ที่มา มติชน
รวมคำคมจากนิตยสารออกใหม่
แต่น่าประหลาดนะครับ หากรัฐเกิด "ระเบียบ" ได้ดีเหมือนร่างกายมนุษย์ ความจำเป็นต้องมีฮิตเลอร์ก็น้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะกลไกทุกอย่างทำงานของมันไปได้เอง "ระเบียบ" ที่เผด็จการใช้เป็นความชอบธรรมแห่งอำนาจที่ไม่มีการถ่วงดุลของตน จึงกลับบ่อนทำลายเผด็จการเสียเอง
ดังนั้น หนึ่งในวิธีการที่เผด็จการต่างๆ จะรักษาอำนาจของตนไว้ได้ก็คือ การทำให้เกิดความไร้ระเบียบขึ้นในรัฐ หรือในการบริหารของตน
และ
ประชาธิปไตยเป็นสภาวะอุดมคติที่จะไม่มีวันบรรลุถึง แต่ต้องต่อสู้ผลักดันเพื่อขยายขอบเขตของมันให้กว้างและลึกขึ้น จนลงไปสู่ระดับสมอง ทำไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด แม้เป็นสภาวะอุดมคติ แต่ก็ต้องยึดถือมันไว้ อย่างน้อยก็เพื่อบ่อนทำลายเผด็จการซึ่งซ่อนอยู่ในที่ต่างๆ รวมทั้งในใจเราเองด้วย
(นิธิ เอียวศรีวงศ์, เผด็จการ, มติชนสุดสัปดาห์)
ปริศนาเรื่องการกำหนดพระธาตุ 12 นักษัตรนี้ เดิมเคยเชื่อกันว่ามีมาแล้วตั้งแต่ล้านนาโบราณยุคพระเจ้าติโลกราช ตามแนวความคิดที่พระองค์ท่านเน้นการสร้างความสัมพันธ์แบบเครือข่ายกับอาณาบริเวณต่างๆ แต่ทว่า นักวิชาการท้องถิ่นหลายท่านกลับเชื่อว่าคติการกำหนดพระธาตุประจำปีเกิดนี้เพิ่งมีขึ้นมาใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่เกิน 100 ปีมานี่เอง อันเป็นผลพวงมาจากปฏิกิริยาตอบโต้ "การเมืองเรื่องเจดีย์"
ภายหลังจากที่ศูนย์กลางอำนาจได้รวมพระธาตุ "จอมเจดีย์" สำคัญทั่วประเทศไว้เพื่อประกาศความเป็นปึกแผ่นของสยาม ชาวบ้านนาย่อมเกิดความรู้สึกไม่พอใจ จึงลุกขึ้นมาสร้างเครือข่ายของตนเองบ้างผ่าน "พระธาตุ 12 นักษัตร" เป็นนัยทางการเมืองว่าแท้ที่จริงแล้ว ชาวบ้านนามีความผูกพันกับชาวล้านช้าง และพม่ามากกว่าสยาม
(เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์, การเมืองเรื่องสถูป "จอมเจดีย์" VS "พระธาตุ 12 นักษัตร", มติชนสุดสัปดาห์)
สมมุติมีเสื้อสีขาวแล้วเปื้อนโคลน วิธีการแก้ปัญหาคือเอาเสื้อไปซัก แต่ถ้าเราส่งเสื้อตัวนี้ให้กับรัฐบาล แทนที่พวกเขาจะเอาเงินไปซื้อผงซักฟอกมาซักเสื้อ แต่เขาจะจัดแคมเปญ รณรงค์ทำงบโฆษณาเพื่อทำให้ประชาชนเปลี่ยนความคิดให้ได้ว่า เสื้อตัวนี้ไม่เปื้อน เสื้อตัวนี้ยังขาวสะอาดดีอยู่
(คำ ผกา, ไม่มีข้าวกินก็สวดมนต์สิจ๊ะ, มติชนสุดสัปดาห์)
(ถาม) คุณคิดว่ามีความเป็นไปได้ในการปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ไหม
ทำไมจะไม่ได้ล่ะ หลายประเทศก็มีการปกครองตนเองที่เข้มแข็งภายใต้ระบบสหพันธรัฐ ซึ่งให้อำนาจการปกครองตนเองในหลายพื้นที่ ดูอย่างในสวิตเซอร์แลนด์ พวกเขาเป็นสหพันธรัฐแต่รวมตัวกันเหนียวแน่นมาก แต่ละภาคส่วนก็มีสิทธิปกครองตนเอง
ตอนนี้มีความเข้าใจระบบสหพันธรัฐที่แตกต่างหลากหลายในพม่า เพราะว่า เอ่อ...คงต้องบอกว่าเป็นความหวาดหวั่นของนักการเมือง หรือนักวิชาการบางคน มีหลายคนเข้าใจว่าการเป็นสหพันธรัฐหมายถึงรัฐนั้นมีสิทธิเลือกที่จะแยกตัวและตั้งเป็นประเทศอธิปไตย ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้นเลย พวกคุณก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามันไม่ใช่ แต่หมายความว่าในรัฐธรรมนูญที่สร้างขึ้นจะกำหนดให้แต่ละภาคส่วนของสหพันธรัฐมีหน้าที่และสิทธิของตัวเอง แยกจากรัฐบาลกลาง คือ มีรัฐบาลท้องถิ่น เท่านั้นเอง คุณจะเรียกสหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ หรืออะไรก็ได้ที่ต้องการ แต่ข้อเท็จจริงคือสหพันธรัฐจะแยกหน้าที่กันตามรัฐธรรมนูญ ก็เหมือนกับสหรัฐอเมริกาไม่เรียกตัวเองว่าสหพันธรัฐหรือสมาพันธรัฐ แต่เรียกว่า "สหรัฐอเมริกา" สาระสำคัญคือพวกเขาแบ่งแยกหน้าที่ระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น
(อองซาน ซูจี จากการเมืองพม่า สู่เคล็ดลับความงาม สัมภาษณ์พิเศษ อองซาน ซูจี หลังได้รับอิสรภาพ โดย วันดี สันติวุฒิเมธี และ อัจฉราวดี บัวคลี่, สารคดี)