ที่มา มติชนออนไลน์
พรรคพันธมิตรฯรับทุนสะอาดไร้เงื่อนไข ใช้ระดมเงินสมาชิกบริจาค100บาท/เดือน "สุริยะใส"คาดไม่เกิน 3 เดือนตั้งพรรคได้ "สมเกียรติ"ยังลังเลย้ายซบ ทิ้งปชป. รองเลขาฯกกต.บอกหาก "สนธิ"เป็นหัวหน้า ต้องตีความคำพิพากษากรณีบุคคลล้มละลาย เจ้าตัวให้เสียงส่วนใหญ่ตัดสินใจใครคุมบังเหียน
กกต.ชี้หาก"สนธิ"นั่ง หน.ต้องตีความกรณีบุคคลล้มละลาย
นายปกครอง สุนทรสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวเมื่อวันที่ 24 พฤาภาคมถึงกรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชานเพื่อประชาธิปไตย(พธม.)จะตั้งพรรคการเมืองว่า หากยื่นขอจดแจ้งใช้ชื่อพรรคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็สามารถยื่นได้ เพราะยังไม่มีใครขอใช้ชื่อนี้ ซึ่งในส่วนของสมาชิกพรรคไม่ได้จำกัดคุณสมบัติ แต่ส่วนของกรรมการบริหารพรรค ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดว่า กรรมการบริหารพรรคต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายโดยทุจริต(มาตรา 11) ดังนั้นหากนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ซึ่งเคยเป็นบุคคลล้มละลาย จะมาเป็นหัวหน้าพรรค จะต้องมีการตีความคำพิพากษาของศาลว่า ระบุไว้อย่างไร "สุริยะใส" คาดไม่เกิน 3 เดือนพันธมิตรฯ ตั้งพรรคได้ งานรำลึก 193 วัน 1 ปี การต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย วันนี้จะเป็นวันที่ 2 แต่เปลี่ยนจากสถานที่มหาวิทยาลัยรังสิต มาเป็นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) โดยงานจะเริ่มในเวลา 14.00 น. ซึ่งจะมีความชัดเจนเรื่องการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ ที่แกนนำได้ระบุก่อนหน้านี้ว่า จะฟังมติของผู้เข้าร่วมประชุม หลังจากที่แจกแบบสอบถามไปตั้งแต่เมื่อวานนี้ว่า ต้องการให้พันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมืองหรือไม่
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ กล่าวว่า ในเบื้องต้นได้ชื่อพรรค 3 ชื่อ คือพรรคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พรรคเทียนแห่งธรรม และพรรคการเมืองใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน จะตั้งพรรคการเมืองได้ แต่หากวันนี้สมาชิกไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งพรรค ทุกอย่างจะต้องถูกล้มเลิกทันที
"สมเกียรติ"ยังลังเลทิ้งปชป. บอกมีมารยาทการเมืองพอ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ ว่าประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินอนาคตทางการเมือง ของพรรคที่จะถูกจัดตั้งขึ้น ซึ่งหากเป็นพรรคการเมืองจอมปลอมจะไม่สามารถอยู่ได้นาน โดยขณะนี้ตนเองไม่สามารถตอบได้ว่า จะย้ายพรรคการเมืองหรือไม่ เนื่องจากยังไม่เห็นโครงสร้างของพรรคที่ชัดเจน พร้อมยืนยันว่า ตนเองมีมารยาททางการเมืองเพียงพอ และขณะนี้ยังเชื่อมั่นในพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังเป็นพรรคที่มีคุณค่าต่อสังคม
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ขณะนี้แกนนำพันธมิตรฯ พยายามชี้แจงทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลกับประชาชนเกี่ยวกับการตั้งพรรคการเมือง เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก
"จำลอง"รับจุดเปลี่ยนตั้งพรรคอยากเห็นการเมืองใหม่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ย้ำว่า ไม่เคยคิดว่าจะมีการตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ แต่บอกเพียงแค่ว่าเมื่อครบ1 ปีจะมีการสังสรรค์ และพบปะเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลไปแล้ว ทั้งนี้ พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็ยังมีการทำการเมืองแบบเก่า ซึ่งมีหลายเสียงสอบถามแนวความคิดการตั้งพรรคการเมืองซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยและค้านการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ พันธมิตรฯ จะมีการหารืออีกครั้ง สำหรับจุดเปลี่ยนการตั้งพรรค ก็เป็นเพราะอยากเห็นการเมืองใหม่ "สุเทพ"แสดงความยินดีพันธมิตรฯตั้งพรรคการเมือง
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง กล่าวเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะตั้งพรรคการเมืองว่า ขอแสดงความยินดี และขอต้อนรับในฐานะนักการเมือง และเห็นว่าเป็นเรื่องดี ที่จะมีพรรคใหม่ ทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ขณะนี้ไม่อยากให้วิจารณ์ว่ากลุ่มพันธมิตรฯ จะมีการดำเนินการทั้งในและนอกสภาหรือไม่ ต้องรอให้มีนโยบาย วิธีการดำเนินการที่ชัดเจน ก่อนแสดงความคิดเห็น แต่ส่วนตัวคาดว่าหากมีการตั้งพรรคแล้ว คงไม่มีการเคลื่อนไหวนอกสภา นอกจากนี้ยังเห็นด้วยที่ฝ่ายต่างๆ จะเข้ามาสู่ระบบ โดยการเป็นตัวแทนของประชาชน เข้ามาร่วมแก้ปัญหา ส่วนกระแสข่าวที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ จะเป็นหัวหน้าพรรคนั้น เป็นเรื่องภายใน อย่างไรก็ตามไม่กังวลว่ากลุ่มพัธมิตรฯ จะเป็นคู่แข่งทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์
พธม.นับพันร่วมถกตั้งพรรค
ก่อนหน้านี้ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จัดประชุมสภาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ภายใต้แนวคิด "เดินหน้าสู่การเมืองใหม่" ที่อาคารนันทนาการ มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 24 พฤษภาคม มีตัวแทนพันธมิตรจากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมกันอย่างคับคั่งประมาณ 3,000 คน มีการแบ่งที่นั่งเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกลุ่มเครือข่ายองค์กรพันธมิตร เช่น กองทัพธรรม สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เครือข่ายเกษตรกร กลุ่มทีจีโอ เครือข่ายประชาธิปไตยยาตรา พร้อมแจกแบบสอบถามเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคพันธมิตร ประมาณ 3,000 ชุด และยังเตรียมแบบสอบถามอีกประมาณ 70,000 ชุด สำหรับผู้ที่มาร่วมงานรำลึก 193 วัน ที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคมนี้
ส่วนการรักษาความปลอดภัยด้านนอกมีตำรวจจากสถานีตำรวจต่างๆ อาทิ สภ.ต.คูคต สภ.ต.คลอง 12 และ สภ.ต.อื่นๆ กว่า 2 กองร้อยมาดูแล ส่วนพื้นที่ภายในจะเป็นการรักษาความปลอดภัยจากกลุ่มพันธมิตรเอง
"จำลอง" โต้ขัดแย้ง "ปชป."
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หนึ่งในแกนนำพันธมิตร กล่าวก่อนขึ้นเวทีว่า แนวคิดจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นเกิดหลังจากยุติการชุมนุม มีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่และกลุ่มพันธมิตรหวังว่ารัฐบาลใหม่จะทำงานการเมืองอย่างที่หลายฝ่ายต้องการ แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งเห็นว่าไม่เป็นอย่างนั้น จึงเริ่มมีความคิดเสนอให้มีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อทำการเมืองใหม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวความขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จนต้องตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้น พล.ต.จำลองกล่าวว่า ไม่ใช่ พันธมิตรมีความสัมพันธ์กับหลายพรรคการเมือง ยืนยันไม่ได้ขัดแย้งกับพรรคการเมืองใดเลย ไม่เป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มไหนทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องการให้เกิดการเมืองใหม่
ปัดกลืนน้ำลายรับเก้าอี้การเมือง
เมื่อถามว่า จะเป็นการกลืนน้ำลายตัวเองหรือไม่นั้น เพราะเคยระบุว่าจะไม่เข้ามายุ่งกับตำแหน่งการเมืองอีก พล.ต.จำลองกล่าวว่า ไม่ได้กลืนน้ำลายตัวเอง เพราะเมื่อยุติการชุมนุมก็เคยบอกแล้ว เมื่อชุมนุมเสร็จจะไม่มีตำแหน่งทางการเมือง เช่น ที่ปรึกษา หรือเลขานุการรัฐมนตรี ส่วนกรณีชื่อเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่นั้น พล.ต.จำลองกล่าวว่า "ไม่ได้หวังตำแหน่ง เพราะการมากินมานอนกลางถนน 193 วัน มันไม่คุ้มกันเลย"
พล.ต.จำลองกล่าวปราศรัยบนเวทีว่า พันธมิตรไม่ได้ตั้งใจหรือมีเจตนาที่จะจัดตั้งพรรคการเมือง แม้ว่าจะมีเสียงสนับสนุนให้ตั้งพรรคการเมือง โดยเฉพาะเสียงส่วนใหญ่ที่อเมริกา ดังนั้น จึงคิดว่าต้องถามประชามติของประชาชนก่อน ขอยืนยันแกนนำไม่ได้มีการชี้นำในการตั้งพรรคการเมือง
"สนธิ"ให้มติตัดสิน"หน.พรรค"
เวลา 09.30 น. แกนนำพันธมิตร นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายพิภพ ธงไชย พล.ต.จำลอง และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ขึ้นบนเวทีพร้อมกัน ซึ่งนายสมศักดิ์ในฐานะประธานสภาพันธมิตร กล่าวขอให้ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมลุกขึ้นยืนไว้อาลัย 1 นาที เพื่อเคารพจิตวิญญาณของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 จากนั้นกล่าวขอให้การอภิปรายมีการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เพื่อตอกเสาเข็มนำไปสู่การเมืองใหม่
นายสนธิกล่าวว่า จากเหตุการณ์ 17 เมษายนที่ผ่านมา ที่ถูกลอบยิง เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าการต่อสู้ของพันธมิตรมาถูกทางแล้ว ส่วนคำถามที่ตามมาเกี่ยวเรื่องการตั้งพรรคการเมืองแล้วใครจะเป็นหัวหน้าพรรคเมืองนั้น ทั้งนี้ 5 แกนนำพันธมิตรต้องขอฉันทานุมัติจากพี่น้องกลุ่มพันธมิตรเป็นคนตัดสินใจ เป็นคนเลือกไม่ใช่ตั้งกันเอง พันธมิตรเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และพรรคการเมืองนั้น ถ้าจะมีการตั้งก็จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการต่อสู้ของพันธมิตร ซึ่งพันธมิตรมีเครื่องมือหลายอย่าง นอกจากพรรคการเมืองแล้ว อาจมีมูลนิธิที่ออกไปให้ความรู้กับประชาชน
เล็งสมาชิกบริจาค100บาท/เดือน
"การเคลื่อนไหวของพันธมิตร เป็นอันตรายต่อการเมืองระบอบเก่า ที่พรรคการเมืองระบอบเก่าอยากเห็นพันธมิตรใช้วิถีทางการต่อสู้บนท้องถนนเท่านั้น แต่อีกสักกี่ปีกี่ชาติถึงจะสำเร็จ แต่การตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ก็ต้องแล้วแต่ฉันทานุมัติ" นายสนธิกล่าว และว่า ขอให้พี่น้องพันธมิตรที่สนับสนุนการตั้งพรรค อย่าคาดหวังว่า ภายใน 2-3 ปี จะต้องประสบสำเร็จ อย่าเอาจำนวน ส.ส.มาตัดสินใจ และถ้าตั้งพรรคจริงๆ จะต้องระดมทุนจากการให้สมาชิกบริจาคเงินเข้าพรรค อาจจะเป็นคนละ 100 บาทต่อเดือน โดยจะไม่ใช้เงินเหล่านั้นมาซื้อเสียง แต่จะเอาไปสร้างเครื่องมือในการให้ความรู้และให้ปัญญากับประชาชน สำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งพรรค หากส่วนใหญ่มีฉันทานุมัติให้ตั้งพรรค ก็ต้องยอมรับ เพราะนี่คือประชาธิปไตยทางตรง
ยันพรรคใหม่ไม่ปิดกั้นตัวเอง
นายพิภพกล่าวว่า ถ้ามีฉันทามติตั้งพรรคการเมือง จะไม่ทิ้งประชาชนอย่างเด็ดขาด และจะสร้างความเป็นธรรมในทุกภาคส่วนและร่วมกันสร้างการเมืองใหม่ หากกลุ่มพันธมิตรมีมติจะตั้งพรรคการเมือง จะไม่ปิดตัวเองเฉพาะคนที่ร่วมชุมนุมวันนี้เท่านั้น แต่พร้อมที่จะเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามีส่วนร่วม แต่มีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ
1.ต้องมีอุดมการณ์ตรงกันในชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
2.ไม่สนับสนุนนักการเมืองให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่น และ
3.พร้อมต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมต่อสังคม
"ประสงค์"ซัดพรรคน้ำดีเอาตัวรอด
น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ จะปล่อยให้การเมืองเดินไปอย่างนี้ไม่ได้ เพราะนักการเมืองไม่เข้าใจคำว่าการเมือง ซึ่งนักการเมืองที่ดีจะต้องเป็นนักการเมืองที่เสียสละและจะต้องทำงานเพื่อประชาชน แต่พรรคการเมืองซึ่งเป็นพรรคน้ำดีตนดูแล้วขณะนี้จะเป็นน้ำเสียในที่สุด เพราะทำงานทุกวันนี้ชอบประวิงเวลาเพื่อให้อยู่รอดไปวันๆ เท่านั้น ซึ่งการอยู่รอดไปวันๆ ทำผลเสียต่อบ้านเมือง โดยเฉพาะ 4-5 เดือนที่ผ่านมา ไม่เห็นอะไรเลยนอกจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
"ยืนยันรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดช่องให้แก้ไขได้ แต่คนที่แก้จะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับสิ่งที่แก้ไข โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่มีปัญหาแก้เพื่อให้ตัวเองพ้นผิด เป็นเรื่องที่เห็นแก่ตัวที่สุด หากยังดึงดันก็เชื่อว่าประชาชนไม่ยอม นักการเมืองของไทยที่ดียังคงมีอยู่แต่น้อยและยังไม่กล้าหาญเด็ดขาดในการทำงาน โดยเฉพาะบางคนที่เป็นผู้นำพูดจาฉะฉานน่าเชื่อถือภาพลักษณ์ดี แต่ไม่กล้าตัดสินใจ เราต้องการนักเมืองที่กล้าตัดสินใจเพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนส่วนน้อย ที่ช่วยประคองรัฐบาล การตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตรเห็นว่าถึงเวลาแล้ว"
เสนอปลดล็อคคำพูดแกน"พธม."
ผู้สื่อข่าวรายงานในการระดมความคิดตัวแทนพันธมิตรทั่วประเทศ ในช่วงบ่ายมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นจากพันธมิตร 10 อนุภูมิภาค และองค์กรแนวร่วม ซึ่งส่วนใหญ่มีความเห็นแนวทางเดียวกันคือค้านแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และการนิรโทษกรรม เพราะเห็นว่าข้อบัญญัติเดิมป้องกันนักการเมืองทุจริตและทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่อยู่แล้ว ส่วนประเด็นตั้งพรรค ตัวแทนส่วนใหญ่เห็นด้วยเพื่อสร้างการเมืองใหม่ ควบคู่การเคลื่อนไหวกับการเมืองภาคประชาชน เพื่อยุติการเมืองน้ำเน่าแบบเก่า นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนพันธมิตรภาคตะวันออกได้เสนอแนะให้มีการปลดล็อคคำพูดแกนนำพันธมิตรที่เคยประกาศว่าไม่รับตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว และพรรคการเมืองใหม่จำเป็นต้องได้ผู้นำคุณภาพ
ทั้งนี้ ตัวแทนพันธมิตรภาคตะวันออกกล่าวตอนหนึ่งว่า แกนนำที่เคยประกาศว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้น บัดนี้เวลาได้ล่วงเลยมามากแล้ว สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว จึงขอให้มีการปลดล็อคคำกล่าวของแกนนำที่เคยประกาศว่าไม่รับตำแหน่ง หรือไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะถ้าตั้งพรรคการเมืองแล้ว ไม่มีผู้นำพรรคที่ดีจะไปรอดหรือไม่ ซึ่งภาคตะวันออกมีมติว่าให้ปลดล็อคคำพูดของแกนนำ เพื่อให้พรรคมีผู้นำที่เหมาะสมมาทำหน้าที่เพื่อสร้างการเมืองใหม่
ตั้งแล้ว3ชื่อพรรคให้โหวตเลือก
ผู้สื่อข่าวรายงานส่วนประเด็นการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น ทางพันธมิตรจะมีข้อสรุปผลโหวตอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 25 พฤษภาคม พร้อมการจัดงานรำลึก "193 วัน 1 ปีการต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตร" ที่บริเวณสนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เวลา 14.00-23.20 น. จะมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การแสดงดนตรี ขบวนพาเหรด และเวลา 21.05 น. ทางแกนนำจะขึ้นเวที มีนายสมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นตัวแทนดำเนินการขอฉันทานุมัติจากเหล่าพันธมิตร สรุปผลโหวตการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตร กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้สนับสนุนให้พันธมิตรตั้งพรรคการเมืองกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนี้ พันธมิตรจะดำเนินการเลือกชื่อพรรคที่ได้ตั้งไว้ก่อนหน้านี้แล้ว 3 ชื่อ คือ พรรคเทียนแห่งธรรม พรรคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และพรรคการเมืองใหม่ โดยจะมีการโหวตผ่านทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีผ่านดาวเทียม และยึดหลักเสียงส่วนใหญ่ว่าจะเลือกพรรคใด ทั้งนี้ เชื่อว่าจะได้ข้อสรุปในสัปดาห์หน้า
ขอมติประชุมใหญ่3ประเด็น
เวลา 16.00 น. นายสุริยะใสกล่าวอีกว่า ผลการหารือที่ประชุมสภาพันธมิตรที่จะนำไปขอมติในที่ประชุมใหญ่ทั่วประเทศในวันที่ 25 พฤษภาคมนั้น คือ
1.จะร่วมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 190, 237 และ 309 และมาตราใดๆ ที่กระทบต่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่
2.จะร่วมกันสืบสานเจตนารมณ์วีรชนเพื่อสร้างการเมืองใหม่ ด้วยการตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาต่อสู้ไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรในฐานะการเมืองภาคประชาชน
3.จะมอบหมายให้ 5 แกนนำ รับเอาเจตนารมณ์ของที่ประชุมพันธมิตรไปพิจารณาออกแบบและจัดโครงสร้างของพรรคแล้วนำมาขอความเห็นชอบจากพี่น้องพันธมิตรทั่วประเทศอีกครั้งหนึ่ง
"สำหรับร่างคำประกาศกลุ่มพันธมิตรเพื่อเดินหน้าสู่การเมืองใหม่ ขอประกาศเป็นพันธสัญญาว่า
1.จะสานต่อเจตนารมณ์ของวีรชน
2.สนับสนุนส่งเสริมคนดีเข้าสู่อำนาจ ขัดขวางปกป้องคนไม่ดีเข้ามาสู่อำนาจ
3.เป็นความหวังของประชาชนเพื่อผลักดันการเมืองใหม่ "
ยอมรับทุนสะอาด-ไม่มีเงื่อนไข
นายสุริยะใสกล่าวว่า ดูแนวโน้มแล้วมีโอกาสที่จะจัดตั้งพรรคสูง แกนนำทุกคนเห็นตรงกันที่จะให้มีการจัดตั้งพรรค แต่สิ่งที่ท้าทายต่อไปคือ การตั้งพรรคการเมือง เพราะการแสวงหาอำนาจของพันธมิตรนั้น ต้องเป็นไปเพื่อประชาชน อีกทั้งการตั้งพรรคนั้นคงต้องใช้เวลา ซึ่งอย่างน้อยน่าจะไม่น้อยกว่า 3 เดือนจึงจะได้ข้อสรุป จากนั้นจะเดินสายไปตามจังหวัดต่างๆ เพื่อขอความเห็นกับประชาชนทุกภาคส่วน ยืนยันว่าบทบาทนอกสภาของพันธมิตรยังมีอยู่ เพราะการตั้งพรรคเป็นเพียงวิธีการต่อสู้แบบใหม่เท่านั้น ไม่ใช่ตั้งพรรคแล้วจบหรือชนะ
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีคนนอกมาเป็นหัวหน้าพรรคหรือไม่ นายสุริยะใสกล่าวว่า ยังไม่อยากตั้งธงว่าหัวหน้าพรรคจะเป็นใคร แต่ต้องเป็นคนที่เสียสละ สะอาด ส่วนหากตั้งพรรคแล้วจะมีเรื่องทุนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั้น นายสุริยะใสกล่าวว่า ไม่ปฏิเสธที่จะต้องมีเรื่องทุนเข้ามา แต่ต้องเป็นทุนที่สะอาด ไม่มีเงื่อนไขมาแลกเปลี่ยน ไม่มาครอบงำพรรค เพราะไม่อย่างนั้นการเมืองใหม่ก็คงไม่เกิด
ปัด"อาทิตย์"หน.-นายทุนพรรค
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่ายังไม่ได้ปิดประตูตายที่แกนนำจะเป็นหัวหน้าพรรค นายสุริยะใสกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแกนนำ แต่ก็ยังไม่ปิดโอกาส แต่เท่าที่ดูแบบสอบถามนั้นส่วนใหญ่อยากให้นายสนธิเป็นหัวหน้าพรรค
สำหรับนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ถือเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค และเป็นนายทุนพรรคด้วยหรือไม่ นายสุริยะใส กล่าวว่า เรื่องทั้งหมดเป็นข่าวปล่อย นายอาทิตย์ไม่ใช่นายทุน เพียงแต่ให้ยืมสถานที่เท่านั้น เชื่อว่านายอาทิตย์มีอุดมการณ์เพื่อประชาชน จึงไม่มีความคิดที่จะมาเป็นนายทุนให้พรรคการเมือง
ส่วนกรณีที่นายสนธิเคยระบุว่าจะไม่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองนั้น นายสุริยะใสกล่าวว่า ต้องถามนายสนธิเอง ตอบแทนไม่ได้ แต่นายสนธิไม่เคยอยากเป็นหัวหน้าพรรค ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประชาชนดีกว่า ส่วนการประเมินเก้าอี้ ส.ส.ที่คาดว่าจะได้รับหากตั้งพรรคการเมืองนั้น นายสุริยะใสกล่าวว่า ส.ส.ระบบสัดส่วน น่าจะได้ประมาณ 10 ที่นั่ง ส่วนในระบบเขตเลือกตั้งนั้น น่าจะได้ ส.ส.ใน กทม. ภาคกลาง และภาคอีสานตอนเหนือ
ปชป.รับ"พธม."ตั้งพรรคกระทบ
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสาธิต ปิตุเตชะ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรจะตั้งพรรคการเมืองว่า ถือเป็นเรื่องดีต่อระบอบประชาธิปไตย เพราะรวมตัวด้วยอุดมการณ์ ไม่ได้รวมตัวกันด้วยผลประโยชน์ เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของประชาชน ยกเว้นพรรคการเมืองที่มีเจตนาแอบแฝงหาผลประโยชน์ให้กับคนกลุ่มเดียวไม่ใช่คนทุกฝ่าย ทั้งนี้ฝากไปยังประชาชนว่าให้ติดตามอุดมการณ์ของพรรคการเมืองต่างๆ ว่าเมื่อเข้ามาบริหารประเทศแล้วมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง
"ต้องยอมรับว่าการตั้งพรรคของพันธมิตร ก็ต้องมีผลกระทบต่อพรรคประชาธิปัตย์บ้าง เพราะต้องยอมรับว่าแนวคิดบางส่วนของพันธมิตร ก็มีความใกล้เคียงและคล้ายคลึงกับพรรคประชาธิปัตย์ ยกตัวอย่างการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจโดยมิชอบ ส่วนที่มีความแตกต่างกันบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา จึงมีสมาชิกพรรคหรือผู้สนับสนุนเป็นกลุ่มคนที่อาจจะทับซ้อนกันอยู่ แต่คิดว่าเป็นเรื่องปกติทางการเมือง ที่จะมีพรรคการเมืองที่มาแข่งขันกัน เสนอแนวนโยบายที่ดีเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกคนที่ดีที่สุด"นายสาธิตกล่าว