ที่มา ประชาไท
โสภณ พรโชคชัย (1)
‘สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อ ในตน
กินกัดเนื้อเหล็กจน กร่อนขร้ำ
บาปเกิดแต่ตนคน เป็นบาป
บาปย่อมทำโทษซ้ำ ใส่ผู้บาปเอง’ (2)
ไม่แปลกที่พบคนนอกศาสนาหมิ่นพระพุทธเจ้าอยู่เนืองๆ เพราะความไม่ศรัทธาซึ่งชาวพุทธคงต้องอธิบายเพื่อให้โลกได้เห็นความจริง แต่ผู้หมิ่นพระพุทธเจ้า บิดเบือนคำสอนและบ่อนทำลายพุทธศาสนาอย่างร้ายกาจ อาจเป็นชาวพุทธ โดยเฉพาะผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบทอด เข้าทำนอง ‘สนิมเกิดแต่เนื้อ ในตน’ เสียเอง
พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี เคยบรรยายธรรมเรื่อง ‘หมิ่นพระพุทธเจ้า บาปเพียงใด’ (3) และผมก็ได้อ่านหนังสือประวัติพระพุทธเจ้าของท่านภิกษุ ติช นัท ฮันห์ ซึ่งแปลโดยคู่สามีภรรยา รสนา โตสิตระกูล - สันติสุข โสภณสิริ (4) ได้พบว่า ทุกวันนี้ชาวพุทธหรือไม่หนอ ที่เป็นผู้หมิ่นพระพุทธเจ้าเอง บทความนี้จึงมุ่งให้ชาวพุทธได้ฉุกคิดและร่วมทำนุพุทธศาสนาให้ถูกทาง
บิดเบือนให้กลายเป็นอื่น
พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเพราะได้ศึกษาจนรอบรู้ทั้งศาสตร์และศิลปะอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง ก่อนตรัสรู้ก็ศึกษาคัมภีร์ศาสนาอื่นจนหมดสิ้น น้อมใจเป็นศิษย์ในหลายสำนักโดยพำนักแห่งละ 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง จนพลังภาวนาและพลังสมาธิแก่กล้ายิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถค้นพบหนทางที่แท้จริงได้ในช่วงแรก นี่แสดงชัดว่า พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ที่บรรลุธรรมด้วยการศึกษาอย่างจริงจังต่อเนื่องจนรู้แจ้ง ไม่ได้อวตารมาจากไหน
แต่ทุกวันนี้เรากลับพยายามทำให้พระพุทธเจ้ากลายเป็นอื่น เป็นส่วนหนึ่งของเทพ พรหม สวรรค์ ฯลฯ พุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์กลับแยกกันแทบไม่ออก ใครเป็นคนทำ ใครเป็นคนเสริมต่อ และใครได้ประโยชน์จากการนี้ ท่านภิกษุ ติช นัท ฮันห์ กล่าวสรุปคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อเตือนสติชาวพุทธว่า ‘บุคคลไม่สามารถข้ามพ้นจากอวิชชาโดยการสวดอ้อนวอนและยัญบูชา’ ชาวพุทธจึงควรศึกษาธรรมะให้รู้เพื่อความหลุดพ้น ไม่ใช่ไปยึดติดกับเปลือกหรือกระพี้
ขัดคำสั่งพระพุทธเจ้า
เร็วๆ นี้มีเจ้าอาวาสแห่งหนึ่งสั่งห้ามชาวบ้านกราบพระพุทธรูป (5) กรณีนี้อาจดูแปลก แต่หลายท่านคงเคยได้ยินพุทธพจน์ที่ว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงไว้ และบัญญัติไว้ด้วยดี นั่นแหละจักเป็นพระศาสดาของพวกท่านสืบแทนเราตถาคต เมื่อเราล่วงไปแล้ว” (6) พระพุทธเจ้าให้ชาวพุทธยึดถือ (และปฏิบัติตาม) พระธรรมเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงไม่มีประวัติการสร้างพระพุทธรูปเลยในอีกนับร้อยๆ ปีต่อมาในยุคนั้น ใครสร้างพระพุทธรูปอาจถือเป็นการล้อเลียนและไม่เคารพพุทธพจน์ (7) จะเห็นได้ว่าในการเผยแพร่พุทธศาสนาในยุคต้น จึงมีการสร้างพระไตรปิฎกเป็นตัวแทนของพุทธศาสนาออกไปเผยแพร่
แต่ในระยะหลังมา ชาวพุทธกลับมีพระพุทธรูปไว้กราบไหว้จำนวนมาก และได้รับการอ้างอิงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งๆ ที่เราก็เคยได้ยินคำว่า ‘พระอิฐ พระปูน’ มานานแล้ว นอกจากนี้ เรายังก้าวเลยไปถึงการสร้างพระเครื่อง และรูปเหมือนของพระสงฆ์ต่างๆ ทั้งที่ในสมัยพุทธกาลหรือแม้แต่พระภิกษุชั้นผู้ใหญ่หลังพุทธกาลก็ไม่มีใครสร้างเช่นนี้ การขัดพุทธพจน์นี้ทำให้เรายึดถือพุทธแต่เพียงเปลือกหรือไม่ ทำให้เราไม่ได้เน้นการเรียนธรรมะ เน้นการนิยมวัตถุ และเท่ากับทำให้พุทธศาสนาเสื่อมลงเพราะพวกเรากันเองหรือไม่
บางท่านอาจแย้งว่า คนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนอาจต้องมีพระพุทธรูปหรือพระเครื่องเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เพื่อนำพาไปสู่ธรรมะในที่สุดแต่ข้อนี้ก็คงต้องมาประเมินกันให้ชัดว่า การนี้นำไปสู่ธรรมะหรือนำไปสู่พุทธพาณิชย์เป็นสำคัญและยิ่งทำให้ชาวพุทธยึดติดในการนิยมวัตถุหรือไม่
พระพุทธรูปมีผม!
แปลกแต่จริง พระพุทธรูปส่วนมากมักมีมวยผมหรือเกล้าผม หรือมีบางสิ่งวางอยู่เหนือพระเศียร ไม่ใช่แค่มีผมธรรมดา ซึ่งไม่แปลก เพราะในสมัยพุทธกาลอาจไม่มีใบมีดโกนอย่างดี แต่ในความเป็นจริง พระพุทธเจ้าโกนผมออกบวชและดำรงอยู่เช่นนี้จนปรินิพพานในสมัยพุทธกาล องคุลีมาลก็ยังเคยเคยตะโกนว่า “สมณะโล้น (พระพุทธเจ้า) หยุดก่อน ๆ” (8) ในปัจจุบัน รูปปั้นพระที่ศีรษะโล้นส่วนมากจะเป็นพระสาวกเสียมากกว่า
กรณีนี้ หลายท่านคงไม่คิดมาก และคิดเพียงว่าเป็นการให้เกียรติ ให้พระพุทธเจ้ามีภาพลักษณ์ที่ดูงามดี (โดยเฉพาะเมื่อวางพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้าเคียงคู่กับพระอัครสาวกที่โกนหัวอยู่สองข้างซึ่งมักเห็นอยู่ทั่วไป) แต่หากคิดให้จริงจัง การสร้างพระพุทธรูปโดยให้มีมวยผมหรือสิ่งอื่นอยู่เหนือศีรษะถือเป็นการบิดเบือน ดูหมิ่นพระพุทธเจ้าอย่างร้ายแรงหรือไม่ พระพุทธเจ้าเป็นผู้บรรลุธรรมสูงส่ง ย่อมไม่มีอารมณ์ความรู้สึกอะไร แต่ถ้าเป็นบรรพชนของเราถูกบิดเบือน-หมิ่นเช่นนี้ ท่านก็คงเสียใจอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม บางท่านอาจมองในแง่ศิลปะของการสร้างพระพุทธรูปที่สืบทอดมานับพันปี แต่ศิลปะที่สร้างให้ศาสดามีลักษณะผิดไปจากความจริง เป็นสิ่งที่ควรทบทวนหรือไม่
Discredit พระพุทธเจ้า
ในแวดวงพุทธศาสนา ผมเชื่อว่ามีขบวนการหรือความพยายามในการทำให้พระพุทธเจ้าดูด้อยลง (Discredit) อยู่เหมือนกัน ผมก็ไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้านั้นมีกี่พระองค์ แต่มักมีการกล่าวขานกันว่า ในโลกนี้มีพระพุทธเจ้ามากมายหลายองค์ หมดยุคนี้ก็ไปยุคนั้น อะไรทำนองนี้ เราไม่คิดกันบ้างหรือว่า การโฆษณาเช่นนี้เป็นการ Discredit พระพุทธเจ้า เพราะดูคล้ายกับว่า เดี๋ยวก็พ้นยุคพระพุทธเจ้านี้แล้วและไปสู่ยุคพระพุทธเจ้าองค์ถัดไป
บ้างก็ ‘โหยหา’ พระศรีอริยเมตตรัย ซึ่งมีทั้งภาพวาด รูปปั้น และตำนานต่างๆ ที่กล่าวว่า จะมาเป็นศาสดาแทน (Replace) พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันและในยุคหน้านี่แหละที่จะเกิดความสมบูรณ์พูนสุข (โดยนัยก็คือดีกว่าในยุคพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้) ข้อนี้ผิดแผกไปจากความเชื่อของศาสนาอื่นที่เชื่อว่า ‘พระเจ้า’ มีหนึ่งเดียวเท่านั้น ผมก็ไม่เข้าใจว่า ผู้เกี่ยวข้องในพุทธศาสนากลับปล่อยให้มีการโฆษณาถึงพระพุทธเจ้าองค์อื่นกันมากมายได้อย่างไรเพราะนี่คือการ Discredit พระพุทธเจ้าโดยคนในพุทธศาสนาเองหรือไม่
กันพระพุทธเจ้าไปจากผู้คน
ตามหนังสือของพระภิกษุ ติช นัท ฮันห์ พระพุทธเจ้ามุ่งสร้างความเท่าเทียมในหมู่ชน โดยแสดงออกด้วยการดื่มน้ำแก้วเดียวกับเด็กชายวรรณะจัณฑาล ทั้งยังให้เด็กคนนั้นดื่มก่อน และยังรับคนจัณฑาลเข้ามาอยู่ในคณะสงฆ์พระพุทธเจ้ายังเป็นผู้ไม่ถือตน โดยสมัยที่ลาจากวรรณะกษัตริย์มาบำเพ็ญเพียร เด็กชายวรรณะจัณฑาลให้หญ้ามาใช้ปูนั่ง ก็ยกมือไหว้ขอบคุณสมัยเป็นพระพุทธเจ้าก็พนมมือ น้อมกายเป็นการตอบรับพระพุทธเจ้าเคยช่วยเด็กวรรณะจัณฑาลตัดหญ้าด้วย หรือร่วมกับพระอานนท์ช่วยกันอุ้มภิกษุที่อาพาธขึ้นเตียงและเปลี่ยนจีวรให้ แล้วยังขัดถูพื้นกุฏิและซักจีวรที่เกรอะกรังดินของภิกษุดังกล่าว เป็นต้น
เป็นไปได้ไหมที่มีกระบวนการทำให้พระพุทธเจ้าแปลกแยก (Alienated) ไปจากผู้คน เรามักใช้คำราชาศัพท์กับพระพุทธเจ้า ทั้งที่พระพุทธเจ้าไม่ประสงค์จะอยู่ในวรรณะกษัตริย์ แต่ประสงค์จะใช้คำพูดธรรมดา และแม้แต่ภาษาก็ยังให้ใช้ภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้กันในสมัยนั้น ดังนั้น การใช้คำราชาศัพท์กับพระพุทธเจ้า แม้ในแง่หนึ่งถือเป็นการแสดงความเคารพสูงสุด แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็อาจเป็นการไม่นำพาต่อความตั้งใจของพระพุทธเจ้าในการสละวรรณะนี้ การใช้คำราชาศัพท์ก็เท่ากับการผูกพันพระพุทธเจ้าไว้กับวรรณะเฉพาะ
โดยสรุปแล้ว อาจกล่าวได้ว่า การโอนอ่อนไปตามทางโลก โดยถึงขนาดขัดกับหลักการของศาสนาอย่างชัดเจนนั้น อาจเป็นเพราะการคล้อยตามอำนาจรัฐที่ปกครองมาแต่ในอดีต ในอีกแง่หนึ่ง การโอนอ่อนอาจมองเป็นกุศโลบายหวังชักจูงให้คนเข้าหาศาสนาในทางอ้อม แต่การนี้อาจเป็นความสูญเปล่าเพราะไม่อาจชักจูงให้คนเข้าหาแก่นแท้ของศาสนา กลับไปติดอยู่แต่เปลือกตลอดไปและอาจเป็นการทำร้ายพุทธศาสนา ทำให้พุทธศาสนาผิดเพี้ยน เข้ารกเข้าพงมากยิ่งขึ้น
ข้างต้นนี้ จึงเป็นข้อปุจฉาและวิสัชนาเพื่อให้ชาวพุทธได้ตระหนักถึงสถานะของศาสนาที่ถูกบิดเบือน และชาวพุทธควรยึดถือในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าให้ยึดถือไว้เหนือเหนือยศ-ศักดิ์ เหนือชาตินี้-ชาติหน้า เหนือการนิยมวัตถุ หรือเหนือสิ่งอื่นใด เพื่อให้หลุดพ้นไปจากความทุกข์และประสบแต่ความสุขมีมงคลต่อชีวิตและสังคม ตามบทประพันธ์ของท่านพุทธทาสที่ว่า
- กรรมดี ดีกว่ามงคล สืบสร้าง กุศล ดีกว่า นั่งเคล้า ของขลัง
- พระเครื่อง ตะกรุด อุทกัง ปลุกเสก แสนฉมังคาดมั่ง แขวนมั่ง รังรุง
- ขี้ขลาด หวาดกลัว หัวยุ่ง กิเลส เต็มพุง มงคล อะไร ได้คุ้ม
- อันธพาล ซื้อหา มาคุม เป็นเรื่อง อุทลุม นอนตาย ก่ายเครื่อง รางกอง
- ธรรมะ ต่างหาก เป็นของ เป็นเครื่อง คุ้มครอง เพราะว่า เป็นพระ องค์จริง
- มีธรรม ฤามี ใครยิง ไร้ธรรม ผีสิง ไม่ยิง ก็ตาย เกินตาย
- เหตุนั้น เราท่าน หญิงชาย เร่งขวน เร่งขวายหาธรรม มาเป็น มงคล
- กระทั่ง บรรลุ มรรคผล หมดตัว หมดตน พ้นจาก เกิด แก่ เจ็บ ตาย
- บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ใจกาย อุปัทวะ ทั้งหลาย ไม่พ้อง ไม่พาน สถานใด
- เหนือโลก เหนือกรรม อำไพ กิเลสา- สวะไหน ไม่อาจ ย่ำยี บีฑา ฯ (9)
หมายเหตุ :
โปรดอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าได้จากบทความของผู้เขียนเรื่อง ‘พระพุทธเจ้า: ผู้ประกาศศักยภาพความเป็นมนุษย์’ ที่ http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market172.htm
อ้างอิง :
(1) ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ดูรายละเอียดได้ที่: http://www.thaiappraisal.org/Thai/contact/Default_Dr.Sopon.htm Email: sopon@thaiappraisal.org
(2) โคลงโลกนิติ โปรดดูที่ http://www.st.ac.th/bhatips/loganit.html
(3) โปรดดูจากเว็บบอร์ดอกาลิโก http://www.agalico.com/board/showthread.php?t=15775
(4) โปรดอุดหนุนและอ่านหนังสือของมูลนิธิโกมลคีมทอง 3 เล่ม ชุดนี้ได้ที่ http://www.komol.com/autopage/show_page.php?t=1&s_id=18&d_id=18
(5) โปรดอ่านข่าวและความเห็นได้ที่ http://www.phrathai.net/node/1365 และ http://webboard.mthai.com/52/2008-07-26/402940.html
(6) พระพุทธเจ้าให้ยึดพระธรรม โปรดดูในพระไตรปิฎก http://www.84000.org/tipitaka/picture/f76.html
(7) เกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูป เช่น http://www.bhodhiyalaya.com/forum/viewthread.php?tid=317
(8) ดูเรื่องเกี่ยวกับองคุลีมาลได้ที่ http://www.larnbuddhism.com/ongkulymal/ongkuly05.html
(9) โปรดดูรายละเอียดได้ที่ http://watnuamkhanon.igetweb.com/index.php?mo=3&art=242669