ที่มา Thai E-News
โดย กาหลิบ
ที่มา คอลัมน์ เมืองไทยหรือเมืองใคร?
ความเป็นเผด็จการในรัฐบาลเผด็จการไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เหมือนความเลวในหมู่โจรที่ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ความเป็นเผด็จการของรัฐบาลที่ถือกันว่าเป็นประชาธิปไตย ย่อมทำให้ความด่างพร้อยนั้นผุดเด่นขึ้นมาราวกับรอยเปื้อนบนกระโปรงสีขาวที เดียว
คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นคำตลาดของ “ความผิด” ตามมาตรา ๑๑๒ และ มาตรา ๑๑๖ ของประมวลกฎหมายอาญา ปัจจุบันได้เร้ากระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเมืองไทยและระดับโลกอย่างไม่เคยปรากฏ มาก่อน สิ่งที่ครั้งหนึ่งคือเส้นที่ไม่มีใครกล้าข้าม จนเสมือนเป็นบรรทัดฐานของสังคมไทยไปแล้วนั้น ขณะนี้กลายเป็นเครื่องมือดีเยี่ยมในการประเมินระบอบไทยว่าเป็นประชาธิปไตย หรือมิใช่
บารมีของสถาบันกษัตริย์กลายเป็นต้นทุนที่ถูกนำมาใช้ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยที่คนใช้ก็ห่วงแต่การแก่งแย่งแข่งขันที่จะสำแดง “ความจงรักภักดี” ให้คนเห็น และไม่ได้ใส่ใจเลยว่าผลกระทบบั้นปลายของสถาบันที่ตนนำมากล่าวอ้าง จนเสมือนเป็นอนิจจังท่ามกลางสิ่งที่เป็นนิจจังทั้งหลายนั้นจะเป็นเช่นไร
เอาเป็นว่า ได้เกิดการลองเครื่องลองของกันอย่างมโหฬารกันในสังคมไทย ตัวตัดสินไม่ใช่พวกที่คอยสอพลอตอแหลด้วยความจงรักภักดีปลอมๆ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากหมัดสุนัข
แต่อยู่ที่ปวงชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของประเทศว่าจะตัดสินว่าอะไรผิดและอะไรถูก อะไรสำคัญและไม่สำคัญ
การตัดสินใจนั้น จู่ๆ ก็จะเกิดขึ้น โดยไม่เตือนใครและไม่ให้โอกาสกลับตัวกับใครเลย
ผู้ที่เราห่วงใยจึงไม่ใช่คนในระบอบเผด็จการนั้นๆ ซึ่งในที่สุดก็จะถูกตัดสินโดยกฎเหล็ก ๓ ข้อคือ กฎหมาย กฎเกณฑ์ทางสังคม (โดยเฉพาะวิวัฒนาการทางสังคม) และกฎแห่งกรรมอยู่แล้ว
แต่เราห่วงรัฐบาลประชาธิปไตยซึ่งต้องยืนหยัดอยู่บนทางสองแพร่ง เหมือนคนว่ายน้ำที่ต้องแข็งแรงอยู่ท่ามกลางกระแสน้ำสองสายที่ไหลสวนทางกัน อยู่รอบตัว จนแทบจะขืนไม่อยู่ ประชาชนทุกคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยากเห็นความจำเริญของรัฐบาล ประชาธิปไตยทุกชุดอยู่แล้ว แต่การวางตัวในระยะ “ปรองดอง” ระหว่างสิ่งที่ปรองดองได้ยากเย็นแสนเข็ญนั้น ก็กลัวว่ารัฐบาลนั้นจะเสียหายไปด้วย
จุดนี้เองที่คดีหมิ่นฯ ก้าวเข้ามาแทรกตรงกลาง ทั้งคดีเดิมและคดีใหม่
กรณีล่าสุดเกิดขึ้นในระหว่างทำคลอดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.บางเขนได้จับกุม นายนรเวศย์ ยศปิยะเสถียร อายุ ๒๓ ปี ผู้เป็นนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตามหมายจับศาลอาญา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ในข้อหาหมิ่นเบื้องสูงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒
การจับกุมเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคมที่ผ่านมา
ข้อกล่าวหาได้แก่ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๓ ขณะผู้ต้องหายังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยดังกล่าว ได้คัดลอกข้อความบนเว็บไซต์แห่งหนึ่งทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นข้อความ “ที่มีลักษณะหมิ่นเบื้องสูง” โดยคัดลอกมาเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว
ต่อมาเมื่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือ ICT ตรวจสอบพบ จึงประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนของสถานีตำรวจบางเขน ให้ติดตามจับกุม ในการสอบสวนเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวนพร้อมส่งฝากขังต่อศาลอาญาจนได้รับการประกันตัว
สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งคือผู้แจ้งความดำเนินคดีกับนายนรเวศย์ฯ ผู้เป็นนิสิตก็มิใช่ใครอื่น แต่เป็นอาจารย์ฝ่ายบริหารเองเลย
เขาคือ นายนิพนธ์ ลิ้มแหลมทอง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คดีนี้จึงเป็นคดีคลาสสิคที่ละม้ายคล้ายคลึงกันแทบทุกครั้ง นั่นคือ ดำเนินการจับกุมตัวแทนของกลุ่มสังคมต่างๆ ให้กว้างขวางทั่วถึง คราวนี้ถึงคิวของตัวแทน “คนรุ่นใหม่” ที่กำลังทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมรอบตัวและสว่างทางปัญญามากขึ้นทุกวัน
จุดประสงค์ใหญ่ก็คือ กดขี่คนรุ่นหลังให้เกรงกลัวมหาภัยที่จะเกิดกับตน หากค้นหาความจริงได้มากพอ วิธีการก็คือการใช้มือเปื้อนเลือดของ “ผู้ใหญ่” ที่เป็นเครื่องมือรุ่นเก่าจนลืมไปแล้วว่าครั้งตนก็เคยมีอุดมการณ์และความ ปรารถนาดีต่อมวลมนุษยชาติมาเช่นเดียวกันลูกศิษย์ของตน
อย่าลืมว่าคดีนี้หมูหมากาไก่ก็อ้างตัวเป็นผู้เสียหายและเข้าแจ้งความได้ ตามกลยุทธ์การเมืองที่ทำให้ประชาชน “ฆ่า” ประชาชนกันเองเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
คดีนี้ถือเป็นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคดีแรกภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
วิธีการของรัฐบาลในการจัดการกับคดีนี้ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง จึงจะเป็นบรรทัดฐานว่ารัฐบาลประชาธิปไตยจะเลือกปกป้องประชาชนบริสุทธิ์ที่ เลือกตนเข้ามาสู่อำนาจอย่างไร ซึ่งจะมีคนจับตาอยู่มาก
นี่คืองานชนิดเกิดหรือดับทีเดียว.