ที่มา ประชาไท
ไม่รู้ว่าเป็นขอขวัญปีใหม่ สำหรับคนในอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี หรือไม่ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกการประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และประกาศกฎอัยการศึก ในพื้นที่ ในการประชุมเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา เพราะเหตุไม่สงบโดยภาพรวมในชายแดนใต้ก็ไม่ลดความรุนแรงลง นอกจากปริมาณเท่านั้น แต่คุณภาพของการก่อเหตุแต่ละครั้งยังมีมากขึ้นเช่นเดิม
สำหรับการยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สภากลาโหมพิจารณา หลังจากนั้น จะนำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 มาบังคับใช้แทน เหมือนกับที่ประกาศใช้แล้วในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี ยังเล็งที่จะยกเลิกในอีก 3 พื้นที่ คือ อำเภอกาบัง, อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
ที่ผ่านมาหลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 รัฐได้มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ถึง 3 ฉบับ ในการแก้ปัญหาในพื้นที่ ร่วมกับการใช้ประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้น
กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับประกอบด้วย พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือที่เรียกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือที่เรียกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
กฎอัยการศึก
การประกาศกฎอัยการศึก มีขึ้นหลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันทหารพัฒนาที่ 4 อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ในสมัยนั้นเป็นผู้ประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา
การประกาศกฎอัยการศึก เป็นการให้ทหาร มีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในเรื่องการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร
เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 7 วัน เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหาร ซึ่งในการควบคุมตัวดังกล่าว ทหารเรียกว่าการเชิญตัว ผู้ที่ถูกควบคุมตัวคือผู้ที่ถูกเชิญตัว และไม่ต้องมีหมายใดๆ เพียงแต่มีเหตุสงสัยก็สามารถตรวจค้นหรือควบคุมตัว
การเชิญตัวดังกล่าว ไม่ได้ระบุสถานที่ควบคุม แต่เจ้าหน้าที่จะนำตัวไปยังที่ตั้งหน่วยเฉาะกิจหรือหน่วยทหารในพื้นที่ เมื่อสอบถามแล้ว หายสงสัยก็จะปล่อยตัวกลัว แต่ถ้ายังสงสัยอยู่ ก็จะควบคุมตัวต่อไปโดยใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
การใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ได้จะต้องมีการประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน”
ภาวะฉุกเฉิน หมายความว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา ฯลฯ
การประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี โดยการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน แต่สามารถขยายเวลาได้อีกครั้งละไม่เกิน 3 เดือน
โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดฉบับนี้ ซึ่งหมายความว่า ซึ่งผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ก็คือ แม่ทัพภาคที่ 4
การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีขึ้นตั้งแต่ช่วยปลายปี 2548 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ต่อมารัฐบาลได้ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึกในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2552 โดยให้ใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แทน
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้กำหนดข้อมาตรการไว้ทั้งหมด 6 ข้อ แต่ในพื้นที่มีการใช้เพียงข้อเดียว คือ ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
ในการดำเนินงานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร ทำงานร่วมกัน นั่นคือการสนธิกำลัง
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุม ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ออกคำสั่งเรียกคนมารายงานตัว ยึดและตรวจค้น เป็นต้น
ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย และการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องขอออกหมายควบคุมตัวจากศาล เรียกหมายว่า หมาย ฉฉ.
อำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ได้ครั้งละ 7 วัน ไม่เกิน 4 ครั้ง เพื่อซักถาม ซึ่งการขอขยายเวลาในการควบคุมตัวต่อก็ต้องของอนุญาตจากศาลด้วยเช่นกัน
สถานที่ควบคุมตัว ต้องเป็นสถานที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ ซึ่งในระเบียบปฏิบัติของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดฉบับนี้ ได้กำหนดสถานที่ควบคุมตัวไว้ 2 แห่ง ได้แก่
ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ศสฉ.) ตั้งอยู่ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี หรือ อาร์ท รีสอร์ท (ตั้งชื่อเพื่อให้เหมือนสถานที่พักผ่อน) อีกแห่งคือ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนตำรวจภูธร9 อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
หากผู้ถูกควบคุมตัวไม่ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีก็ต้องปล่อยตัว แต่หากถูกตั้งข้อ เจ้าหน้าที่ก็จะส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินตามกฎหมายปกติ คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเมื่อถูกตั้งข้อหาแล้ว ผู้ถูกควบคุมตัวจะเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ต้องหาทันที
ประมวลกฎหมายอาญา/วิธีพิจารณาความอาญา
พนักงานสอบสวน (ตำรวจ) มีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ที่สถานีตำรวจเพียง 48 ชั่วโมง เพื่อสอบปากคำเท่านั้น หลังจากนั้นจะเป็นดุลพินิจของศาล โดยพนักงานสอบสวนจะขอจากศาล เพื่อฝากขังผู้ต้องหาได้ครั้งละ 12 วัน ไม่เกิน 7 ครั้ง
แต่ถึงที่สุดแล้วในชั้นก่อนฟ้อง เจ้าหน้าที่รัฐจะมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาเต็มที่ 84 วัน
ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่กฎอัยการศึก 7 วัน จากนั้น ถูกควบคุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 30 วัน ช่วงสอบปากคำ 2 วัน และช่วงฝากขังอีก 84 วัน รวมเวลาที่ถูกควบคุมตัว 123 วัน
บางครั้งการปิดล้อมตรวจที่ทำให้มีผู้ถูกควบคุมตัวหลายคน ซึ่งบางคนที่ไม่มีหมายให้ควบคุม เจ้าหน้าจะอ้างกฎอัยการศึกทันที เพื่อให้สามารถควบคุมตัวใน 7 วัน
ข้อหาที่รัฐตั้งกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง มักเป็นข้อหาร้ายแรงประเภทก่อการร้าย กบฏแบ่งแยกดินแดน อั้งยี่ซ่องโจร ฯลฯ ทำให้เมื่อคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม ศาลมักใช้ดุลพินิจไม่ให้ประกันตัว ทำให้ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ถูกคุมขังนานหลายปีกว่าคดีจะสิ้นสุด
สถิติที่รวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) (รายงานโดยโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553) พบว่า ตลอด 6 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (มกราคม 2547 ถึง ธันวาคม 2552) มีคดีความมั่นคงที่นำขึ้นสู่ศาลและมีคำพิพากษาแล้ว 216 คดี จำเลย 415 คน ศาลตัดสินลงโทษ 130 คดี จำเลย 211 คน ยกฟ้อง 86 คดี จำเลย 204 คน
ตัวเลขคดีที่ศาลยกฟ้อง 86 คดี จากทั้งหมด 216 คดี เท่ากับสัดส่วน 39.8%
สถิติของสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 9 เฉพาะปี 2552 (1 มกราคม-31 ธันวาคม2552) พบว่า คดีจากทุกศาลใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีคดีความมั่นคงเข้าสู่ศาลทั้งสิ้น 190 คดี จำหน่าย 3 คดี พิพากษาแล้ว 23 คดี ลงโทษเพียง 5 คดี แต่ยกฟ้องมากถึง 18 คดี และมีคดีคงค้าง 164 คดี ยอดคดีคงค้างนี้ มีผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงถูกคุมขังในเรือนจำนับถึงสิ้นปี 2552 มากถึง 548 คน
นายนิพนธ์ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ รองประธานคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร และเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามงบภาคใต้ ให้สัมภาษณ์โดยโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ว่า ข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 9 มีสถิติคดีในรอบปี 2550-2551 พบว่า ศาลมีคำพิพากษาคดีความมั่นคง 60 คดี ลงโทษจำคุกเพียง 20 คดี แต่ยกฟ้องมากถึง 40 คดี หรือคิดเป็น 66% ซึ่งนับว่าสูงมากจริงๆ และน่ากังวลอย่างยิ่ง
“สาเหตุที่คดียกฟ้องจำนวนมาก น่าจะมาจาก 2 สาเหตุ สำคัญได้แก่ 1.ตัวจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องจริง แต่เจ้าหน้าที่ไปจับคนเหล่านั้นมาลงโทษในลักษณะเหวี่ยงแหจับกุม หรือจับแพะ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในอดีต 2.ผู้ต้องหาอาจเป็นคนกระทำความผิดจริง แต่ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอมายืนยัน”
พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
การประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะให้ผู้ที่หลงผิดหรือกระทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รายงานตัวเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมแทนการถูกดำเนินคดี
คณะรัฐมนตรีจะมีมติมอบหมายให้ กอ.รมน.เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรนั้นภายในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดได้
พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีสาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 21 คือ ให้ผู้ที่ก่อเหตุเพราะหลงผิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้เข้ารับการอบรม ตามหลักสูตรที่กำหนด เป็นเวลา 6 เดือน ในสถานที่ที่กำหนด โดยการยินยอมของผู้ต้องหา จากนั้นให้ระงับคดี โดยถือว่าบุคคลเหล่านี้ไม่เคยกระทำความผิด
ในมาตรา 21 ระบุว่า สำหรับผู้ที่จะรายงานตัวเข้ารับการอบรม ต้องให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนของผู้ต้องหาพร้อมความเห็นให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในพิจารณา ถ้าผู้อำนวยการเห็นด้วย ให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นของผู้อำนวยการให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล
หากเห็นสมควรศาลอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ผู้อำนวยการเพื่อเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือนและปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่ศาลกำหนด
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการใช้มาตรา 21 ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ยังไม่ได้บังคับใช้จริง เนื่องจาก กอ.รมน.ยังไม่ได้ออกระเบียบ ข้องบังคับหรือแนวปฏิบัติออกมา จึงทำให้มีผู้ที่ต้องการรายงานตัวเพื่อเข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 ของกฎหมายฉบับนี้แทนการถูกดำเนินคดีจำนวนหนึ่ง ยังไม่กล้าออกมารายงานตัว เพราะอาจถูกจับกุมดำเนินคดีได้
ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ผู้มีความคิดต่างจากรัฐได้มีช่องทางแสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมในการแก้ปัญหา ตามนโยบายของ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผอ.กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า) ตามช่องทางนี้จึงยังไม่เกิดขึ้น
ความคืบหน้าล่าสุด คือการให้สัมภาษณ์ของนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่ระบุว่า หลังปีใหม่จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อประกาศฐานความผิดที่เข้าข่ายตามมาตรา 21 โดยผู้ที่จะเข้ามารายงานตัว ต้องไม่ใช่ความผิดอุกฉกรรจ์ และเป็นโทษที่เกิดขึ้นจากการก่อเหตุในพื้นที่ประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เท่านั้น
ภาพรวมการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษในชายแดนใต้
ปัจจุบันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการประกาศใช้อำนาจกฎอัยการศึกกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ใน 33 อำเภอ
ฝ่ายความมั่นคงระบุว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ได้รับผลกระทบ ในขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่ง รวมทั้งองค์กรสิทธิมนุษย์ชน เชื่อว่า การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน สร้างความเดือดร้อน และความไม่พอใจให้กับคนในพื้นที่ และเชื่อว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่สามารถสร้างความสงบให้เกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการใช้อำนาจกฎอัยการศึกกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน มีปัญหามากมาย โดยเฉพาะมาตรการปิดล้อมและตรวจค้น เนื่องจากมีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก จนทำให้มีการร้องเรียนจำนวนมาก โดยเฉพาะการร้องเรียนไปยังมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของสงขลา
สถิติเรื่องร้องเรียน ระหว่างปี 2547จนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 มีทั้งหมด 1,753 เรื่อง มีทั้งที่เป็นคดีและไม่เป็นคดี โดยมีข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกอบด้วย ถูกปิดล้อม ตรวจค้น 309 เรื่อง เชิญตัวตามกฎอัยการศึก 39 เรื่อง ถูกจับซ้ำซาก 22 เรื่อง ถูกซ้อมทรมาน 74 เรื่อง รวมทั้ง กรณีเยาวชน นักเรียน นักศึกษาถูกควบคุมตัว ทรัพย์สินสูญหายระหว่างถูกตรวจค้น เป็นต้น
กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในระหว่างการใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้ ที่เป็นข่าวอื้อฉาวมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา คือ การเสียชีวิตระหว่างการควนคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร ของนายสุไลมาน แนซา ผู้ต้องสงสัยชาวอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 ในท่าแขวนคอ
แต่การตรวจสอบการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ทหารระหว่างการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ก็แทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ระบุว่าการซักถามผู้ต้องสงสัยต้องมีทนายความหรือญาติร่วมฟังด้วย รวมทั้งการอ้างระเบียบห้ามเยี่ยมภายใน 3 วันแรกของเจ้าหน้าที่
กรณีของสุไลมาน แนซา ไม่ใช่การเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่เพียงรายเดียว เพราะก่อนหน้านั้นยังมีอีกหลายคน เช่น นายยาการียา ปะโอมานิ เสียชีวิตระหว่างการค้นย้าย ซึ่งคดีนี้มีการไต่สวนการตายในชั้นศาล
เช่นเดียวกับการตายของนายยะผา กาเซ็ง ในหน่วยเฉพาะกิจที่ 30 (ฉก.30) จังหวัดนราธิวาส คดีนี้ได้ผ่านการไต่สวนการตายในชั้นศาลแล้ว โดยศาลจังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งว่า นายยะผา ตายที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม หมู่ที่ 2 ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 เนื่องจากผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย แต่ชั้นไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญา ศาลให้ไปฟ้องจำเลยต่อศาลทหาร
นั่นยังไม่นับการบาดเจ็บจากการซ้อม ทรมานระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐอีกหลายกรณี ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ซึ่งกรณีการซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัว กลายเป็นประเด็นหลักในการเรียกร้องให้มีการยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้ในพื้นที่ ทั้งจากองค์กรพัฒนาเอกชน ทนายความ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
แม้ในช่วงหลังๆ มานี้การร้องเรียนเรื่องการปิดล้อมตรวจค้นน้อยลง แต่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับการร้องเรียนในลักษณะที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การถูกควบคุมตัวซ้ำซาก หมายถึงครั้งแรกถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ครั้งที่สองถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก. หรือ ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซ้ำ ซึ่งอาจเป็นหมายเดิม
ตามด้วย กรณีการถูกอายัดตัวในข้อหาใหม่ หลังได้รับการปล่อยตัวแล้ว อาจโดยคำพิพากษายกฟ้องหรือศาลสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว แทนที่จะถูกดำเนินคดีในข้อหาทั้งหมดพร้อมกัน และการถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งที่ผู้ถูกควบคุมมีหมายจับอยู่แล้ว แทนที่จะส่งดำเนินคดีทันที นอกจากนี้ยังมีเรื่อง การร้องเรียนกรณีถูกบังคับให้เข้ารับการฝึกอบรม เป็นต้น
ในบางกรณียังมีเรื่องที่จำเลยบางคนที่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว อาจโดยคำพิพากษายกฟ้องหรือได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้แจ้งให้หน่วยงานอื่นๆทราบ ทำให้บางครั้งยังถูกเจ้าหน้าที่ทหารที่ตั้งด่านตรวจควบคุมตัวไว้อีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะยังมีรายชื่อเป็นผู้ต้องสงสัยอยู่ ทำให้ต้องเสียเวลาตรวจสอบกลับไปยังฝ่ายตำรวจ กว่าจะทราบว่า ได้รับการปล่อยตัวแล้ว
ไม่เพียงการร้องเรียนต่อมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเท่านั้น ในส่วนของเจ้าหน้าที่เองก็มีปัญหาเช่นกัน
อดีตนายตำรวจคนหนึ่งในศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนใต้ (ศชต.) บอกว่า ในการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่เคยถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯมาก่อน มีปัญหามาก เนื่องจากระหว่าการควบคุมตัว มีการสนธิกำลังสามฝ่าย คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ร่วมปฏิบัติการ โดยเฉพาะจากนอกกองทัพภาคที่ 4 ไม่ยอมมาเป็นพยาน โดยอ้างคำสั่งผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ น้ำหนักการฟ้องร้องจำเลยลดลง
ส่วนผลกระทบจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในส่วนของผู้ได้รับผลกระทบ ก็คือความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิระหว่างการถูกควบคุมตัวแล้ว เนื่องจากหน่วยงานอื่นไม่สามารถตรวจสอบระหว่างการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถที่จะฟ้องศาลปกครอง เพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กำหนดไว้ว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่า ด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
อีกทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐด้วยเช่นกัน
นั่นคือภาพรวมของของการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นของขวัญให้คนชายแดนใต้ได้หรือไม่ ตราบเท่าที่บาดแผลจากกฎหมายพิเศษเหล่านี้ ยังคงเป็นหนองเน่าคาอยู่