ที่มา Thai E-News
Voice TVได้สรุปย่อใจความสำคัญของสารคดีBBCกระหึ่มโลกเรื่อง ที่นี่ประเทศไทย:ความยุติธรรมใต้เปลวเพลิงไปแล้ว แต่หลายท่านเรียกร้องอยากอ่านพากษ์ภาษาไทยเป็นซับไตเติ้ล ถ้าหากรอไม่ไหว ท่านสามารถจัดทำSubภาษาไทยได้ด้วยตัวท่านเองแบบง่ายๆแล้ว ส่วนจะกลายเป็นSubนรกหรือไม่ อันนี้ต้องลองดูเอง...
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
14 สิงหาคม 2554
บีบีซีเพิ่งออกอากาศสารคดีชุด Thailand - Justice Under Fire ซึ่งเป็นเรื่องราวการทวงถามความจริงให้แก่ผู้เสียชีวิตทั้งชาวไทยและต่าง ประเทศ จากเหตุสลายการชุมนุมเมื่อปีที่ผ่านมา
โดยผู้ถ่ายทอดเป็นนักข่าวชื่อดัง ของบีบีซี เจ้าของรางวัลสารคดียอดเยี่ยมมากมาย
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ช่องบีบีซี ทู ออกอากาศสารดีเรื่อง Thailand - Justice Under Fire หรือ ประเทศไทย - ความยุติธรรมภายใต้เปลวเพลิง(หมายเหตุไทยอีนิวส์: บางท่านเสนอว่าควรแปลว่า ความยุติธรรมภายใต้กระบอกปืน หากจะแปลคำว่าFireเป็น"ยิง") ซึ่งสารคดีชิ้นนี้ ดำเนินเรื่องโดยนายเฟอร์กัล คีน ผู้สื่อข่าวของบีบีซี ที่คว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยมมาแล้วจากหลายสำนัก
หลังการออกอากาศ สารคดีชิ้นนี้ ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในโลกออนไลน์ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สารคดีฉบับเต็ม ก็ถูกนำมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ชื่อดังอย่างยูทูบ โดยแบ่งออกเป็น 4 ตอน ตอนละ 15 นาที
ล่าสุดVoiceTVสรุปความไว้ดังที่จะเสนออยู่ในแต่ละคลิปต่อไป
แต่หากท่านใดอยากอ่านพากษ์ไทย(Subไทย)มีเคล็ดลับวิธีทำด้วยตัวท่านเองอย่างง่ายๆดังต่อไปนี้ (เครดิต:คุณพิราบ dang)ใช้ได้กับทุก youtube ที่มี cc แต่ก็จะออกไปในทางซับนรก แต่อาจช่วยได้ในระดับหนึ่งสำหรับท่านที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ
1. เปิดยูทูป ด้านล่างขวามือจะเห็นคำว่า cc
2. ใช้ เม้าท์ ไปชี้จะเห็นคำว่า transcrib Audio
3. คลิ๊ก กด OK
4. ไปที่ cc อีกครั้ง
5. คลิ๊ก translate Captions
6. ชี้ เม้าท์ ไปที่บรรทัดแรกแล้วคลิ๊ก
7. เลื่อนลงมาด้านล่าง เลือก thai-ไทย อยู่ด้านล่าง เรียงตามตัวอักษร
8. จะขึ้น sub ภาษาไทย
เริ่มต้นสารคดี พูดถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งภารกิจหลัก หลังเข้ารับตำแหน่งมีหลากหลายด้านที่ต้องเร่งแก้ไข แต่ในมุมมองของบีบีซี สิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยก็คือ การสะสางคดีความให้กับผู้เสียชีวิต จากเหตุสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ซึ่งรวมถึงนายฟาบิโอ โปเลนกี ช่างภาพชาวอิตาเลียน
ซึ่งก่อนจะพูดถึงคดีความของนายฟาบิโอนั้น นายคีนได้เล่าย้อนไปถึงรากเหง้าของสังคมไทย เพื่อสร้างความเข้าใจพื้นฐานเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างสถาบัน ทหาร นักการเมืองและประชาชน ก่อนการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพ.ต.ท ดร. ทักษิณ ชินวัตร จนถึงการรัฐประหารและการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
ในตอนที่ 2 ผู้สื่อข่าวบีบีซี เจาะไปที่เหตุการณ์การสลายการชุมนุมมากขึ้น โดยมีเอลิซาเบ็ตต้า โปเลนกี น้องสาวของฟาบิโอ ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพี่ชาย ที่นายมาซายูกิ ไซโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในเหตุการณ์ และเป็นผู้ถ่ายภาพฟาบิโอหลังถูกยิงไว้ได้ ซึ่งนายมาซายูกิ ไซโตะยืนยันว่า เขาเห็นทหารยิงปืนใส่ประชาชน
ส่วนสารคดีตอนที่ 3 และ 4 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกระบวนการค้นหาความจริงให้กับผู้เสียชีวิต โดยเอลิซาเบ็ตต้า เข้าไปทวงถามความคืบหน้ากับกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ แต่คำตอบที่ได้รับ กลับเป็นว่า ดีเอสไอยังไม่รู้ว่าการยิงเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และที่บริเวณไหน
หนึ่งปีให้หลัง เอลิซาเบ็ตต้า กลับมายังประเทศไทยอีกครั้ง คำตอบของดีเอสไอก็ยังไม่แตกต่างไปจากเดิม นั่นคือยังคงไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ลงมือสังหารพี่ชายของเธอ แม้ว่ารายงานขององค์กร Human Rights Watch จะมีการระบุว่า ทหารคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชน แต่กองทัพยังคงปฏิเสธ และยืนยันว่าว่า กองทัพต้องใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อยุติความรุนแรงอันเกิดจากกลุ่มคนเสื้อแดง
ความสูญเสียจากเหตุสลายการชุมนุม ไม่ได้เกิดขึ้นกับชาวต่างชาติ อย่างฟาบิโอ โปเลนกี หรือ ฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพข่าวของรอยเตอร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวไทยมากกว่า 90 ชีวิต ที่วันนี้ยังไม่ได้รับคำตอบว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตกันแน่
สารคดีชุดนี้ ระบุว่าความหวังในขณะนี้จึงอยู่ที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าจะนำพาความยุติธรรมกลับคืนสู่สังคม ด้วยการนำตัวผู้กระทำผิดไปลงโทษได้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ทหารต้องรับโทษจากการปราบปรามประชาชน
แม้นางสาวยิ่งลักษณ์ จะถูกตั้งข้อกังขาจากนายพอล แชมเบอร์ส อาจารย์มหาวิทยาลัยพายัพว่าพี่ชายของเธอก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เคยละเมิดสิทธิ มนุษยชนในการปราบปรามยาเสพติด หรือกรณีตากไบ จนนโยบายนิรโทษกรรมเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลใจ
แต่อย่างไรก็ตาม สารคดีชุดนี้ สรุปว่า การค้นหาความจริง เพื่อผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุสลายชุมนุมเมษา - พฤษภา 53 ไม่ว่าจะเป็นน้องสาวของฟาบิโอ หรือกลุ่มคนเสื้อแดง จะต้องเดินหน้าต่อไป และท้ายที่สุดผู้กระทำผิดจะต้องได้รับการลงโทษ