ที่มา ประชาไท
หมายเหตุ:
(1) บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับปลายเดือนเมษายน ต่อมา ผู้เขียนได้รับการแจ้งว่าจะไม่ตีพิมพ์บทความดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 พ.ค. อย่างไรก็ตาม บทความนี้ได้ถูกตีพิมพ์ใน นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 21 พ.ค. 52
(2) อภิชาติ สถิตนิรามัย เป็นคอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์มองซ้ายมองขวา
อภิชาติ สถิตนิรามัย
ผมเห็นด้วยกับบทความชื่อข้างต้นของพี่ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ซึ่งตีพิมพ์ในมติชนรายวันฉบับวันที่ 18 เมษายน 2552 พี่ประสงค์สรุปว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงในช่วงสงกรานต์เลือดนั้น “นับเป็นการพ่ายแพ้ในทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง แต่การยอมยุติการชุมนุมครั้งนี้เป็นเพียงการพ่ายศึก แต่ยังไม่แพ้สงคราม เพราะ "รากเหง้า" ของปัญหายังคงดำรงอยู่ กลุ่มเสื้อแดงเพียงแต่ถอยเพื่อปรับกลยุทธ์การต่อสู้ สะสมกำลังรอเวลาที่จะเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้งหนึ่ง” และกล่าวต่อไปว่า “แน่นอนว่าในกลุ่มคนเสื้อแดงอาจมีบางพวกที่มีวาระซ่อนเร้นต้องการใช้ความรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดงมีหลากหลายความคิด เช่น พวกที่เป็นผู้สนับสนุนและได้รับผลประโยชน์จาก พ.ต.ท.ทักษิณโดยตรง พวกที่ไม่ชอบกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พวกที่ต้องการประชาธิปไตยและต่อต้านการรัฐประหารอย่างแท้จริง พวกที่ต่อต้านสถาบัน พวกที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ [พวกที่]เห็นว่าการโค่นล้ม พ.ต.ท.ทักษิณไม่เป็นธรรม ฯลฯ ดังนั้น แม้จะพ่ายศึก แต่ความรู้สึกของผู้ชุมนุมบางส่วนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมยังคงฝังแน่นก็พร้อมที่จะลุกขึ้นสู้อีกครั้งหนึ่งเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมและโอกาสอำนวยให้”
ความเห็นด้วยกับบทความนี้ของผมสิ้นสุดลงเพียงแค่ย่อหน้านี้เท่านั้น ผมเห็นด้วยว่าเสื้อแดงเพียงแค่พ่ายศึก แต่ยังไม่แพ้สงคราม เพราะตราบใดที่ปัญหา “รากเหง้า” ยังไม่ได้รับการแก้ไข ตราบนั้นปัญหารากเหง้าเหล่านี้จะเป็นเชื้อไฟอย่างดีให้กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งที่ชอบธรรมและไม่ชอบธรรมได้ต่อไป (เสียดายที่พี่ประสงค์ไม่ระบุให้ชัดเจนว่ามันคืออะไรบ้าง!) ผมเห็นด้วยต่อไปว่า กลุ่มเสื้อแดงนั้นประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายความคิด มิใช่มีแต่เพียงม็อบรับจ้าง หรือชาวรากหญ้าผู้ขาดการศึกษา-โง่เง่า-ถูกหลอกใช้เป็นแค่เบี้ยหมากทางการเมืองโดยทักษิณและลูกสมุน ตามที่ชนชั้นกลางและสื่อเชื่อหรือพยายามทำให้เชื่อเท่านั้น มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเรือนแสน และมีจำนวนหลายพันคนที่พร้อมจะเสี่ยงชีวิตกับการถูกปราบด้วยกระสุนจริง (และกระสุนกระดาษของทหาร—ฮา) ทั้งที่ดินแดงและรอบทำเนียบรัฐบาล จะมีแต่เพียงแค่พวกโง่เง่าหรือพวกม็อบรับจ้าง
ดังนั้น ประเด็นสาระสำคัญที่ควรอภิปรายกันคือ อะไรเล่าที่เป็นรากเหง้าของปัญหา อะไรเล่าทำให้ผู้ชุมนุมที่มีความรู้สึกฝังแน่นว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมที่จะลุกขึ้นสู้อีกครั้ง มันเป็นไปได้ไหมครับพี่ประสงค์ ที่ความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมถูกสะสมพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ผู้ชุมนุมอันหลากหลายตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ที่สำหรับหลายคนไม่ว่าจะ “มีสักกี่คนที่รู้หรือ (แกล้ง) ไม่รู้ว่า” ความเลวร้ายของทักษิณมีทั้งสิ้นเพียงสี่ประการตามที่พี่ไล่เรียงมาให้ดู หรือมากกว่านั้นก็ตาม สังคมประชาธิปไตยก็ไม่มีสิทธิ์จะปลดทักษิณออกจากตำแหน่งด้วยการรัฐประหาร มันเป็นไปได้ไหมครับพี่ประสงค์ที่ความรู้สึกนี้ถูกสะสมเพิ่มพูนจากกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ตั้งแต่การยุบพรรคไทยรักไทย ต่อด้วยการยุบพรรคพลังประชาชน (ซึ่งทำให้นายกฯ สมชายหลุดจากตำแหน่งไปด้วย) การหลุดจากตำแหน่งของนายกฯ สมัครในคดีชิมไปบ่นไป ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และการประชาพิจารณ์และการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายภายใต้ภาวะฉุกเฉินในหลายพื้นที่
มันเป็นไปได้ไหมครับพี่ประสงค์ที่ตั้งแต่การบุกยึดสถานนีโทรทัศน์ NBT การยึดทำเนียบรัฐบาลและปิดสนามบินทั้งระดับชาติและต่างจังหวัดของกลุ่มคนเสื้อเหลือง โดยที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งสองครั้งของรัฐบาลสมัครและสมชายถูกทหารนั่งทับไว้เฉยๆ และไม่จัดการอะไรเลยกับม็อบมีเส้นสีเหลือง จะเพิ่มพูนความคับข้องใจให้กับเสื้อแดง รวมไปจนกระทั่ง ณ ขณะนี้ที่ผู้นำเสื้อเหลืองยังไม่ถูกลงโทษตามกฎหมาย
มันเป็นไปได้ไหมครับพี่ประสงค์ที่เหตุการณ์ที่ผมไล่เรียงมานี้จะเป็นความพยายามของชนชั้นนำ— ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม โดยอาศัยช่องทางต่างๆ ในการจัดการ-ควบคุมกลุ่มพลังของชนชั้นล่างที่ตื่นตัวทางการเมืองและเริ่มเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบเดียวกับที่ชนชั้นกลางเคยทำมาในอดีต ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะกีดกันชนชั้นล่างออกจากส่วนแบ่งของอำนาจทางการเมือง หรือไม่ก็แย่ยิ่งไปกว่านี้คือ ความพยายามของชนชั้นนำที่จะหลอกคนอื่นและหลอกตัวเองด้วยว่า ความปั่นป่วนทางการเมืองในสามปีที่ผ่านมานั้นเป็นฝีมือของทักษิณเพียงคนเดียว โดยไม่มีพลังทางสังคมและชนชั้นรองรับ คิดราวกับว่าถ้าทักษิณวางมือเสียคนเดียวแล้วเราก็จะกลับเข้าสู่สังคมแห่งวันชื่นคืนสุขในอดีตทันที
พี่ประสงค์เขียนต่อไปว่า “ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ กลุ่มบุคคลที่หลากหลายเหล่านี้ ยอมรับให้ พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งสถาปนาตนเองเป็นผู้นำความคิดด้านประชาธิปไตยเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้” ตามด้วยการไล่เรียงความเลวร้ายสี่ประการของทักษิณเพื่อที่จะสรุปบทความว่า “การนำพฤติกรรมเหล่านี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณมาพูดถึงเพื่อต้องการบอกให้รู้ว่า วาทกรรมที่อวดอ้างว่าเป็นนักประชาธิปไตยและมีความกล้าหาญเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่ควรค่าแก่การรับฟัง เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของ พ.ต.ท.ทักษิณ คือ การดิ้นรนให้หลุดพ้นจากคดีที่ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรง ตำแหน่งทางการเมืองและต้องการทวงทรัพย์สินกว่า 70,000 ล้านบาท ที่ถูกอายัดไว้ในคดีร่ำรวยผิดปกติคืนเท่านั้น ถ้าได้รับชัยชนะอาจได้ "อำนาจ" กลับคืนเป็นของแถมอีกด้วย”
ย่อหน้านี้พี่เขียนสรุปราวกับว่า ผู้เข้าร่วมการชุมนุมเสื้อแดงทั้งหมดถูกทักษิณหลอกใช้ หรือไม่ก็เป็นผู้แกล้งโง่—ทำตัวไม่รู้ทันเป้าหมายที่แท้จริงของทักษิณ ทั้งๆ ที่ย่อหน้าแรกๆ ของบทความพี่ยอมรับอย่างเปิดเผยว่า ผู้ชุมนุมประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีความคิดหลากหลาย ผมอดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมบทสรุปของพี่ไม่คงเส้นคงวากับตอนต้นของบทความ
เป็นไปได้ไหมครับพี่ประสงค์ ที่ไม่ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของทักษิณจะเป็นไปตามที่พี่เขียนหรือไม่ก็ตาม คนเสื้อแดงจำนวนมากแม้รู้อยู่เต็มอกถึงเป้าหมายแท้จริงเช่นเดียวกับพี่ แต่ก็ยังพร้อมที่จะยอมรับให้ทักษิณเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ เพราะอย่างน้อยเขาก็เป็นคนๆ เดียวที่พวกเสื้อแดงแต่งตั้งขึ้นสู่อำนาจผ่านบัตรเลือกตั้ง และการยอมรับเป็นสัญลักษณ์นี้ก็ย่อมไม่เท่ากับการสู้เพื่อผลประโยชน์ของคนๆ คนเดียว หรือรู้ไม่ทันทักษิณ ใช่ไหมครับ
เป็นไปได้ไหมครับที่ความไม่คงเส้นคงวาของพี่เป็นเพียงบทสะท้อนความคิดของสื่อกระแสหลักโดยทั่วไปที่กลัว “ผีทักษิณ” หลอกหลอน เช่นเดียวกับในยุคสงครามเย็นที่ต่างกลัว “ผีคอมมูนนิสต์” และด้วยความกลัวผีทักษิณนี้เองที่ทำให้การรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักไม่รอบด้าน ไม่พยายามเปิดพื้นที่ให้กับเสียงของคู่ขัดแย้งอย่างเท่าเทียม ไม่มีการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมชุมนุมอย่างหลากหลายพอเพียงจนทำให้ผู้เสพสื่อทั่วไปเห็นถึงความหลากหลายของผู้เข้าร่วมชุมนุม รวมทั้งวาดภาพของผู้ชุมนุมว่าเป็นเพียงม็อบรับจ้าง ม็อบถูกหลอก ฯลฯ จนกระทั่งการทำข่าวของสื่อแบบนี้เองที่เป็นตัวตอกย้ำ/ เพิ่มพูนความรู้สึกอยุติธรรมของคนเสื้อแดง ที่น่ากลัวกว่าอย่างอื่นทั้งหมดคือ การทำข่าวเช่นนี้เกิดขึ้นจากความยินยอมพร้อมใจของสื่อเอง โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ทั้งๆ ที่ไม่ถูกกดดันจากรัฐบาลแบบสื่อทีวี