ที่มา ประชาไท
(28 พ.ค.52) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) อนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) และร่างมาตรฐานเทคนิคกิจการบริการชุมชน (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ฉบับชั่วคราว ตามที่คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กทช. เสนอ
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะทำงานด้านกิจการกระจายเสียงวิทยุชุมชน ในคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กทช. เปิดเผยว่า คาดว่าร่างวิทยุชุมชนที่ กทช.อนุมัติวานนี้ จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเปิดให้วิทยุชุมชนมาลงทะเบียนได้ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. หรือประมาณต้นเดือน ก.ค. 2552 โดยอนุกรรมการมีการปรับร่างในบางประเด็น หลังเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการวิทยุชุมชนกว่า 3 พันคน เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2552 ที่ผ่านมา
หลังจากร่างวิทยุชุมชนประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะเปิดให้ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนมาลงทะเบียนภายใน 30 วัน เพื่ออยู่ในฐานะ 'ทดลองออกอากาศ' ชั่วคราวและรอยื่นเรื่องขอรับใบอนุญาตภายใน 300 วัน ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนจากร่างประกาศเดิมที่กำหนดไว้ 90 วัน โดยเป็นการปรับร่างประกาศหลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากเวทีสาธารณะ
ระหว่างการทดลองออกอากาศ ผู้ประกอบการวิทยุชุมชน ยังคงประกอบกิจการได้ตามเดิม คือในกลุ่มที่มีโฆษณา สามารถมีโฆษณาได้ต่อไป แต่ห้ามละเมิด พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 เช่น มาตรา 37 ห้ามมีเนื้อหาผิดศีลธรรม ทำลายชาติ ล้มล้างการปกครอง เนื้อหาต้องไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เป็นต้น
ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตามร่างประกาศบริการชุมชนชั่วคราว จะได้รับการพิจารณาได้รับใบอนุญาตชั่วคราว 1 ปีจาก กทช. ระหว่างที่วิทยุชุมชนทดลองออกอากาศ และเกิดองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ หรือ กสทช. วิทยุชุมชนที่ต้องการประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ สามารถไปขอใบอนุญาตจาก กสทช.ได้ทันที
"หลังจากประกาศใช้ร่างวิทยุชุมชนแล้ว ไม่มีเหตุผลใด ที่ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวน 5 พันราย จะไม่มาลงทะเบียนกับ กทช. เพราะจะเข้าข่ายวิทยุเถื่อน และมีความผิดทางกฎหมายทันที แม้ว่าในช่วงทดลองออกอากาศ ยังเปิดให้มีโฆษณาได้เหมือนปกติ แต่ถือเป็นการจัดระเบียบวิทยุชุมชน จากใต้ดินให้ขึ้นมาอยู่บนดินทั้งหมด และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ" พ.อ.นที กล่าว
นอกจากนี้การประกาศใช้ร่างวิทยุชุมชน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กทช. จะทำให้วิทยุชุมชน ไม่ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง ที่จะนำมาใช้ปลุกระดม หรือใช้ประโยชน์ทางการเมืองอย่างไม่ถูกต้อง โดยกลุ่มที่อยู่ในฐานะทดลองออกอากาศ จะต้องปฏิบัติตามระเบียบของ กทช.หากละเมิดก็จะมีความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.การประกอบฯ มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท
พ.อ.นที กล่าวอีกว่าสาระที่มีการปรับในร่างวิทยุชุมชนเพิ่มเติม เช่น การระบุให้ชัดเจนว่า วิทยุบริการชุมชน สามารถมีรายได้อื่นๆ รวมทั้งรายได้จากโฆษณาที่เป็นการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ที่ไม่ใช่การโฆษณาเพื่อบริการและขายสินค้า โดยกำหนดตัวอย่างว่า โฆษณาเพื่อการรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการกำหนดให้ สมาคม มูลนิธิ และนิติบุคคลต่างๆ ที่จะยื่นขอใบอนุญาตต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ที่จะดำเนินการวิทยุชุมชน เท่านั้น โดยยื่นขอได้ 1 ใบอนุญาตต่อ 1 องค์กรเท่านั้น
…………………………………..
ที่มา: เว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ www.bangkokbiznews.com