ภายใต้การดำเนินการตามแผนปรองดองแห่งชาติ
มุ่งแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในสังคม สร้างความสมานฉันท์ เพื่อนำความสงบสุขกลับคืนสู่สังคมไทย
คณะกรรมการอิสระชุดต่างๆที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา ไม่ ว่าจะเป็นคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน
คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ภายใต้การนำของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มี นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นประธาน
คณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน
ต่างก็เริ่มเดินหน้าประชุมกำหนดกรอบและแนวทางในการทำงานกันอย่างขะมักเขม้น ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา
ทั้งในทางบวก และทางลบ แล้วแต่มุมมองของแต่ละฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางบรรยากาศที่รัฐบาลพยายามเดินหน้าดำเนินการตามกรอบแผนปรองดองแห่งชาติ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า ขณะนี้บ้านเมืองยังไม่สงบและจะมีปัญหาต่อเนื่องต่อไป
เพราะคนที่อยู่เบื้องหลังยังไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ
ถือเป็นการสะท้อนภาพให้เห็นว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความไม่สงบที่เกิดขึ้นในห้วงวิกฤติม็อบเสื้อแดง
จนนำมาสู่เหตุการณ์ปะทะระหว่างฝ่ายทหารกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเฉพาะกองกำลังติดอาวุธที่แฝงอยู่ในม็อบ เกิดความสูญเสีย ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย เกิดจลาจลเผาบ้านเผาเมือง
ปรากฏการณ์เหล่านี้ แม้ยุติลงไปแล้ว แต่สงครามแห่งความขัดแย้งยังไม่จบ
ความสงบที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ จึงเป็นแค่ความสงบชั่วคราว
ที่สำคัญ ถึงแม้รัฐบาลสามารถประคองตัวรอดพ้นจากเหตุการณ์วิกฤติม็อบเสื้อแดงมาได้ แต่ก็โดนกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลมือเปื้อนเลือด
เป็นประเด็นให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนของแกนนำม็อบเสื้อแดง
หยิบยกปัญหาความรุนแรงจากเหตุการณ์ไปขยายผลโจมตีรัฐบาลไทยในเวทีโลก
ในขณะที่ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย และแกนนำม็อบเสื้อแดง ก็พยายามเดินเกมแบบคู่ขนานขยายแผลความขัดแย้ง
เดินสายปลุกระดมมวลชน โจมตีรัฐบาลใช้ความรุนแรงสั่งฆ่าประชาชน
เตรียมการที่จะขย่มเขย่าโค่นรัฐบาลกันอีกระลอก
โดยจะเริ่มชิมลางด้วยการจัดงานวันเกิด พ.ต.ท.ทักษิณในวันที่ 26 กรกฎาคม ในหลายพื้นที่ทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน
ตามด้วยการจัดปราศรัยใหญ่ทางการเมือง ในจังหวัดภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ที่อยู่นอกพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ปลุกเร้ากระแสม็อบเสื้อแดง ต่อต้านรัฐบาลแบบต่อเนื่อง
ที่สำคัญ นอกจากต้องเจอกับแรงต้านจากมวลชนเสื้อแดงและฝ่ายค้านแล้ว ยังมีอีกหลายเงื่อนไขที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯอภิสิทธิ์ ต้องเผชิญกับภาวะขัดขวางการทำงานการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ
เหมือนโดนพายุร้ายถล่มเข้าใส่ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนโงหัวไม่ขึ้น
จากปัญหาสถานการณ์แวดล้อมต่างๆที่ถาโถมเข้าใส่ ทำให้คอการเมืองและบรรดาสภากาแฟ วิเคราะห์ วิจารณ์กันในท่วงทำนอง
ไม่มั่นใจ รัฐบาลชุดนี้จะอยู่ได้อีกกี่น้ำ
"ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" จึงถือโอกาสนี้หันมาสำรวจตรวจสอบเสถียรภาพของรัฐบาลว่ามีความมั่นคงแข็งแรงแค่ไหน
เพราะการที่รัฐบาลจะนำประเทศฝ่าวิกฤติปัญหาต่างๆไปได้ ปัจจัยสำคัญก็คือ อำนาจ รัฐต้องเข้มแข็ง
ทั้งนี้ เมื่อมองไปที่ปัจจัยที่เป็นผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาล
เริ่มจากองคาพยพภายในรัฐบาลเอง โดยเฉพาะในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำรัฐบาล
แน่นอน ถ้าพูดถึงนายกฯอภิสิทธิ์ที่เป็นผู้นำรัฐบาล สังคมส่วนใหญ่ให้การยอมรับว่า
เป็นคนซื่อมือสะอาด ไม่มีปัญหาเรื่องการทุจริตคอรัปชัน
แต่การยอมรับจากสังคมตรงนี้ ก็ดูเป็นจุดแข็ง จุดเล็กๆ จุดเดียว
ในขณะเดียวกัน เมื่อกวาดตามองไปที่แกนนำตัวหลักคนอื่นๆในรัฐบาล ทั้งคนของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ
ต้องยอมรับความจริงว่า สังคมมีความรู้สึกกล้ำกลืน
เพราะคนเหล่านี้ยังมีพฤติกรรมที่อยู่ในวังวนของวงจร อุบาทว์ทางการเมือง สังคมมีความเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการทุจริตคอรัปชันสารพัดโครงการ
กลายเป็นตุ้มถ่วง ทำให้ภาพของรัฐบาลมัวหมอง
เมื่อหันมาทางฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ที่รู้ๆกันอยู่ว่า เป็นเครือข่ายในระบบเลือกตั้งของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ชัดเจนว่า ฝ่ายค้านไม่ให้การยอมรับรัฐบาลชุดนี้มาตั้งแต่ต้น
เพราะมองว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม ได้อำนาจมาโดยผลพวงของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน
พร้อมหยิบยกมาเป็นประเด็นโจมตีมาโดยตลอดว่า ประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลจากการปล้นอำนาจ ชี้หน้าว่าเป็นเผด็จการซ่อนรูป
มองรัฐบาลชุดนี้เป็นศัตรูคู่อาฆาต
ฉะนั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะคิดอะไร ทำอะไร ฝ่ายค้านเป็นต้อง ขวางทุกเรื่องทั้งในสภาฯและนอกสภาฯ ชนิดที่เรียกว่าค้านกันทุกเม็ด ขวางกันทุกดอก
นึกอะไรขึ้นมาได้เป็นต้องค้านไว้ก่อน ขวางกันเป็นรายวัน
ไม่มีการประสานงาน มีแต่จ้องประสานงา
ส่งผลให้การทำงานในสภาฯของฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลชุดนี้ ไม่มีการให้ความร่วมมือในการทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์
มีแต่เล่นเกมบู๊เข้าห้ำหั่น ฟาดฟันกันท่าเดียว
นอกจากนี้ ยังมีแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และบรรดาแนวร่วมคนเสื้อแดงเดินเกมเคลื่อนไหวนอกสภาฯ คอยตีขนาบถล่มรัฐบาลทั้งบนดินและใต้ดิน อย่างต่อเนื่อง
แม้รัฐบาลยังไม่ไว้วางใจในสถานการณ์ อนุมัติให้ต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ 19 จังหวัด
แต่แกนนำกลุ่มเสื้อแดง และฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ก็เลี่ยงขยับไปเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมในพื้นที่นอกเขตจังหวัดที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
เดินหน้าปลุกระดม ตอกลิ่มขยายความขัดแย้งอยู่ ตลอดเวลา
รอจังหวะที่จะเปิดเกมรุกครั้งใหญ่เข้าใส่รัฐบาลอีกรอบ
นอกเหนือจากการเปิดเกมตีขนาบเข้าใส่รัฐบาลแล้ว ยังมีศึกใหญ่ที่ท้าทายความมั่นคงของรัฐบาลรออยู่ อีกด่าน นั่นก็คือ
การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 6 พื้นที่เขตบึงกุ่ม คลองสามวา คันนายาว หนองจอก ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้
แม้เป็นการเลือกตั้งซ่อมเขตเล็กๆ เป็นเขตที่พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย มีฐานเสียงหนาแน่นด้วยกันทั้งคู่
แต่ผลการเลือกตั้งซ่อมในเขตเล็กๆนี้ จะเป็นตัวชี้วัดความเชื่อมั่นของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล
พูดง่ายๆก็คือ เป็นตัวชี้วัดศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล
ถ้าผลการเลือกตั้งออกมา พรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งแบบสูสี หรือสถานการณ์พลิกเป็นพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งซ่อม
โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะยื้อเวลาเป็นรัฐบาลต่อไป ก็คงเป็นไปได้ยาก
นอกจากประชาธิปัตย์จะชนะแบบถล่มทลาย ก็พอจะเป็นตัวช่วยได้บ้าง
เหนืออื่นใด นอกจากการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 6 แล้ว ยังมีด่านหินที่พรรคประชาธิปัตย์ยังต้องเผชิญ
ซึ่งถือเป็นวิกฤติคอขาดบาดตาย นั่นก็คือ คดียุบพรรค
ทั้งกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องการใช้เงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองของ กกต. 29 ล้านบาท ผิดวัตถุประสงค์
และกรณีที่คณะทำงานร่วมของ กกต. และอัยการสูงสุด ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์ ในกรณีเงินบริจาค 258 ล้านบาท จากบริษัททีพีไอฯ
พ่วงด้วยการตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคในห้วงเกิดเหตุเป็นเวลา 5 ปี
ขณะนี้ ทั้ง 2 คดีอยู่ระหว่างกระบวนการต่อสู้พิสูจน์ ความจริงในศาลรัฐธรรมนูญ
สุดท้ายแล้วผลจะออกมาอย่างไร ยังไม่มีใครรู้
แต่ที่แน่ๆ แม้ผลการตัดสินยังไม่ออกมา แต่วันนี้ ความเชื่อมั่นในพรรคแกนนำรัฐบาล
วูบไปแล้ว
ผู้คนในสังคมเกิดความรู้สึกไม่แน่ใจว่าจะรอดพ้นการยุบพรรคไปได้หรือไม่
ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลหดหายไปโดยปริยาย
จากสถานการณ์หลายเรื่องราวที่รัฐบาลเผชิญ สะท้อนว่าความมั่นคงของรัฐบาลในการแก้ปัญหาของประเทศ กับปัญหาที่ถาโถมเข้าใส่ อยู่ในสภาพแบกน้ำหนักเกินตัว
ถ้าเปรียบประเทศไทยเป็นรถโดยสารเก่าๆที่มีผู้ โดยสาร 63 ล้านคน มีนายกฯเป็นคนขับ วิ่งปุเลงๆ อยู่บนถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อริมขอบเหว
ขณะที่ผู้โดยสารในรถแบ่งพวกทะเลาะตบตีกันวุ่นวาย พวกที่ซุ่มอยู่ข้างทางก็ขว้างก้อนหินเข้าใส่ ในขณะที่คนขับก็โดนเขกหัวเป็นระยะ จนไม่มีสมาธิ
แน่นอน สภาพการณ์อย่างนี้ รถคันนี้มีสิทธิตกเหว ก่อนที่จะถึงจุดหมาย.
"ทีมการเมือง"