ที่มา ประชาไท
26 พ.ค.52 เครือข่ายพลเมืองเน็ต ออกใบแจ้งข่าว การดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ต่อพลเมืองเน็ต โดยระบุถึงความคืบหน้าของ 2 คดีที่เกี่ยวข้อง คือ คดีของสุวิชา ท่าค้อ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และคดีของจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการและผู้ดูแลเว็บบอร์ดของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท http://www.prachatai.com/webboard
ในคดีของสุวิชา ท่าค้อ ซึ่งถูกจับและดำเนินคดี ภายใต้ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2552 เนื่องจากการเผยแพร่เนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าวผ่านสื่อออนไลน์ จากนั้นเมื่อวันที่ 3 เม.ย.2552 ศาลอาญาชั้นต้นได้ตัดสินโทษจำคุก 20 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งคือ 10 ปี จากนั้นสุวิชาและครอบครัวเตรียมขอพระราชทานอภัยโทษหลังจากครบกำหนดอุทธรณ์ 30 วัน (3 พ.ค.52) ซึ่งสุวิชาตัดสินใจไม่อุทธรณ์
ความคืบหน้าล่าสุด อัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน (ถึง 1 มิ.ย. 52) จึง ทำให้ในขณะนี้ คดีของสุวิชาไม่สามารถดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษได้ ต้องรอผลการตัดสินใจของพนักงานอัยการก่อนว่าจะอุทธรณ์หรือไม่
ส่วน คดีของจีรนุช เปรมชัยพร ซึ่งถูกกองปราบปรามจับกุมดำเนินคดีเมื่อวันที่ 6 มี.ค.2552 ด้วยข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 15 เนื่องเพราะไม่ได้ลบข้อความในเว็บบอร์ดที่เข้าข่ายขัดต่อกฎหมายดังกล่าวภายในเกณฑ์ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งไว้ ในขณะที่จีรนุชได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและยืนยันเจตนาบริสุทธิ์ เนื่องเพราะได้ลบข้อความดังกล่าวออกแล้วทันทีที่ได้รับแจ้งและได้ให้ความ ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายตลอดมา
ความคืบหน้าล่าสุด กองปราบปรามได้สรุปสำนวนทั้งหมดเพื่อส่งคดีดังกล่าวไปที่พนักงานอัยการ โดยได้นัดจีรนุชที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก เพื่อรายงานตัวและประกันตัวในชั้นอัยการในวันจันทร์ที่ 1 มิ.ย.2552 เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป
เครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้แสดงความเห็นว่าการดำเนินคดีทั้ง 2 คดีดังกล่าว มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิทธิเสรีภาพของพลเมืองเน็ตและของสังคมไทยโดยรวม พร้อมขอให้พลเมืองเน็ต รวมถึงสาธารณะชนติดตามข่าวสารในกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด อีกทั้งขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทุกส่วนให้ความเป็นธรรมอย่างไม่ล่าช้า ต่อผู้ถูกกล่าวหาและจำเลย โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกกล่าวหาและจำเลย บนพื้นฐานมนุษยธรรมที่รัฐพึงมีต่อพลเมือง เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกของพลเมืองและการทำงานของสื่อหนังสือพิมพ์นั้นมีลักษณะสำคัญของการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่แตกต่างจากการกระทำความผิดทางอาญาทั่วไป และได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
ทั้งนี้ ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2550 ได้มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก หลายคดีส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลในการบังคับใช้กฎหมายอย่างคลุมเครือขาด ความชัดเจน พลเมืองเน็ตตกอยู่ในบรรยากาศแห่งความกลัว โดยเฉพาะการตีความโดยเจ้าหน้าที่รัฐในบทบัญญัติความผิด มาตรา 14 และ 15
มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 14 (2) นำ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน
มาตรา 15 ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจ สนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา 14
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่: http://thainetizen.org