WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, July 20, 2010

กรณีไข่แพง กับ ความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย

ที่มา มติชน


เดือนเด่น นิคมบริรักษ์

โดย เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

เป็นที่น่ายินดีว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ยกเลิกระบบโควต้าการนำเข้าพ่อแม่พันธ์ไก่เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่คำถามก็คือ เรื่องเช่นนี้ทำไมต้องให้ ครม. ตัดสินใจ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) และสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ทำไมไม่ดำเนินการใดๆ

แม้ปัญหาการผูกขาดพ่อแม่พันธ์ไก่ซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมการบังคับขายพ่วงไก่กับอาหารไก่ซึ่งทำให้เกษตรกรเลี้ยงไก่จำนวนมากต้องได้รับความเดือดร้อนนั้น มีการร้องเรียนมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และคำถามอีกคำถามคือ หากนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นตัวแทนหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวโยงกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ถูกร้องเรียน ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขหรือไม่ หรือเกษตรกรยังคงต้องก้มหน้าก้มตารับสภาพความไม่เป็นธรรมดังที่เป็นมาในอดีต


ปัญหาที่เรื้อรังของอุตสาหกรรมนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจไทย ที่ทุนขนาดใหญ่สามารถครอบงำกลไกของภาครัฐได้ การที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตกอยู่กับกลุ่มธุรกิจที่มีเส้นสายทางการเมืองยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยยิ่งนับวันยิ่งถ่างมากขึ้น ปัญหาในลักษณะดังกล่าวมีอยู่ทั่วทุกมุมของเศรษฐกิจไทย กรณี “ไข่ไก่” เป็นประเด็นขึ้นมาเพียงเพราะประเทศไทยมีลักษณะพิเศษที่มีการวัดขีดความสามารถของรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจด้วย “ราคาไข่ไก่” ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีของเกษตรไก่ไข่ ทั้งนี้ ยังมีเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยอีกจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากพฤติกรรมทางการค้าที่ส่อความไม่เป็นธรรมในหลายสาขาธุรกิจที่รัฐไม่เคยให้การเหลียวแล


แม้การยกเลิกโควต้าการนำเข้าพ่อแม่พันธ์ไก่ไข่ครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาการผูกขาดพ่อแม่พันธ์ไก่ในตลาดได้ แต่ก็จะสร้างปัญหาไข่ล้นตลาดและการทุ่มตลาดไข่ไก่ของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ซึ่งเป็นปัญหาเดิมก่อนที่จะมีการนำระบบโควต้ามาใช้เพื่อจำกัดปริมาณพ่อแม่พันธ์ไก่ในปี พ.ศ. 2545 ทั้งนี้ ได้มีการร้องเรียนปัญหาดังกล่าวต่อสำนักแข่งขันทางการค้าตั้งแต่ในปี พ.ศ 2544 หากแต่ในขณะนั้นมิได้มีตรวจสอบว่ามีการทุ่มตลาดจริงหรือไม่อย่างจริงจัง แต่กลับมีข้อเสนอแนะให้จำกัดปริมาณพ่อแม่พันธ์ไก่ที่นำเข้าโดยการสร้างระบบโควต้า เพื่อจำกัดจำนวนไก่สาวและปริมาณไข่ไก่ในตลาด โดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่ฯ ได้กำหนดให้มีผู้ได้รับอนุญาตให้นำเข้าเพียง 9 ราย ในปี พ.ศ. 2548 บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดในตลาด ได้รับการจัดสรรโควต้าถึงร้อยละ 41 ของจำนวนพ่อแม่พันธ์ไก่ที่สามารถนำเข้าได้ในแต่ละปี สัดส่วนดังกล่าวยังคงเหมือนเดิมในปี 2553 การจำกัดการนำเข้าดังกล่าวยิ่งเป็นการเอื้อให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ยิ่งมีอำนาจผูกขาดมากขึ้นไปอีก


การผูกขาดตลาดพ่อแม่พันธุ์ไก่ส่งผลให้ราคาไก่สาวในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การที่เกษตรกรรายย่อยต้องพึ่งพาทั้งพ่อแม่พันธุ์ไก่ อาหารไก่ จากผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดซึ่งเป็นคู่แข่งในตลาดไข่ไก่ด้วย จึงมีความเสี่ยงอย่างยิ่งในการถูก “บีบ” ออกจากตลาด โดยผู้ประกอบการรายใหญ่อาจขึ้นราคาไก่สาว หรือ ราคาอาหารไก่ที่ขายพ่วง (ผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายสามารถควบคุมราคาวัตถุดิบบางประเภทที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์) ซึ่งจะมีผลทำให้ต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มขึ้นและในขณะเดียวกันก็ทุ่มราคาไข่ไก่ที่ตนผลิตได้ ทำให้รายได้จากการขายไข่ไก่ของเกษตรกรหดหายไปในขณะที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้เกษตรกรต้องประสบภาวะการขาดทุน

ทั้งนี้ คุณ ธนเดช แสงวัฒนกุล ผู้จัดการ หจก. อุดมชัยฟาร์ม ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า เกษตรกรจำนวนมากต้องเลิกธุรกิจเพราะขาดทุนจากพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว ข้อมูลดังกล่าวตรงกับข้อมูลที่ผู้เขียนเคยรวบรวมจากกรมปศุสัตว์ว่า จำนวนผู้ประกอบการไก่ไข่เชิงพาณิชย์ลดลงโดยตลาด จาก 7,459 รายในปี พ.ศ. 2543 เหลือ 3,279 รายในปี พ.ศ. 2547


วิบากกรรมของเกษตรกรเลี้ยงไก่คงไม่มีทางจะหมดสิ้นไป ตราบใดที่กลไกของรัฐยังคงเข้าข้างผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่าพวกเขา แม้วันนี้ปัญหาการผูกขาดพ่อแม่พันธุ์ไก่จะสิ้นสุดลง แต่ปัญหาการผูกขาดวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ เช่น ปลาป่น หรือ กากถั่วเหลือง ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบโควต้าเช่นกัน หรือ ปัญหาการทุ่มตลาดราคาไข่ไก่ ก็ยังคงอยู่ และอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น


การที่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไข่ไก่จำนวน 113 ฟาร์ม ในนาม บริษัท เอเอฟอี จำกัด ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่ ฯ ต่อศาลปกครองนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะแสดงถึงการลุกขึ้นมาต่อสู้ของกลุ่มผู้ที่ถูกเอาเปรียบเพื่อให้เขาได้รับความเป็นธรรม นอกจากนี้แล้ว กรณีนี้น่าจะเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับปัญหาการมีส่วนได้เสียของกรรมการในคณะกรรมการของภาครัฐหลายแห่งที่มีส่วนได้เสียกับธุรกิจที่ตนเองกำกับ แม้ มาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฎิบัตราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้ห้ามกรรมการที่มีส่วนได้เสียพิจารณาทางปกครองดังนี้


มาตรา 16 ในกรณีมีเหตุอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณา ทางปกครองไม่เป็นกลาง เจ้าหน้าที่ หรือกรรมการผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้

ผู้เขียนมีความเห็นว่าคณะกรรมการของรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ได้จงใจละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรแม้จะได้รับเรื่องร้องเรียนมาเป็นเวลานานนับปีก็ควรที่จะต้องถูกตรวจสอบในลักษณะเดียวกันเช่นกัน ภายใต้กลไกของรัฐที่ถูกครอบงำโดยทุนขนาดใหญ่ ผู้ประกอบอาชีพรายย่อยคงจะต้องยอมรับว่าตนเท่านั้นที่สามารถเป็นที่พึ่งแห่งตน