WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, May 28, 2009

บทกวี “สุญญตา 2” โดย....... วิสา คัญทัพ

ที่มา thaifreenews

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ปล่อยวาง ลดละ สุญญตา

วิสา คัญทัพ


ไม่ยึดมั่น ถือมัน อันนั้นอันนี้ ตัวตน ไม่มี ดังปรารถนา

ปล่อยวาง ลดละ สุญญตา หัวใจพุทธศาสนาอันสำคัญ

จิตเห็นว่า ไม่มี โดยบริสุทธิ์ จิตถึงความเป็นพุทธ ไม่ไหวหวั่น

ทุกข์สุข กิเลสตัณหา สารพัน ไม่มี ทั้งนั้น อนัตตา

ไม่มี สัตว์โลก มวลมนุษย์ ธรรมบริสุทธิ์แสวงหา

ก็ไม่ยึด ยื้อยุด ฉุดเอามา แม้องค์พระศาสดาก็ไม่มี

แต่สุญญตาคงดำรงอยู่ ในหมู่บรรพชิตชีวิตวิถี

เป็นอรหันต์แล้วแก้วมณี สุญญตาก็ไม่หนีไปที่ใด

แม้พระพุทธเจ้า ยังตรัสว่า ตถาคตฆ่าเวลาเป็นส่วนใหญ่

ด้วยสุญญตาวิหารสถิตใน สติสัมปชัญญะใจอันแจ้งจริง

สุญญตาจึงเป็นอภิธรรม สุดประเสริฐเลิศล้ำเหนือทุกสิ่ง

วิมุติสุขเป็นของว่าง ไม่อ้างอิง สงบนิ่ง เสวยได้ แท้ไม่มี.

(บทกวี “สุญญตา 2” โดย วิสา คัญทัพ)


“ในเวลานี้ พี่น้องชาวไทยเราจำนวนหนึ่งกำลังถูกพัดพาให้ไปยึดถือบัญญัติว่าอะไรเป็นประชาธิปไตย อะไรไม่ใช่ประชาธิปไตย แล้วเถียงกันเอาเป็นเอาตาย โดยลืมไปว่าทั้งหมดเป็นแค่สมมุติสัจจะ เป็นความจริงสัมพัทธ์ที่ขึ้นต่อนานาปัจจัย และไม่มีอันใดเที่ยงแท้ถาวร อย่างนี้เรียกว่าติดกับอยู่ในทวิภาวะซึ่งเป็นบ่วงทุกข์อันหนักหน่วงและคงเปลื้องทุกข์ไม่ได้ถ้าไม่ถอนตัวกลับมาสู่มัชฌิมาปฏิปทา”

ความข้างบนเป็นถ้อยคำของ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กล่าวในปาฐกถาเกียรติยศชื่อ “อำนาจแห่งความว่าง ความว่างแห่งอำนาจ” ชุด “พุทธธรรมพาไทยพ้นวิกฤติ” มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ณ.หอประชุมมหิศร สำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2551 ผมฟังแล้วโดนใจเป็นที่ยิ่ง สงบเย็น เป็นสุข เป็นจริง เป็นสัจจะ มิมีข้อต้องถกเถียงขัดแย้งแต่อย่างใด

ผมรู้จักเสกสรรค์ ประเสริฐกุลเพราะเติบโตมาในยุคเดียวกัน มีโยงใยในทางประวัติศาสตร์สำคัญคือ 14 ตุลาคม 2516 ขณะผมถูกจับอยู่ในเรือนจำชั่วคราวบางเขนในข้อหา 13 กบฏรัฐธรรมนูญ เสกสรรค์ ยืนเป็นผู้นำนักศึกษา นำเยาวชนนักเรียนนักศึกษาและประชาชนเรียกร้องให้เผด็จการปล่อย 13 กบฏโดยไม่มีเงื่อนไข ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสุดกำลัง ในชีวิตเสียดายอย่างหนึ่งก็คือ การไม่มีโอกาสสนิทสนมกับเสกสรรค์ ประเสริฐกุลเป็นส่วนตัวเหมือนกับที่ผมเคยสนิทสนมกับ ธีรยุทธ บุญมี กับเสกสรรค์ส่วนมากก็แค่ทักทายกันเมื่อพบปะเจอะเจอในวาระโอกาสต่างๆ ความที่ผมเป็นนักดื่มคนหนึ่ง ทราบมาบ้างว่า บางวาระกับมิตรสหายที่สนิท เสกสรรค์จะดื่มและสนทนาอย่างสนุก ออกรสชาติ และได้สาระ ถ้าได้ร่วมวงก็คงประทับใจในความทรงจำมิลืมเลือน ความที่นิยมชมชอบกันอยู่เป็นพื้น เข้าทำนอง ตำจอกหนเดียว เป็นเสี่ยวทั้งชีวิต แต่อย่าง ธีรยุทธ บุญมีไม่น่านับเป็นนักดื่ม หรือผมอาจไม่สนิทกับเขามากจนถึงขนาดได้เมาด้วยกันก็เป็นได้จึงไม่มีจุดสะดุดใจอะไรมาเล่าสู่กันฟัง

โยงใยอีกหนึ่งกรณีก็เป็นกรณีประวัติศาสตร์สำคัญคือ การชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ของชาวนาไทยทั่วประเทศราวปี 2518 ช่วงเย็นย่ำใกล้ค่ำของวันหนึ่ง เสกสรรค์ขึ้นปราศรัยบนเวที ผมส่งบทกวี “ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่ เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ตั้งใจให้เสกสรรค์อ่านบนเวที นั่นเป็นการเผยแพร่บทกวีบทนี้สู่สาธารณชนนับหมื่นคนเป็นครั้งแรกโดยที่บทกวีบทนี้ยังไม่เคยตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อน เสกสรรค์อ่านปิดท้ายคำปราศรัยของเขาด้วยน้ำเสียงของคนที่อ่านบทกวีเป็น จึงอ่านได้หนักแน่นและทรงพลังเป็นที่สุด ได้รับการปรบมือและโห่ร้องสนั่นหวั่นไหว เป็นการจบการพูดที่เกรียงไกรจริงๆ และเมื่อเสกสรรค์ลงจากเวที ผมก็เพียงได้จับมือเขาเพื่อแสดงความยินดีด้วยเท่านั้น

โยงใยครั้งที่สาม เราเดินสวนกันที่หน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันหนึ่ง หนังสือพิมพ์เสียงใหม่รายวันฉบับวันนั้นลงตีพิมพ์บทกวีของผมชื่อ “ดาบก็ดาบ มีดก็มี ทวนก็ทวน ปืนก็ปืน” เป็นการเขียนตอบโต้บทกวีของไพบูลย์ วงษ์เทศที่เขียนลงในประชาชาติก่อนหน้านี้ชื่อบทว่า “ด้วยดาบ ด้วยมีด ด้วยทวน ด้วยปืน” เสกสรรค์ถามว่าทะเลาะอะไรกันหรือ จำไม่ได้แล้วว่าผมตอบหรือไม่ได้ตอบเสกสรรค์ว่าอย่างไร แต่ในความจริงไม่ได้ทะเลาะอะไรกันเลยเป็นเพียงการโต้คารมในเชิงกวีเท่านั้นเอง แต่ว่าเป็นการโต้บทกวีกันในช่วงท้ายๆของความขัดแย้งทางความคิดในอิทธิพลปฏิวัติวัฒนธรรมที่ส่งผลกระทบมาจากจีนเรื่อง “เผาวรรณคดี” ทำนอง.. “คำเผาที่เขาเผย มิใช่เพลิงที่เผาผลาญ เพียงยับลงกับกาล เวลาวัดและตัดสิน”

สำหรับผม เสกสรรค์ ประเสริฐกุลเป็นคน “คมความคิด คมคารม” ขณะพูด และ “คมความคิด คมสำนวน” ขณะเขียน ไม่ว่าจะเขียนหรือพูดภาษาของเสกสรรค์ก็หนักแน่น ทรงพลัง สละสลวย การบรรยายของเขานิ่มเนียนได้อารมณ์ ที่สำคัญเปี่ยมด้วยความรู้สึกแห่งชีวิตที่เป็นเลือดเป็นเนื้อแฝงฝังอยู่ในทุกตัวอักษร ผมจึงชอบอ่านงานของเสกสรรค์และชอบฟังเสกสรรค์พูด ถึงแม้ไม่อยู่ในขั้นขาประจำติดตามตลอด แต่ทว่าก็ติดตามใกล้ชิดอยู่พอควร

เสกสรรค์เข้าป่าก่อนผม เขาเดินทางอ้อมออกทางต่างประเทศแถบยุโรป ก่อนวกเข้าป่าโดยมาอยู่ที่หน่วยงาน A 30 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ตั้งอยู่ ณ.แขวงอุดมชัย ประเทศลาว เป็นโรงเรียนการเมืองการทหาร ที่เดียวกับที่ผมได้เข้าไปอยู่หลังจากเสกสรรค์เดินทางไปแนวหน้าแล้ว แต่เราก็มีจัดตั้งคนเดียวกันนาม สหายเพชร และสหายไหม

ถึงวันนี้ ดูเหมือนว่า เราจะเลือกเรียนโรงเรียนเดียวกันโดยบังเอิญอีก จากโรงเรียนการเมืองการทหาร สู่โรงเรียนการพุทธการธรรม ผมสนใจศึกษาเรื่องธรรมโดยปกติของอายุขัยที่อยู่ในวัยพุทธธรรมหลั่งไหลเข้าหัว เมื่อหาหนังสือธรรมมาอ่านอะไรๆก็ดูเข้าใจได้และถูกต้องไปทั้งหมด จากที่เคยอ่านธรรมไม่สนุกก็กลายเป็นอ่านแล้วไม่อยากวาง ใช้ชีวิตไปตามธรรมชาติมาพอสมควรจึงเข้าใจว่าธรรมคือธรรมชาติ คือธรรมดา ที่พระพุทธเจ้าพยายามพร่ำสอนว่า มันจักต้องเป็นเช่นนี้....

“มันจักต้องเป็นเช่นนี้ ชั่วดี เลวร้าย ได้กับตัว กรรมใดใครก่อไว้จะพันพัว ส่งผลติดตามตัวนิรันดร์ไป สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมที่ก่อกระทำมา กรรมุนาวัฏฏิโลโก”

สุกงอมถึงขั้นเข้าก็แต่งเพลงธรรมออกมาได้ สุกงอมถึงขั้นเข้าก็เขียนบทกวีธรรมได้ ขณะนี้ “คีตกวีธรรม” ของผมกำลังอุ่นร้อนอยู่ในโรงพิมพ์จะปรากฏเป็นเล่มภายในสิ้นปีนี้ เมื่อเห็นเสกสรรค์พูดถึง “สุญญตา” ก็โดนทันที โดนใจอย่างยิ่งครับ เมื่อนำ สุญญตามาจับเข้ากับอำนาจก็เกิดเป็น “อำนาจแห่งความว่า ความว่างแห่งอำนาจ” ขึ้นมาในทันที เสกสรรค์ ประเสริฐกุลกล่าวในตอนหนึ่งว่า

“การที่คนเรามองไม่เห็นสุญญตา ทำให้ชอบแบ่งโลกเป็นคู่ขัดแย้งต่างๆ ชอบบัญญัติลงไปว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนี้ชั่ว สิ่งนี้สวยสิ่งนั้นอัปลักษณ์ สิ่งนี้บริสุทธิ์สิ่งนั้นมีมลทิน ฯลฯ การมองโลกแบบทวิภาวะเช่นนี้ แท้จริงแล้วมักผูกโยงอยู่กับอัตตา ซึ่งนำไปสู่การปะทะขัดแย้งกันอยู่เนืองๆ เพราะต่างฝ่ายต่างอยากกำหนดความเป็นไปของโลกด้วยปัจจัยเดียวคือตัวเอง และโทษผู้อื่นเป็นต้นเหตุโดดๆ แบบไม่มีที่มาที่ไป...”

“คนเราเมื่อว่างจากตัวตน ว่างจากทิฏฐิ เมตตาย่อมเกิด กรุณาย่อมเกิด อุเบกขาย่อมเกิด ทำให้สามาถรับฟังความคิดเห็นต่างๆได้ง่ายขึ้น มองโลกครบถ้วนขึ้น จากนั้นสภาพจิตก็จะเปลี่ยนจากวิเคราะห์เป็นสังเคราะห์ เปลี่ยนจากแยกส่วนเป็นหลอมรวม เปลี่ยนจากความรู้รอบเรื่องบัญญัติเป็นความลุ่มลึกแห่งปัญญาญาณ พูดอีกแบบหนึ่งคือ มัชฌิมาปฏิปทาเป็นเรื่องของการเปิดประตูใจ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การพบทางออกในเหตุการณ์รูปธรรมทั้งปวงเมื่อใจสงบ หยั่งถึงความว่างทุกอย่างก็เป็นไปได้ตามกฎธรรมชาติ สรรพสิ่งล้วนก่อรูปขึ้นในความว่าง”

“ถามว่า แล้วทำไมความว่างจึงเป็นอำนาจด้วย คำตอบคือ อำนาจเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ อำนาจไม่ใช่สิ่งของหรือพลังวิเศษที่ผู้ใดจะยึดครองไว้ได้โดยไม่สัมพัทธ์กับเงื่อนไขต่างๆเช่นเดียวกับปรากฏการณ์อื่นๆ ปรากฏการณ์แห่งอำนาจเกิดขึ้นและดำรงอยู่โดยอิงอาศัยนานาปัจจัย

พูดอีกแบบหนึ่ง อำนาจมีกฎเกณฑ์ในการก่อเกิด ดำเนินไปและดับสูญอย่างเคร่งครัด และกฎเกณท์เหล่านั้นก็อยู่ในกรอบกฎอิทัปปัจจยตาอย่างเลี่ยงไม่พ้น เช่นนี้แล้ว อำนาจจึงเป็นสุญญตา อำนาจไม่มีแก่นสารอิสระจากปัจจัยที่ค้ำจุน อำนาจมีลักษณะเป็นความว่างอย่างยิ่ง”

วันนี้ของ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกิล เป็นวันนี้ที่ไม่ได้อยู่ในทวิภาวะ ดูแล้วน่าจะต่างจากบทบาทของธีรยุทธ บุญมี หรือเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวคือไม่มีภาพสนับสนุนฝ่ายใด ทั้งโดยความคิดและการนำสรีระร่างกายไปปรากฎตัวตน เสกสรรค์ดำรงอยู่ในการหยั่งเห็นความว่างแห่งสุญญตา ทว่า “ความว่างในภาษาธรรมไม่ได้หมายถึงความว่างเปล่าโล่งเตียน ไม่มีอะไรเลยตามที่เข้าใจกันในภาษาสามัญ หากหมายถึงสภาพความจริงที่สรรพสิ่งในโลกล้วนอิงอาศัยกัน เกิดขึ้นและมีอยู่ ด้วยเหตุนี้แต่ละสิ่งจึงปราศจากแก่นสารในตัวเอง หรือพูดอีกแบบหนึ่งคือ ไม่มีอัตลักษณณ์แยกต่างหาก”

การหยั่งเห็นความว่างดังกล่าวจึงใกล้ชิดกับหลักธรรมสำคัญ มัชฌิมาปฏิปทา เสกสรรค์กล่าวย้ำว่า “ธรรมข้อนี้ไม่ได้หมายถึงทางที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองสาย ไม่ได้หมายถึงทัศนะไม่เลือกข้างเพื่อเอาตัวรอด และยิ่งไม่ใช่หมายถึงการหาประชามติจากคนกลางๆที่ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด มัชฌิมาปฏิปทา หมายถึง การถอนอุปาทานจากความคิดสุดโต่งทั้งปวง หมายถึงการมองเห็นความสมมุติของทวิภาวะ เห็นความไม่จริงของบัญญัติต่างๆที่ผู้คนมักยกอ้างมาขัดแย้งกัน”

วันนี้ของ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นวันนี้ที่ผ่องอำไพด้วยจิตใจแห่งธรรม สงบนิ่ง สง่างาม ถวายตัวเป็นลูกศิษย์นอกจัดตั้งกับท่านพุทธทาสไปเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกันกับผม ทว่าอาจารย์เสกสรรค์อาจลุ่มลึกในธรรมมากกว่า ส่วนผมยังงมงำงุนงงค่อยๆคลำค่อยๆคว้า ค้นหาทางทำความเข้าใจไปทีละเล็กละน้อย อาจจะช้าสักหน่อย แต่ก็คงไม่หลีกเร้นตกรางไปทางไหน ท้ายสุดนี้ขอคารวะด้วยบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริง ทั้งขอแสดงตนว่าชื่นชม และจะติดตามผลงานของท่านไว้ประดับปัญญาต่อไป ขอจบด้วย “คีตกวีธรรม” บทที่ชื่อ “สุญญาตา 1” ของ วิสา คัญทัพ เพื่อความสวัสดิมงคลครับ

สาวก ภาสิตา คือภาษิต ไพเราะ วิจิตร ประดิษฐ์สร้าง อันสาวก กล่าวแล้ว นอกแนวทาง

นอกเรื่องไปบ้าง อ้างกันไป ตถาคต ภาสิตา คือภาษิต สุญญตา ชีวิต สว่างไสว

ตถาคต กล่าวแล้ว แวววาวใจ วิจิตรไพเราะกับการดับทุกข์ สุญญตาเป็นตถาคตภาษิต

จับใจ จับจิต ปิติสุข โลกุตระ เหนือโลก ทุรยุค เร้ารุก ลึกล้ำ คัมภิรา

งามทั้งเบื้องต้น บนความว่าง งามทั้งท่ามกลางที่ขวางหน้า งามทั้งตรงปลาย อย่างทายท้า

สวยสง่า หมดจด แห่งงดงาม.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันนี้ เวลา 10:52:52 am โดย แมวอ้วนอ้วน »