ที่มา thaifreenews
โดย bozo
www.siamintelligence.com รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ
โดยเฉพาะหนังสือ “เผ่าพงศ์วงศาตระกูลชินวัตร” เรียบเรียงโดย “ธนวัฒน์ ทรัพย์ไพบูลย์”
หลังจาก “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28
และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย
ทำให้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องบันทึกว่า “ตระกูลชินวัตร” เป็นตระกูลนักการเมืองชั้นนำของไทย
ที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 3 คนคือ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะเขยของตระกูล
และ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ซึ่งเป็นการฝังรากเหง้าความเป็นนักการเมืองมายาวนานของ “นายเลิศ ชินวัตร”
บิดาของ พ.ต.ท.ทักษิณ นอกจากนี้ “ตระกูลชินวัตร”
ยังมีบุคคลที่มีตำแหน่งระดับสูงในแวดวงข้าราชการ ทหาร และตำรวจ
ต้นตระกูลชินวัตร : เส็ง แซ่คู
ต้นตระกูลชินวัตรคือ นายเส็ง แซ่คู (คูชุนเส็ง) เป็นคนจีนแคะ อาศัยอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง
เดินทางหนีความลำบากในประเทศจีนมายังประเทศไทยเช่นเดียวกับตระกูลคนจีนอื่นๆในไทย
โดยคาดว่านายเส็งมาถึงเมืองไทยประมาณ พ.ศ. 2403 หรือสมัยรัชกาลที่ 5
นายเส็งขึ้นฝั่งที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และประกอบอาชีพรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป
จนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้ เขายังมีอาชีพเป็น “นายอากรบ่อนเบี้ย”
คอยเก็บภาษีบ่อนพนันและภาษีสุราส่งให้ทางการ
เขาแต่งงานกับหญิงไทยชื่อ “ทองดี” และมีบุตรรวมทั้งหมด 9 คน
บุตรคนโตมีชื่อว่า “นายเชียง ชินวัตร” เกิดเมื่อ พ.ศ. 2434
นายเส็งย้ายจากจันทบุรีมาประกอบอาชีพค้าขายอยู่ที่ตลาดน้อย เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
เมื่อ พ.ศ. 2447 อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะตัดสินใจย้ายถิ่นฐานไปที่เชียงใหม่
และลงหลักปักฐานที่อำเภอสันกำแพงเมื่อ พ.ศ. 2453
ชินวัตรรุ่นที่ 2 : เชียง ชินวัตร
นายเชียง แซ่คู หรือเชียง ชินวัตร บุตรชายคนโตของนายเส็ง
ถือเป็นแกนหลักที่ช่วยให้ตระกูลชินวัตรตั้งหลักปักฐานได้ที่เชียงใหม่
เมื่ออายุได้ 20 ปี เขาช่วยบิดาคือนายเส็งประกอบอาชีพ “นายฮ้อย”
หรือการค้าฝูงสัตว์ระหว่างไทยกับพม่า
ระหว่างการเดินทางค้าสัตว์พ่อลูกชินวัตรได้ซื้อผ้าไหมจากพม่ากลับมาขายที่สันกำแพงด้วย
ซึ่งภายหลัง “การค้าไหม” กลายเป็นกิจการหลักของตระกูลชินวัตรนั่นเอง
ตระกูลชินวัตรค่อยๆเปลี่ยนจากการค้าสัตว์มาเป็นค้าไหม
และขยายกิจการมาทำเกี่ยวกับผ้าไหมแบบครบวงจร ใน พ.ศ. 2481
นายเชียงเปลี่ยนนามสกุลใหม่จากเดิม “แซ่คู” มาเป็น “ชินวัตร”
โดยว่ากันว่าบุตรชายคนโตของนายเชียงคือ
“พ.อ.(พิเศษ) ศักดิ์ ชินวัตร” (บิดาของ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร) เป็นผู้นำการเปลี่ยนนามสกุล
เนื่องจากรับราชการทหารและต้องการเปลี่ยนแซ่แบบจีนมาเป็นนามสกุลแบบไทย
เพื่อลดแรงต้านคนจีนในขณะนั้น
นายเชียงสมรสกับนางแสง สมณะ มีบุตรรวมทั้งสิ้น 12 คนคือ
1.นางเข็มทอง ชินวัตร (โอสถาพันธุ์)
2.พ.อ.(พิเศษ) ศักดิ์ ชินวัตร (บิดาของ พล.อ.ชัยสิทธิ์)
3.นายบุญสม ชินวัตร
4.นายเลิศ ชินวัตร (บิดาของ พ.ต.ท.ทักษิณ)
5.นายสุเจตน์ ชินวัตร
6.นางสาวจันทร์สม ชินวัตร
7.นางสมจิตร ชินวัตร (หิรัญพฤกษ์)
8.นางเถาวัลย์ ชินวัตร (หอมขจร)
9.นายสุรพันธ์ ชินวัตร
10.นายบุญรอด ชินวัตร
11.นางวิไล ชินวัตร (คงประยูร)
และ
12.นางทองสุข ชินวัตร (โครชาติเย่ร์)
ตระกูลชินวัตรรุ่นที่ 2 เน้นการปักหลักในเชียงใหม่
และการบุกเบิกกิจการผ้าไหมอย่างจริงจังในเขตภาคเหนือ
จากเดิมที่กิจการผ้าไหมเป็นเพียงหัตถกรรมพื้นบ้าน
ก็ได้ “ชินวัตรไหมไทย” มาแปรรูปให้เป็นอุตสาหกรรมท้องถิ่น
ชินวัตรรุ่นที่ 3 : เริ่มเข้าสู่การเมือง
ตระกูลชินวัตรรุ่นที่ 3 สายของนายเชียงได้ขยายกิจการผ้าไหมออกไป
โดยภายหลังพี่น้องแต่ละคนได้แบ่งกิจการผ้าไหมแบรนด์ “ชินวัตร” ออกเป็นแบรนด์ย่อยๆ
และดำเนินกิจการกันเอง เช่น
นางเข็มทอง บุตรคนโต ได้เปิด “ท.ชินวัตรไหมไทย” ที่กรุงเทพฯ
ส่วนนางสมจิตร บุตรคนที่ 7 เปิด “ส.ชินวัตรไหมไทย” ที่เชียงใหม่ เป็นต้น
ตระกูลชินวัตรรุ่นที่ 3 ไม่มีแกนกลางแบบนายเชียงในรุ่นที่ 2
พี่น้องแต่ละคนมีกิจการของตัวเอง ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวกับผ้าไหม
สิ่งที่น่าสนใจคือ “ชินวัตรรุ่นที่ 3” เริ่มเข้าสู่การเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติหลายคน
โดยเริ่มจากนายเลิศ (ชื่อเดิม “บุญเลิศ”) บิดาของ พ.ต.ท. ทักษิณนั่นเอง
เลิศ ชินวัตร
นายเลิศเป็นบุตรคนที่ 4 ของนายเชียง เกิดเมื่อ พ.ศ. 2462 ศึกษาชั้นประถมฯและมัธยมฯที่เชียงใหม่
และเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่ธรรมศาสตร์
แต่เรียนไม่จบเพราะต้องกลับมาสืบทอดกิจการของครอบครัว
เขาเปลี่ยนไปดูแลกิจการรับเหมาก่อสร้างร่วมกับนายสุเจตน์ บุตรคนที่ 5 ช่วงหนึ่ง
พอปี 2495 แยกตัวจากกงสีของตระกูล เปลี่ยนมาขายกาแฟที่ตลาดสันกำแพง
โดยนายเลิศเป็นคนโม่กาแฟด้วยตัวเอง นายเลิศได้บุกเบิกรูปแบบธุรกิจใหม่ๆหลายอย่าง เช่น
ซื้อเครื่องโม่กาแฟจากสหรัฐอเมริกา
ซื้อเครื่องปั่นมะพร้าวจากกรุงเทพฯมาทำมะพร้าวบดขายที่สันกำแพง นำเครื่องแช่เย็นมาแช่หวานเย็นขาย
พ.ศ. 2498 นายเลิศหันมาบุกเบิกการทำสวนส้มในอำเภอสันกำแพงเป็นคนแรก
ส่วนร้านกาแฟนั้นภรรยารับหน้าที่ดูแลต่อและเลิกทำไปในภายหลัง
จากนั้นนายเลิศไปทำงานเป็นหัวหน้าแผนกสินเชื่อของธนาคารนครหลวงไทย สาขาเชียงใหม่
จากคำชักชวนของนายสุเจตน์ที่ตอนนั้นเป็นผู้จัดการธนาคารสาขาเชียงใหม่
โดยทำกิจการด้านเกษตรควบคู่ไปด้วย
ต่อมานายเลิศหันไปทำกิจการโรงภาพยนตร์ “ศรีวิศาล”
ซื้อกิจการเดินรถเมล์เหลือง จากนั้นขยายตัว
ซื้อกิจการตัวแทนจำหน่ายรถไดฮัทสุ ฮอนด้า บีเอ็มดับเบิลยู และปั๊มน้ำมัน
พ.ศ. 2510 เมื่อนายเลิศอายุ 48 ปี ก็เริ่มเข้าสู่การเมืองท้องถิ่น
โดยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดเชียงใหม่ เขตสันกำแพง ร่วมกับเจ้าชัยสุริยวงศ์ ณ เชียงใหม่
และนายไกรสีห์ นิมมานเหมินทร์ (บิดาของนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์)
ตั้งกลุ่ม “เชียงใหม่ก้าวหน้า” โดยนายเลิศได้เป็นประธานสภาจังหวัดเชียงใหม่อีกตำแหน่งด้วย
นายเลิศก้าวสู่การเมืองระดับชาติในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ พ.ศ. 2512
ได้เป็น ส.ส.หน้าใหม่รุ่นเดียวกับนายชวน หลีกภัย และนายอุทัย พิมพ์ใจชน
เขาร่วมก่อตั้ง “พรรคอิสระ” โดยมีตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค
นายเลิศรับเลือกตั้ง ส.ส. อีกครั้งในปี 2518 แต่หลังรัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช ยุบสภาในปี 2519
นายเลิศก็เลิกเล่นการเมือง และสนับสนุนน้องชายคือ
นายสุรพันธ์ บุตรคนที่ 9 เป็น ส.ส. แทน
ซึ่งเติบโตได้เป็นถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
ผลงานเด่นของนายเลิศสมัยเป็น ส.ส. คือ
ร่วมร่างกฎหมายตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง เหมืองฝายแม่ออน
และคัดค้านการขึ้นภาษีน้ำมันในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร
นอกจากนายเลิศและนายสุรพันธ์ที่เข้าสู่วงการการเมืองระดับชาติจนได้เป็น ส.ส. แล้ว
นายสุเจตน์ภายหลังยังได้เป็นเทศมนตรีนครเชียงใหม่ด้วยอีกคนหนึ่ง
เท่ากับว่าตระกูลชินวัตรรุ่นที่ 3 มีคนที่เข้าสู่วงการการเมืองถึง 3 คน
ชินวัตรรุ่นที่ 4 : สู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ตระกูลชินวัตรรุ่นที่ 4 ที่น่าสนใจมี 2 สายคือ
สายของ พ.อ.(พิเศษ) ศักดิ์ บุตรคนที่ 2
และสายของนายเลิศ บุตรคนที่ 4
สายของ พ.อ.(พิเศษ) ศักดิ์
พ.อ.(พิเศษ) ศักดิ์มีบุตรทั้งหมด 4 คน โดยคนที่น่าสนใจที่สุดคือ
พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร (เกิดเมื่อ พ.ศ. 2488) ซึ่งไต่เต้าขึ้นมาถึงตำแหน่ง
ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ตอนนี้ พล.อ.ชัยสิทธิ์ยังมีบทบาทในพรรคเพื่อไทย
แม้จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ส.ส.ราชบุรี เขต 1 ครั้งล่าสุดให้กับผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย
ครอบครัวสายของ พ.อ.(พิเศษ) ศักดิ์ล้วนแต่รับราชการทหาร โดยเฉพาะบุตรคนที่ 2 คือ
พล.อ.อุทัย ชินวัตร ได้เป็นถึงปลัดกระทรวงกลาโหม
สายของนายเลิศ
นายเลิศสมรสกับนางสาวยินดี ระมิงค์วงศ์ มีบุตรรวม 10 คน ซึ่ง
พ.ต.ท.ทักษิณเป็นบุตรคนที่ 2 และเป็นบุตรชายคนโต
ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นบุตรคนสุดท้อง คือ
1.นางเยาวลักษณ์ ชินวัตร (คล่องคำนวณการ)
2.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
3.นางเยาวเรศ ชินวัตร (วงศ์นภาจันทร์)
4.นางปิยนุช ชินวัตร (ลิ้มพัฒนาชาติ)
5.นายอุดร ชินวัตร (เสียชีวิตแล้ว)
6.นางเยาวภา ชินวัตร (วงศ์สวัสดิ์)
7.นายพายัพ ชินวัตร
8.นางมณฑาทิพย์ (ชื่อเดิม “เยาวมาลย์”) ชินวัตร (โกวิทเจริญกุล)
9.น.ส.ทัศนีย์ ชินวัตร (เสียชีวิตแล้ว)
และ
10.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
คงไม่ต้องพูดถึงเส้นทางชีวิตของ พ.ต.ท.ทักษิณที่โดดเด่นทั้งในด้านธุรกิจและการเมือง
จนได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” คนแรกของตระกูลชินวัตร
แต่บุตรคนอื่นๆของนายเลิศก็มีความสามารถไม่น้อยเช่นกัน
โดยเฉพาะในด้านการเมืองที่ “รุ่นที่ 4” สายของนายเลิศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหลายคน
นางเยาวลักษณ์ ชินวัตร บุตรคนโต เคยเป็นถึงนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่
และเป็นสตรีคนแรกที่ได้ตำแหน่งนี้ เสียชีวิตแล้วเมื่อ พ.ศ. 2552
นางเยาวเรศ ชินวัตร บุตรคนที่ 3 ประกอบกิจการผ้าไหม
ที่จังหวัดภูเก็ต “ชินวัตรภูเก็ต” และพัทยา “ชินวัตรพัทยา”
ภายหลังขายกิจการไปและมาทำธุรกิจนำเข้าโทรศัพท์มือถือ
ต่อมาขยายไปทำกิจการอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้าง
มีตำแหน่ง “ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์”
ปัจจุบันดูแลพื้นที่ภาคใต้ของพรรคเพื่อไทย
นางเยาวภา ชินวัตร บุตรคนที่ 6
ซึ่งคนส่วนใหญ่รู้จักเธอในนาม “เจ๊แดง” แห่ง “กลุ่มวังบัวบาน”
จบการศึกษาด้านพยาบาล ทำงานที่สำนักงานสาธารณสุขเชียงใหม่
สมรสกับผู้พิพากษา “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์”
ภายหลังหันมาทำการค้า โดยก่อตั้งบริษัท “เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย”
ทำหน้าที่นำเข้าโทรศัพท์มือถือให้กับกลุ่มชินคอร์ป
นายสมชาย สามีของเธอรับราชการมาหลายกระทรวง
ขึ้นถึงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมและปลัดกระทรวงแรงงาน
ก่อนจะบุญหล่นทับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย
แม้จะทำหน้าที่เป็นช่วงเวลาสั้นๆและไม่ได้เข้าทำงานในทำเนียบรัฐบาลเลยก็ตาม
ทั้งนายสมชายและนางเยาวภาถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี จากคดียุบพรรคพลังประชาชน
อย่างไรก็ตาม นางเยาวภายังมีบทบาทดูแลพรรคเพื่อไทย โดยคุมพื้นที่ภาคเหนือ
บุตรสาวของทั้งคู่คือ ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ปัจจุบันเป็น ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย
ถือเป็นการเริ่มต้นทางการเมืองของ “รุ่นที่ 5”
นายพายัพ ชินวัตร บุตรคนที่ 7 ทำงานในบริษัทชินวัตรไหมไทย
แต่ไม่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ
ภายหลังผันตัวมาเป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯและถูกโจมตีว่า “ปั่นหุ้น”
เข้าสู่การเมืองโดยเป็น ส.ส.เชียงใหม่ พรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548
ปัจจุบันมีตำแหน่งคุมทัพภาคอีสานของพรรคเพื่อไทย มีบุตรชาย 4 คน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บุตรคนที่ 10 ทำงานในเครือชินคอร์ปและเอสซี แอสเสทฯ
ก่อนจะเข้าสู่การเมืองและเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย
ตระกูลดามาพงศ์ : สายสัมพันธ์ที่ไม่อาจมองข้าม
ตระกูลชินวัตร “เกี่ยวดอง” กับตระกูลดามาพงศ์
ผ่านการสมรสของ พ.ต.ท.ทักษิณกับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์
(ปัจจุบันใช้นามสกุล ณ ป้อมเพชร ของมารดา)
ครอบครัว “ดามาพงศ์” ของคุณหญิงพจมานเป็นครอบครัวตำรวจ
โดยบิดาคือ พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ (อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ)
และมารดาคือ นางพจนีย์ ณ ป้อมเพชร
ครอบครัวของ พล.ต.ท.เสมอมีบุตรทั้งหมด 5 คน
โดยเป็นบุตรแท้ๆ 4 คน และบุตรบุญธรรม 1 คนคือ
1.นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ (บุตรบุญธรรม)
2.นายพงศ์เพชร ดามาพงศ์
3.พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์
4.พล.ต.ต.นพ.พีระพงศ์ ดามาพงศ์ และ
5.คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร
5 พี่น้องตระกูลดามาพงศ์ไม่เลือกรับราชการตำรวจ
ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองและธุรกิจกลุ่มชินที่มาจากการสมรสของคุณหญิงพจมาน
นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ บุตรบุญธรรมคนโต เป็นคนใกล้ชิดของคุณหญิงพจมาน
มีเอี่ยวในคดีซุกหุ้นชินคอร์ปช่วงก่อน พ.ต.ท.ทักษิณชนะเลือกตั้ง
ภรรยาของนายบรรณพจน์คือ “บุษบา ดามาพงศ์” เป็นคนสนิทของคุณหญิง
และเคยบริหารบริษัทเอสซี แอสเสทฯ ธุรกิจของครอบครัวมาช่วงเวลาหนึ่ง
ล่าสุดบุษบากลับมาเป็นซีอีโอของเอสซี แอสเสท อีกครั้งแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ลาออกไปเล่นการเมือง
นายพงศ์เพชร ดามาพงศ์ เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองระดับชาติ
โดยเป็นอดีตผู้อำนวยการการเลือกตั้งพรรคไทยรักไทย จังหวัดเชียงราย
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ถ้าไม่นับคุณหญิงพจมานที่โดดเด่น
ในฐานะคู่สมรสของนายกรัฐมนตรีและ “ผู้มีบารมีตัวจริง” ของพรรคไทยรักไทย
ผู้ที่โดดเด่นที่สุดในกลุ่มพี่น้องตระกูลดามาพงศ์ก็คือ
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์เคยถูกวิจารณ์ว่าได้เลื่อนขั้นอย่างรวดเร็วในสมัยรัฐบาลทักษิณด้วยเหตุผลว่า
เป็นเครือญาติด้านภรรยา
ภรรยาของ พล.ต.เพรียวพันธ์คือ นางเพ็ญโสม ดามาพงศ์
ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของบริษัทเอสซี แอสเสทฯ ด้วย
พล.ต.ต.นพ.พีระพงศ์ ดามาพงศ์ อดีตผู้บัญชาการสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ
สรุปบทเรียน “ตระกูลชินวัตร” กับนายกรัฐมนตรี 3 คน
หลังจากย้อนรอยสายตระกูลชินวัตรแล้ว
เราสามารถสรุปบทเรียนเบื้องหลัง “ความยิ่งใหญ่” ของตระกูลชินวัตรได้หลายประเด็น ดังนี้
มีบุตรหลานและผู้สืบทอดเป็นจำนวนมาก จากต้นตระกูลคือนายเส็ง แซ่คู
ที่มายังประเทศไทยเพียงลำพังคนเดียว จนถึง
ชินวัตรรุ่นที่ 5 ที่แยกสาแหรกไปมากมายนับเป็นหลักร้อยคน
รุ่นที่ 1 นายเส็งมีบุตร 9 คน รุ่นที่ 2 นายเชียงมีบุตร 12 คน
และรุ่นที่ 3 นายเลิศมีบุตร 10 คน การมีบุตรมากๆช่วยสร้างทรัพยากรบุคคลให้กับตระกูลในช่วงสร้างตัว
ดังที่ตระกูลจีนอื่นๆในไทยได้ประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น ตระกูลจิราธิวัฒน์ หรือตระกูลเจียรวนนท์
มี กิจการที่สร้างความมั่งคั่งให้กับตระกูล ในที่นี้คือ “ธุรกิจผ้าไหม” ที่สร้างความมั่งคั่งสะสมให้กับตระกูลชินวัตรตั้งแต่รุ่นที่ 2 เฉกเช่นเดียวกับตระกูลจีนอื่นๆในไทยที่สะสมความมั่งคั่งในรุ่นแรกๆจากการค้า (จิราธิวัฒน์, เจียรวนนท์) การเงิน (ล่ำซำ, โสภณพนิช, หวั่งหลี) จนมีอิทธิพลและเข้าสู่วงการการเมืองได้ในรุ่นถัดๆมา
มีสายงานอาชีพที่หลากหลาย ถึงแม้ตระกูลชินวัตรจะมีรากเหง้ามาจากการค้าไหม
แต่ลูกหลานของตระกูล (รวมถึงตระกูลที่ดองกันจากการสมรส)
ก็หันไปประกอบวิชาชีพอื่นๆ และได้ดิบได้ดีในสายอาชีพนั้นๆ
ทำให้ยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณขึ้นมาครองอำนาจ
มีคนตระกูลชินวัตรทำงานในตำแหน่งระดับสูงมากมาย สามารถขับเคลื่อน
และผลักดันวาระของตระกูลได้ง่ายขึ้น เช่น
พล.อ.ชัยสิทธิ์ (สายทหาร)
นายสมชาย (สายงานยุติธรรม)
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ (ตำรวจ)
การส่งมอบประสบการณ์ทางการเมือง
ตระกูลชินวัตรนั้นเป็นเฉกเช่นเดียวกับตระกูลการเมืองอื่นๆของโลก นั่นคือ
รุ่นแรกที่เข้าสู่การเมืองยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
แต่มีกระบวนการสรุปบทเรียนและถ่ายทอดประสบการณ์ทางการเมืองไปยังรุ่นถัดๆไป
เพื่อลดขั้นตอนในการเรียนรู้และก้าวสู่ตำแหน่งสำคัญ
จะเห็นว่านายเลิศถ่ายทอดประสบการณ์ให้น้องชายจนได้ขึ้นถึงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย
และสมัยที่นายเลิศเป็น ส.ส. ก็ดึงตัว พ.ต.ท.ทักษิณและบุตรคนอื่นๆไปช่วยงานหลายอย่าง
จนเป็นประสบการณ์ด้านการเมืองให้กับลูกหลานรุ่นถัดมา
ตระกูลทางการเมืองที่สำคัญของโลก เช่น
ตระกูลเคนเนดี้ของสหรัฐ
หรือตระกูลเนห์รู-คานธีของอินเดีย
ต่างก็มีประวัติศาสตร์ใกล้เคียงกัน นั่นคือต้นตระกูลรุ่นแรกๆ
ผู้มี “ความทะเยอทะยานทางการเมือง” จะยังไม่ประสบความสำเร็จในถนนการเมือง
แต่คนรุ่นถัดมาจะก้าวบนเส้นทางและผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ
ก่อนจะสร้างฐานอำนาจและส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป
ตัวอย่างคือประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ถูกผลักดันให้เล่นการเมืองโดยบิดาผู้เป็นนักธุรกิจ
และนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ชวาหระลาล เนห์รู
ก็เป็นบุตรของนักการเมืองคนสำคัญที่สร้างพรรคคองเกรสของอินเดีย
เส้นทางของตระกูลชินวัตรในตอนนี้ต้องบอกว่า “ย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว”
หลังส่ง พ.ต.ท.ทักษิณก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของตระกูล
ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณก็พยายามสร้างฐานอำนาจทางการเมืองของตัวเองในระยะยาว
ถึงแม้จะเผชิญกับการต่อต้านอย่างหนัก
แต่ก็ยังสามารถส่ง “น้องเขย” นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
และ “น้องสาว” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีก 2 ครั้ง
น่าจับตามองว่าในระยะยาวอีก 20-30 ปีข้างหน้า
ตระกูลชินวัตรจะส่งต่ออำนาจทางการเมืองได้นานแค่ไหน
และในเวลานั้นเราจะได้เห็น “ชินวัตรรุ่นที่ 5” ขึ้นมารับบทบาท
ในการเมืองระดับชาติอย่างที่ “ชวาหระลาล-อินทิรา-ราจีฟ”
สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีอินเดีย 3 รุ่นตั้งแต่ตายันหลานได้หรือไม่?
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 323 วันที่ 13 - 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554 หน้า 5 - 7
คอลัมน์ ข่าวไร้พรมแดน โดย siamintelligence.com
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=11751