ที่มา ข่าวสด
ในตอนแรกนั้นดูเหมือนการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศล่วงหน้าว่าจะยุบสภาช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพ.ค. จะเป็นตัวหล่อเย็นช่วยลดความร้อนแรงทางการเมืองลงไปได้มาก
เห็นจากพรรคร่วมรัฐบาลที่เคยต่างคนต่างอยู่ ก็เริ่มขยับหันมากลมเกลียวกันมากขึ้น บางพรรคถึงขั้นประกาศจับมือเป็นพันธมิตรทางการเมืองในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
หวังผลข้ามช็อตไปยังสถานการณ์ภายหลังการเลือกตั้งที่จะผนึกกำลังต่อรองกลับเข้าร่วมรัฐบาล ไม่ว่า 2 พรรคใหญ่ ประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยเป็นฝ่ายชนะ
ขณะที่ฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทยก็ลดดีกรีการตรวจสอบรัฐบาลลงหลังจบศึกซักฟอก เพราะต้องเอาเวลามาจัดทัพจัดแถวหาคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งยังต้องรีบเร่งหาตัวผู้นำพรรคที่จะมาชูเป็นนายกฯ ให้ได้โดยเร็ว
ทางด้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้โฟนอินส่งสัญญาณ ถึงพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง ให้เตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึง โดยตนเองพร้อมอำนวยความสะดวกทุกอย่างไม่ว่าการวางนโยบายหาเสียงหรือการวางท่อน้ำเลี้ยง
ในจังหวะการเปิดตัวของพรรคใหม่ที่มีชื่อ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นหัวหน้าพรรค ก็สามารถดึงดูดความสนใจของคนเกลียดมาร์ค-เบื่อแม้วได้ไม่น้อย
รวมถึงการที่บรรดานักการเมืองต่างพรรคพร้อมใจกันผลักดันกฎหมายลูก 3 ฉบับรองรับการเลือกตั้งและการทำงานของกกต. จนผ่านสภาวาระแรกไปอย่างรวดเร็ว
ทั้งยังได้รับการยืนยันจากเหล่าขุนทหารโดย เฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลา โหม ว่ากองทัพพร้อมหนุนการเลือกตั้ง จะไม่มีการทำปฏิวัติแน่นอน
ถ้ามองอย่างผิวเผินจึงดูเหมือนสถาน การณ์ในช่วงวาระสุดท้ายของรัฐบาล การเมืองจะเป็นไปอย่างราบรื่น ทุกฝ่ายพร้อมใจเดินหน้าเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาเริ่มผ่านไปนานเข้า ขณะที่ห้วงเวลาการยุบสภาตามที่นายกฯ อภิสิทธิ์ ระบุยังเหลืออีก 1 เดือน ทำให้เกิดกระแสข่าวสารพัดต่างๆ นานา จนหลายคนเริ่มไขว้เขว ไม่มั่นใจจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงหรือไม่
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมไทยยังมีคนกลุ่มหนึ่งไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง แล้วก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่ได้พยายามเคลื่อนไหวโน้มน้าวสังคมให้เห็นคล้อยตามความคิดของตนเอง
ไม่ว่าการเรียกร้องให้มีการยุบสภาแต่ไม่ให้มีการเลือกตั้ง ให้เว้นวรรคนักการเมือง 3 ปี ขอพระราชทานนายกฯ และคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 7
นอกจากนี้ยังมีการพยายามที่จะกดดันให้ กกต.ลาออก เพื่อทำแท้งการเลือกตั้ง ซึ่งบังเอิญสอดรับกับกรณีนางสดศรี สัตยธรรม ประกาศพร้อมไขก๊อกหากได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
นางสดศรีอ้างว่าไม่สบายใจที่มีความต้องการสกัดกั้นกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับไม่ให้เสร็จ อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งนี้ยังดูแปลกๆ เหมือนกับโยนลูกให้ กกต.รับไปทั้งหมด
ถึงแม้ต่อมา กกต.ทั้ง 4 คนที่เหลือจะยืนยันว่าพร้อมอยู่ต่อเพื่อทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งครั้งนี้ให้ลุล่วง
แต่จากนั้นไม่กี่วันก็ยังเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ใครหลายคนซึ่งกำลังใจจดจ่ออยู่กับการเลือกตั้ง ต้องเกิดอาการหวาดระแวง คือเหตุการณ์สภาล่ม 3 วันติดต่อกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากกฎหมายลูก 3 ฉบับถึงจะผ่านสภาวาระแรก แต่เท่ากับเพิ่งจะคลอดได้แค่ครึ่งตัว เหลืออีกครึ่งตัวคือวาระ 2 และ 3 กำลังจ่อเข้าสภาวันที่ 7 เม.ย.
ทั้งฝ่ายที่อยากให้เลือกตั้งเร็ว และฝ่ายที่ไม่อยากให้เลือกตั้งเลย รวมถึงฝ่ายที่อยากให้เลือกตั้ง แต่อยากให้ยืดเวลาออกไปก่อน ก็เลยต้องไปลุ้นกันอีกยก
การที่สภาล่ม 3 วันติดต่อกันผลเสียหายที่ตามมา นอกจากทำให้การพิจารณาเห็นชอบบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี ต้องเลื่อนออกไป
ยังเกิดการพูดกันมากว่าสาเหตุที่ส.ส.ไม่ยอมมาประชุมจนทำให้สภาล่มนั้น
เป็นเพราะนายกฯ อภิสิทธิ์ประกาศยุบสภาล่วงหน้าชัดเจน ทำให้ส.ส.ต้องแย่งชิงกันลงพื้นที่แข่งกันหาเสียงแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าขืนอยู่ประชุมสภาอาจไม่ได้กลับมาเป็นส.ส.
อย่างที่ นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวเปรียบเปรย ว่าสภาตอนนี้เหมือนบริษัทปิดแล้ว พนักงานรู้ว่าตนเองต้องตก งานจึงต้องไปหางานใหม่ จะให้มาอยู่ได้อย่างไร
ตามมาติดๆ กับเสียงตัดพ้อจากส.ส.ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ ว่านายกฯ อภิสิทธิ์ใจดำ ไม่ยอมให้ ส.ส. พรรคลงพื้นที่ช่วยเหลือ ชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ เพราะมัวแต่ห่วงสภาจะล่ม
ทั้งที่ภาคใต้เป็นฐานเสียงของพรรคแท้ๆ ก็ยังอุตส่าห์มีคำถามขึ้นมาจนได้ว่านายกฯ อภิสิทธิ์ ควร ฉับไวต่อการลงไปดูแลปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมากกว่านี้หรือไม่
แล้วก็เป็นอะไรที่เหมือนซ้ำเติมรัฐบาลกับโครงการสำรวจอีสานโพล ของมหา วิทยาลัยขอนแก่น ระบุเสียงสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลของชาวอีสานลดต่ำลงทุกด้าน ไม่ว่าด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากชาวอีสานมองว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องราคาสินค้าและค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้เป็นรูปธรรม
ไปๆ มาๆ ก็เหมือนวกกลับมาที่ความไร้ฝีมือด้านการ บริหารประเทศ และความเชื่องช้าต่อการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ซึ่งเป็นบุคลิกเดิมๆ ของประชาธิปัตย์
จากปัญหาที่พันกันจนยุ่งเหยิงจากเรื่องหนึ่งโยงไปอีกเรื่องหนึ่ง ชนิดคาถา 'ยุบสภา' ที่นายกฯ ท่องบ่นรายวันก็ช่วยคลี่คลายอะไรไม่ได้
ถึงยังหาความแน่นอนไม่ได้ว่าการเลือกตั้งใหม่จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว
แต่ที่แน่ๆ คือมีสัญญาณหลายอย่างบ่งชี้รัฐบาลชุดนี้ปิดฉากตัวเองไม่สวย แน่นอน
เรื่องไม่ควรพูดก็พูด เรื่องควรทำไม่ทำ
7 hours ago