครั้งนี้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถูกล้มล้างด้วยกระบอกปืนของกองกำลังทหาร และถูกแทนที่ด้วยระบอบที่เหมาะสมกับการคุ้มครองอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่าและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของพวกเขามากกว่า

นอกจากช่วงเวลาสั้นๆ เหล่านั้นแล้ว ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาถูกปกครองโดยระบอบที่มีส่วนผสมของประชาธิปไตยและเผด็จการแตกต่างกันไป สิ่งที่ทุกระบอบมีเหมือนกันก็คือ เครือข่ายของเจ้าหน้าที่รัฐในราชการพลเรือนและทหาร หรือที่เรียกว่ากลุ่มอำมาตย์ ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจทางการเมืองที่แท้จริง ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนขึ้นมา ผู้แทนของประชาชนมีอิสรภาพระดับหนึ่ง และมีมากขึ้นในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา แต่ภายใต้ระบบอำมาตยาธิปไตย (คำที่ใช้เรียกระบบรัฐบาลที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มอำมาตย์ มักจะใช้ในทางตรงข้ามกับ “ประชาธิปไตย”) รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่เคยได้รับสิทธิในการกำหนดให้ทหารอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน และเข้าควบคุมกระบวนการกำหนดนโยบายทางทหารได้ ที่จริงแล้ว แนวคิดเรื่อง “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ได้ถูกจัดขึ้นโดยรัฐไทยตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2500 เป็นต้นมา โดยหมายถึงรูปแบบรัฐบาลที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่มีการกำหนดข้อจำกัดเข้มงวดเรื่องเสรีภาพของพลเมือง และเรื่องขอบเขตอำนาจที่เจ้าหน้าที่ที่มาจากการเลือกตั้งสามารถใช้ได้ ระบบรัฐบาลแบบนี้ที่อยู่บนฐานของการยินยอมอย่างไม่ใยดีของประชากรไทยส่วนใหญ่ ได้รักษาอำนาจของทหาร ข้าราชการ นายทุนขนาดใหญ่ และกลุ่มองคมนตรี (หรือเรียกรวมๆว่า “กลุ่มอำนาจเก่า”) ในการกำหนดนโยบายระดับชาติส่วนใหญ่เอาไว้

เหตุการณ์ต่างๆ หลังจากการยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โดยกองทัพที่นำโดยพลเอกสุจินดา คราประยูร เมื่อปีพ.ศ. 2533 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องอำนาจนำของกลุ่มอำนาจเก่าที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเหนือระบบการเมืองไทย การประท้วงโดยประชาชนจำนวนมากที่ต่อต้านการขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา หลังจากที่มีการเลือกตั้งที่มีเปลือกนอกว่าเป็น “ประชาธิปไตย” ในเดือนมีนาคม 2535 ได้นำไปสู่การปะทะรุนแรงเป็นประวัติการณ์ระหว่างพลเรือนกับทหารในช่วงวันที่ 17-20 พฤษภาคม ผู้ประท้วงหลายสิบคนที่เรียกร้องให้พลเอกสุจินดาลาออกและนำประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยถูกสังหารโดยโหดร้ายโดยทหารในช่วงระหว่างเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ” ปี 2535 ในท้ายที่สุด พลเอกสุจินดา ได้ลาออกหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ปรากฏพระองค์ต่อสาธารณะ และนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ในเดือนกันยายน 2535

โศกนาฏกรรมพฤษภาทมิฬทำให้ประเทศเดินเข้าสู่หนทางการเป็น “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อย่างแท้จริง และมีกระบวนการปฏิรูปเป็นเวลานานห้าปี อันสิ้นสุดลงด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างสูงในกระบวนการที่นำไปสู่การออกรัฐธรรมนูญ รวมถึงการที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยอย่างไม่กำกวม รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2540 นี้จึงเป็นที่รู้จักกันในนาม “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2540 นำมาซึ่งยุคใหม่แห่งการเมืองที่ไม่มีการกีดกันในไทย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ผู้แทนของประชาชนเป็นผู้ร่างและรับรองรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นการกำหนดมาจากกลุ่มอำนาจเก่าอย่างแต่เดิม นำไปสู่ยุคแห่งประชาธิปไตยที่แท้จริง ความโปร่งใส และการรับผิดตรวจสอบได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของพลเมือง ซึ่งฉบับก่อนหน้านี้ไม่ได้รองรับ และยังกำหนดกลไกอีกบางประการ รวมถึงเรื่องการเลือกตั้งสภาทั้งสอง ระบบการเลือกตั้งแบบปาร์ตี้ลิสต์เพื่อมาใช้พร้อมกับระบบแบ่งเขตแบบเดิม และตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกแบบมาเพื่อรับประกันว่าจะมีรัฐบาลตัวแทนอย่างเต็มที่ และเพื่อสร้างสนามเลือกตั้งที่เท่าเทียมกันสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในขณะที่ยังรักษาความเป็นธรรมและความซื่อสัตย์เอาไว้ให้ได้ [5] ที่สำคัญก็คือ รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 นี้ยังห้ามการใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองแบบประชาธิปไตย และยังห้ามความพยายามใดๆ ในการ “ให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้” [6] และยังห้ามทำการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยกเว้นแต่เป็นไปตามหลักการและวิธีการที่บัญญัติไว้ [7]

รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 ยังได้สร้างเสถียรภาพทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการรับรองในช่วงที่มีวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและทางการเงินอย่างหนักในประเทศ การส่งออกลดลงและความกังวลเรื่องสถานการณ์ของภาคการเงินทำให้เกิดการไหลออกของทุนขนาดใหญ่อย่างทันที จนเกิดวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงปลายปีพ.ศ. 2540 [8] ในสถานการณ์ที่ประชาชนต่างไม่พอใจรัฐบาลที่ไม่สามารกู้วิกฤติเศรษฐกิจของปะเทศได้ จึงเป็นที่คาดกันว่าอาจจะเกิดการรัฐประหารครั้งที่ 12 อย่างแน่นอน แต่ถึงกระนั้นวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ก็ไม่ได้นำไปสู่วิกฤตทางการเมือง ข้อผูกพันมุ่งมั่นของประเทศที่จะเป็นประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงดูเหมือนจะยังคงถูกรักษาไว้ได้ในที่สุด [9]

รัฐธรรมนูญ 2540 ยังกำหนดยุทธศาสตร์ทางการเมืองแบบใหม่ ก่อนหน้านี้พรรคการเมืองที่อ่อนแอและแตกแยกต้องขึ้นอยู่กับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นและเครือข่ายเส้นสายของระบบอุปถัมภ์ ในการระดมพลังสนับสนุนในพื้นที่การเลือกตั้งส่วนใหญ่ของประเทศ เนื่องจากพรรคเหล่านั้นมีเนื้อหาเชิงโครงการน้อยมาก และมีภาพลักษณ์ของพรรคไม่ชัดเจน ด้วยระบบตรวจสอบและถ่วงดุลย์ การป้องกันการคอร์รัปชั่น และด้วยบทบัญญัติใหม่ๆ ที่เสริมอำนาจของฝ่ายบริหารโดยการทำให้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งมีความเปราะบางต่อการแปรพรรคน้อยลง รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 ได้เปิดช่องทางให้เกิดการเติบโตของผู้นำทางการเมืองใหม่ๆ ที่พยายามจะสร้างพรรคการเมืองระดับชาติที่เข้มแข็งที่อยู่บนฐานของวาระนโยบายเชิงโครงการที่ชัดเจน ที่อาจจะเป็นที่สนใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ นี่เป็นบริบทที่ทำให้ทักษิณ ชินวัตร ตั้งพรรคไทยรักไทยและนำพรรคไปสู่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งในปี 2544 และ 2548 อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้จินตนารของคนนับล้านๆเป็นจริง และได้มอบปากเสียงให้แก่พลังทางการเมืองที่ปัจจุบันนี้คัดค้านการบริหารปกครองของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างมั่นคง

000

บทที่ 3 การขึ้นสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทย

ทักษิณ ชินวัตร เกิดเมื่อปีพ.ศ. 2492 เป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจในปีพ.ศ. 2516 และรับราชการเป็นเวลา 14 ปี จนมียศพันตำรวจโท ซึ่งในระหว่างนั้นเขาได้ลาไปศึกษาต่อขั้นปริญญาโทและปริญญาเอกในสาขาอาชญาวิทยาที่มหาวิทยาลัย Eastern Kentucky และมหาวิทยาลัย Sam Houston ในเท็กซัส

ในปีพ.ศ. 2526 ขณะรับราชการตำรวจอยู่นั้น ทักษิณก่อตั้งบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์แอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์กรุ๊ป กับภรรยาและพี่ชายภรรยา หลังจากออกจากราชการตำรวจในปี 2530 และทุ่มเทความสนใจทั้งหมดให้กับธุรกิจ บริษัทของเขาก็เติบโตเป็นบริษัทชินคอร์ป ในช่วงทศวรรษ 1990s (2533-2542) บริษัทนี้เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจโทรคมนาคมโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่กำลังเริ่มต้นในประเทศไทย ในปี 2537 อันเป็นปีที่เขาเข้าสู่วงการการเมือง นิตยสาร Forbes ประเมินว่าเขามีทรัพย์สินประมาณ 1.6 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

ทักษิณเข้าสู่การเมืองโดยเข้าร่วมในรัฐบาลชวน หลีกภัย ในปี 2537 เมื่อเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะสมาชิกพรรคพลังธรรมของพลตรีจำลองศรีเมือง จากนั้นเขาก็เป็นรองนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลาสั้นๆ ในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา (2538-2539) และรัฐบาลชวลิต ยงใจยุทธ (2540) ในวันที่ 14 กรกฏคม 2541 เขาก่อตั้งพรรคไทยรักไทยอย่างเป็นทางการร่วมกับสมาชิกพรรครุ่นก่อตั้ง 22 คน ภายใต้การนำของทักษิณ ไม่นานพรรคก็ประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยมีพรรคการเมืองใดทำได้มาก่อนเลยในประเทศไทย

ในความพยายามที่จะแก้ปัญหาวิกฤตการเงินในปี 2540 รัฐบาลไทยได้ขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เงินกู้จำนวน 1.7 หมื่นล้านเหรียญนั้นต้องแลกมาด้วยกับการยอมรับเงื่อนไขของ IMF ที่จะต้องมีการปฏิรูประบบการเงิน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และมาตรการอื่นๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (foreign direct investment) ในช่วงแรก การปฏิรูปเหล่านี้ก่อให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ค่าจ้างตกต่ำลง อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรและแรงงาน บรรดานักธุรกิจชั้นนำในกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงได้เข้าร่วมขบวนการชาตินิยมที่กำลังขยายตัวต่อต้าน IMF และพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นรัฐบาลขณะนั้น นายกฯ ชวน หลีกภัยถูกโจมตีจากหลายด้าน ทั้งภาคธุรกิจขนาดใหญ่ นักวิชาการ องค์กรประชาสังคมก่นประนามเขาว่าทำลายเศรษฐกิจ รับนโยบายจากต่างประเทศ ปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาฮุบทรัพย์สินของไทยในราคาถูก

ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2544 พรรคไทยรักไทยของทักษิณปราศรัยถึงประเด็นเหล่านี้อย่างดุเดือด พรรคมีนโยบายให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ สาธารณสุข การศึกษา และพลังงาน ในขณะเดียวกันนโยบายสวัสดิการสังคมของไทยรักไทยและการพัฒนาชนบทก็ได้รับความนิยมอย่างมากจากชนชั้นแรงงานในเมืองและเกษตรกรในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจมากที่สุด

ด้วยมาตรฐานของประเทศที่คุ้นชินกับการมีรัฐบาลผสมที่เคยประกอบด้วยพรรคการเมืองมากถึง 16 พรรค พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2544 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างถล่มทลาย ได้ที่นั่งในสภาถึง 248 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่พรรคการเมืองหนึ่งเกือบจะได้เสียงข้างมากในสภา และผลจากการเลือกตั้ง ทักษิณ ชินวัตรก็ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ คนที่ 23 ของไทย

ชัยชนะของพรรคไทยรักไทยที่หีบเลือกตั้งและการเพิ่มจำนวนสส.จากการรวมกับพรรคอื่นในภายหลังนำไปสู่สภาพการณ์ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกลุ่มอำนาจเก่าของไทย ซึ่งก็คือ องคมนตรี ผู้นำกองทัพ ข้าราชการระดับสูง ผู้พิพากษาศาลสูง ผู้นำทางธุรกิจ ที่ได้สะสมความมั่งคั่งในระบบการเมืองก่อนที่จะมีทักษิณ ก็สนับสนุนการการขึ้นมาของทักษิณอย่างกระตือลือล้นในช่วงแรก แต่เมื่อความชอบธรรมจากการกุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาทำให้นายกฯ อยู่ในฐานะที่สามารถผลักดันนโยบายของพรรคไทยรักไทยได้โดยไม่จำเป็นต้องต่อรองหรือขอความเห็นชอบจากกลุ่มอำนาจเก่า ความเข้มแข็งที่ได้มาด้วยความนิยมชมชอบของประชาชนในการเลือกตั้ง คุกคามอำนาจในการกำหนดนโยบายประเทศที่พวกอำมาตย์ยึดกุมมาตลอดตั้งแต่ประเทศไทยดูคล้ายจะเป็นประชาธิปไตยมา

ก่อนหน้านี้กลุ่มอำนาจเก่ากุมอำนาจเหนือระบบการเมืองของประเทศและนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยอาศัยยุทธวิธีแบ่งแยกและปกครอง ภาวะเบี้ยหัวแตกของระบบพรรคการเมืองของไทยได้ป้องกันการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนที่มีฐานจากการเลือกตั้งที่จะสามารถท้าทายอำนาจนอกรัฐธรรมนูญของกลุ่มอำนาจเก่า การเลือกตั้งปี 2544 ทำให้ทักษิณมีฐานมวลชนสนับสนุนอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ซึ่งเขาใช้ฐานสนับสนุนนั้นในการทำสิ่งที่เขาได้สัญญาไว้ ในช่วง 1 ปีแรก เขาดำเนินนโยบายตามที่ได้เสนอไว้ในการหาเสียง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทักษิณยังกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ทำงานครบวาระ พรรคไทยรักไทยหาเสียงในการเลือกตั้งปี 2548 ด้วยนโยบายต่อเนื่องภายใต้สโลแกน “สี่ปีซ่อม สี่ปีสร้าง” และผลการเลือกตั้งในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ก็เป็นชัยชนะที่ถล่มทลายยิ่งกว่าเดิม หลังจากการเลือกตั้งปี 2548 พรรคไทยรักไทยกุมเสียงข้างมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งในสภา พรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุดคือประชาธิปัตย์สูญเสียที่นั่งกว่าหนึ่งในสี่ เหลือไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งในสภา และถือเป็นครั้งแรกอีกเช่นเดียวกันที่ทักษิณได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกฯ อีกครั้ง

ในขณะที่หลายคนในกลุ่มอำนาจเก่าของไทยเคยมองทักษิณว่าเป็นคนที่อาจสามารถช่วยกอบกู้ให้พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ที่ทำลายความมั่งคั่งของพวกเขาไปไม่น้อย พอเริ่มต้นวาระที่สอง ทักษิณก็ได้กลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองของกลุ่มอำนาจเก่า มาถึงปี 2548 นี้ ทักษิณไม่เพียงแต่ยึดกุมสนามการเลือกตั้งในประเทศไทยได้เท่านั้น การที่เขาได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนยังทำให้เขามีโอกาสขับเคลื่อนในทิศทางที่ดึงอำนาจตามรัฐธรรมออกมาจากกลุ่มอำนาจเก่า ชนิดที่ไม่มีนายกฯ พลเรือนคนไหนเคยทำได้มาก่อน ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้วรัฐธรรมนูญของประเทศไทยส่วนใหญ่ก็มอบอำนาจดังกล่าวไว้แก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่แล้ว

รัฐบาลทักษิณมีลักษณะเป็นภัยคุกคามหลายประการต่อกลุ่มหลักๆ 4 กลุ่มที่ประกอบเป็นกลุ่มอำนาจเก่าของไทยอันได้แก่ 1) กลุ่มธุรกิจการเงินในกรุงเทพฯ 2) ผู้นำทางทหาร 3) ข้าราชการพลเรือนชั้นสูง 4) กลุ่มองคมนตรี

พวกนักธุรกิจชั้นนำในกรุงเทพฯ ที่ทักษิณเคยทอดสะพานให้ครั้งเขาลงชิงตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรก กลับหันมาต่อต้านรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเพราะดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นไปที่เกษตรกรและคนจนในเมือง ตลอดจนการเปิดเสรีทางการค้า โดยผู้ต่อต้านนั้นพูดอย่างชัดเจนว่า “เป้าประสงค์นั้นคือการต่อต้านนโยบายแบบทักษิโนมิคส์”

น่าขำที่ทักษิณมักถูกโจมตีเรื่อง “ประชานิยม” (เมื่อเร็วๆนี้ พวกเสื้อแดงก็ถูกเรียกว่าเป็นพวก “มาร์กซิสต์”) การสนับสนุนการค้าเสรีของเขานั่นเองที่สร้างความระคายเคืองแก่คนรวยมากที่สุด นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ Suehiro Akira อธิบายเศรษฐกิจประเทศไทยยุคหลังสงครามว่าถูกครอบงำโดยครอบครัวที่เป็น ทุนนิยมพวกพ้อง (“client capitalist”) ไม่กี่สิบครอบครัว ที่ยึดกุมและรักษาการผูกขาดเกือบโดยสิ้นเชิงเหนือภาคส่วนทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก ซึ่งเป็นผลจากเส้นสายความสัมพันธ์ที่พวกเขามีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ทรงอิทธิพล ในการแลกเปลี่ยนเพื่อความมั่งคั่งส่วนตัว เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจในฝ่ายพลเรือนหรือนายทหารระดับสูงจะคอยดูแลให้กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ภายในประเทศต้องได้รับผลประโยชน์จากนโยบายต่างๆ ความอ่อนแอของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และการป้องกันการแข่งกันจากภายในและภายนอกประเทศของรัฐ

วิกฤติการเงินเอเชียทำให้หลายครอบครัวในกลุ่มนี้ต้องมีหนี้สิน ทำให้พวกเขาต้องยอมขายกิจการให้กับต่างชาติ รัฐบาลไทยได้เข้ามาช่วยเหลือธุรกิจขนาดใหญ่เมื่อต้นปี 2544 โดยการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์แห่งชาติ เพื่อซื้อหนี้เงินกู้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non-performing loans)มูลค่า1.2 พันล้านเหรียญทั้งที่เกิดจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งหนี้เงินกู้เหล่านี้หลายตัวก็ยังคงไม่ก่อรายได้ (underperforming)อยู่จนถึงปี 2548 และบริษัทที่กู้เงินก็ยังมีหนี้ค้างชำระกับธนาคารจำนวนมาก ภายใต้การบริหารงานของทักษิณ บรรดานักธุรกิจชั้นนำของกรุงเทพ ผู้ซึ่งแต่ไหนแต่ไรเคยชินกับการอาศัยอิทธิพลทางการเมืองในการปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน เริ่มที่จะเสี่ยงต่อการสูญเสียอิทธิพลที่มีต่อรัฐบาลและหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ ทำให้พวกเขาตกอยู่ในฐานะที่อ่อนแอในการต่อรองกับธนาคารเกี่ยวกับหนี้ที่ยังค้างชำระ นอกจากนี้ การที่นโยบายเศรษฐกิจของไทยรักไทยมุ่งเน้นสนับสนุนการค้าเสรีก็คุกคามกลุ่มธุรกิจภายในประเทศให้ต้องเผชิญกับการแข่งขันจริงๆ อีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่คุ้นที่จะต้องเผชิญ ครอบครัวที่ควบคุมอาณาจักรเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ไทยเบเวอเรจ เจริญโภคภัณฑ์กรุ๊ป และทีพีไอ โพลีน กลับกลายมาเป็นปฏิปักษ์ตัวฉกาจของทักษิณ

นอกจาก ทุนนิยมพวกพ้อง client capitalists เหล่านี้แล้ว นโยบายของทักษิณได้คุกคามเครือข่ายราชการ (หรืออำมาตยา) ที่ได้คอยดูแลให้ครอบครัวเหล่านี้มีอำนาจครอบงำเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด ในด้านหนึ่ง การที่ทักษิณพยายามลดทอนอำนาจของทหาร ข้าราชการ และองคมนตรีในการกำหนดนโยบายประเทศนั้นยังได้ไปบ่อนเซาะเกราะคุ้มกันจากการแข่งขันที่พวกนักธุรกิจชั้นนำเคยได้รับเสมอมาจากระบบอมาตยาอีกด้วย และในอีกทางหนึ่ง ความมุ่งมั่นของทักษิณที่จะลดบทบาทของสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งให้เหลือเพียงบทบาทที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ก็เป็นภัยคุกคามต่ออิทธิพลและรายได้ของของกลุ่มอำมาตย์

ข้าราชการอาชีพอาจเป็นกลุ่มหันมาต่อต้านรัฐบาลทักษิณเร็วที่สุด ตั้งแต่แรกทีเดียว ทักษิณได้กำหนดตนเองเป็นตัวเปรียบเทียบกับคนที่อยู่ในระบบราชการและนักการเมืองอาชีพ ทันทีที่เข้ามาเป็นรัฐบาล การดำเนินนโยบายของไทยรักไทยทำให้รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลกระบวนการกำหนดนโยบายโดยตรง ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาอยู่ในมือของข้าราชการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ในการพยายามที่จะทำให้รัฐบาลมีอำนาจควบคุมการออกแบบและดำเนินการนโยบายใหม่ๆ ทักษิณได้ทำให้ข้าราชการระดับสูงมีบทบาทลดน้อยถอยลง ทั้งโดยการให้อำนาจแก่ฝ่ายการเมืองและการปฏิรูประบบราชการที่ทำให้เกิดกระทรวงใหม่ขึ้นมาหกกระทรวงเพื่อให้ระบบราชการทำงานได้คล่องแคล่วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพและการสนองตอบต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ทักษิณพยายามอย่างหนักที่จะได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ในช่วงเวลาที่ทักษิณเข้ารับตำแหน่ง กองทัพยังคงมีภาพพจน์ที่ไม่ดีที่ผู้นำกองทัพกระทำไว้จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 อย่างไรก็ตาม ด้วยประวัติศาสตร์ของไทย บรรดานายพลก็ยังคงเป็นกลุ่มอำนาจที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่สามารถจะมองข้ามได้ งบประมาณของกองทัพที่ถูกหั่นลงอย่างมากหลังวิกฤติทางการเงินเอเชีย ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในช่วงสมัยแรกของทักษิณ จาก 71.3 พันล้านบาทในปี 2543 เพิ่มขึ้นเป็น 86.7 ในปี 2549 ทว่าในเวลาเดียวกัน ทักษิณก็พยายามที่จะทำให้กองทัพอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือนมากขึ้น ในทางหนึ่งเขาปฏิเสธที่จะเพิ่มค่าใช้จ่ายของกองทัพตามที่ขอมา (ที่กองทัพต้องการนั้นดูได้จากงบประมาณทหารที่เพิ่มขึ้นมา 35 เปอร์เซ็นต์ตามที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติอนุมัติหลังการรัฐประหาร) ในอีกทางหนึ่ง ทักษิณใช้การโยกย้ายตำแหน่งเพื่อสร้างความพอใจให้กับผู้ที่ภักดีต่อรัฐบาลและตัวเขาเอง ซึ่งทำให้นายทหารชั้นสูงหลายคนไม่พอใจที่ถูกข้ามหัวหรือเห็นอนาคตตีบตัน

การต่อต้านของเครือข่ายที่ปรึกษาของราชสำนักที่นำโดยประธานองคมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการถูกถอดจากตำแหน่งของทักษิณ สำหรับพลเอกเปรมและพันธมิตรแล้ว ประเด็นขัดแย้งคือการบ่อนเซาะอำนาจทางการเมืองที่เป็นผลมาจากความพยายามอย่างเป็นระบบของทักษิณที่จะขจัดระบบอุปถัมภ์อันเป็นช่องทางที่บรรดาผู้แวดล้อมราชสำนักใช้อำนาจอิทธิพลในการบริหารราชการแผ่นดินแทบทุกแง่มุม การที่ทักษิณพยายามทำให้กองทัพและราชการพลเรือนอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาล ตลอดจนลดอิทธิพลของพล.อ.เปรมที่มีต่อศาลและองค์กรอิสระ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการต่อต้านจากองคมนตรี ในปี 2549 หลังจากประสบความสำเร็จในการผลักดันให้พลเอกสนธิ บุญยรัตกลินได้ขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพ พลเอกเปรมก็เริ่มวางแผนการรัฐประหารอยู่หลังฉากและทำการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยมุ่งหมายบ่อนทำลายความภักดีของกองทัพที่มีต่อรัฐบาลจากการเลือกตั้งเป็นการเฉพาะ

กฎสำคัญข้อหนึ่งที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาก็คือ รัฐบาลพลเรือนจะเป็นที่อดรนทนได้ตราบใดที่เป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ แตกแยกภายใน ต้องคล้อยตามระบบอมาตยาในกองทัพ ราชการ และองคมนตรี และรับใช้ผลประโยชน์ของนักธุรกิจชั้นนำในกรุงเทพฯ รัฐบาลใดที่พยายามจะทำในสิ่งที่แตกต่าง ก็จะถูกบ่อนทำลายอย่างเป็นระบบ และหากบ่อนทำลายไม่สำเร็จ ก็จะถูกขจัดออกไปโดยกองทัพ ทักษิณไม่เพียงแต่ละเมิดกฎอันไม่เป็นทางการข้อนี้ด้วยการทุ่มเทบริหารประเทศอย่างไม่บันยะบันยัง การอยู่ในตำแหน่งนายกฯ จนครบวาระและชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งสองครั้งซ้อนอันเนื่องมาจากการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากมวลชนที่พึงพอใจในนโยบาย เป็นการคุกคามที่จะเปลี่ยนทิวทัศน์ทางการเมืองของไทยโดยขจัดอำนาจนอกรัฐธรรมนูญที่มีมาอย่างยาวนานของกลุ่มอำนาจเก่าที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ด้วยสังขารที่ร่วงโรยของผู้นำที่มีบารมีสูงสุดบางคนของอำมาตย์ กลุ่มอำนาจเก่าก็ตัดสินใจว่าจำเป็นต้องลงมืออย่างรวดเร็วและเด็ดขาดเพื่อทำลายล้างพรรคไทยรักไทยและการท้าทายอำนาจอย่างใหญ่หลวงที่สุดที่พวกเขาเคยประสบในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา

000


อ้างอิง:

  1. [1] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 วรรค 3(ข) และ 3(จ)
  2. [2] ICCPR ข้อ 14 วรรค 3(จ)
  3. [3] “Deaths Probe ‘Won’t Cast Blame’,” Bangkok Post, 12 มิถุนายน 2553
  4. [4] Pinai Nanakorn, “Re-Making of the Constitution in Thailand,” Singapore Journal of International & Comparative Law, 6(2002): 90-115, p. 93.
  5. [5] เพิ่งหน้า, หน้า 107-09.
  6. [6] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 (จากนี้เรียก รัฐธรรมนูญฉบับ 2540), ข้อ 63
  7. [7] เพิ่งอ้าง, ข้อ 313.
  8. [8] Pansak Vinyaratn, 21st Century Thailand, Facing the Challenge, Economic Policy & Strategy (Hong Kong: CLSA Books, 2004), p. 1.
  9. [9] Chaturon Chaisang, Thai Democracy In Crisis: 27 Truths (Bangkok: A.R. Information & Publication Co. Ltd., 2009), p.37.