ที่มา ข่าวสด
แนวคิดปรับครม. หนนี้
ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นหลังพรรคเพื่อแผ่นดิน ยกมือ "งด ออกเสียง-สวนโหวต" 2 รัฐมนตรี จากพรรคภูมิใจไทย
แต่เป็นเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์รับรู้กันดีว่า จะมีการปรับหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ให้สัมภาษณ์ย้ำหลายครั้งหลายหน ว่าพรรคร่วมจะหารือกันหลังการอภิปรายฯ เสร็จสิ้น
เพียงแต่พฤติกรรมที่พรรคเพื่อแผ่นดินแสดงออกโต้งๆ จนถูกโจมตี "ผิดมารยาทการ เมือง"
เป็นตัวเร่งให้การปรับครม. กลายเป็นเรื่องด่วนสุดของรัฐบาล
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ บริหารงานมาได้ปีครึ่ง มีการปรับครม.มาแล้วก่อนหน้านี้ 3 ครั้ง
ครั้งแรก เหตุจาก นายวิฑูรย์ นามบุตร ลาออกจากตำแหน่ง รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เมื่อ 3 ก.พ.2552
หลังภาคใต้เกิดปัญหาอุทกภัย กระทรวงพม. และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นำถุงยังชีพออกแจกจ่าย
กระทั่งมีชาวพัทลุง ร้องเรียนว่า ปลากระป๋องชาวดอย ในถุงยังชีพที่นำมาแจกเน่าเสีย เพราะหมดอายุ
ฝ่ายค้านนำประเด็นนี้มาอภิปรายในสภา จนที่สุดนายวิฑูรย์ ต้องลาออก ตามคำขอของนายกฯ และคำเกลี้ยกล่อมของนายสุเทพ
พรรคประชาธิปัตย์ยังคงให้เป็นโควตาอีสาน จึงให้ นายอิสสระ สมชัย เข้ามารับหน้าที่แทน
ได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2552
ครั้งที่สอง เป็นการปรับเปลี่ยนในส่วนของพรรคภูมิใจไทย ที่ต้องการปรับนายชาติชาย พุคยาภรณ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีในโควตาของกลุ่มนายสรอรรถ กลิ่นประทุม
เนื่องจากช่วงหลัง นายสรอรรถ ไม่ค่อยมีบทบาท และมีส.ส.ในสังกัดอยู่เพียง 2 คน
กลุ่มเพื่อนเนวิน จึงกดดันให้ นายศุภชัย โพธิ์สุ เข้ารับหน้าที่แทน
และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2552
ครั้งที่สาม เป็นการขยับ และปรับเปลี่ยนหลายตำแหน่ง
เนื่องจากเกิดการทุจริตในโครงการชุมชนพอเพียง ที่อยู่ในความดูแลของ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ
นายกอร์ปศักดิ์ เพียงประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานโครงการสำนักงานยกระดับชุมชนพอเพียง (สพช.)
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข ที่มี น.พ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน แถลงผลสอบ ระบุ
นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข บกพร่องที่เปิดช่องทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์
ส่วน นายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข ก้าว ก่าย ล้วงลูก กดดันให้มีการจัดสรรงบประมาณเกินจำเป็นลงพื้นที่ตัวเอง และน่าเชื่อว่าอาจพัวพันเรื่องการฮั้วรถพยาบาล
วันรุ่งขึ้น นายวิทยา แถลงลาออก ในขณะที่นายมานิต ถูกกดดันอย่างหนักจากนายกฯ
กรณีดังกล่าวทำให้เกิดกรณี "งัดข้อ" กันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ที่เรียกร้องหากจะให้นายมานิต ลาออก นาย กอร์ปศักดิ์ ก็ต้องลาออกด้วย
ที่สุด นายมานิต เป็นฝ่ายไขก๊อกตามรมว.สาธารณสุข
ท่ามกลางความยุ่งเหยิงเรื่องทุจริต นำมาสู่ความกินแหนงแคลงใจในรัฐบาล
ปัญหาการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ยืดเยื้อเรื้อรัง ทำให้ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อึดอัดกับการทำหน้าที่เลขาธิการนายกฯ
พรรคประชาธิปัตย์ จึงถือโอกาสเคลียร์ทุกเรื่องไปในคราวเดียวกัน
ด้วยการให้นายกอร์ปศักดิ์ ลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ มารับหน้าที่เลขาธิการนายกฯ แทนนายนิพนธ์
แล้วแต่งตั้ง นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี มานั่งรองนายกฯ แทน
โยก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากรมว.ศึกษาธิการ ไปนั่งรมว.สาธารณสุข
โดยให้ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ขึ้นเป็นรมว. ศึกษาธิการ
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ดัน นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ น้องสาวนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ขึ้นเป็นรมช.สาธารณสุข
นอกจากนี้ พรรคภูมิใจไทย ยังปรับนายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ รมช.คมนาคม ออกจากตำแหน่ง
ให้ นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร เสียบแทน
ได้รับการโปรดเกล้าฯ พร้อมกันเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2553
ครั้งล่าสุด ที่จะมีขึ้นเป็นการปรับครม. ครั้งที่ 4 ของรัฐบาลมาร์ค หรือที่เรียกว่า "มาร์ค 5"
พรรคภูมิใจไทยจุดชนวน ให้พรรคประชาธิปัตย์เลือกข้าง แต่ไฮไลต์จริงๆ อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์
หลังเกิดเหตุสวนโหวต พรรคประชาธิปัตย์ยึดโควตาของพรรคเพื่อแผ่นดิน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อ สาร (ไอซีที) รมว.อุตสาหกรรม และรมช.คลัง กลับมาทั้งหมด
ยกเว้นเก้าอี้รมช.ศึกษาธิการของ น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์
เนื่องจากเป็นโควตาของ นายสุชาติ ตันเจริญ ที่ประกาศตัวและไปทำงานร่วมกับ นายเนวิน ชิดชอบ พรรคภูมิใจไทย มานานแล้ว
จึงเป็นการปรับ 7-8 ตำแหน่ง ตามที่นายอภิสิทธิ์ ระบุ
บทสรุปจากการประชุมกก.บห.และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มิ.ย.
ยังให้โควตา รมช. กับ มั่น พัธโนทัย แกนนำกลุ่มมาตุภูมิ ที่พาส.ส.มาแสดงตัวว่าจะอยู่ร่วมรัฐบาล
และ ไชยยศ จิรเมธากร ส.ส.อุดรฯ พรรค เพื่อแผ่นดินที่พาส.ส.มารายงานตัวเช่นกัน
ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ รัฐมนตรีที่ต้องถูกปรับออกแน่นอนแล้ว ประกอบด้วย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมว.วิทยาศาสตร์ นายธีระ สลักเพชร รมว. วัฒนธรรม และ นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว. แรงงาน
กรณีของนายไพฑูรย์ มีทั้งกก.บห. และ ส.ส.ภาคเหนือ และอีสาน คัดค้าน เพราะที่ผ่านมาให้การดูแลส.ส. และพื้นที่อย่างดี และยังเป็นผลดีในการหาเสียงได้
บรรยากาศการประชุมส.ส. หาข้อยุติไม่ได้ จน นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ต้องเสนอให้หัวหน้ากับเลขาฯ ไปตัดสิน กล่อมจนไพฑูรย์ ต้องยอมเสียสละ
ส่วนว่าที่รัฐมนตรีที่จะได้รับการแต่งตั้ง เปิดโผออกมาล้วนเป็นคน "อกหัก" ที่เคยออกมาเคลื่อน ไหวทั้งสิ้น
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เป็นรมว.แรงงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นรมว.วัฒนธรรม นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ เป็นรมว.วิทยาศาสตร์ฯ และ นายจุติ ไกรฤกษ์ เป็นรมต.ประจำสำนักนายกฯ
ร่วมด้วย นายวีรชัย วีระเมธีกุล นายทุนพรรค เป็นรมว.อุตสาหกรรม และ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ สายนายกฯ ขยับจากรมช.ศึกษาธิการ เป็นรมว.ไอซีที
เก้าอี้ที่เหลือที่ยึดจากโควตาเพื่อแผ่นดิน ยกให้ นายไชยยศ นั่งรมช.ศึกษาธิการ นายมั่น เป็นรมช.คลัง
ส่วนโผจะพลิกอีกหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อ
เพื่อไทย
Saturday, June 5, 2010
ปรับครม.-กว่าจะเป็น"มาร์ค5"
คอลัมน์ รายงานพิเศษ