ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้บริหารบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ท่ามกลางข้อสงสัยมากมาย กรณีมีผู้กล่าวโทษว่า ผู้บริหารบริษัทฉ้อโกงหรือไซ่ฟ่อนเงินของบริษัทจำนวน 263 ล้านบาทและนำไปให้แก่พรรคประชาธิปัตย์(จำนวน 258 ล้านบาท)โดยทำนิติกรรมอำพรางผ่าน บริษัทเมซไซอะ บิชิเนสแอนด์ ครีเอชั่น จำกัด
เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่ดีเอสไอมีความเห็นในลักษณะค้านสายตาคนดู แต่เคยทำมาแล้วในยุครัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งอธิบดีดีเอสไอ ในขณะนั้น ไม่ยอมทำความเห็นแย้งอัยการสูงสุดที่มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)ของครอบครัวชินวัตร อย่างรวดเร็ว(ไม่ถึง 15 วัน?) ทั้งๆที่มีความเห็นสั่งฟ้องไปก่อนหน้านี้
ที่สำคัญดีเอสไอไม่ยอมรอความเห็นหรือหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ทั้งๆที่ สำนักงาน ก.ล.ต.มีการประสานเป็นการภายในมาแล้วว่า จะส่งความเห็นเกี่ยวกับคดีดังกล่าวมาให้อย่างเป็นทางการ
จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้เชื่อว่า ดีเอสไอนั้นอยู่ภายใต้การครอบงำของผู้มีอำนาจการเมืองในแต่ละยุคและพร้อมสนองตอบความต้องการของผู้มีอำนาจเหล่านั้นโดยมิได้คำนึงถึงศักดิ์ศรี ความถูกต้องและผลประโยชน์ของส่วนร่วม
ในการสั่งไม่ฟ้องผู้บริหารบริษัท ทีพีไอ โพลีนฯนั้น ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการฆ่าตัดตอนคดียุบพรรคประชาธิปัตย์กรณีที่บริษัททีพีไอ โพลีนฯบริจาคเงิน 258 ล้านบาทให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ในรูปของนิติกรรมอำพรางผ่านบริษัท เมซไซอะฯเพราะ เชื่อกันว่า เมื่อไม่มีการพิสูจน์ว่า เงินที่ผู้บริหารบริษัท ทีพีไอ โพลีนนำออกจากบริษัท ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น แม้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเงินจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน(ผ่านบริษัท เมซไซอะฯ)ก็ตาม กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
การเชื่อเช่นนั้นเป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541(มาตรา 51)ซึ่งบังคับใช้อยู่ช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดนั้น เพียงแต่หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค หรือสามชิกพรรค รับเงินบริจาคโดยไม่เปิดเผย ก็มีความผิดแล้ว ไม่ว่า เงินจำนวนดังกล่าวจะได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตามซึ่งผู้ใดมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่น้อยกว่า 5 เท่าของเงินบริจาค และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี(เป็นความผิดเฉพาะตัว)
แต่การพิสูจน์ความผิดในกรณีนี้ น่าจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมเพราะมีความผิดในทางอาญาด้วย
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้พยายามลากประเด็นว่า การที่เงินจากบริษัททีพีไอ โพลีนฯเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย(ฉ้อโกงบริษัทมหาชน) ทำให้ประชาธิปัตย์มีโทษถึงขั้นยุบพรรคซึ่งเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 (มาตรา 65)ซึ่ง กกต.นำมาใช้เป็นโทษย้อนหลังกับผู้ถูกกล่าวหา
นอกจากนั้นยังพยายามลาก(ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมาย จิตนาการเอาเอง?)ว่า การนำเงินดังกล่าวมาใช้หาเสียงเอาเปรียบคู่แข่ง ทั้งๆที่เป็นเงินที่ที่ได้มาจากการฉ้อโกงบริษัทมหาชน เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยและการไม่ยอมเปิดเผยบัญชีการรับบริจาค เป็นการกระทำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและเป็นภัยต่อความมั่นคง เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นองค์กรที่ต้องเข้ามาใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติ จึงมีโทษถึงขั้นยุบพรรค
ความจริงแล้ว"จุดตาย"ของพรรคประชาธิปัตย์อยู่ที่คดีซึ่งถูกกล่าวหาว่า นำเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองจำนวน 29 ล้านบาทไปใช้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
กล่าวคือ ถ้าพิสูจน์ได้ว่า ไม่ได้นำเงินไปทำป้ายหาเสียง แต่กลับนำเงินจำนวน 23.3ล้านบาทไปเข้ากระเป๋าเครือญาติและพรรคของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ผ่านนายธงชัย คลศรีชัย ลูกพี่ลูกน้องจริง
มีโอกาสค่อนข้างสูงที่ประชาธิปัตย์จะต้องถูกยุบพรรค เพราะการนำเงินจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองไปใช้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มีบทบัญญัติให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมืองดังกล่าว ซึ่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 ก็บัญญัติไว้ในลักษณะเดียวกัน
ดังนั้น แม้จะเชื่อว่า ดีเอสไอฆ่าตัดตอนคดี 258 ล้านไปเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีคดี 29 ล้านบาทคาอยู่ ซึ่งมีข่าวว่า สำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่ง"มือดี"ไปช่วย กกต.วางกรอบในการสู้คดี
หวังว่า คงไม่มีถูกฆ่าตัดตอนอีกคดีก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะพิพากษา