ที่มา Thai E-News
โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
ที่มา เวปไซต์ประชาไท
27 พฤษภาคม 2552
ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยที่ดำเนินมาสามปีกว่าแล้วนี้ เป็นการต่อสู้อย่างเป็นขบวนการครั้งแรกของประชาชนชั้นล่างอย่างกว้างขวางทั้งในเมืองและชนบท ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ขบวนการคนรากหญ้า” ความจริงนี้เป็นที่ยอมรับจากเกือบทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน นักการเมือง ราษฎรอาวุโส คอลัมนิสต์ สื่อมวลชน เป็นต้น เพียงแต่การประเมินและความเข้าใจที่มีต่อ “ขบวนการคนรากหญ้า” ดังกล่าวกลับแตกต่างกัน
สำหรับบรรดานักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ราษฎรอาวุโส นักการเมือง และสื่อมวลชนที่เป็น “ปัญญาชนหางเครื่อง” ของเผด็จการอำมาตยาธิปไตย ขบวนการคนรากหญ้านี้เป็นแค่พวกชนชั้นต่ำที่ไร้การศึกษา ถูกมอมเมา ได้รับข้อมูลผิด ๆ เป็น “พวกเสพติดนโยบายประชานิยม-บริโภคนิยม” จนถอนตัวไม่ขึ้น เป็นพวกหมู่ชนที่หลงงมงาย เห็นแก่ได้กับผลประโยชน์เฉพาะตัวที่ได้รับจากรัฐบาลไทยรักไทยในอดีต แต่ไม่สนใจ “การทุจริตโกงกินทำลายชาติ” ของนักการเมือง พวก “ปัญญาชนหางเครื่อง” เผด็จการเหล่านี้จึงมองว่า แม้แต่การเคลื่อนไหวในปัจจุบันของขบวนการคนรากหญ้าก็เป็นเพียงเพราะ “เงิน” คือ เป็น “ม็อบรับจ้าง” ที่อ้างประชาธิปไตยบังหน้า แต่แท้ที่จริงแล้ว ก็คือต่อสู้เรียกร้องเพื่อ “เงินรับจ้าง” และ “เพื่อผลประโยชน์ของคน ๆ เดียว” เท่านั้น
ทรรศนะดูถูกเหยียดหยามมวลชนคนรากหญ้าดังกล่าวไม่ว่าจะเชื่อโดยจริงใจหรือเพียงมุ่งใส่ร้ายป้ายสี ก็นับว่าน่าสังเวชอย่างยิ่ง เพราะทำให้พวกเขามองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทยในขณะนี้ และที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้
การตื่นตัวของมวลชนคนรากหญ้าในปัจจุบันเป็นผลจากการบ่มเพาะและเรียนรู้ทางการเมืองจากประสบการณ์จริงด้วยตัวเองมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8-9 ปีแล้ว นับตั้งแต่ที่พวกเขาตัดสินใจไปเลือกตั้ง ลงคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นให้พรรคไทยรักไทยเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลเป็นครั้งแรกเมื่อต้นปี 2544 พวกเขาเข้าใจบทเรียนทางประชาธิปไตยทีละบท ยกระดับตนเองขึ้นทีละขั้น จากประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ถึงวันนี้กลายเป็นประชาชนผู้กำลังต่อสู้ช่วงชิงประชาธิปไตยและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนที่เท่าเทียม
พวกเขาเรียนรู้บทเรียนที่หนึ่งจากห้าปีของรัฐบาลไทยรักไทยคือ คะแนนเสียงของเขามีความหมาย มีความสำคัญ ที่พวกเขาอาจใช้เพื่อช่วงชิงประโยชน์และปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของตนให้ดีขึ้นทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว ซึ่งก็คือ ใช้คะแนนเสียงไปเลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีทั้งนโยบายและความมุ่งมั่นปฏิบัติจริงที่จะสร้างประโยชน์ให้กับพวกเขา
พวกเขาเรียนรู้บทเรียนที่สองจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่เผด็จการอำมาตยาธิปไตยโค่นล้มรัฐบาลเลือกตั้งที่สร้างประโยชน์ให้แก่พวกเขามาหลายปี พวกเขาจึงรับรู้ว่า การที่พวกเขาจมปลักอยู่กับความยากจน ปัญหาชีวิตและเศรษฐกิจ อุปสรรคและความขาดแคลนอย่างเรื้อรังมาตลอดชีวิตของพวกเขานั้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ไม่ใช่เรื่องบุญกรรม หากแต่เป็นเพราะพวกเขาถูกกระทำให้อยู่ในสภาพเช่นนั้นอย่างจงใจทำให้พวกเขาหมกมุ่นอยู่กับการทำมาหากิน ปัญหาชีวิตและเศรษฐกิจ ไร้การศึกษา ไร้สุขภาพที่ดี ไร้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ไร้ทางออกในชีวิต มีแต่ต้องชะเง้อแง้รอความเมตตาจากอำมาตยาธิปไตยอยู่ร่ำไป แต่แล้ว ด้วยรัฐธรรมนูญ 2540 เมื่อพวกเขาเริ่มจะได้รับสิทธิ์และผลประโยชน์จากการตัดสินใจเลือกรัฐบาลของตนเองบ้าง พวกเผด็จการอำมาตยาธิปไตยก็ใช้กำลังเข้าข่มขู่ ปล้นชิงไปจากพวกเขา และผลักให้พวกเขากลับไปจมปลักอยู่กับสถานะผู้รอคอยขอความเมตตาอยู่เหมือนเดิมต่อไป
พวกเขาเรียนรู้บทเรียนที่สามจากการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 และการโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชนในช่วงปี 2551 ว่า สิทธิ์ เสรีภาพและผลประโยชน์จากประชาธิปไตยที่พวกเขาต้องการนั้น ต้องได้มาด้วยการตัดสินใจทางการเมืองของคนรากหญ้าเอง และหากพวกเขาชาวรากหญ้า “บังอาจกำเริบเสิบสาน” ลุกยืนขึ้น เดินไปเข้าคูหาเลือกตั้ง ตัดสินใจกาบัตรเพื่อแสดงว่า “กูต้องการรัฐบาลที่กูเลือกเอง” สิ่งที่พวกเขาจะได้รับก็คือ การปฏิเสธและเหยียบย่ำจากพวกเผด็จการอำมาตยาธิปไตยด้วยการส่งสมุนอันธพาลออกมาก่อจลาจลบนท้องถนน สร้างเงื่อนไขประสานกับกลไกราชการในมือ โค่นล้มรัฐบาลที่คนรากหญ้าเลือกมา ปล้นชิงสิทธิ์ เสรีภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นพลเมืองของพวกเขาไปแทบจะทันที การโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชนยังสอนมวลชนคนรากหญ้าให้เรียนรู้อีกว่า พวกเผด็จการอำมาตยาธิปไตยไม่มีวันที่จะยอมรับการตัดสินใจและความต้องการเสรีภาพของประชาชนส่วนข้างมากในฐานะของ “คนที่เท่าเทียมกัน” มีแต่ประชาชนต้องลุกขึ้นยืน ก้าวออกมา และต่อสู้ปกป้องสิทธิ์ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นคนของตนในระบอบประชาธิปไตย บทเรียนนี้ที่ทำให้เกิด“ขบวนการประชาธิปไตยเสื้อแดง”
พวกเขาเรียนรู้บทเรียนที่สี่จากกรณี “สงกรานต์นองเลือด” 26 มีนาคม -14 เมษายน 2552 ว่า เมื่อพวกเขาพากันออกมาทวงคืนซึ่งสิทธิ์เสรีภาพและปกป้องผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 สิ่งที่พวกเขาได้รับตอบแทนก็คือ การใช้กำลังรุนแรงและอาวุธสงครามเข้าปราบปรามทำร้ายอย่างไร้ความเมตตา บทเรียนจากการหลั่งเลือดในวันที่ 13-14 เมษายนคือ สิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และศักดิ์ศรีความเป็นคนนั้น ไม่ใช่ได้มาจากการร้องขอ แต่จากการต่อสู้ช่วงชิงเอามาด้วยตนเองจากอุ้งมือของผู้ปกครองเท่านั้น การต่อสู้นั้นมิใช่สะดวกราบรื่น หากแต่ยืดเยื้อยาวนาน หลายขั้นตอน ยากลำบาก เจ็บปวด อันตราย และเสียเลือดเนื้อ จึงจะได้มา
ในวันนี้ มวลชนคนรากหญ้ากำลังเรียนรู้บทเรียนใหม่ที่สำคัญยิ่งคือ การรวมตัวจัดตั้ง สะสมกำลัง ขยายเครือข่าย ประสานร่วมมือ ศึกษาถอดถอนบทเรียนจากการเคลื่อนไหว “สงกรานต์นองเลือด” ต่อสู้ต่อไปอย่างอดทน พลิกแพลง ยาวนาน เป็นขั้นตอน จากเล็กสู่ใหญ่ จากอ่อนสู่แข็ง จากแคบสู่กว้าง และจากสถานะเพลี่ยงพล้ำไปสู่การรุกเพื่อบรรลุชัยชนะที่ซึ่ง “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” อย่างแท้จริง
ปล่อยให้พวกเผด็จการอำมาตยาธิปไตยและ “ปัญญาชนหางเครื่อง” ของพวกเขาหลอกตัวเองต่อไปเถิดว่า ขบวนการคนรากหญ้าเป็น “ม็อบรับจ้าง” “เงินไม่มา ม็อบไม่เดิน” ปล่อยให้พวกเขาวิ่งไล่ตามราวี “ผี” ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเองไปจนสุดขอบโลก ให้พวกเขางมงายอยู่กับยุทธศาสตร์ “ไม่มีเงินทักษิณ ก็ไม่มีพวกเสื้อแดง” ต่อไปจนถึงวันล่มสลายของพวกเขา!
ปล่อยพวกนักวิชาการ คอลัมนิสต์ และพวกปัญญาชน “สองไม่เอา” ที่เป็น “พวกอีแอบ” ให้พวกเขาตีอกชกหัว ร้องห่มร้องไห้กันต่อไปว่า สังคมไทย “แยกเป็นสองขั้ว” “ไม่มีพื้นที่ให้พวกไม่เหลืองไม่แดง” “ไม่มีที่ยืนให้คนที่ไม่เอาเผด็จการและไม่เอาทักษิณ” ให้พวกเขางมงายอยู่กับวาทกรรม “ขบวนการคนเสื้อแดงคือขบวนการทักษิณ” ให้พวกเขาฝันเฟื่องอยู่กับเงื่อนไขว่า “จะเข้าร่วมก็ต่อเมื่อพวกเสื้อแดงไม่มีทักษิณ” ให้พวกเขานอนสะดุ้ง เหงื่อกาฬแตกกับ “ผีระบอบทักษิณ” ให้พวกเขาโอดครวญเรียกหา “ประชาธิปไตยที่ไม่มีทักษิณ” ในป่าช้าทางวิชาการของพวกเขาต่อไป!