ที่มา มติชน
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะทำให้ปัญหาการเมือง “สงบ” ด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสารพัดคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทำอะไรบ้างก็ไม่ทราบ รวมไปถึงการ “ซื้อใจ” คนไทยด้วยการ “ลดแลกแจกแถม” สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างมากมาย โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ มาเพื่อลดภาระของประชาชนซึ่งใช้เงินเป็นจำนวนมาก ในประเด็นนี้เองที่ทำให้ผมต้องกลับไปค้นหาข้อมูลเก่า ๆ มาดูว่า เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยพร้อมกับความสงสัยว่า เราร่ำรวยมาจากไหนถึงทำได้ขนาดนี้ครับ !!!
เราร่ำรวยมาจากไหนถึงทำได้ขนาดนี้ !!!
นับตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ สภาวะเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการมีปัญหา ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกทำให้หลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเดียวกับเราออกมา “รัดเข็มขัด” กันมากขึ้นด้วยเกรงว่าวันหนึ่งอาจถึง “คิว” ของตนบ้าง ในขณะที่ทุกประเทศวางแผนการใช้เงินอย่างประหยัด ประเทศไทยเรากลับเดินสวนทางด้วยการ “แจก” ที่ในตอนเริ่มต้นก็ไม่เท่าไหร่ แต่ในวันนี้ เราคงเรียกได้ว่าเป็นการ “แจกแบบไม่อั้น” ก็ได้ครับ
เรายังคงจำ “โครงการเช็คช่วยชาติ” กันได้นะครับ แจกเงินให้ฟรี ๆ เอาไปซื้อของ ต่อมาก็มีโครงการต้นกล้าอาชีพ แล้วก็โครงการชุมชนพอเพียง ทั้ง 3 โครงการที่กล่าวไปนั้นใช้เงินประมาณ 70,000 ล้านบาท ต่อจากนั้น มหกรรมการแจกก็เดินหน้าต่อไปอย่างหยุดไม่อยู่ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใช้เงิน 21,000 ล้านบาทต่อปี เบี้ยยังชีพคนพิการใช้ 500 ล้านบาทต่อปี เบี้ยยังชีพอาสาสมัคร สาธารณสุขหมู่บ้าน 3,500 ล้านบาท สนับสนุนโครงการเรียนฟรีไปอีก 19,000 ล้านบาท สนับสนุนโครงการรักษาฟรี 89,000 ล้านบาท กองทุนหมู่บ้าน สวัสดิการชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง 27,000 บาท นโยบายช่วยเหลือเกษตรกร 27,000 ล้านบาท มาตรการลดค่าครองชีพด้วยการให้รถเมล์ฟรี ใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาฟรีต้องใช้เงิน 37,000 ล้านบาท และล่าสุด ขึ้นเงินเดือนข้าราชการอีกร้อยละ 5 เป็นจำนวนเงิน 30,000 ล้านบาทและโบนัสข้าราชการอีก 1,073 ล้านบาท
ผมไม่ทราบว่าข้อมูลที่ผมได้มาข้างต้นครบถ้วนและถูกต้องสมบูรณ์ไหม แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ โครงการต่าง ๆ เหล่านี้มีอยู่จริง และรัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากมาดำเนินการจัดทำ
คำถามที่สำคัญก็คือ รัฐบาลเอาเงินมาจากไหนกันครับ
รัฐบาลเอาเงินมาจากไหน
เท่าที่ผมจำได้ เราไปกู้เงินจากต่างประเทศมาเป็นจำนวนมากเพื่อนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการไทยเข้มแข็งเป็นโครงการที่ใช้เงินมากมายมหาศาลเพราะถูกตั้งขึ้นมาเพื่อ “ให้” ประชาชน นอกจากกู้เงินมาให้ประชาชนแล้ว เท่าที่จำได้เช่นกัน เรามีการออกพันธบัตรรัฐบาลไปแล้วหลายรอบ จนวันนี้ ผมไม่ทราบตัวเลขที่แน่นอนแล้วว่า จากการกู้เงินและการออกพันธบัตรที่ผ่าน ๆ มา ทำให้ประเทศไทยเป็นหนี้อยู่เท่าไร และเราจะมีความสามารถในการใช้เงินนี้คืนได้ไหม ภายในระยะเวลาเท่าไร นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่า คนไทยจำนวนหนึ่งคงต้องการคำตอบที่ชัดเจนเช่นกัน เพราะการนำเงินในอนาคตมาใช้จะต้องมีทั้งแผนการ “ใช้เงิน” ที่ชัดเจน รัดกุม และมีแผนที่จะ “คืนเงิน” อย่างเป็นระบบด้วยเช่นกันครับ เพราะหาไม่แล้ว ในวันข้างหน้าหากไม่สามารถคืนเงินได้ ประเทศชาติก็อาจต้องตกอยู่ในสถานะลำบากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เราใช้เงินกันไปมาก ๆ กับสิ่งที่เรียกกันว่า “ประชานิยม”
ในเรื่องแผนการใช้เงินนั้น ก็อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า รัฐบาลนำเงินส่วนหนึ่งมา “แจก” ให้กับประชาชนโดยไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า เงินที่กู้มาแจกนั้นจะทำให้ประเทศชาติต้องเป็นหนี้สินไปอีกนานแค่ไหน และทำอย่างไรรัฐบาลจึงจะมีเงินใช้คืนเจ้าหนี้ได้ นอกจากการแจกแล้ว เท่าที่ติดตามข่าวดูก็จะพบว่ามีการใช้จ่ายเงินกันอย่างสนุกมือในหลาย ๆ หน่วยงาน ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ หลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 ทหารได้งบประมาณไปซื้ออาวุธมาก แล้วก็มีหลายโครงการที่มีปัญหาและส่อแววว่าจะไม่โปร่งใส เช่น เรือเหาะ เครื่องบินรบ เครื่องตรวจวัตถุระเบิด เป็นต้น ส่วนในเรื่องแผนการคืนเงินนั้น เท่าที่ติดตามข่าวก็เห็นว่าจะมีการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐ เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก เป็นต้น แต่เรื่องดังกล่าวก็ยังไม่มีความชัดเจนเท่าไรนัก
สรุปง่าย ๆ ก็คือวันนี้เราใช้เงินกันไปมาก ๆ กับสิ่งที่เรียกกันว่า “ประชานิยม” ครับ
ยกระดับประเทศให้เป็นรัฐสวัสดิการ
จริง ๆ แล้ว ประชานิยมสำหรับประเทศไทยไม่ใช่ของใหม่ ทุกคนรู้จักกันดี เคยใช้มาแล้วในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตอนที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านก็เคยออกมาโจมตีนโยบายประชานิยมของคุณทักษิณฯ รัฐบาลหลังรัฐประหารปี 2549 ก็ออกมาโจมตีนโยบายประชานิยมของคุณทักษิณฯ เช่นกัน
แล้วทำไมวันนี้ เราจึงยังหนีไม่พ้นประชานิยมกันอีกครับ !!! นอกจากจะหนีไม่พ้นแล้ว ดูไปดูมาน่าจะหนักขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไปนะครับ !!!
เมื่อรัฐบาลไม่สามารถหนีพ้นจากนโยบายประชานิยมได้ ก็ต้องตอบคำถามสำคัญที่ได้ถามไปแล้วข้างต้นก็คือรัฐบาลจะเอาเงินจากไหนมาใช้จัดทำโครงการประชานิยม เพราะหากรัฐบาลยังตั้งหน้าตั้งตาที่จะ “แจก” แบบนี้ต่อไป ก็คงต้องมี “เงิน” จำนวนมากเตรียมไว้สำหรับ “แจก”
จริง ๆ แล้ว การให้สวัสดิการกับประชาชนเป็นเรื่องดี แล้วก็เป็นเรื่องที่รัฐควรทำเป็นอย่างยิ่ง แต่ก่อนที่รัฐจะให้สวัสดิการกับประชาชนได้ คงต้องคำนึงถึงเรื่องสำคัญ 2 เรื่องด้วยกันคือ ต้องยกระดับประเทศให้เป็นรัฐสวัสดิการก่อน แล้วก็ต้องทำให้จำนวนคนจ่ายภาษีมากขึ้น
การที่จะยกระดับประเทศให้เป็นรัฐสวัสดิการได้นั้น รัฐต้องทำการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสอดคล้องกับรายจ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อไม่กี่วันมานี้เองผมได้อ่านข่าวพบว่ากระทรวงการคลังพยายามที่จะทำเรื่องดังกล่าวอยู่ แต่ผมก็แอบคิดในใจว่าคงลำบากมากที่จะหาเงินด้วยการเก็บภาษี เพราะนอกจากวันนี้รัฐจะให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีกับผู้เสียภาษีในหลาย ๆ เรื่องจนทำให้การเก็บภาษีไม่เป็นไปตามเป้าแล้ว รัฐก็ยังเก็บภาษีไม่ได้มากอีกด้วย นึก ๆ แล้วเสียดายที่ในอดีตเมื่อครั้งที่เรานำเอาระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ ในตอนเริ่มต้นภาษีมูลค่าเพิ่มคือ ร้อยละ 10 แต่ต่อมาไม่นานก็ลดลงมาเหลือร้อยละ 7
ข้อมูลที่อ่านพบทำให้ทราบว่าในวันนี้ สัดส่วนรายได้ของประเทศไทยมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มถึงร้อยละ 30 มากกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เก็บได้ร้อยละ 27 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เก็บได้ร้อยละ 14 หากรัฐบาลจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มกลับมาเป็นร้อยละ 10 ใหม่ รัฐก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก แต่ผมก็ค่อนข้างมั่นใจว่าคงยากที่จะเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทุกคนเป็นอย่างมาก
ส่วนภาษีประเภทอื่น ๆ เช่น ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน หรือภาษีที่ดิน ก็คงจะยากไม่แพ้กันหากรัฐจะเก็บภาษีเหล่านั้น เพราะฉะนั้น การยกระดับประเทศเป็นรัฐสวัสดิการคงเป็นไปไม่ได้ง่ายหากเราไม่สามารถปรับโครงสร้างของภาษีให้สอดคล้องกับรายจ่ายของรัฐได้
ถ้ามีคนที่เสียภาษีประมาณ 25 – 30 ล้านคน รัฐสวัสดิการเกิดได้
ส่วนการทำให้จำนวนคนจ่ายภาษีมากขึ้นนั้น จากข้อมูลที่ปรากฏ คนไทย 63 ล้านคนจ่ายภาษีแค่ 10 ล้านคนเองครับ หากข้อมูลดังกล่าวถูกต้องก็เท่ากับว่าคน 10 ล้านคนต้องจ่ายภาษีเพื่อ “เลี้ยง” คนอีก 53 ล้านคน คำถามก็คือ คนกลุ่มน้อยจะยอมได้หรือไม่ที่จะต้องตกอยู่ในสภาพที่ต้องจ่ายภาษีเพื่อไปเลี้ยงคนที่ไม่ได้จ่ายภาษีซึ่งคนที่ไม่ได้จ่ายภาษีเหล่านั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือผู้ที่ “เลี่ยง” ไม่จ่ายภาษีครับ ! เพราะฉะนั้นรัฐจึงต้องหาทางทำให้ผู้มีรายได้ทุกคนเสียภาษี ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะทำให้การเลี่ยงภาษีหมดไป หากเรามีคนที่เสียภาษีประมาณ 25 – 30 ล้านคนได้ ความเป็นรัฐสวัสดิการก็เกิดขึ้นได้ไม่ยากนักเช่นกันครับ
เพราะฉะนั้นในวันนี้ รัฐบาลคงต้องคิดอย่างจริงจังที่จะทำทั้ง 2 เรื่องข้างต้นแล้วครับ เพราะการใช้จ่ายเงินไปกับการแจกนั้น ใช้แล้วก็หายไปเลย ไม่เชื่อลองไปถามผู้คนที่ได้รับ “เช็คช่วยชาติ” ดูก็ได้ว่า ในวันนี้ “รู้สึก” อย่างไรกับเงินเหล่านั้นบ้าง ช่วยอะไรได้มากมายหรือไม่ และรับรู้หรือไม่ว่าเงินที่รัฐนำไปแจกนั้น เป็น “หนี้” ที่ประชาชนทั้งประเทศต้องร่วมกันรับผิดชอบ ในวันนี้ หนี้ภาครัฐเพิ่มมากขึ้นทุกวัน และเราก็ไม่เคยได้รับรู้เลยว่ารัฐใช้เงินไปกับบรรดาโครงการประชานิยมเท่าไร กู้มาเท่าไร ออกพันธบัตรไปเท่าไร และจะทำอย่างไรจึงจะใช้คืนเงินเหล่านั้นหมด เพราะตราบใดก็ตามที่รัฐ “ไม่มีรายได้” รัฐก็ไม่มีทางใช้หนี้ เมื่อรัฐบาลนี้จากไป หนี้สินต่าง ๆ ก็ยังอยู่ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบได้นอกจากประชาชนอย่างพวกเราครับ !!!
นี่คือโจทย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
คงต้องหาทางกันอย่างจริงจังเสียทีที่จะเปลี่ยน “รัฐประชานิยม” เป็น “รัฐสวัสดิการ” ได้อย่างไรครับ เพราะนี่คือโจทย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในวันนี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องการแก้ไขปะผุรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพียงเรื่องการปรองดองที่กำลังทำกันอยู่ครับ
ในระหว่างรอการเปลี่ยนแปลง ผมอยากจะให้รัฐมองไปที่ความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย รัฐบาลควรหาทางสนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้จัดสวัสดิการท้องถิ่นด้วยเพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นชุมชนเบื้องต้นที่ผู้คนมีความใกล้ชิด มีความสัมพันธ์ มีความผูกพันและต่างก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่แล้ว
นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ยังมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงเป็นสิ่งที่รัฐควรหาทางสนับสนุนเพื่อที่จะส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการจัดสวัสดิการประเภทต่าง ๆ ให้กับคนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การศึกษา สถานสงเคราะห์เด็ก คนชรา ศูนย์เรียนรู้ เป็นต้น นอกจากนี้ก็ควรสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้พึ่งตนเองด้วยการทำแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ การกระจายอำนาจอย่างเต็มรูปแบบก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เกิดสวัสดิการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นได้ เราพูดกันมานานเหลือเกินแล้วเกี่ยวกับการจัดสรรสัดส่วนภาษีอากรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น
ใครจะเอาลูกกระพรวนไปผูกคอแมว
แต่ในปัจจุบัน ยังไม่เคยได้ยินเรื่องดังกล่าวจากรัฐบาลนี้เลยว่าจะทำอย่างไรกับการจัดสรรรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสวัสดิการท้องถิ่นให้กับพลเมืองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งก็จะส่งผลทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจลดลงไปด้วย หากกลัวว่าจะเกิดการ “รั่วไหล” ก็ต้องสร้างระบบการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสวัสดิการท้องถิ่นซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของตนได้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมก็จะค่อย ๆ ลดลงไปเอง
ก็ต้องลองพิจารณาดูทั้ง 2 รูปแบบคือ รัฐสวัสดิการและสวัสดิการท้องถิ่น อย่างไหนทำได้ก่อนก็เริ่มทำไปได้เลย วันหนึ่ง เมื่อถึงเวลาที่สมควร ประเทศไทยก็จะกลายเป็นรัฐที่น่าอยู่เพราะมีระบบสวัสดิการที่ดี มีรัฐที่สามารถดูแลทุกข์สุขของประชาชนได้เป็นอย่างดีครับ
แต่ความสำคัญของเรื่องดังกล่าวคงอยู่ตรงที่ว่า “ใครจะเอาลูกกระพรวนไปผูกคอแมว”ครับ เพราะการขึ้นภาษีย่อมจะทำให้รัฐบาลเสียความนิยมไปในที่สุดครับ !!!