ที่มา ประชาไท งานเสวนา “กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง มีไว้เพื่อใคร” หนูหริ่งและนักศึกษาภาคใต้ สะท้อนประสบการณ์ตรงจากกฎหมายพิเศษด้านความมั่นคง ด้านนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนยืนยันต้องยกเลิกกฎหมายให้อำนาจพิเศษ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 53 กลุ่มประกายไฟ และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมกันจัดงานเสวนาเรื่อง “กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง มีไว้เพื่อใคร” ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา วิทยากรได้แก่ ศราวุฒิ ประทุมราช นักวิชาการด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน สมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ไลลา เจ๊ะซู เครือข่ายบัณฑิตอาสาพัฒนาสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (InSouth) ศราวุฒิ ประทุมราช กล่าวว่า กฎหมายหลักๆ ทั้งสามฉบับ ถ้าวัดระดับความรุนแรง รัฐบาลบอกว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ อ่อนสุด แรงรองมาคือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถัดมาคือกฎอัยการศึก แต่สถานการณ์ปัจจุบัน กฎหมายตัวที่ใช้มากที่สุด คือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และถือว่าเป็นยาแรง เขาเปรียบเทียบการใช้กฎหมายเหล่านี้ว่า เหมือนสมัยนักเรียนที่ครูมักพูดว่า ใครทำผิดให้บอกมาไม่งั้นจะลงโทษทั้งห้อง เหมือนกับการเมืองไทยที่เวลามีการชุมนุม แล้วมีคนพูดเรื่องความรุนแรงก็ไปหาว่าการชุมนุมทั้งหมดไม่ชอบด้วยกฎหมาย เวลาพบว่าพรรคการเมืองซื้อเสียง ผลคือประกาศยุบพรรค ศราวุฒิกล่าวว่า กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ได้ตลอด โดยทหารภาคต่างๆ เป็นผู้ประกาศ เหตุผลของการประกาศมีเรื่องเดียว คือ มีข้าศึกรุกรานจากต่างประเทศ แต่ปรากฏว่า กฎอัยการศึกถูกเบี่ยงเบนเจตนาในการใช้มาใช้ควบคุมคนในประเทศ โดยรัฐมักอ้างว่า ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ นั้น กฎหมายอื่นที่มีอยู่ใช้ได้ไม่ทันการ นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้กฎอัยการศึกจะถูกใช้ทุกครั้งที่จะมีรัฐประหาร กรณีชายแดน นอกจากมีการรุกรานจากต่างชาติแล้ว ยังมีปัญหายาเสพติด ดังนั้นฝ่ายทหารก็ดูเหมือนจะมีอำนาจป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญาด้วย ตรงนี้จึงเหมือนกับว่าทหารมีอำนาจเต็มที่เลยโดยไม่มีการกำกับดูแล เพราะตอนท้ายกฎหมายมีการนิรโทษกรรม ที่บอกว่าฟ้องร้องไม่ได้ ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จของกฎหมายความมั่นคง "ในภาวะปรกติ เราควรจะมีกฎหมายนี้อยู่หรือเปล่า กฎอัยการศึกให้อำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชน ทหารจับได้เลยโดยไม่ต้องมีหมาย อำนาจอธิปไตยอยู่ในมือทหารฝ่ายเดียว" สำหรับพ.ร.บ.ความมั่นคง ศราวุฒิเห็นว่าเป็นกฎหมายที่เขียนมาเพื่อกอ.รมน. ซึ่งเดิมเป็นองค์กรที่ไม่มีสถานะตามกฎหมาย ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลถนอม เมื่อรัฐบาลเปลี่ยน ก็ใช้งบประมาณลำบาก จนมาในสมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เขียนกฎหมายฉบับนี้ขึ้นเพื่อให้อำนาจและให้งบประมาณ มีโครงสร้างคือ นายกรัฐมนตรีบวกกับกอ.รมน. ศราวุฒิกล่าวต่อ เกี่ยวกับพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า ต้องยกเลิกทั้งฉบับ ไม่ใช่แค่ยกเลิกประกาศ เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่เนื้อหาอาจจะดูอ่อนๆ กว่า คล้ายว่าสถานการณ์ที่ไม่ร้ายแรงถึงขั้นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ให้ประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคง "ในภาวะที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เราไม่ควรมีกฎหมายเหล่านี้อยู่ เพียงแค่กฎหมายอาญาก็น่าจะเพียงพอ ขอให้ปฏิบัติตามนิติรัฐ ซึ่งหมายถึงปฏิบัติภายใต้กฎหมาย และถ้ากฎหมายนั้นไม่มีความเป็นธรรม แล้วรัฐบาลยังใช้กฎหมายนั้น ก็ถือว่ารัฐบาลไม่เป็นธรรม" "ถ้าเราจะอยู่อย่างปรองดอง ท่านจะปรองดองกับใคร ในขณะที่กฎหมายเหล่านี้ยังมีอยู่ เพราะต้นตอของปัญหามาจากการไม่ยอมรับฟังความเห็นที่ต่าง ผมเชื่อว่าบ้านเมืองจะยุติความขัดแย้งลงได้ ถ้ายกเลิกกฎหมายเหล่านี้" ศราวุฒิกล่าว สมบัติ บุญงามอนงค์ เล่าประสบการณ์ในฐานะที่เคยเผชิญหน้ากับกฎหมายสองฉบับ คือ กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า ประสบการณ์ครั้งแรกคือ กฎอัยการศึก สมัยหลังรัฐประหารใหม่ๆ เขาและเพื่อนๆ แต่งชุดดำออกมายืนที่หน้าสยามเซ็นเตอร์ มีตำรวจทหารมาเต็มแต่ไม่มีการจับ แต่ขณะที่เขาอยู่ที่ตึกของมูลนิธิกระจกเงา ก็มีทหารใส่ชุดเต็มรูปแบบพร้อมปืนเอ็ม 16ไปหาที่ตึก นำรูปภาพของเขาไปถามยามของตึกว่า รู้จักผมไหม คือทหารไม่ได้ตั้งใจจะไปคุยกับนายสมบัติ แต่ตั้งใจข่มขู่ สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่ากฎอัยการศึกเป็นเครื่องมือในการคุกคามประชาชน เหตุการณ์ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 50 เขาไปที่บขส.เชียงราย เวลานั้นรัฐบาลกำลังจะเริ่มกระบวนการประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ ขณะที่สมบัติกำลังปราศรัยว่าไม่รับรัฐธรรมนูญ 2550 มีทหารเข้ามาแจ้งว่าขอใช้อำนาจกฎอัยการศึกมาควบคุมตัวไปที่ค่ายทหารบกเชียงรายอยู่ 24 ชม. “มีนายทหารขู่ผมทุกรูปแบบ ตอนจับ มีทหารจากหน่วยข่าวกรองบอกว่า ผมจะถูกสอบในฐานะศัตรูของชาติ ไม่ว่าคุณไปทำความผิดอะไรมาตั้งแต่เกิดมา ผมจะรื้อให้หมด รวมถึงโคตรเหง้าของคุณด้วย” “เขาสอบผม เขาบอกว่า คุณรู้ไหมว่าคุณละเมิดกฎอัยการศึก คุณรู้ไหมว่ากฎอัยการศึกมันโทษรุนแรงแค่ไหน ผมก็บอกว่าผมรู้ครับ กฎหมายนี้พัฒนามาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ และที่ผ่านมาเอาไว้ใช้เวลาที่มีปฏิวัติ” สมบัติเล่า จนครั้งล่าสุด สมบัติถูกควบคุมตัวจากหมายจับที่ไปร่วมกิจกรรมที่ใต้ทางด่วนที่ลาดพร้าว 71 ในวันที่ 20 พ.ค. 53 “ผมได้ยินว่าตอนนั้นทุกด่านเขาเลิกหมดแล้ว แต่ยังมีคนเสื้อแดงอยู่แถวอิมพีเรียลลาดพร้าว ผมก็ไป ในวันที่ 20 มีคนอยู่ 20-30 คน เป็นพื้นที่สวนหย่อม มีม้านั่งหินอ่อน มีเสาตอม่อ และมีคนนั่งที่เก้าอี้ คนก็เอารูปถ่ายที่มาจากในเว็บ ปริ้นท์ออกมา มาดูมาคุยกัน เพื่อนเขาตาย แต่ทีวีไม่ให้ข่าวอะไร เขามากอดคอกันร้องไห้ มาปรับทุกข์กัน มาเล่าว่าเหตุการณ์มันเกิดอะไรขึ้น ตอนนั้นนั่งคุยกันอยู่ ยังคุยไม่จบ วงก็แตก ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาว่าผมเอายางรถยนต์มาเผา ตำรวจคนที่ทำสำนวน เขาก็อยู่ในเหตุการณ์ ผมก็ถามเขาว่า พี่ ผมพูดเหรอว่าให้คนเอายางรถยนต์มาเผา ตำรวจตอบกลับมาว่า พี่ ลูกผมยังเล็ก รัฐบาลเขาสั่งว่าให้เขียนข้อหานี้ มันตลกมาก วังทองหลางซึ่งเป็นพื้นที่ในเหตุการณ์ไม่ใช่คนกล่าวหาผม คนที่กล่าวหาผมมาจากพื้นที่อื่น ที่เดินไปบอกให้ตำรวจสน.วังทองหลางดำเนินคดีกับผม สุดท้ายคือมันมีใบสั่งมาให้ดำเนินคดีแบบนี้ นายสมบัติเล่าว่า ตลอดระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวสองสัปดาห์ จะมีทีมสอบสวนสองชุด ชุดหนึ่งเป็นชุดปกติที่สมบัติสามารถแจ้งสิทธิตัวเองได้ว่าจะขอไม่กล่าวอะไร ขอไปให้การในชั้นศาล และยังมีอีกทีมซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ศอฉ. ซึ่งมาทุกวัน ถามคำถามวกไปวนมา ลักษณะคำถาม มีบางส่วนที่ถามลึกไปถึงเรื่องสมัยเรียน ถามเบอร์โทรศัพท์บ้านคุณพ่อ "มีคำถามหนึ่งคือ หลังจากที่ปล่อยแล้ว คุณจะไปทำกิจกรรมทางการเมืองต่อหรือไม่ ผมก็ตอบว่า แน่นอน" คือ มันมีทางสองทางเท่านั้น ระหว่าง ตอแหล กับตอบว่า โอยไม่หรอกครับ ผมกลัวแล้ว แบบนั้นผมก็พูดได้นะ แต่นั่นคือผมตอแหล คือยังไงผมก็ต้องทำกิจกรรมอีก มันเป็นพฤติกรรมของมนุษย์คนหนึ่งที่ยืนอยู่บนจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชน เรามีความคิด เรามีจิตใจ เราเสียใจ เราแสดงออก ไม่รู้จะเรียกว่าท้าทายหรือไม่ แต่ผมจะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ นั่นเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์คนหนึ่ง เช่น ใส่เสื้อสีแดง” นายสมบัติกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมจะรณรงค์ใส่เสื้อสีแดงทุกวันอาทิตย์ ทำไปเรื่อยๆ ทำจนกว่าจะมีกฎหมาย การกระทำผิดอันเป็นเสื้อแดง” ไลลา เจ๊ะซู จากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจากภาคใต้ กล่าวในฐานะคนที่มาจากพื้นที่รุ่นพี่ ที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงมาอย่างต่อเนื่อง ไลลาเห็นว่า กฎอัยการศึก มันก็เหมือนกฎของการรับน้อง กฎข้อแรกคือ ทหารทำอะไรก็ไม่ผิด กฎข้อที่สองคือให้ไปดูกฎข้อแรก ไลลาเล่าถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ นับแต่ปี 2547 โดยตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงก่อนปี 2550 มีเหตุซ้อมทรมานเกิดขึ้นเยอะมาก ซึ่งเป็นเพราะประชาชนไม่รู้ถึงขอบเขตของกฎหมาย ไม่รู้ถึงสิทธิตามกฎหมาย "คดีในสามจังหวัดภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นคดีความมั่นคง และส่วนใหญ่ถูกยกฟ้อง แต่ว่าก่อนที่จะมีการยกฟ้อง คนเหล่านั้นที่ถูกจับก็ถูกจองจำไม่ได้รับการประกันตัว" ไลลากล่าว ตัวแทนจากสามจังหวัดภาคใต้เห็นว่า เราจำเป็นต้องมีการรวมตัวกัน จากเดิมที่เยาวชนไม่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน อาจไม่เคยรู้สึกร่วมกับน้ำตาของชาวบ้านที่มันไหลออกมา แม้เราอาจจะร้องไห้ด้วย แต่ไม่ได้รู้สึกร่วม ในเวลานี้เห็นได้ชัดว่า การรวมตัวกันเพื่อติดตามปัญหาและข้อมูลเป็นเรื่องจำเป็น มีตัวอย่างกรณีของจ่าเพียร ซึ่งมันไม่ถูกต้องที่เจ้าหน้าที่ต้องพบเหตุเช่นนี้ แต่ก็มีข้อสังเกตด้วยว่า ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐสูญเสีย เยาวชนในพื้นที่ก็ต้องตกเป็นเป้าหมายเช่นกัน "นโยบายสวยหรู เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มันไม่มีทางแก้ปัญหาได้ วิธีที่จะแก้ปัญหาได้คือต้องทำความเข้าใจก่อน" ไลลาปิดท้าย มีการแสดงความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมในงาน นครินทร์ วิศิษฎ์สิน นักศึกษา แสดงความเห็นว่า กฎหมายด้านความมั่นคงทั้งสามฉบับอนุญาตให้รัฐบาลขณะนั้นใช้อำนาจใดๆ ได้นอกเหนือจากกฎหมายสามัญในภาวะปกติทั่วไป ซึ่งโดยมากรัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจโดยตรง แต่รัฐบาลมอบอำนาจอันไร้ขีดจำกัดให้หน่วยงานปราบปราม โดยเฉพาะหน่วยทหาร “กระบวนการปราบปรามอย่างหน่วยทหารเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบไม่ได้ ทำให้การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินควบคู่กับกระบวนการทหาร มันเลยทำให้ปัญหามันหนักหน่วงยิ่งขึ้น” เขากล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกืดจากตัวกฎหมายอย่างเดียว แต่กฎหมายฉบับอื่นๆ ที่กำหนดว่าเงื่อนไขใดให้ใช้กฎหมายพวกนี้ได้ มันก็มีความคลุมเครือในตัวของมันเอง โดยเฉพาะในหมวดก่อการร้าย ที่ทางสากลบอกว่าหมายถึงการกระทำที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวที่จะส่งผลให้เกิดการล้มล้างระเบียบเดิม และก่อให้เกิดระเบียบใหม่บนพื้นฐานของการสยบยอมต่อความหวาดกลัว ขณะที่การตีความในเมืองไทยช่วงที่ผ่านมา มองว่าการก่อการร้ายคือเรื่องการรวมกลุ่ม ก่อความวุ่นวาย ใช้กำลังประทุษร้ายต่อรัฐหรือพลเมือง นครินทร์เสนอว่า นอกเหนือจากการยกเลิกพ.ร.กฉุกเฉินฯ จำเป็นต้องมีการปฏิรูปตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิยามการการะทำทางสังคม ให้ชัดเจนว่าอะไรคือการก่อการร้าย และอะไรที่ไม่ใช่การก่อการร้าย โดยไม่ให้เกิดผลเสียต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เพราะหาก การนิยามเรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องตีความได้อย่างคลุมเครือ กฎหมายเรื่องนี้ก็จะหยิบใช้อย่างเลือกปฏิบัติ แม้จะมีการยกเลิกกฎหมายด้านความมั่นคงทั้งสามฉบับก็อาจหนีไม่พ้น ให้มีเหตุเพื่อการผลิตกฎหมายด้านความมั่นคงขึ้นใหม่ใช้แทนได้ ในงานเสวนาครั้งนี้ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ได้นำแบบฟอร์ม ขก.1 เพื่อระดมรายชื่อให้ครบหมื่นชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายด้านความมั่นคงที่ขัดต่อสิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย พ.ศ.... มาแจกในงานด้วย