ที่มา มติชนออนไลน์
ดูตัวอย่าง 2 คดีนี้แล้ว ได้แต่คาดเดาว่า คดีนายสุเทพซึ่งขณะนี้มีตำแหน่งเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาจคงต้องรอชาติหน้าตอนค่ำๆถึงจะสิ้นสุด
หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2552 ให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ใหม่กรณีให้ใบเหลืองนายธานี เทือกสุบรรณ นายก อบจ.สุราษฎร์ธานีคนปัจจุบัน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายสุริญญา ยืนนาน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี(ส.อบจ.) เขต อ.เกาะสมุย เป็นเวลา 1 ปี ตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)
ปรากฏว่า คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ดังกล่าวส่งผลสะเทือนถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี พี่ชายนายธานีและพวก เพราะคำสั่งของศาลระบุว่า เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2.551 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายชุมพล กาญจนะ และนายประพนธ์ นิลวัชรมณี ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำผ้าขนหนูที่มีชื่อบุคคลทั้ง 3 และชื่อพรรคประชาธิปัตย์ไปมอบให้แก่ผู้สูงอายุ จำนวน 200 คนในงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2551 ของเทศบาลตำบลเกาะสมุย อ.เกาะสมุย ก่อนการเลือกตั้งนายก อบจ.และ ส.อบจ.สุราษฎร์ธานี ในวันที่ 20 เมษายน.51 เพียง 7 วัน โดยนายธานีกับนายสุริญญาได้ลงสมัครเลือกตั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ และวันเกิดเหตุนาย สุริญญาร่วมอยู่ในงานมอบของผู้สูงอายุด้วย โดยมิได้ห้ามปราม
จากพยานหลักฐาน มีเหตุอันควรเชื่อว่า นายสุเทพ นายชุมพล และนายประพนธ์ แจกผ้าขนหนูแก่ผู้สูงอายุ เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนให้แก่นายสุริญญาและนายธานี เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้ง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57(1) และการกระทำของนายสุเทพ กับพวกเป็นผลให้ทั้ง 2 คนได้รับประโยชน์ ทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิก สภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 97
การฝ่าฝืนมาตรา 57 ของนายสุเทพและพวกต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาทและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิอเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี(มาตรา 118)
อย่างไรก็ตามระวางโทษดังกล่าว มิได้มีผลทันที ทาง กกต.ต้องไปแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนอีกครั้งหนึ่ง
นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า หลังจากนี้ เราก็จะส่งคำสั่งศาลอุทธรณ์ไปยังสำนักกฎหมายและคดี ของ กกต.เพื่อแจ้งให้กกต. จังหวัด ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญากับนายสุเทพ นายชุมพล และนายประพนธ์ ซึ่งถือว่า เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม โดยสามมารถยื่นได้ทันที เพราะมีหลักฐานอยู่แล้ว
หลังจากที่ กกต. แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐานและยื่นเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคดีอาญาฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ
คำถามคือ พนักงานสอบสวนหรือตำรวจจะใช้เวลานานเท่าใดในการรวบรวมพยานหลักฐาน พนักงานอัยการจะใช้เวลาเท่าใดในการพิจารณาสำนวน และเมื่อส่งฟ้องศาลแล้ว จะใช้เวลานานเท่าใดในแต่ศาล จนถึงศาลฎีกา เพราะนายสุเทพเองก็ประกาศแล้วว่า จะต่อสู้งจนถึง 3 ศาล คำถามดังกล่าวคงไม่มีใครตอบได้แน่ชัด แต่จากบทเรียนของ กกต.คดีเหล่านี้กินเวลานานมาก เพราะเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับนักการเมืองโดยเฉพาะนักการเมืองใหญ่ที่มีอิทธิพล อาจทำให้พนักงานสอบสวนใส่เกียร์ว่างได้
ตัวอย่างเร็วๆนี้ได้แก่ หนึ่ง คดียุบพรรคไทยรักไทยซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 โดยในคำตัดสินระบุว่า นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล และ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยในข้อหาเป็นผู้จ้างวานพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง หลังจากนั้น กกต.มีมติเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550ให้ดำเนินคดีอาญากับนายพงษ์ศักดิ์ และพล.อ.ธรรมรักษ์ กับบุคคลอื่นในพรรคเล็กรวม 9 คน
กกต.ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีนายพงษ์ศักดิ์ และพล.อ.ธรรมรักษ์ ต่อกองบัญชาการสอบสวนกลางตามหนังสือ ที่ ลต.0201/8645 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 จนบัดนี้เวลาล่วงเลยมานานถึง 2 ปีแล้ว ไม่รู้ว่าคดีคืบหน้าไปถึงไหน พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้พนักงายอัยการแล้วหรือยัง หรือมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องแล้วแบบเงียบๆ
สอง กกต.มีมติให้ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมาและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2551ว่า ให้ดำเนินคดีอาญาเพียงอย่างอย่างเดียว โดยไม่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง)ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ทั้งๆที่ กกต.วินิจฉัยว่า นายบุญจง ปราศรัยใส่ร้ายคู่แข่งและแจกทรัพย์สินซึ่งเป็นความผิดตาม มาตรา 53 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)และ การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ( คำวินิจฉัยสั่งการของกกต.ที่ 357/2551)
แต่กว่า กกต.จะส่งเรื่องให้ กกต.จังหวัดร้องทุกข์ดำเนินคดีกับนายบุญจงที่ สภ.จักราช จังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552(ตามหนังสือด่วนที่สุด ลต.0601/27 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธุ์ 2552) หลังจากเวลาผ่านไปเกือบ 1 ปี
ขณะนี้เวลาผ่านไป 3 เดือนกว่าแล้ว ไม่รู้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานไปถึงไหน เพราะนายบุญจง นั่งเก้าอี้ใหญ่เป็นถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ดูตัวอย่าง 2 คดีนี้แล้ว ได้แต่คาดเดาว่า คดีนายสุเทพและพวกซึ่งขณะนี้มีตำแหน่งเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาจคงต้องรอชาติหน้าตอนค่ำๆถึงจะสิ้นสุด
ใครหวังว่าจะเห็นนายสุเทพถูกศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนาน 10 ปี คาเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีคงได้แต่ฝันค้าง