ที่มา ประชาไท สมาคมผู้กระจายเสียงวิทยุชุมชนโลก (AMARC) แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ การปราบปราม และปิดสื่อวิทยุชุมชนในไทย หลังบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน เรียกร้องสิทธิ์ในการแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างอิสระ 22 ก.ค. 2553 - สมาคมผู้กระจายเสียงวิทยุชุมชนโลก (The World Association of Community Radio Broadcasters, AMARC) แสดงความเป็นห่วงอย่างลึกซึ้งถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ที่มีรายงานว่ามีการปิดกั้นการรายงานข่าวจากสถานีวิทยุชุมชน และมีวิทยุชุมชนหลายแห่งถูกปิดลง โดยในรายงานเมื่อไม่นานนี้ระบุว่า รัฐบาลได้บังคับใช้ พรก. ฉุกเฉิน เพื่อปิดสถานีวิทยุชุมชน 26 แห่ง ใน 9 จังหวัด และมีการกดดันให้สถานีวิทยุชุมชนอีก 6 แห่งยกเลิกการให้บริการ รวมถึงยังมีสถานีวิทยุอีกกว่า 84 แห่งที่ถูกขึ้นบัญชีดำและถูกสอดส่องอย่างใกล้ชิด มีรายงานต่ออีกว่า นักกิจกรรมอย่างน้อย 35 รายที่เกี่ยวข้องกับสื่ออย่าง ผู้ดำเนินรายการวิทยุ, ผู้อำนวยการ และผู้บริหารสถานี ถูกดำเนินการทางกฏหมายในฐานะผู้ต้องสงสัยในการระดมผู้ฟังเข้าร่วมการประท้วงของคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ "อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัดที่จะสร้างความเป็นรูปธรรมให้กับข้อกล่าวหานี้" สุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการของคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าว มาตรา 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ระบุชัดเจนว่า "บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และการเข้าถึง การรับสื่อ ตลอดจนการแจ้งข่าวรวมทั้งความคิดเห็นผ่านสื่อใดๆ และโดยมิต้องคำนึงถึงเขตแดน" ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานรวมถึงสิทธิในการสื่อสาร สิทธิด้านข้อมูล และในฐานะเครือข่ายสื่อชุมชนระดับโลก สมาคมผู้กระจายเสียงวิทยุชุมชนโลกเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้การรับรองว่า ผู้กระจายเสียงชุมชนจะไม่ถูกคุกคามจากการที่พวกเขาแสดงความเห็นทางการเมือง "สถานีวิทยุชุมชนเป็นตัวแทนของเสียงประชาชนในชุมชน และเป็นเรื่องผิดที่จะดำเนินการทางกฏหมายต่อผู้เผยแพร่ข่าวสาร ข้าพเจ้าของเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อย่าได้ใช้อำนาจข่มเหงผู้กระจายเสียงชุมชน ไม่ว่าจะโดยข้ออ้างใด ๆ ก็ตาม" อิหม่าม ประโคโซ รองประธานสมาคมฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว โดยเขายังได้แสดงความกังวลต่อการปิดสถานีวิทยุ และการดำเนินการทางกฏหมายต่อผู้ประกอบการกระจายเสียงสถานี เขาเรียกร้องให้ยึดในหลักการสากลของสิทธิด้านวิทยุชุมชน ในการเผยแพร่ความเห็นทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ รวมถึงประเด้นอื่น ๆ ที่เกี่ยวพันกับชีวิตของคนในชุมชนนั้น ๆ อย่างอิสระเสรี สมาคมผู้กระจายเสียงวิทยุชุมชนโลกในฐานะที่เป็นองค์กรเคลื่อนไหวด้านการกระจายเสียงที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีสมาชิกเป็นผู้กระจายเสียงชุมชนและผู้ให้การสนับสนุน 5,000 ราย เชื่อว่าประชาธิปไตยและความยุติธรรมในสังคมจะเกิดได้เมื่อมีสื่อเสรี
สมาคมผู้กระจายเสียงวิทยุชุมชนโลก (The World Association of Community Radio Broadcasters, AMARC)เป็นองค์กรภาคประชาชนนานาชาติที่ให้การช่วยเหลือด้านวิทยุชุมชนมากกว่า 110 ประเทศ และสนับสนุนสิทธิในการสื่อสารข้อมูลทั้งในระดับนานาชาติ ระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และระดับชุมชน โดยมีสำนักงานเลขาธิการอยู่ที่ มอนทรีออล และมีสาขาในทวีปแอฟริกา, ละตินอเมริกา, เอเชียแปซิฟิก